ชะตากรรม ‘วัคซีนไทยแลนด์’ ผุดระบอบ ‘เส้นสาย-อุปถัมภ์’ เบี่ยงประเด็น ‘ฉีดเพื่อชาติ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ชะตากรรม ‘วัคซีนไทยแลนด์’

ผุดระบอบ ‘เส้นสาย-อุปถัมภ์’

เบี่ยงประเด็น ‘ฉีดเพื่อชาติ’

 

ภายหลังโรงพยาบาลต่างๆ ‘เว้นวรรค’-เลื่อนการฉัดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ออกไปโดยไม่มีกำหนด

ทำให้เกิดกระแสโจมตีการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลอีกครั้ง

และเกิดคำถามว่าจะทันการฉีดให้กลุ่มบุคคลที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคหรือไม่ ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ มาพร้อมปรากฏการณ์รณรงค์ของภาครัฐให้ประชาชนฉีดวัคซีน ผ่านชุดวาทกรรมต่างๆ

ศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ที่ทำวิจัยเรื่อง global value chain of vaccine production ได้สะท้อนปรากฏการณ์เหล่านี้ออกมา

โดยเริ่มด้วยเรื่องฟังก์ชั่นการผลิตวัคซีน ทำไมในบ้านเรากำลังเผชิญปัญหาวัคซีนที่ยังมาไม่ถึง

โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการได้วัคซีนมา 2 ตัว ได้แก่ การผลิตในประเทศเอง โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หลังได้รับเทคโนโลยีการผลิตมาจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และการนำเข้าซิโนแวค

ส่วนสาเหตุที่เราไม่ทราบว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะมาถึงเมื่อใดนั้น เพราะเรายังไม่ได้ข้อมูลขั้นตอนการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ แม้ว่าเราจะเซ็นสัญญาไว้แล้วและได้ประกาศว่าจะได้วัคซีนในเดือนมิถุนายนนี้

แต่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ยังไม่เคยออกมาชี้แจงว่า กระบวนการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปถึงขั้นตอนใดแล้วบ้าง

อีกทั้งบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ทำหน้าที่อย่างไร เช่น เป็นผู้นำส่วนผสมต่างๆ เข้ามาแล้วบรรจุขวดที่ไทยเท่านั้น หรือมีการผลิตอย่างอื่นด้วยหรือไม่

สาเหตุที่เราต้องสนใจในประเด็นเหล่านี้ เพราะความล่าช้าอาจเกิดจากขั้นตอนที่เราจะต้องรอวัตถุดิบจากที่อื่นด้วย

บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ให้บริษัทในหลายๆ ประเทศเป็นผู้ผลิตวัคซีน เพื่อทำให้การผลิตสามารถตอบสนองความต้องการในโลกได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยมีการผลิตที่ประเทศเกาหลี เม็กซิโก และอาร์เจนตินา เป็นต้น

ส่วนสิ่งที่น่ากังวลคือเราไม่ได้รับข้อมูลว่าขั้นตอนการผลิตต่างๆ เป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่เห็นคือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเกิดการดีเลย์ในหลายประเทศ เช่น ประเทศอินเดียและอียู

ดังนั้น ที่คนไทยตั้งคำถามว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะมาถึงเมื่อใด จึงเป็นคำถามที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าน่าจะออกมาอธิบาย โดยผู้ผลิตในประเทศ คือบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ น่าจะชี้แจงในเรื่องเหล่านี้ด้วย

 

ศ.ดร.ภวิดาบอกว่า หากย้อนดูจะพบว่าประเทศไทยได้มีการสั่งซื้อวัคซีนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเราได้สั่งซื้อซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า แม้ว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะสั่งซื้อไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 แต่เนื่องจากเราต้องรอขั้นตอนการผลิตในประเทศ จึงต้องรอเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน ตามที่เราได้เห็น จึงทำให้เรายังไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีอยู่ในไทยนั้น เป็นการนำเข้ามาแสนกว่าโดสในช่วงแรก จากประเทศเกาหลี ซึ่งได้ทำการฉีดจนใกล้จะหมดแล้ว

ดังนั้น ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมีนาคม 2564 เราไม่ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีกเลย จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ช่วงเดือนมีนาคม 2564 เราถึงเริ่มพูดถึงเรื่องวัคซีนทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น

หลังจากเกิดการระบาดระลอกที่ 2-3 ทำให้วัคซีนที่จะสั่งนำเข้ามากลายเป็นวัคซีนซิโนแวค ที่มีการผลิตค่อนข้างมากและรัฐบาลของประเทศจีนพยายามผลักดันใช้ในเรื่อง ‘วัคซีนทางการทูต (Vaccine Diplomacy)’ ในการบริจาควัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มให้กับประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ การที่ไทยไม่มีวัคซีนมากกว่า 2 ตัวนี้ เนื่องจากประเทศอื่นเขาได้สั่งซื้อวัคซีนไปตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รัฐบาลใส่เงินลงไปช่วยเรื่องการพัฒนาวัคซีน

ดังนั้น เมื่อวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาถูกผลิตขึ้นมา จึงถูกจับจองไปแล้ว จากผู้ที่ได้ลงชื่อซื้อตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว

เมื่อเราเข้ามาต่อแถวช้า เราจึงยังไม่มีวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามา รวมทั้งจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่เรายังไม่เห็นกำหนดการชัดเจนว่าจะมาถึงประเทศไทยเมื่อใด

 

นอกจากนี้ ศ.ดร.ภวิดายังกล่าวถึงแผนเฉพาะหน้าในการจัดหาวัคซีนว่า เราต้องเจรจาเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากผู้ที่พร้อมจะขาย แต่ปัญหาในขณะนี้คือวัคซีนโควิดไม่เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีการผลิตไว้อยู่มาก ที่ใครๆ ก็สามารถขอซื้อได้ แต่วัคซีนโควิดจะต้องผลิตขึ้นมาใหม่ ดังนั้น เราต้องไปต่อแถวซื้อจากหลายๆ แห่ง และซื้อในจำนวนโดสที่ค่อนข้างเยอะ

ที่สำคัญวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นลักษณะฉุกเฉิน ดังนั้น บริษัทผู้ขายวัคซีนจึงไม่ยอมรับความเสี่ยงด้วย จึงมีข้อแม้ในเรื่องให้ภาครัฐเป็นผู้จัดซื้อและรับรองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับวัคซีนด้วย

ดังนั้น เราต้องจัดหาจากทุกๆ ที่และต้องทำให้เร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือการที่เราจะเป็นผู้ซื้อที่น่าสนใจ สำหรับผู้ขายแล้วนั้น เราต้องมีจำนวนซื้อที่ค่อนข้างมากพอสมควร ดังนั้น เราต้องกำหนดจำนวนและรวบรวมให้ชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างไปซื้อ

หากทำเช่นนั้นอาจกลายเป็นลักษณะ ‘เบี้ยหัวแตก’ ไม่ทราบว่าใครจะได้มาก่อนกัน

แม้ว่าจะเป็นการซื้อผ่านเอกชนกับเอกชน ก็ควรมีการจัดซื้อเป็นระบบ เช่น โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด จะต้องซื้อร่วมกันเพื่อให้ได้ปริมาณที่เราต้องการซื้อมีความน่าสนใจและมากพอ ให้บริษัทผู้ผลิตเขาสนใจที่จะขายให้กับเรา

หากปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนแต่ละรายไปซื้อกันเอง ก็จะทำให้ทุกคนต้องทำธุรกรรมแยกกันไป สำหรับบริษัทที่เป็นผู้ขายยา เขาก็คงมองว่าผู้ซื้อจิปาถะเล็กน้อยเช่นนี้ ไม่สะดวกสำหรับเขา

ดังนั้น การซื้อร่วมกันที่จะทำให้จำนวนยอดซื้อสูงนั้น เช่น การซื้อผ่านกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนหรือกลุ่มภาครัฐ เพื่อทำให้บริษัทผู้ขายวัคซีนสนใจที่จะขายให้กับเรา

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการฉีดวัคซีนได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองผ่านชุดวาทกรรมต่างๆ เช่น ฉีดเพื่อชาติ วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด ฉีดดีกว่าไม่ฉีด เป็นต้น

ศ.ดร.ภวิดามองว่า เป็นความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นจากจุดที่ทุกคนกำลังพูดถึง ไม่ใช่ว่าทุกคนในประเทศไทยไม่อยากฉีด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกคนอยากฉีด แต่วัคซีนยังไม่มีมา ดังนั้น การมาพูดว่าเราเรื่องมากในเรื่องวัคซีน หรือถามเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนจะเป็นอย่างไร หรือบอกว่าฉีดเพื่อชาติ-ฉีดดีกว่าไม่ฉีด เป็นความพยายามจะพูดเรื่องอื่น แทนที่จะพูดถึงสิ่งที่ควรพูด

ทำไมเราถึงยังไม่เห็นมาตรการหรือแผนการที่ชัดเจนในเรื่องการฉีดวัคซีน ใครจะเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดก่อน

ดังนั้น วาทกรรมตรงนี้ไม่ได้มีประโยชน์ในการช่วยให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนในทางที่สร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมา คือเรื่องการกระจายวัคซีนที่ต้องทั่วถึงเป็นธรรม ศ.ดร.ภวิดามองว่า ถ้าเราดูตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว สิ่งที่มีความชัดเจนมากที่สุดคือในช่วงที่วัคซีนยังมีอยู่จำกัด ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าฉีดให้ใครก่อน

เช่น สหรัฐ ยุโรป และสิงคโปร์ เขาจะใช้เกณฑ์กลุ่มเสี่ยงมาก่อน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยงเรื่องอายุ โดยเป็นเกณฑ์ที่สามารถจับต้องได้และทุกคนสามารถบอกได้ว่าใครอายุเท่าไหร่ ทะเบียนบ้านเราก็มีอยู่ ในต่างประเทศก็จะให้คนกลุ่มนี้เข้าไปมีสิทธิ์ก่อน

“แต่บ้านเราไปสนใจในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือกลุ่มเสี่ยง มองเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งไปฉีดให้กับกลุ่มคลัสเตอร์ จึงกระจัดกระจายไปทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จึงเป็นลักษณะการสับสนและเหยียบหัวแม่เท้ากันไปมาของหน่วยงานต่างๆ จึงเอื้อต่อการใช้ ‘เส้นสาย-ระบบอุปถัมภ์’ เข้ามา เรื่องนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้

แต่ถ้ามีกฎเกณฑ์จับต้องได้ ถ้าอายุเข้าข่าย ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใด ก็จะลดเรื่องของการใช้เส้นสาย

แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าใครที่เป็นผู้อุปการคุณใหญ่ของโรงพยาบาล ก็อาจมีสิทธิ์ได้ก่อน หรือกลุ่มดารา ซึ่งไม่ทราบว่ามีเหตุผลอย่างไรที่ควรได้สิทธิ์ก่อน สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้คนสูญเสียความเชื่อมั่นระบบของรัฐในการกระจายวัคซีนมากยิ่งขึ้น” ศ.ดร.ภวิดากล่าว

ชะตากรรม วัคซีนไทยแลนด์!!