การเมืองเรื่องวัคซีน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การเมืองเรื่องวัคซีน

 

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 แทนที่จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดรุนแรงของโรคร้ายด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ กลับกลายเป็นเรื่องการเมือง

ทำให้นึกถึงประโยคที่กล่าวกันว่า หากการเมืองดี ทุกอย่างในประเทศจะดีตาม

แต่เมื่อการเมืองเป็นการเมืองที่ผูกขาดโดยผู้มีอำนาจ ประสงค์ต่อการดำรงตำแหน่ง แบ่งสรรจัดโควต้ากันจากผลประโยชน์ที่ตกลงได้โดยไม่มีการพิจารณาจากความรู้ความสามารถในการบริหาร

การแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุขจึงดูมืดมน

 

ผู้นำประเทศกับวัคซีน

ในสถานการณ์วิกฤต เราจะเห็นผู้นำประเทศต่างๆ แสดงภาวะผู้นำในการแก้ไขปัญหา สำหรับประเทศไทยมีการขอมติคณะรัฐมนตรีในการโอนอำนาจบริหารตาม พ.ร.บ.สำคัญรวม 31 ฉบับ ให้แก่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับและสั่งการแทนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่กำกับเดิมตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2564 โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่นับถึงปัจจุบัน เรายังไม่เห็นสัญญาณการแก้ไขปัญหาในทางที่ดีขึ้น

จำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง โดยจำนวนผู้ติดติดเชื้อและคนตายยังอยู่ในระดับที่น่าวิตก

แนวทางการจัดหาวัคซีนยังสับสน แผนการจัดฉีดวัคซีนยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

วันหนึ่งบอกว่าให้ประชาชนสามารถเดินมารับวัคซีนแบบ Walk-in ได้ อีกวันหนึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่า ไม่ให้ทำ แต่ขอให้เป็นการจอง ณ จุดที่ฉีด หรือ On-site แทน

อำนาจที่มีตามกฎหมายในมือนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นโอกาสในการแก้วิกฤต กระบวนการขึ้นทะเบียนยายังล่าช้า การนำเข้าวัคซีนทางเลือกของเอกชนยังต้องผ่านขั้นตอนการจัดการของหน่วยงานรัฐที่เพิ่มความล่าช้าและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่มีแนวทางชัดเจนในการควบคุมราคาวัคซีนทางเลือก

กระบวนการจัดสรรวัคซีนถูกการเมืองเข้าแทรกแซงนำไปแจกจ่ายในจุดที่เป็นฐานคะแนนเสียงมากกว่าพิจารณาจากพื้นที่ที่มีความจำเป็น

ในขณะที่หน่วยงานของรัฐ กลับไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจและลดความตื่นตระหนกของประชาชนได้

ประชาชนเริ่มรับรู้ถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลในหลายเรื่อง นับแต่การตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับโครงการ COVAX หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก ขององค์การอนามัยโลกโดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่เข้าร่วมด้วยการอ้างเหตุไม่ใช่ประเทศยากจนและการติดขัดเรื่องระเบียบวิธีการงบประมาณ

การกำหนดให้มีวัคซีนหลักเพียงรายเดียว คือ AstraZeneca โดยรอการผลิตในประเทศที่พร้อมส่งมอบในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 และมีวัคซีนที่ใช้ชั่วคราวอีกหนึ่งตัว คือ Sinovac ในกรณีที่วัคซีนหลักยังไม่มาถึง โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการติดต่อขอจองขอซื้อวัคซีนตัวอื่นๆ ที่มีในโลกซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพสูงกว่า

คำกล่าวและคำสัญญาของนายกรัฐมนตรี จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการเชื่อถือ เนื่องจากไม่มีหลักประกันอะไรให้เห็นว่าจะเกิดขึ้นจริง เนื่องจากสิ่งที่เคยพูดมาล้วนล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ

 

รัฐมนตรีสาธารณสุขกับวัคซีน

ตําแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสาธารณสุขทั้งรัฐมนตรีว่าการ อนุทิน ชาญวีรกูล และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สาธิต ปิตุเตชะ ล้วนมาจากโควต้าทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ทั้งสองไม่ได้มีภูมิหลังที่เกี่ยวกับการบริหารสาธารณสุขมาก่อน โดยคนหนึ่งจบด้านวิศวกรรมและมีประวัติบริหารงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง อีกคนหนึ่งมีพื้นฐานการศึกษาทางนิติศาสตร์

ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการสาธารณสุข ตลอดจนความเข้าใจในบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกของบุคลากรด้านสาธารสุขจึงมีจำกัด การให้สัมภาษณ์หลายครั้งจึงกระทบต่อความรู้สึกต่อบุคลากรทางสาธารณสุขถึงขั้นที่จะต้องมาขอโทษขออภัยกันภายหลัง

ความเป็นนักการเมือง ทำให้กระบวนการจัดสรรวัคซีน แทนที่จะเป็นไปตามหลักเหตุและความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ แต่กลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปริมาณวัคซีนจำนวนมากถูกจัดสรรลงไปในพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงของของพรรคตน

จังหวัดบุรีรัมย์ กลับกลายเป็นจังหวัดที่ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกสูงที่สุดในภาคอีสาน ถึงกว่า 60,000 คน มากกว่าจังหวัดใหญ่ๆ ในภาคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น และอุบลราชธานี ที่มีตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ระหว่าง 15,000-30,000 คนเท่านั้น

แม้อนุทิน ชาญวีรกูล จะออกมาสัมภาษณ์ว่า การจัดสรรเป็นไปอย่างเท่าเทียม

แต่ตัวเลขที่ฟ้อง เป็นหลักฐานยืนยันได้ดีว่า ไม่เป็นความจริง

วัคซีนจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการสร้างฐานคะแนนเสียงของนักการเมือง แทนที่จะนำไปแก้ปัญหาวิกฤตการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง

 

วัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก

ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เลือกและตัดสินใจใช้วัคซีนทางการของประเทศ คือ AstraZeneca โดยรอการผลิตจากบริษัทในประเทศซึ่งจะมีกำหนดการเริ่มส่งมอบในต้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีจำนวนที่สัญญาส่งมอบถึงสิ้นปี พ.ศ.2564 รวม 61 ล้านโดส และมีวัคซีน Sinovac ที่สั่งซื้อจากจีน เพื่อเป็นวัคซีนฉุกเฉิน มียอดสั่งรวมจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 รวม 9 ล้านโดส

วัคซีนทั้งสองชนิด คือสิ่งที่นักการเมืองผู้บริหารประเทศตัดสินใจเลือกให้ประชาชน โดยไม่สนใจในการเปิดโอกาสให้มีวัคซีนตัวอื่นเข้ามาในประเทศ

จนเมื่อได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก จึงเปิดให้มีวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนสามารถเลือกฉีดได้โดยเป็นภาระค่าใช้จ่ายของตนเอง

แม้ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะขึ้นทะเบียนวัคซีนของ Johnson & Johnson แล้วเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2564 และวัคซีนของ Moderna เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2564

แต่กลับไม่มีวี่แววว่า จะมีโรงพยาบาลเอกชนใดสามารถจัดฉีดเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้เมื่อใด แม้การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมาจับจองวัคซีนก็ยังถูกข่มขู่จากรัฐว่าไม่สามารถทำได้

วัคซีนหลักจึงเป็นสิ่งที่คนไทยต้องจำยอมฉีด ส่วนวัคซีนทางเลือกจึงเป็นเพียงคำหวานจากนักการเมืองว่าจะมีในอนาคต แต่ต้องรอไปถึงปลายปี ถ้ารอได้

เรื่องวัคซีนหลัก วัคซีนทางเลือกจึงกลายเป็น วัคซีนการเมืองที่ฝ่ายการเมืองซึ่งผูกตัวเองกับวัคซีนหลัก จำเป็นต้องบังคับให้ประชาชนพึ่งพาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค เพราะหากมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาเร็วเกินไปและประชาชนยอมจ่ายเงินเพื่อฉีดวัคซีนทางเลือก นั่นคือความเสียหน้าของฝ่ายการเมือง ที่สำคัญกว่าความอยู่รอดของคนในชาติ

แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

ม้แผนบริหารจัดการวัคซีนจะเป็นเรื่องที่กระทำโดยฝ่ายราชการประจำ แต่การกำกับดูแลย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมือง

เป้าหมายใหม่ที่ฝ่ายการเมือง เกี่ยวกับจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชน ที่ขยับจาก 70 ล้านโดสในสิ้นปี พ.ศ.2564 มาเป็น 100 ล้านโดส

เป็นคำพูดที่ดูดีของฝ่ายการเมืองและให้ความหวังแก่คนในประเทศ เห็นถึงผลงานความตั้งใจในการแก้ไขวิกฤตและช่วยคืนกลับศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ผลการปฏิบัติที่ผ่าน กลับไม่สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการดำเนินการ นับแต่จำนวนวัคซีนเฉลี่ยที่ฉีดได้ต่อวัน ยังอยู่ที่สูงสุดประมาณ 100,000 โดส ในขณะที่หากต้องการให้เป็นไปตามเป้า จะต้องเร่งฉีดให้ได้ระหว่าง 350,000-500,000 โดสต่อวัน

การไม่สามารถส่งมอบวัคซีนหลักได้ตามกำหนด จนทำให้เกิดการขาดแคลนและประกาศเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลหลายแห่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ล้วนเป็นสัญญาณถึงการความอ่อนด้อยในการวางแผนและกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผน

การเมืองเรื่องวัคซีนของไทยในวันนี้ จึงเป็นเรื่องขายผ้าเอาหน้ารอด ตำข้าวสารกรอกหม้อ แก้ไขสถานการณ์ไปวันๆ ตามคุณภาพของฝ่ายการเมืองที่ปกครองประเทศ