เปิด ‘โมเดล’ พรรคฝ่ายค้าน จัดทัพกรำศึกฟอกงบฯ ’65/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เปิด ‘โมเดล’ พรรคฝ่ายค้าน

จัดทัพกรำศึกฟอกงบฯ ’65

 

น่าจับตาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2665 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงนี้ เพราะถือว่าเป็นงบฯ สำคัญอันดับ 1 ของประเทศ

การจัดทำงบประมาณปี 2565 ของรัฐบาล ถูก “ฝ่ายค้าน” และภาคสังคมจับตามองกันตั้งแต่ยังใช้งบฯ 2564 ไม่จบ เนื่องจากสถานการณ์ประเทศที่ประสบวิกฤตหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจระดับมหภาค ลามไปถึงปากท้องของพี่น้องประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การจัดงบประมาณจึงต้องระมัดระวัง รัดกุม และแก้ปัญหาที่หนักหน่วงของประเทศด้านต่างๆ เหล่านี้ให้ได้มากที่สุด

แต่อย่างที่ได้รับรู้รับทราบ การจัดงบประมาณปี 2565 ยังคงมีอะไร ‘แปลกๆ’ ให้ได้เห็น เช่น การจัดงบประมาณ ‘ด้านสาธารณสุข’ ต่ำกว่างบฯ ‘ด้านความมั่นคง’

โดยงบฯ กระทรวงสาธารณสุขถูกตัดไปถึง 10.8%

ในขณะที่งบฯ ด้านการป้องกันประเทศลดลงไปเพียง 4.9% เท่านั้น

แถมยังมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลจนเต็มเพดาน เพราะขาดดุลของงบประมาณ (ประมาณ 7 แสนล้าน) แซงหน้ารายจ่ายลงทุน (624,399 ล้านบาท) ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20(1) ขณะที่หนี้สาธารณะต่อ GDP จริงๆ ปาไปกว่า 60% แล้ว

ทั้งที่ก่อนหน้านี้หนี้สาธารณะถูกประเมินว่าจะอยู่ที่ 56-57% เท่านั้น

 

ประเด็นเหล่านี้ ‘อรุณี กาสยานนท์’ โฆษกเพื่อไทย บอกว่า พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าตรวจสอบการใช้งบฯ ผ่านกระบวนการรัฐสภาอย่างเต็มที่ ไม่แพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังถูกจัดเพื่อ

1. ปกป้องพวกพ้อง ทอดทิ้งประชาชน

2. ไม่จัดลำดับความสำคัญของปัญหา

3. ไม่สนใจทุกข์ร้อนของประชาชน

และ 4. ไม่มีวิสัยทัศน์ในการจัดสรรงบประมาณ

นอกจากนี้ ‘ดร.หญิง’ ยังชวนประชาชนให้ช่วยกันจับตาการตั้งงบฯ กลางที่สูงถึง 571,047.3 ล้านบาทด้วย เพราะการใช้จ่ายงบฯ กลางนี้ต้องเป็นไปเพื่อสถานการณ์จำเป็นและเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดทัพรับศึกในสภา ‘เพื่อไทย’ (พท.) ในฐานะพี่ใหญ่พรรคฝ่ายค้านวางตัวขุนพลสำหรับขึ้นอภิปรายไว้แล้วกว่า 60 คน

เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มี ส.ส.เป็น ส.ส.เขตทั้งหมด ทำให้ต้องให้เวทีกับ ส.ส.เขตได้แสดงบทบาท และสะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขผ่านงบประมาณของรัฐ และมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ทำให้มีจำนวน ส.ส.ที่ประสงค์จะอภิปรายกว่าครึ่งร้อย

ดังนั้น การจัดสรรเวลาให้เหมาะสมและเพียงพอจึงเป็นงานหนักสำหรับพรรคเพื่อไทยเสมอเพื่อให้ทุกคนได้ลุกขึ้นอภิปราย จะได้เวลาพูดอย่างน้อยคนละ 5-10 นาทีก็ต้องทำ

แต่ไม่ใช่ว่าจะให้พื้นที่กับการสะท้อนปัญหาในระดับพื้นที่เป็นหลัก รอบนี้ “เพื่อไทย” วางยุทธศาสตร์การอภิปรายแบบชี้ให้ประชาชนเห็นความผิดพลาดในระดับ ‘มหภาค’

นั่นคือ วางกรอบปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประเทศไว้เป็นหลัก พร้อมให้เวลาจำนวน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง กับ ‘ขุนศึกมือฉมัง’ ไว้ใช้ซักฟอกในภาพรวมในการจัดทำงบประมาณ

 

โดยโมเดลที่ ‘เพื่อไทย’ วางไว้ ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แอบกระซิบว่า เปิดมาจะเป็นหัวหน้าพรรค และตนเองที่พูดภาพรวม

พอเข้าสู่เนื้อเรื่อง ช่วงกลางจะมี ส.ส.ที่จัดเอาไว้โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ซึ่งใน 7 กลุ่มจะมีคนที่เป็นตัวเปิด เช่น กลุ่มกระทรวงกลาโหม จะมี ‘ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค เป็นคนจั่วหัว จากนั้นจะมี ส.ส.ลุกขึ้นซัดต่ออีก 4-5 คน

ด้านสาธารณสุขมี ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ ส.ส.น่าน จั่วหัว โดยเน้นขยี้เรื่องโควิด จากนั้นก็จะมีคนกระทุ้งต่อ เป็นลักษณะนี้ไปจนครบทั้ง 7 ด้าน

สุดท้ายคือกาการสรุป คิดว่าจะเป็น ‘สุทิน คลังแสง’ ส.ส.มหาสารคาม เจ้าเก่าเจ้าเดิม ที่จะสรุปจบว่า เพื่อไทยจะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าว

สำหรับประเด็นที่ ‘เพื่อไทย’ จะใช้เป็นหมัดเด็ด หลักๆ คือเรื่องการตั้งงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ของประเทศที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ต่อมาคือการไม่จัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง จะเอาแต่เรื่องความมั่นคง และด้านการทหารเป็นหลัก แทนที่จะเลือกให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และชีวิตประชาชนเป็นหลัก

อีกเรื่องคือ การไม่ยอมตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออก เช่น เรือดำน้ำ ที่จะมีอีก 2 ลำให้ได้ แบบไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชนเลย

และอีกเรื่องที่สำคัญ คือการกระจายงบฯ ที่ไม่เป็นธรรม จังหวัดไหนที่มี ส.ส.เป็นคนของบางพรรคจากฟากรัฐบาล ก็จะได้งบฯ ไปมาก ทั้งที่บางพื้นที่สถานการณ์รุนแรงกว่า แต่กลับได้งบฯ น้อยกว่า เป็นต้น

ขณะที่นอกสภา เพื่อไทยยังเตรียมจัดเวทีวิพากษ์การจัดสรรงบฯ 2565 โดยทีมเศรษฐกิจของพรรค อาทิ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค พท. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท. นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียน และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยไว้ชำแหละงบฯ เพื่อขยายความจากการอภิปรายในสภาหากมีสิ่งใดตกหล่นไปด้วย

และอย่างที่เราๆ รู้กันดี ทีมงานที่กล่าวมาข้างต้น คือคณะทำงานเศรษฐกิจที่เป็นคนทั้งรวบรวม และจัดเตรียม ‘ข้อมูล’ ให้แก่ผู้อภิปรายในแต่ละด้าน

ดังนั้น ข้อมูลในมือจึงถือว่าแน่นไม่แพ้เวทีสภา

ถือว่าเป็นการเตรียมการชำแหละทั้งในและนอกสภาไปพร้อมกันในคราวเดียว

 

ฟาก “ก้าวไกล” ในการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 นั้น ได้รับเวลารวม 6 ชั่วโมง มี ส.ส.จองคิวอภิปรายแล้วประมาณ 20 คน ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย เคยบอกไว้ว่า สไตล์ของพรรคก้าวไกล คือการอภิปรายหนึ่งคนหนึ่งเรื่องไม่ซ้ำกัน

โดยการอภิปรายปีนี้ใช้ธีม ว่า หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะออกแบบงบฯ เป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศในแต่ละด้านอย่างไรบ้าง รวมถึงการปรับลดงบฯ ในส่วนที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ก้าวไกลมองว่า งบฯ 2565 มีปัญหาเชิงโครงสร้างค่อนข้างมาก เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาในยามที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ประชาชนลดลง สุดท้ายส่วนที่ขาดอยู่ก็ต้องใช้วิธีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล

‘ก้าวไกล’ จึงจะใช้ธีม “ปีแห่งการฟื้นฟู” มาอภิปรายการจัดทำงบประมาณในปี 2565

และตัวบุคคลที่จะจับดาบออกฟาดฟันในศึกซักฟอก คงจะหนีไม่พ้นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค, ศิริกัญญา, รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรค, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค ฯลฯ มือฉมังในการอภิปรายของฝั่งก้าวไกล

สุดท้ายแล้ว ซักฟอกงบประมาณปี 2565 ของ ‘ฝ่ายค้าน’ จะสามารถ ‘เบรก’ เสียงส่วนใหญ่ของฟาก ‘รัฐบาล’ ได้หรือไม่นั้น

คงต้องติดตามกันในการประชุมสภา