หลากความคิดใช้เงินกู้เพิ่ม 7 แสนล้าน พุ่งเป้าชายชื่อ ‘ประยุทธ์’ ฟื้นประเทศหลังโควิด เอาจริงแค่ไหนจัดการเหลือบ-ริ้น-ไร/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

หลากความคิดใช้เงินกู้เพิ่ม 7 แสนล้าน

พุ่งเป้าชายชื่อ ‘ประยุทธ์’

ฟื้นประเทศหลังโควิด

เอาจริงแค่ไหนจัดการเหลือบ-ริ้น-ไร

 

วาระลับริมแดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการอนุมัติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ตัวใหม่ วงเงิน 7 แสนล้านบาท ที่ไม่ปรากฏไฟล์เอกสารวาระการประชุมในเว็บไซต์ค้นหามติคณะรัฐมานตรี

มีแต่เอกสารหลุดที่สื่อมวลชนได้รับกันต่อๆ มา ได้ระบุว่าสาเหตุที่ต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ใช้มาปีกว่าแล้วนั้น ปัจจุบันเหลือวงเงินอยู่เพียง 1.65 หมื่นล้านบาทเท่านั้น!!!

อีกทั้งแผนงานเงินกู้ตัวใหม่ก๊อบปี้เหมือนเงินกู้ตัวเก่า เพียงแค่เปลี่ยนตัวเลขเท่านั้น ได้แก่

(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท

(2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ วงเงิน 400,000 ล้านบาท

(3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 270,000 ล้านบาท

แต่การใช้เงินกู้ตัวเก่า ก็พบกับปัญหาเรื่องของประสิทธิภาพของโครงการ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งหนังสือท้วงติงไปยังเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้และได้รับอนุมัติจาก ครม. มีความเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สามารถดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้ใช้จ่ายเงินกู้ไม่คุ้มค่า หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งในที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-payment) จาก 260,000 คน เป็น 50,000 คน หรือปรับลดลงไปถึง 210,000 คน!!!

และปรับลดกรอบวงเงินของโครงการ จากเดิม 1.9 หมื่นล้านบาท เพียง 3.2 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีแรงจูงใจมากพอให้กับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มการจ้างงาน

 

แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลก็ได้รับเสียงชื่นชมจากโครงการในลักษณะโอนเงินให้เปล่าเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรง ตั้งแต่โครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราชนะ, ม.33เรารักกัน และคนละครึ่ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า โครงการคนละครึ่งถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงและช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ทำให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร้านค้าทั่วไป และธุรกิจเอสเอ็มอี

โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดระลอก 3 นายธนวรรธน์ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลควรเพิ่มวงเงิน “คนละครึ่ง” จาก 3,000 บาทต่อคน เป็น 6,000 บาทต่อคน ซึ่งสามารถเริ่มโอนเงิน 3,000 บาทแรก ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เพราะจะทำให้ไตรมาสที่ 2 มีเงินสะพัดเพิ่มเข้ามาให้ระบบ 1-1.8 แสนล้านบาท เติมเพิ่มจากวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรอบใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่คนเริ่มฉีดวัคซีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินรอบใหม่นี้จะส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มเป็น 9.3 ล้านล้านบาท ดันเพดานหนี้สาธารณะไปถึง 58.56% ของจีดีพี เกือบจะชนกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นกับดักที่รัฐบาลติดกับเสียเอง

แต่ถึงอย่างไรรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงินเพิ่มอยู่ดี เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก จนมาถึงระลอกที่ 3 เศรษฐกิจไทยเสียหายไปกว่าเกือบ 2 ล้านล้านบาท จึงต้องมีการเติมเงินเข้าสู่ในระบบเศรษฐกิจ

เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวจนเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจจะแก้ไขกลับคืนมาได้

 

ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า การกู้เงิน 7 แสนล้านบาทมีความจำเป็น โดยคาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 อาจสูงถึง 4-5.8 แสนล้านบาท ขณะเงินกู้ตัวเก่าเหลือน้อย ไม่ถึงครึ่งของมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กลายเป็นข้อจำกัดในการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการขอรับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม

ข้อเสนอจากหลายฝ่ายที่อยากให้เงินกู้ตัวใหม่นี้ นำไปแก้ปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อวัคซีนที่หลากหลายยี่ห้อ ไม่ผูกขาด

ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบุว่า ต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตสาธารณสุขเป็นอันดับแรก รวมทั้งต้องทุ่มเทงบประมาณไปที่การจัดการวัคซีนให้เพียงพอ กระจายการฉีดให้ทั่วถึง ทั้งประชาชนในประเทศ แรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเตรียมการรับมือผู้ป่วยจำนวนมากทั้งการสร้างโรงพยาบาลภาคสนามเพิ่ม การเตรียมอุปการทางการแพทย์และยารักษาโรคให้เพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องของการฟื้นฟู และเยียวยาทางเศรษฐกิจ ที่เงินกู้รอบเก่าไม่ตอบโจทย์ต่อภาคเอกชน

 

ตามด้วยเสียงสะท้อนจากประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย อยากให้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานสำหรับเด็กจบใหม่ มีการเข้าระบบประกันสังคมถูกต้อง ดีกว่าการให้รับเงินเปล่า เพราะช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน โดยใช้วิธีให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างไปแล้ว 3-6 เดือน ค่อยมาเบิกกับทางภาครัฐเอาได้

ส่วนประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) อยากให้ตั้ง “กองทุนฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยว” และ “กองทุนเปิดเมือง” โดยใช้งบฯ จากเงินกู้ก้อนใหม่นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย เหมือนกับกองทุนหมู่บ้าน ขอหลักเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อไม่เข้มงวด เพื่อช่วยให้กิจการไม่ล้มหายตายจากไป อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะสร้างเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง

นานาความคิดของหลายฝ่าย จะเกิดขึ้นจริงเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทยหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด ได้หรือไม่ คงขึ้นกับคนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองผ่านเลนส์เดียวกันหรือไม่

แต่หากทำหูทวนลม ปล่อยให้เงินกู้ก้อนใหม่ 7 แสนล้าน มีรูรั่วเหมือนเงินกู้ก้อนเก่า 1 ล้านล้าน ความหวังอนาคตประเทศไทยจะเป็นยังไง คงต้องช่วยกันภาวนา