สัญญาณ ‘เตือน’ จากพลังใหม่ ‘ความคิด’ ไปสู่ การเมืองใหม่/กรองกระแส

กรองกระแส

 

สัญญาณ ‘เตือน’

จากพลังใหม่ ‘ความคิด’

ไปสู่ การเมืองใหม่

แม้การเคลื่อนไหวของ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” จะมากด้วยความคึกคักเป็นอย่างยิ่งในภาพสะท้อนของการ “สามัคคีประชาชน”

กระนั้น หลายความเห็นก็มองว่าจะไม่เกิดผลอะไรในทางเป็นจริง

แม้จะมีการไปยื่นหนังสือให้กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีการไปยื่นหนังสือให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ก็จะไม่มีผลอะไรอันนำไปสู่การถอนตัว

ยิ่งการไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตัดสินใจลาออกจากการดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ยิ่งเป็นความหวังในแบบลมๆ แล้งๆ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะยังเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป

เพราะแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ประสานเข้ากับ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” กระทั่งยกระดับเป็น “คณะราษฎร 2563” ก็ไม่เกิดผลอะไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังอยู่ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ไม่แปรเปลี่ยน

 

ในวาระปีที่ 7 แห่งรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้มีการออกมาสรุปและทบทวนจากพรรคการเมือง จากกลุ่มทางการเมือง ทั้งอย่างเป็นคณะและอย่างเป็นส่วนตัว

สรุปตรงกันในความเชื่อมโยงของ 2 รัฐประหาร

นั่นก็คือ จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่ามีความสัมพันธ์ในทางความคิดอย่างเป็นเอกภาพ

อย่างที่เคยมีบทสรุปว่า รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ”

จึงได้มีกระบวนการผลิตซ้ำในทางการเมืองอีกครั้งผ่านปฏิบัติการของมวลมหาประชาชน “กปปส.” และนำไปสู่การรัฐประหารซ้ำอีกในเดือนพฤษภาคม 2557

ครานี้ได้ออกมาอุดช่องว่าง รอยโหว่ครบถ้วน

ที่เด่นชัดอย่างที่สุดก็คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยมีกระบวนการจัดแต่งตั้ง 250 ส.ว.มาเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ครองอำนาจอย่างมั่นคงและยาวนาน

 

ข้อสังเกตหนึ่งอันกลายเป็นบทสรุป “ร่วม” ในทางการเมืองก็คือ รัฐประหาร 2557 ไม่เพียงแต่จะย้อนอำนาจทางการเมืองไปยังยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หากแต่ไปไกลมากยิ่งกว่านั้นเป็นอย่างมาก

การยืนยันบทบาทของ “รัฐราชการรวมศูนย์” ดำเนินไปอย่างหนักแน่นและจริงจัง เน้นลักษณะอนุรักษนิยมย่างชนิดสุดขั้ว

กระนั้น ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือการคาดคิด

นั่นก็คือ การปรากฏขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ นั่นก็คือ การปรากฏขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่เท่ากับเป็นปฏิกิริยาโต้กลับในลักษณะสุดซอยในทางความคิดอีกเหมือนกัน

ปรากฏการณ์ใหม่นี้อาจจะยังไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่ไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปรากฏการณ์ใหม่นี้มิได้อยู่ในพิมพ์เขียวแห่งการทำรัฐประหาร

นี่คือ การสะสมและการก่อตัวขึ้นของ “พลังใหม่” ในทางการเมือง

 

ไม่ว่าการเมืองก่อนการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ไม่ว่าการเมืองก่อนการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือนตุลาคม 2516

ย่อมมีการสะสมในทาง “ความคิด”

เมื่อมีการปะทะระหว่างความคิด “ใหม่” กับความคิด “เก่า” สภาพที่จะตามมาก็คือ การปรากฏขึ้นของการเมือง “ใหม่” ไปต่อกรกับการเมือง “เก่า”

นี่ย่อมเป็น “สัญญาณ” อันมาจากพลัง “ใหม่” ในทางความคิด ในทางการเมือง