อึดอัด กราดเกรี้ยว ลงถนน! ปัญหาความรุนแรงทางการเมือง/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

อึดอัด กราดเกรี้ยว ลงถนน!

ปัญหาความรุนแรงทางการเมือง

 

“เมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้น ไม่ใช่ประชาชนต้องทำตามความต้องการของรัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ต้องทำตามความต้องการของประชาชน”

James C. Davies

When Men Revolt and Why (1971)

 

หนึ่งในประเด็นสำคัญในวิชารัฐศาสตร์ที่มีการศึกษากันอย่างยาวนานคือ อะไรเป็นปัจจัยในทางจิตวิทยาการเมืองที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล เพราะผลจากการต่อต้านนั้น ทำไมจึงขยายตัวไปสู่ความรุนแรง

รูปแบบในระดับพื้นฐานคือการประท้วง ซึ่งอยากจะขอเรียกว่า “สงครามบนถนน” ที่มักมีความรุนแรงจากการปะทะระหว่างมวลชนบนถนนกับกองกำลังของรัฐบาลเป็นองค์ประกอบ

แต่รูปแบบในระดับสูงสุดคือ การต่อต้านรัฐบาลจะยกระดับไปสู่การจับอาวุธลุกขึ้นสู้ ที่สุดท้ายแล้วปรากฏการณ์ของความรุนแรงชุดนี้ คือการกำเนิดของ “สงครามกลางเมือง”

หรือยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่งที่เป็นโจทย์สำคัญในทางยุทธศาสตร์อย่างมากคือ การกำเนิดของ “สงครามปฏิวัติ”

ปรากฏการณ์จากสงครามบนถนนสู่สงครามกลางเมือง และยกระดับเป็นสงครามปฏิวัติ กลายเป็นคำถามในทางจิตวิทยาการเมืองที่นักรัฐศาสตร์ และนักยุทธศาสตร์พยายามอย่างยิ่งที่จะตอบคำถามดังกล่าว

โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญเช่นนี้จะเป็นโอกาสของการยุติความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ

ซึ่งหากความขัดแย้งเช่นนี้ไม่ถูกลดทอนลงแล้ว โอกาสที่จะเกิดการ “นองเลือด” จากการต่อสู้ภายในสังคม มีความเป็นไปได้อย่างมาก

มุมมองทางทฤษฎี

 

คําถามสำคัญในทางจิตวิทยาการเมืองคือ เมื่อไหร่ที่พลเมืองจะตัดสินใจที่จะยุติความยินยอมที่จะอนุญาตให้รัฐบาลเป็นผู้ครอบครองเครื่องมือความรุนแรง และเอาเครื่องมือความรุนแรงนั้นมาไว้ในความครอบครองของตน

หรืออีกนัยหนึ่งคือคำถามในทางจิตวิทยาว่า เมื่อไหร่ที่พลเมืองภายในรัฐจะเลิกที่จะยอมรับรัฐบาล และถือว่าการเอาอาวุธมาไว้ในมือของตนเป็นความชอบธรรม ซึ่งสิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากการเกิดสภาวะเช่นนี้คือ “ความรุนแรงทางการเมือง”

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล (ในความหมายของการเป็น “individual violence”) หากแต่เรากำลังกล่าวถึง “ความรุนแรงแบบรวมหมู่” (คือเป็น “collective violence”) ที่กลุ่มคนตัดสินใจที่จะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

และความรุนแรงเช่นนี้ไม่ใช่ในลักษณะของความรุนแรงที่เป็นการกระทำความผิดทางกฎหมาย (ในความหมายของ “criminal violence”) หากแต่ความรุนแรงที่กล่าวถึงในทางรัฐศาสตร์เป็นเรื่องของ “ความรุนแรงทางการเมือง” (คือมีลักษณะเป็น “political violence”) ที่ถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกทางการเมือง และกระทำด้วยจุดมุ่งหมายทางการเมือง และ/หรือด้วยความตั้งใจทางการเมือง

ถ้าเช่นนั้นในทางทฤษฎี อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พลเมืองในสังคมมีความรู้สึกร่วมกันที่จะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แนวคิดพื้นฐานในทางจิตวิทยาที่มักถูกนำมาใช้อธิบายความรุนแรงทางการเมืองก็คือ การเชื่อมต่อระหว่าง “ความอึดอัดขัดข้องใจ” กับ “ความก้าวร้าว” (รุนแรง) ในทางการเมือง

แม้ความรู้สึกเช่นนี้จะเริ่มต้นจากตัวบุคคลแต่ละคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขยายตัวเป็น “ความรู้สึกแบบรวมหมู่” คือ พลเมืองในสังคมมีความรู้สึกร่วมกันในปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น

ซึ่งการเชื่อมต่อของความรู้สึกเช่นนี้ถูกยอมรับว่าเป็นดัง “กฎ” ในทางรัฐศาสตร์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนในสังคมเริ่มต้นด้วยความรู้สึกแบบอึดอัด หรือเป็น “ความคับข้องใจ” ในทางการเมืองแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการแสดงออกด้วย “ความก้าวร้าว” ในทางการเมือง ซึ่งพร้อมจะกลายเป็น “ความรุนแรง” ได้ไม่ยากนัก

สภาวะเช่นนี้ทำให้เราอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า บุคคลที่มีความรู้สึกอึดอัด/ความขัดข้องใจ หรืออาจะเรียกว่ามี “ความโกรธ” ในทางการเมืองนั้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้ความก้าวร้าว (ความรุนแรง) ในการแก้ปัญหาทางการเมือง

หรืออีกด้านหนึ่งเราอาจสรุปได้ว่า ความโกรธในตัวเองจะเป็นสิ่งที่สร้างความพร้อมที่จะทำให้บุคคลนั้น ใช้ความก้าวร้าว/ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมือง

หรืออาจกล่าวได้ว่าความก้าวร้าวเช่นนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางการเมือง

ความโกรธในโลกอาหรับ!

 

หากพิจารณาจากปัญหาความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีของอาหรับสปริงแล้ว เราอาจจะเห็นได้ชัดเจนถึงความคับข้องใจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวอาหรับ

ระบอบอำนาจนิยมของโลกอาหรับที่มีอำนาจมาอย่างยาวนาน ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดปัญหาความยากจนอย่างมากในหมู่ประชาชน

ซึ่งภาวะของความยากลำบากในทางเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้าง “ความโกรธ”

และในที่สุด ก็พร้อมที่จะขยายตัวเป็น “ความเกรี้ยวกราด” ที่เป็นความรุนแรงทางการเมือง

ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนอียิปต์ประมาณร้อยละ 44 มีสถานะเป็นพลเมืองที่ยากจน และในส่วนนี้พวกเขายังเป็นคนจนอย่างแสนสาหัสอีกด้วย (อียิปต์มีประชากรราว 81 ล้านคน หรืออาจจะมากถึง 100 ล้านคน เพราะบางครอบครัวไม่ยอมลงทะเบียน เนื่องจากกลัวการเกณฑ์ทหาร)

ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณว่า มีคนราว 2.6 ล้านคน ที่รายได้ของพวกเขาไม่พอยังชีพในเบื้องต้น คือไม่พอแม้กระทั่งซื้ออาหารที่ต้องรับประทานในชีวิตประจำวัน

แต่ในอีกด้านของสังคม จะมีแถวของเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจอดเป็นแนวที่สนามบินไคโร

ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมอียิปต์ เช่น งานแต่งงานในสังคมชนชั้นสูงในไคโร จะสั่งดอกไม้มาจากปารีสและมิลาน ที่อาจจะมีราคาสูงถึง 60,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าจ้างโดยทั่วไปจะต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ข้อมูลจากนิตยสาร The Economist อธิบายถึงสภาพการณ์ในอียิปต์ในปี 2008)

หรือในอีกด้านจะพบว่าคนอียิปต์ประมาณร้อยละ 40 มีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าสองเหรียญสหรัฐต่อวัน

บรรดาชนชั้นสูงหรือพวกคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นครอบครัวนักธุรกิจที่มีความมั่งคั่ง จะใช้ชีวิตอยู่กับความหรูหราในระดับบนของสังคมอียิปต์ จนคนเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นพวก “แมวอ้วน” และอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีรั้วรอบขอบชิด และมักจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไปในสังคม

กล่าวคือ สังคมถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างคนรวยกับคนจน และคนจนในระดับล่างมีสถานะที่เป็นความยากจนอย่างแสนสาหัส (คือเป็น extremely poor) อันส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมมีส่วนอย่างสำคัญต่อการก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธทางการเมือง

ปัญหาในตูนิเซียเองก็แทบไม่ต่างจากอียิปต์ แม้ตูนิเซียจะมีความทันสมัยมากกว่าอียิปต์ หรืออาจกล่าวได้ว่ามีความเป็นตะวันตกมากกว่าอียิปต์ แม้กระทั่งคำตะโกนไล่รัฐบาลเผด็จการ ก็ใช้เป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่ภาษาอาหรับ

แต่สภาวะความยากจนในสังคมเกิดในวงกว้างเช่นกัน และเช่นเดียวกันความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความโกรธทางการเมือง

อีกทั้งสภาวะเช่นนี้ยังถูกกระทบอย่างมากจากปัญหา “วิกฤตอาหาร” เพราะความขาดแคลนอาหาร และราคาอาหารที่สูงขึ้น วิกฤตเช่นนี้ยิ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกขัดข้องใจในทางการเมืองอย่างยิ่ง… อาหารแพง ไม่มีรายได้ และยากจน ทางเลือกที่เหลือคือ โค่นรัฐบาล

ความขัดข้องใจที่กลายเป็นความโกรธเช่นนี้มุ่งเป้าไปโดยตรงที่การบริหารของรัฐบาลทหารเผด็จการ เพราะความยากลำบากที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นบทพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหา อีกทั้งในระบบการเมืองเห็นถึงความเข้มแข็งของระบอบเผด็จการที่เป็นแบบ “อัตตาธิปไตย” (autocratic rule) ซึ่งผู้นำทหารที่มีอำนาจพยายามควบคุมแรงต้านของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลด้วยการใช้กลไกอำนาจรัฐในการปราบปรามประชาชน

อีกทั้งเวทีการเมืองก็เป็นเรื่องของชนชั้นสูง ที่การเป็นรัฐบาลคือการประนีประนอมและแบ่งผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นบนของสังคม ที่พวกเขาเหล่านั้นมีสถานะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมือง

สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนชั้นบน และไม่สามารถมาเชื่อมต่อกับความต้องการของคนชั้นอื่นในสังคม

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกร่วมกันถึงความไม่พอใจ… ความคับข้องใจกับการดำรงอยู่ของรัฐบาล

และในวันที่ 17 ธันวาคม 2010 พ่อค้าในตลาดในตูนิเซียชื่อ มุฮัมมัด อัลบูอะซีซี (Muhammad Bouazizi) ได้ตัดสินใจเผาตัวเอง เพื่อประท้วงต่อการกระทำของตำรวจในการยึดแผงขายผักและผลไม้ของเขา

แล้วข่าวการเสียชีวิตของเขาได้จุดประกายให้เกิดคลื่นของการประท้วงใหญ่ไปทั่วทั้งตูนิเซีย เพราะคนในสังคมมีความรู้สึกโกรธและคับข้องใจร่วมกัน

และอีก 28 วันต่อมา รัฐบาลเผด็จการที่ครอบอำนาจมานานกว่า 23 ปีก็ล้มลงอย่างไม่น่าเชื่อ

การตัดสินใจเผาตัวเองไม่เพียงสะท้อนถึงการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจในชีวิตของคนทั่วไป แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาลเผด็จการ ที่ไม่สามารถตอบสนองในการแก้ปัญหาความยากจน ความขาดแคลนอาหาร และการตกงานของคนในสังคม

อีกทั้งแรงคลื่นของการโกรธทางการเมืองก็ขยายตัวข้ามพรมแดนเข้าสู่อียิปต์ ที่เผชิญปัญหาไม่แตกต่างกันทั้งในเรื่องของราคาอาหารแพง การตกงาน รายได้ที่ไม่เพียงพอในชีวิตประจำวัน และการปกครองแบบเผด็จการ

ภาพของการประท้วงที่จัตุรัสทาห์รีร์ใจกลางกรุงไคโรที่เริ่มขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2011 เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในโลกอาหรับ

และอีก 17 วันต่อมา ผู้นำรัฐบาลอียิปต์ก็ก้าวลงจากอำนาจในวันที่ 11 กุมภาพันธ์

รัฐบาลทหารที่มีอำนาจอย่างยาวนานถึงจุดจบเช่นกัน

อารมณ์-ระเบิดเวลาการเมือง

 

ดังที่กล่าวมาแล้วจากตัวอย่างของอาหรับสปริงในทางจิตวิทยาการเมือง จะเห็นได้ว่าความอึดอัดและคับข้องใจทางการเมืองเป็นดัง “อารมณ์ที่รอเวลาระเบิด” และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ และหากมองในมิติของความขัดแย้งแล้ว ความอึดอัดเช่นนี้ในระดับต่ำคือ การเกิดอาการ “โกรธทางการเมือง” แต่ถ้าเกิดในระดับที่สูงมากขึ้นแล้ว มักจะทำให้เกิด “ความกราดเกรี้ยวทางการเมือง” ที่มีนัยของ “ความรุนแรงทางการเมือง” ที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ในทางทฤษฎีเราอาจกล่าวได้ว่า คนที่มีความอึดอัดใจในทางการเมืองมักมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองไปในทิศทางที่พวกเขาปรารถนา แต่เมื่อพวกเขามองว่าการเมืองแบบเดิมไม่ตอบสนองต่อความต้องการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว บุคคลเหล่านั้นก็พร้อมที่จะออกแรงในทางการเมืองมากขึ้น

และหากความอึดอัดใจเพิ่มมากขึ้น ก็อาจต้องเกรี้ยวกราดมากขึ้นตามไปด้วย…

อดคิดถึงไทยในปัจจุบันไม่ได้ครับ!