7 ปี-ขอโทษไม่สาย/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

7 ปี-ขอโทษไม่สาย

 

7ปีผ่านไป คงทำให้อะไรต่อมิอะไรยิ่งกระจ่างชัดขึ้น ดังนั้น ในวันครบรอบการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ที่ก่อการเมื่อปี 2557 หรือเมื่อ 7 ปีก่อนนั้น นอกจากจะเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเสียหายของประเทศชาติจากการยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยในวันนั้นแล้ว

ยังมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในบรรยากาศการทบทวนเหตุรัฐประหารของ คสช.ในปีนี้ ก็คือการออกมาแถลงขอโทษประชาชน ขององค์กรและบุคคล หลายราย

ขอโทษที่เข้าไปมีส่วนร่วมในม็อบเป่านกหวีด หรือเข้าไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอย่างขันแข็ง

จนบัดนี้ทุกอย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นความคิดและการกระทำที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะม็อบนกหวีด คือการนำประชาชนเข้าร่วมปูทาง สร้างสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การยึดอำนาจของกองทัพ ก็คือเข้าร่วมด้วยจิตใจบริสุทธ์ แต่ลงเอยเป็นแค่หมาก ภายใต้กลเกมชิงอำนาจ

แถมกองทัพเข้ามายึดแล้วไม่คายง่ายๆ อยู่เป็นรัฐบาลทหารถึง 5 ปี แล้วเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ยังใช้กลไกกติกาเพื่อให้หัวหน้ารัฐประหารเป็นนายกฯ ต่อไปอีก อยู่มา 2 ปีแล้ว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ทรุดลงไปเรื่อยๆ มาเจอวิกฤตโควิดเข้าให้ เลยยิ่งไปกันใหญ่

จึงเป็น 7 ปีที่สูญเปล่า

คำแถลงขอโทษประชาชน จากคนที่เคยเป่านกหวีด จึงหลั่งไหลออกมามากมาย!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแถลงการณ์ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ อบจ. ที่มีการหารือและลงมติอย่างป็นทางการ ให้ออกแถลงการณ์ขอโทษใจความสำคัญว่า กรณีที่ อบจ.เคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ถึงการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

คณาจารย์และนิสิตคณะต่างๆ ได้ร่วมขึ้นเวทีปราศรัย เดินขบวน ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อร่วมชุมนุมสนับสนุน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างเหลือคณานับ นำมาซึ่งการรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญและโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมตามมติมหาชน ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในอำนาจของระบอบเผด็จการมาจนถึงปัจจุบัน

แถลงการณ์เห็นว่าการแสดงออกทางการเมืองเพื่อร่วมสนับสนุน กปปส.นั้น เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของคนไทยจนถึงแก่น และนำความอัปยศอดสูมาสู่เกียรติประวัติของสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่แห่งนี้อย่างพ้นประมาณ

จึงขอแสดงความสำนึกผิดและขออภัยต่อประเทศชาติและประชาชน และจะจดจำตราบาปทางประวัติศาสตร์นี้ไว้

รวมทั้งยังย้ำด้วยว่า ต่อจากนี้ไป อบจ.จะทำหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตย เชิดชูสิทธิของราษฎรทุกหมู่เหล่า เพราะอำนาจสูงสุดนั้นควรเป็นของราษฎร!

 

นอกจากนี้ ยังมีแถลงการณ์ของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขออภัยสังคม ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวของ กปปส. จนนำไปสู่การรัฐประหาร อันเป็นการทำลายหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย ส่งผลให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบเผด็จการ ที่ไร้ซึ่งความสามารถในการบริหารประเทศ และการตัดสินใจแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ จนถึงปัจจุบัน

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยอมรับและจดจำความผิดในอดีตครั้งนี้ และร่วมกันสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เคารพและเชิดชูสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกหมู่เหล่า

นอกจากนั้น ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายรายที่ออกมาแสดงท่าทีสำนึกและขอโทษที่เข้าร่วมเป่านกหวีด

แต่สำหรับกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น นับว่าเป็นคำแถลงที่ส่งผลสะเทือนไม่น้อย

เพราะบทบาทของผู้บริหารคณาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง เข้าร่วมม็อบนกหวีดอย่างแข็งขัน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง จนถึงกับมีการย้ายเวทีใหญ่ของ กปปส.มาตั้งที่แยกปทุมวัน เพื่อแสดงสัญลักษณ์บางประการ และบทบาทของชาวนกหวีดแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหมือนกับเป็นแม่งานใหญ่ในช่วงดังกล่าว

การลุกขึ้นมาของนิสิตจุฬาฯ ยุคปัจจุบัน จึงเหมือนการชำระสะสางประวัติศาสตร์ในช่วงที่เข้าร่วมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเข้าสู่อำนาจของทหาร

เช่นเดียวกับหลายต่อหลายคนที่เคยเข้าร่วมม็อบนกหวีดและหูตาสว่างในเวลาต่อมา เนื่องจากได้บทสรุปที่ชัดเจนว่า

การชุมนุมของ กปปส. ป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่แค่ต่อต้านการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ ต่อต้านจำนำข้าวเท่านั้น แต่จุดหมายปลายทางที่วางเอาไว้คือ การชิงอำนาจจากฝ่ายนักการเมือง ไปสู่มือของกลุ่มอำนาจเก่า และยังคงกอดอำนาจมาจนถึงวันนี้

ที่สำคัญ เครือข่ายขุนศึกขุนนางนั้น เป็นกลุ่มอำนาจที่มีทิศทาง ขัดแย้งกับพัฒนาการของสังคมและของโลก มีแต่จะฉุดรั้งประเทศไทยให้ถอยหลังไปเรื่อยๆ

ทั้งการนำเอาตัวแทนกองทัพเข้ามาควบคุมการเมือง ทำให้เกิดปัญหาความสามารถความเชี่ยวชาญในการบริหารประเทศ ไม่อาจเท่าทันโลกยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้าวล้ำไปสู่ยุคดิจิตอล

ครั้นมาเจอสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจทรุดหนัก คราวนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นความตายของประชาชนภายใต้ภาวะโรคระบาดรุนแรงอย่างมาก

วิกฤตโควิดและเศรษฐกิจในวันนี้ เป็นเครื่องตอกย้ำความเสื่อมของอำนาจคณะรัฐประหารที่ยังคงอยู่มายาวนานถึง 7 ปี!

 

การดิ้นรนตอบโต้ของเหล่าผู้นำม็อบนกหวีด หลังจากเกิดบรรยากาศการออกมาขอโทษประชาชน ยอมรับความผิดพลาดที่ไปร่วมชุมนุมดังกล่าว ได้ใช้วิธีการอธิบายว่า ยืนยันว่ามีความจำเป็นที่ต้องชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในวันนั้น มีเหตุผลชัดเจน เด็กรุ่นหลังขาดความเข้าใจประวัติศาสตร์ในระยะนั้นเพียงพอ

สุดท้ายก็อ้างถึงการโกงจำนำข้าว อ้างการใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภาของรัฐบาลเพื่อนิรโทษกรรมให้คนโกง จนคนทนไม่ไหวต้องออกมาขับไล่รัฐบาล

อันที่จริงเหตุผลเพียงแค่นี้ ไม่สามารถหาความชอบธรรมให้กับม็อบ กปปส.ได้เลย

โครงการจำนำข้าว ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นข้อเท็จจริงที่ศึกษาได้ไม่ยาก คนรุ่นใหม่ยิ่งมีความรอบรู้ในการค้นหาข้อเท็จจริงมากกว่าคนรุ่นเก่าตกยุคเสียอีก

อีกทั้งจำนำข้าว ก็เป็นโครงการที่ชาวนาผู้ทุกข์ยาก ได้รับผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำครั้งแรก แต่อาจผิดพลาดมีการทุจริตรั่วไหล ก็ต้องหาทางแก้และลงโทษคนที่กระทำผิด ไม่ใช่ไปล้มล้างผลประโยชน์ที่ชาวนากระดูกสันหลังของชาติไม่เคยได้รับมาก่อน

กรณีนิรโทษกรรมก็เช่นกัน ก็ยังมีข้อโต้แย้งหลายด้าน รวมทั้งการนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารที่ทำกันทุกครั้งหลังฉีกรัฐธรรมนูญล้มประชาธิปไตย กลับไม่เคยสนใจต่อต้าน

ที่แน่ๆ คือ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมถอยกรูด ยอมยุติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมปล่อยให้ตกไปแล้ว ยอมยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนไปตัดสินใจกันใหม่แล้ว

ถ้าม็อบนกหวีดยอมหยุด และระดมมวลมหาประชาชนไปเข้าคูหา ร่วมกันเลือกตั้งเพื่อลงโทษพรรคเพื่อไทย นั่นคือการนำประชาชนสร้างปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยจริงๆ

ไม่ใช่พอเขายุบสภา ก็อ้างขอปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้วระดมพลไปขัดขวางเลือกตั้ง ใช้จิตใจเผด็จการไปขัดขวางคนที่จะไปใช้สิทธิประชาธิปไตย ใช้ความรุนแรง การคุกคามถึงเนื้อถึงตัว

พอมาถึงประเด็นนี้ ก็ชัดเจนว่า ต้านนักการเมืองโกง ก็แค่ส่วนประกอบเท่านั้นเอง

การรัฐประหารคือเป้าหมายสูงสุดของเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีก่อน และยังย่ามใจยึดเอาไว้มาจนถึงวันนี้

จึงมาถึงจุดเสื่อมและการต่อต้านอย่างมากมายมากยิ่งขึ้น!