ผ่า พ.ร.ก.กู้ก้อนใหม่ 5 แสนล้าน แก้เฉพาะหน้า เยียวยา-ฟื้นฟู ศก. เคลียร์ปมกู้ปิดหีบงบประมาณ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ผ่า พ.ร.ก.กู้ก้อนใหม่ 5 แสนล้าน

แก้เฉพาะหน้า เยียวยา-ฟื้นฟู ศก.

เคลียร์ปมกู้ปิดหีบงบประมาณ

 

การกู้เงิน “ก้อนใหม่” เพื่อรับมือการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่ปรากฏเป็นข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากมีการพิจารณาเป็น “วาระลับ” มีเสียงคัดค้านตามมาอย่างหนัก โดยฝ่ายค้านแสดงความกังวลว่าจะมี “วาระซ่อนเร้น” และรัฐบาลจะใช้เงินกู้อย่างไม่เหมาะสม

เช่นเดียวกับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการช่วยเหลือเยียวยา จนถูกมองว่าใช้เงินกู้ปูทางหาหวังคะแนนเสียงทางการเมือง

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีคลัง เดินหน้าออกมาคัดค้าน และมีการรวมกลุ่มเข้ายื่นศาลปกครองสูงสุดร้องขอให้เพิกถอนมติ ครม.ดังกล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะเป็นกุญแจสู่บุฟเฟ่ต์คาบิเนตหรือบุฟเฟ่ต์สภา

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมตอนนี้ อาจยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะเงินกู้เดิมจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทยังเหลืออีกราว 200,000 ล้านบาท ยังสามารถใช้เยียวยาผลกระทบได้อยู่

แต่เข้าใจว่าการที่รัฐบาลต้องเร่งออก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ช่วงนี้ เนื่องจากจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาก อาจทำให้เงินคงคลังลดลงต่ำลงมากด้วย เพราะการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจะเต็มเพดานแล้ว จึงต้องเร่งหาแหล่งเงินกู้ใหม่มาเสริม

 

ทั้งนี้ ตามเอกสารที่เข้า ครม.เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พบว่า การกู้เงินเพิ่มดังกล่าว นอกจากจะกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 เรื่องหลัก คือ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19, เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 แล้ว ยังเปิดช่องให้ ครม.สามารถอนุมัติปรับเปลี่ยนวงเงินดังกล่าวได้ รวมถึงให้กระทรวงการคลังนำวงเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ไปใช้เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีจำเป็นได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวออกมาด้วยว่า รัฐบาลอาจตัดสินใจออก พ.ร.ก.กู้เงินก้อนใหม่เพิ่มเติมเพียง 500,000 ล้านบาท จากเดิมยอดวงเงินกู้อยู่ที่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการคอนเฟิร์มในเวลาต่อมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมหารือเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกู้ก้อนใหม่ โดยมีผู้เกี่ยวข้อง อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นต้น เข้าร่วมประชุมเมื่อ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เพราะถัดมาอีกวัน ราชกิจจานุเบกษาก็ลงประกาศเผยแพร่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ลดลงไปจากกรอบเดิม 200,000 ล้านบาท

โดยปรับลดวงเงินในแผนงานที่ 2 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เหลือ 300,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนด 400,000 ล้านบาท และแผนงานที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เหลือ 170,000 ล้านบาท จากเดิม 270,000 ล้านบาท

ตัดทิ้งประเด็นเรื่องการนำเงินกู้ไปใช้เพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีจำเป็นออกไป

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท จะนำมาใช้ดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย คนทำงาน เพื่อสร้างงานให้กับภาคประชาชนในระดับท้องถิ่น หรือโครงการที่เป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-19 เป็นกฎหมายคู่แฝดกับสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 350,000 ล้านบาท

“เราประมาทไม่ได้เลย เราเคยเชื่อว่าควบคุมได้ แต่ก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้ล็อกดาวน์เหมือนการระบาดรอบที่ผ่านมา และมี พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ เพื่อดูแลทุกมิติ ทุกภาคส่วน เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ และภาคประชาชน รวมแล้ว 850,000 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้ในยามวิกฤต เพื่อให้เราก้าวพ้นและผ่านพ้นช่วงวิกฤตครั้งนี้ไปได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า พ.ร.ก.นี้เรียกว่า พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ ต้องมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ออกมาเพื่อเตรียมการรับมือการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ซึ่งจากวงเงินทั้งหมดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1.5% ต่อปี จากเดิมที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปี 2564 จะขยายตัวในช่วง 1.5-2.5% ต่อปี

“ปีที่แล้ว สศช.คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -8% เมื่อมีมาตรการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ติดลบน้อยลง เหลือ -6% ฉะนั้น ในปีนี้ประมาณการเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก โดยคำนวณจากคาดการณ์ 1.5-2.5% จะทำให้จีดีพีโตเพิ่มอีก 1.5% ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ ส่วนการกู้เงินนั้น จะทยอยกู้ตามความจำเป็น ไม่ได้กู้มาในคราวเดียว ซึ่งสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ (สบน.) จะดำเนินการกู้เงินอย่างระมัดระวัง ดูตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และประมาณการว่าหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบที่ 58.56% ต่อ GDP แต่ถ้าเศรษฐกิจเติบโต ตัวเลขหนี้สาธารณะก็จะดีขึ้น”

นายอาคมกล่าว

 

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.จะทยอยกู้ตามความจำเป็น และแผนเบิกจ่ายจริง เบื้องต้นคาดว่า จะกู้ภายในปีงบประมาณ 2564 แค่ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลังด้วย คาดว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 58.56% ต่อ GDP

“ยืนยันว่า การบริหารหนี้สาธารณะยังทำด้วยความรอบคอบ และช่วงเวลานี้เป็นวิกฤตโควิดที่เข้ามา เงินกู้เป็นเม็ดเงินที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือดูแลเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับต่างประเทศ โดยเงินที่ลงไป สามารถพัฒนาประเทศทำให้ GDP ขยายตัวได้ หนี้สาธารณะอาจจะมีไปแตะใกล้ๆ กรอบ หรือเกินกรอบ 60% บ้าง แต่ถ้าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวก็จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะลดลงมาได้”

ส่วนกรณีที่ตัดเรื่องปิดหีบงบประมาณออกไปแล้ว จะบริหารอย่างไรนั้น ทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดูเรื่องนี้อยู่ คิดว่าด้านรายได้อาจไม่ได้ตามเป้า และอาจต้องบริหารจัดการเรื่องรายจ่ายด้วย

ซึ่งต้องติดตามว่า ระยะต่อไปจะมีช่องทางไหนบ้างในการดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้จนสิ้นปีงบประมาณ

 

เรื่องเหมือนจะจบแต่เหมือนไม่จบ

เพราะทันทีที่ตัดทิ้งวัตถุประสงค์เรื่องการบริหารสภาพคล่องออกไป

ก็มีคำถามตามมาว่า ความจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นต้องออก พ.ร.ก. ยังมีมากน้อยแค่ไหน

ทั้งยังมีคำถามสำคัญตามมาอีกมากมายถึงประสิทธิผลในการใช้เงินของรัฐบาลว่า ท้ายที่สุดแล้ว เข้าเป้าในการเยียวยาอย่างทั่วถึงหรือไม่

และจะประคับประคองวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด