เชื้อราดำระบาด บทเรียนซ้ำเขย่าสาธารณสุขอินเดีย/บทความต่างประเทศ

A doctor examines a patient who recovered from Covid-19 coronavirus and now infected with Black Fungus, a deadly fungal infection at a ward of a government hospital in Hyderabad on May 21, 2021. (Photo by NOAH SEELAM / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

เชื้อราดำระบาด

บทเรียนซ้ำเขย่าสาธารณสุขอินเดีย

 

ประเวศ ดูบี ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ชาวรัฐมัธยประเทศ วัยเพียง 33 ปี เสียชีวิตลงในวันที่ 21 พฤษภาคม เพียงสัปดาห์เดียวหลังจากเขาติดเชื้อราดำ (black fungus) ที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า โรคมิวคอร์ไมโคซิส (mucormycosis) ซึ่งเป็นโรคเชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาการแสดงที่มักพบบ่อยคือที่โพรงจมูก เบ้าตาและสมอง

ประเวศเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตกว่า 200 คนที่เป็นเหยื่อเชื้อราดำซึ่งกำลังระบาดหนักในอินเดียอยู่ในเวลานี้

โดยมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อราดำทั่วอินเดียอีกเกือบ 9 พันราย และมี 29 รัฐของอินเดีย รวมถึงรัฐคุชราตและรัฐมหาราษฏระที่เผชิญการระบาดหนัก ได้ประกาศให้เชื้อราดำเป็นโรคระบาดในพื้นที่ไปแล้ว

กลายเป็นวิบากกรรมซ้ำเติมระบบสาธารณสุขอินเดียที่มีอาการสาหัสอยู่แล้วจากการต้อง

รับมือกับวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดหนักในระลอก 2 ที่สถานการณ์ยังไม่แผ่วเบา

โดยโควิด-19 ได้คร่าชีวิตชาวอินเดียไปแล้วมากกว่า 3 แสนราย และทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมจ่อทะลุ 27 ล้านคน

 

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริการะบุว่า โรคมิวคอร์ไมโคซิส หรือเชื้อราดำ มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่พบได้ทั่วไปในดินและสิ่งมีชีวิตที่เน่าเปื่อย อย่างผักผลไม้ที่เน่าเสีย การติดเชื้อยังพบได้น้อย เชื้อโรคนี้ไม่ได้แพร่กระจายได้ง่าย โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึง 54% ในทันทีที่มีการติดเชื้อ ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตลงได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอาการของผู้ป่วยเองด้วย ในหลายกรณีผู้ป่วยรุนแรงอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดอวัยวะที่แสดงอาการทิ้ง

ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ภาวะติดเชื้อราดำมักพบร่วมกับโรคเบาหวานและมีความเชื่อมโยงกับภาวะที่ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การปลูกถ่ายอวัยวะ และการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยากดภูมิในการรักษาโรคอื่นมากจนเกินขนาด

ดังเช่น โรคโควิด-19 ที่กลุ่มแพทย์ในอินเดียสันนิษฐานว่าหลายเดือนที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในอินเดียจำนวนหลายพันคนที่หายดีหรือกำลังฟื้นตัวดีขึ้นจากโรคโควิด-19 แต่กลับมาติดเชื้อราดำ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มากเกินขนาด

สุขลักษณะที่ไม่ดีก็เป็นตัวแปรสำคัญ โดยน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคที่อยู่ในถังออกซิเจนหรือเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศสำหรับผู้ป่วย ยังเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยได้ดีต่อการเจริญเติบโตหรือการแพร่กระจายของเชื้อราดำ

 

ข้อมูลด้านสาธารณสุขของอินเดียระบุว่า โดยทั่วไปแล้วในอินเดียมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อราดำในแต่ละปีไม่ถึง 20 ราย แต่ตอนนี้เฉพาะในรัฐมหาราษฏระเพียงรัฐเดียว มีรายงานผู้ติดเชื้อราดำแล้วมากกว่า 2,000 ราย

นายแพทย์สุเรศ หัวหน้าแผนกจักษุวิทยาประจำโรงพยาบาลฟอร์ทิส ในเมืองมุมไบ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้ทำการรักษาผู้ติดเชื้อราดำไปแล้วอย่างน้อย 10 ราย เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับในตลอดทั้งปีก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ที่โรงพยาบาลของเขาต้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อราดำที่มีเพียงไม่กี่ราย

โรงพยาบาลหลายแห่งในหลายรัฐของอินเดียที่ต้องจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตอนนี้ก็ต้องหันมาจัดสรรพื้นที่ไว้รองรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อราดำขึ้นเป็นการเฉพาะไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเตียงก็เต็มอย่างรวดเร็ว

ด๊อกเตอร์วีพี ปานเด หัวหน้าแผนกอายุรกรรมประจำโรงพยาบาลรัฐขนาด 1,100 เตียงแห่งหนึ่งในเมืองอินดอรี บอกว่า จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อราดำเพิ่มขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจากเมื่อ 8 สัปดาห์ก่อน เป็น 185 คนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กว่า 80% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดในทันที นี่เป็นสถานการณ์ที่พวกเขาไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับการต้องรับมือกับผู้ป่วยติดเชื้อราดำมากมายเช่นนี้

แพทย์อินเดียยังมองว่า ตอนนี้เชื้อราดำกลายเป็นความท้าทายยิ่งกว่าโรคโควิด-19 หากคนไข้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม อัตราการตายก็จะพุ่งไปถึง 94% ได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษายังสูง

และที่สำคัญตัวยาที่ใช้รักษาโรคนี้อย่างแอมโฟเทอริซิน บี หรือแอมโฟบี ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อรา ก็ยังขาดแคลนอีกด้วย ทั้งที่อยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นคลังยาโลกอย่างอินเดีย

 

ตอนนี้เท่ากับอินเดียกำลังเผชิญศึกหนักจากโรคระบาดรุนแรงรุมเร้าพร้อมกันถึง 2 โรค ท่ามกลางระบบสาธารณสุขอินเดียที่แทบจะล้มพังพาบกับการรับมือโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ที่ทำให้เราได้เห็นภาพสุดอนาถใจที่โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดไม่เพียงพอ ครอบครัวญาติพี่น้องผู้ป่วยต้องเที่ยวตระเวนหาที่ว่างในโรงพยาบาลเพื่อให้ญาติของตนเองได้รับการรักษา

ภาพของชาวบ้านต่างอดทนเข้าคิวรอเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเติมออกซิเจนที่ยังหายากเอาไปช่วยยื้อชีวิตญาติพี่น้องที่มีอาการป่วยรุนแรง ไปพร้อมกับการเทียวตามหาซื้อยาเรมเดซิเวียร์ที่ใช้รักษาโรคโควิด แม้ในตลาดมืดราคายาจะวิ่งขึ้นไปหลายเท่าตัวก็ตาม

เหล่านี้ล้วนเป็นภาพความโหดร้ายที่ชาวอินเดียได้เผชิญมาแล้ว ผลจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

มีเสียงสะท้อนมากมายจากแวดวงผู้เชี่ยวชาญที่ชี้แนะให้ภาครัฐ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเร่งตอบสนองในทันทีที่รับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมกับให้คำแนะนำที่เหมาะสม ไม่เพียงเฉพาะแค่การป้องกัน แต่รวมถึงการรักษา

ยังไม่นับรวมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อรัฐบาลนายโมดีในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดเลวร้าย ที่มีการซัดหนักว่ารัฐบาลโมดีล้มเหลวมาแล้วในการจัดการควบคุมสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในทุกแง่มุม รวมถึงการจัดหาวัคซีนและยารักษาให้มากเพียงพอ

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลโมดีจะยังไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยกับบทเรียนครั้งใหญ่ที่ได้รับมาแล้ว เพราะสภาพสถานการณ์ในอินเดียตอนนี้ยังคงย่ำแย่

หรือนี่กำลังจะเป็นการก้าวเดินซ้ำไปบนความผิดพลาดอีกในการจัดการกับโรคเชื้อราดำ!