วัคซีนโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำไม่รู้จบ/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

วัคซีนโควิด-19

ความเหลื่อมล้ำไม่รู้จบ

 

เงื่อนปมเรื่องการพัฒนา การผลิต และการกระจายวัคซีน สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ต่ำ-สูง ขึ้นชนิดไม่รู้จบอย่างแท้จริง

ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นตั้งแต่ในระดับโลก เห็นได้ชัดเจนจากการกักตุนวัคซีนของประเทศมั่งคั่งที่เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีทั้งหลาย เรื่อยมาจนถึงตอนปลายน้ำ อย่างเช่นกรณีการกระจายวัคซีนที่มีให้เห็นในประเทศต่างๆ รวมทั้งในไทยเราในเวลานี้

ความพยายามขององค์การอนามัยโลก เรื่อยไปจนถึงสหประชาชาติ และองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายร้อยองค์กร ที่ต้องการให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ ครอบคลุมทุกประเทศที่มีปัญหาจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ ยังไม่เป็นผล

ข้อเสนอของดับเบิลยูทีโอ ที่ให้ชาติสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าขององค์ความรู้ เจ้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาและผลิตวัคซีน เปิดเผยทุกอย่างออกมา ถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยกันผลิตวัคซีนออกมาให้ได้เพียงพอกับความต้องการมหาศาลของทั้งโลก ถูกคัดค้านอย่างหนัก จากทั้งบริษัทผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรและประเทศที่เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมเภสัชกรรมทั้งหลาย

ทั้งๆ ที่เห็นกันได้ชัดเจนว่า เพียงระยะเวลาไม่ถึงปี วัคซีนที่นำออกมาขายสร้างรายได้ให้แล้วมหาศาล ถึงกับก่อให้เกิดมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ขึ้นมาใหม่แบบเฉียบพลันได้ถึง 9 คนแล้วก็ตามที

 

ในประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ หรือความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ยิ่งสะท้อนออกมา กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่เรื่องของความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของวัคซีน เรื่อยไปจนถึงการได้รับวัคซีนก่อน-หลังและสิทธิในการเลือก “ยี่ห้อ” วัคซีน

หลายคนมีความรู้สึกตรงกันว่า การกระจายวัคซีนโควิด-19 ในไทย กลายเป็นการเมือง จนทำให้ทุกอย่างสับสน วุ่นวาย กลายเป็นความปริวิตกไปทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

รายงานของบลูมเบิร์ก สำนักข่าวอเมริกัน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ที่พูดถึงเรื่องการโฆษณา “แพ็กเกจทัวร์” เพื่อไป “ฉีดวัคซีน” ในต่างประเทศ ที่กำลังแพร่สะพัดอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียของไทยและอินเดีย ขับเน้นให้เห็นความต่างของทางเลือก ระหว่างคนมีกับไม่มีสตางค์ได้อย่างชัดเจน

ไม่ผิดกฎหมายหรอกครับ ใครๆ ก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกาหรือรัสเซียได้ แล้วก็มีวัคซีนให้ฉีด ให้เลือกได้อีกด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการท่องเที่ยวทั้งของไทยและอินเดีย เตือนว่า

บลูมเบิร์กยกตัวอย่างในกรณีของไทยเอาไว้ว่า อย่างเช่น ผู้ให้บริการทัวร์รายหนึ่ง โฆษณาผ่านออนไลน์ เสนอแพ็กเกจเดินทางไปนครซานฟรานซิสโก, นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส ของสหรัฐอเมริกา ในราคาที่เริ่มต้นตั้งแต่ 2,400 ดอลลาร์ หรือราว 75,263 บาท ไปจนถึง 6,400 ดอลลาร์ หรือราว 200,700 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของวัคซีนและจำนวนวันที่อยู่รอเพื่อฉีดเข็มที่สองให้ครบโดสนั่นแหละครับ

อย่างเช่น ถ้าเป็นวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งฉีดเข็มเดียว ก็ใช้เวลาสั้นหน่อย ราคาก็ถูกลงมาหน่อย ถึงอย่างนั้นตาสีตาสาก็ไม่มีปัญญาซื้อทัวร์แบบนี้แน่นอนครับ

ที่สำคัญก็คือ แพ็กเกจที่ว่านี้ บลูมเบิร์กบอกว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่รวมค่าขอวีซ่า, ค่าเครื่องบิน, ค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างถูกกักกันตัวรอผลการตรวจหาเชื้อ

เจ้าของกิจการทัวร์รายหนึ่งบอกว่า โฆษณาไปแล้วมีผู้สอบถามเข้ามาหลายร้อยราย แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่มีวีซ่าสำหรับเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาครับ

 

สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เตือนผ่านบลูมเบิร์กเอาไว้ว่า ผู้ให้บริการทัวร์อาจไม่รับผิดชอบ หากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาอันเป็นผลมาจากการได้รับวัคซีนเข้าไป

“รัฐบาลคงไม่มายับยั้งบริการทัวร์ทำนองนี้หรอก แต่มีภาระและความเสี่ยงหลายอย่างที่จะตกอยู่กับผู้เดินทางด้วยแพ็กเกจทัวร์ทำนองนี้ ทุกคนควรชั่งน้ำหนักให้ดีว่าเดินทางไปแล้วคุ้มค่าเสี่ยงหรือเปล่า” นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว เตือนไว้ด้วยความหวังดี

ชโยติ มายัล นายกสมาคมผู้ให้บริการท่องเที่ยวแห่งอินเดีย ก็เตือนไว้ในทำนองเดียวกันว่า มีหลายอย่างมากที่อาจเกิดผิดพลาด บกพร่องขึ้นนอกเหนือจากที่คาดหมายเอาไว้ อย่างเช่น ถ้าหากเกิดจำเป็นต้องอยู่นานกว่าที่คิดไว้จะทำยังไง?

 

ข้อสรุปที่น่าสนใจของบลูมเบิร์กก็คือ ความต้องการแพ็กเกจทัวร์เพื่อไปฉีดวัคซีนทำนองนี้ เกิดขึ้นมาส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนที่ “ถูกมองว่า” มีประสิทธิภาพดีที่สุด

ซึ่งถูกชาติมั่งคั่งในแถบตะวันตกกักตุนเอาไว้เกือบทั้งหมด

แล้วทำให้หลายชาติกำลังพัฒนา ล้าหลังในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตน

ในขณะที่กำลังเผชิญอยู่กับการระบาดระลอกใหม่ เหมือนที่ไทยกับอินเดียเจออยู่ในเวลานี้นั่นเอง