หลังโควิด-19 โลกจะไม่มีวันเหมือนเดิม/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

หลังโควิด-19

โลกจะไม่มีวันเหมือนเดิม

 

โลกหลังโควิด-19 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงหนักหน่วงที่ตอกย้ำความจำเป็นที่ผู้คนจะต้องปรับตัวอย่างชนิดที่ไม่เคยต้องเผชิญมาก่อน

หนึ่งในปรากฏการณ์ใหญ่คือการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ซึ่งความจริงก็เริ่มขึ้นแล้วก่อนโควิดมาเยือน

แต่หลังโควิดแรงกระชากของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่จะยิ่งรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง robotics หรือหุ่นยนต์

Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์

Nanotechnology, Quantum computing, biotechnology, internet of things, 5 G, 3 D printing,

รวมไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ self-driving automobiles และ machine learning

แรงผลักดันของนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอาชีพรวมไปถึงสังคมด้านต่างๆ อย่างรุนแรงและกว้างขวาง

ไม่แพ้ผลพวงที่เปลี่ยนโลกเมื่อเราเผชิญกับ digital revolution ก่อนหน้านี้

 

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าก่อนการระบาดของโควิด เราก็เจอกับความ “ป่วน” หรือ disruption ที่มีผลทำให้อุตสาหกรรมหลายอย่างต้องสิ้นสภาพ ทดแทนโดยสิ่งใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และใช้คนน้อยลง

เป็นที่มาของคำว่า Constructive Destruction ที่แปลว่า “การทำลายเพื่อสร้างสรรค์”

หรือที่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านแปลเป็นภาษาแบบชาวบ้านว่า “รื้อ โละ ริเริ่ม”

เป็นสัจธรรมว่าสิ่งใหม่จะมาทดแทนสิ่งเก่า เพราะใช้ทรัพยากรน้อยกว่า ประหยัดกว่า เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า

สิ่งที่มีนวัตกรรมสูงมาทดแทนสิ่งเดิม

นั่นหมายถึงการที่กิจกรรมเก่าที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ของสังคมใหม่ก็ต้องถูกรื้อหรือโละทิ้งไป

หันมาริเริ่มสิ่งใหม่ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าแต่มีประสิทธภาพสูงกว่า

สิ่งที่จะตามมาคือคนที่ตามการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ทันก็จะตกงานนอกจากจะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

ยกเว้นเสียแต่ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะเอาจริงเอาจังกับการลงมือทำเรื่อง RUN ตั้งแต่วันนี้

Reskill

Upskill

New Skill

หมายถึงหนึ่งทักษะเดิมที่ต้องปรับให้สูงขึ้นตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

สอง คือการยกระดับทักษะให้เข้าสู่ความสามารถและประสิทธิภาพที่ตลาดยุคใหม่ต้องการ

และสาม คือทักษะใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือไม่ได้สอนที่ไหนในวันนี้

อีก 3-5 ปีจากนี้ไป ตำแหน่งงานที่มีอยู่วันนี้อาจจะหายไปกว่า 30%

ยิ่งกว่านั้นตำแหน่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้าอาจจะเป็นหน้าที่งานการที่ยังไม่เกิดทุกวันนี้

หรือเป็นตำแหน่งงานที่ไม่มีใครรู้จักวันนี้

นั่นแปลว่าทุกคนต้องเรียนรู้ระหว่างทาง และปรับตัวไปพร้อมๆ กับการประคองตนให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

หากไม่รอดวิกฤตโควิด, ก็ไม่อาจจะเข้าสู่โลกยุคหลังโควิดได้

 

สิ่งที่จะตามมาในสังคมหลังโควิดคือความเหลื่อมล้ำกันในด้านต่างๆ

ประกอบกับกระแสต่อต้าน “โลกาภิวัตน์” หรือที่เรียกว่า deglobalization และคัดค้านระบบทุนนิยมหรือ Anti-capitalism อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อหน้าที่งานการเปลี่ยนรูปโฉมและเนื้อหาไป ช่องว่างรายได้ระหว่างคนงานมีทักษะและไร้ทักษะในยุคโลกใหม่ก็จะยิ่งกว้างขึ้น

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งทุกวันนี้ก็เป็นปัญหาหนักหน่วงอยู่แล้วจะยิ่งเสื่อมทรุดลงไปอีก

ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มระดับขึ้นอีก

และจะผลักดันให้นักการเมืองบางประเทศโยนบาปไปให้กับต่างชาติและอิทธิพลจากข้างนอก

แทนที่จะแสวงหาคำตอบจากสาเหตุที่แท้จริง

นั่นคือการที่ผู้นำการเมืองไม่อาจจะเป็นผู้ริเริ่มการปรับตัวของคนทั้งสังคมให้ทันกับเทคโนโลยีได้

เมื่อวาทกรรมเรื่อง “อิทธิพลต่างชาติ” และ “การแสวงหาประโยชน์จากข้างนอก” ร้อนแรงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตน นักการเมืองเหล่านี้ก็จะหันเหไปสู่การเมืองแบบ “ชาตินิยม” และ “ประชานิยม” Nationalism กับ populism เหมือนเป็นคู่แฝดทางการเมืองที่กลายเป็น “ไพ่” สำหรับการปั่นกระแสต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่

หรือไม่ก็เป็นการปลุกอารมณ์ผู้คนให้ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

 

สําหรับนักการเมืองรุ่นเก่า การรักษา “สถานภาพเดิม” หรือ status quo นั้นเป็นประโยชน์สำหรับการหาเสียงหรือสร้างความนิยมของตน

นั่นคือการสร้างวงจรอุบาทว์เดิมๆ ของการเมืองที่เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการพาประเทศผ่านพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

นักการเมืองรุ่นเก่าจะพยายามให้ประชาชนถูกปิดล้อมอยู่ใน “เขตคุ้นเคย” หรือ comfort zone ของตน

เพราะเมื่อประชาชนไม่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เลือกที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ผู้ปกครองก็สามารถกำกับและควบคุมพฤติกรรมของประชาชนได้ง่ายขึ้น

แต่ความจริงที่หนีไม่พ้นก็คือประชาชนจะถูกกระทบโดยคลื่นแห่งเทคโนโลยีหนักขึ้นหลังโควิดผ่านไปแล้ว

เพราะธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์โควิดและ technological disruption มาแล้วจะเริ่มใช้หุ่นยนต์และตัดสินใจด้วยข้อมูลหรือ big data กับ AI มากขึ้น

นั่นแปลว่าการว่าจ้างแรงงานคนจะน้อยลง

เหตุหนึ่งก็เป็นเพราะการระบาดของโควิดทำให้เกิดบทเรียนว่าการรักษาระยะห่างระหว่างคนเป็นเรื่องสำคัญ

ยิ่งมีการปฏิสัมพันธ์ของคนต่อคนน้อยลงเท่าใด ก็ยิ่งจะปลอดจากการแพร่เชื้อเท่านั้น

จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมในหลายธุรกิจเราเห็นหุ่นยนต์ถูกใช้ในการวัดอุณหภูมิของคน

หุ่นยนต์ถูกใช้ถูพื้น

เอไอถูกใช้ในการทำงานพื้นๆ ที่มนุษย์ทำได้

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือหลายประเทศจะเริ่มดึงเอากระบวนการผลิตกลับบ้าน

เพราะไม่ต้องใช้แรงงานท้องถิ่น และเมื่อห่วงโซ่ของการรับและส่งสินค้าหรือระบบ logistics ถูกออกแบบใหม่ให้สั้นลง หลายอุตสาหกรรมก็จะลดการตั้งโรงงานและระบบการผลิตในต่างประเทศอย่างที่เห็นกันอยู่วันนี้

ปรากฏการณ์อย่างนี้เรียก Reshoring อันหมายถึงการดึงเอาการผลิตกลับมาอยู่ประเทศของตัวเอง

บทวิจัยของ LSE Business Review เมื่อสองปีก่อนตอกย้ำบทสรุปนี้ว่า

Automation will speed up reshoring

 

หมายความว่า

เมื่อกระบวนการผลิตกลายเป็นอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือการดึงเอากระบวนการผลิตกลับไปบ้านตัวเองมากขึ้น

คนงานในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำที่เคยเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของธุรกิจข้ามชาติก็ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป

หากประเทศไทยเราไม่ทำให้แรงงานของเรายกระดับ, ปรับทักษะ และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ปัญหาที่ตามมาก็คือคนจบสถาบันการศึกษาทุกระดับจะหางานทำไม่ได้

นำไปสู่ความไม่พอใจต่อสิ่งแวดล้อมในสังคม

ตามมาด้วยความอิดหนาระอาใจกับระบอบการเมืองเดิม

กระแสชาตินิยมและประชานิยมจะเพิ่มความเร่าร้อนให้กับการเมืองในระดับต่างๆ

และอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคมที่สร้างปัญหาด้านอื่นๆ อันเป็น “ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์” ได้

ยิ่งเมื่อไทยเรากำลังเข้าสู่ “สังคมคนสูงวัย” ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาที่ทับซ้อนอีกด้านหนึ่ง

เพราะเมื่อคนอายุเกิน 60 มีจำนวนใกล้ 20% ของประชากร ภาระด้านงบประมาณที่ดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้เป็นประเด็นหนักขึ้นทุกปี

ขณะเดียวกันคนวัยทำงานก็มีน้อยลง ไม่อาจจะหารายได้เพื่อดูแลประชากรสูงวัยได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ท้าทายความสามารถของสังคมที่จะเฟ้นหาผู้นำมาบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างหนักหน่วงยิ่งนัก