เสียง ‘จำพวก’ ที่ดังกว่า/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

เสียง ‘จำพวก’ ที่ดังกว่า

 

เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้น จนป่านนี้ และไม่รู้ว่าจะพ้นจากบรรยากาศสับสน โกลาหล อลหม่านได้เมื่อไร

การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลประเทศไทยเรา

หลังจากที่คนในคณะรัฐมนตรีออกมาเถียงคอเป็นเอ็น ทำนองว่าไม่ใช่เรื่องผิดพลาด และจะไม่เป็นปัญหาเพื่อตอบโต้การถูกโจมตีว่าปล่อยให้วัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค กับเอสตร้าเซนเนก้าผูกขาด

ทั้งที่ระดมสรรพกำลังทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อชี้ให้เห็นความดีงามของวัคซีนซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า

และในทางข่าวปล่อย มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากวัคซีนยี่ห้ออื่นไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือจอห์นสัน แอนด์ จอหน์สัน

แต่ที่สุดแล้ว ไม่ได้สร้างความเชื่อถืออย่างไรเลยให้กับประชาชน

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” ว่าด้วย “การฉีดวัคซีนโควิด-19”

ในคำถามที่ว่า “เชื่อมั่นในวัคซีนยี่ห้อไหน” ร้อยละ 75.11 ตอบว่าไฟเซอร์, ร้อยละ 72.14 โมเดอร์นา, ร้อยละ 68.52 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ร้อยละ 65.89 แอสตร้าเซนเนก้า,ร้อยละ 61.89 สปุตนิก วี

ในอันดับ 1-5 ในความเชื่อมั่นของคนไทย ไม่มีซิโนแวค ซึ่งมีการระดมประชาสัมพันธ์สูงสุด ถึงขนาดมีคนสงสัยว่าตั้งทีม IO ขึ้นมารับมือข้อมูล และการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณภาพ

ยังดีที่แอสตร้าเซนเนก้ายังอยู่ในความเชื่อมมั่นของคนไทย

แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้งที่แอสตร้าเซนเนก้าพอจะกู้หน้าให้การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลไทยได้บ้าง ด้วยอย่างน้อยประชาชนที่ไม่มีทางเลือกอื่นยังพอจะฝากความหวังไว้

ทว่าการจัดการกลับกลายเป็นปัญหาขึ้นมา

 

เริ่มจากแอสตร้าเซนเนก้าที่บริษัทผู้ผลิตให้ฉีด 2 โดส โดยกำหนดระยะห่างของโดสแรกกับโดยหลังไว้ในช่วงเวลาที่แน่นอน

การจัดการช่วงแรกกำหนดตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิต แต่ถึงเวลานัดฉีด กลับได้รับแจ้งว่าให้เลื่อนไปก่อน เพราะไม่มีวัคซีนพอที่จะฉีดให้ แถมมีผู้เชี่ยวชาญออกมาแถลงว่ายืดเวลาไปก่อนไม่เป็นไร

ยังมีการออกมาประชาสัมพันธ์ว่า 1 ขวดของแอสตร้าเซนเนก้าที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้ให้ฉีดได้ 10 โดสนั้น สามารถหาวิธีประหยัดและฉีดได้ 12 โดส

ไปไกลกว่านั้นอีกหน่อย คือตอนแรกประชาสัมพันธ์ว่า ผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป และที่มีโรคเรื้อรังอันเป็นปัญหาต่อการสร้างภูมิต้านทานจะต้องฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ตอนหลังบอกว่าฉีดซิโนแวคก็ได้

การบริหารจัดการที่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น นับวันยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกประชาชนให้ต้องส่ายหน้ายิ่งขึ้น

ความหวังใน “คุณภาพชีวิตที่ดี” ถูกมองข้ามอย่างง่ายดาย

ผู้บริหารประเทศเก่งกล้าสามารถในการหาข้ออ้างมาจัดการเพื่อให้ดำรงสถานะในอำนาจต่อไป โดยไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชะตากรรมของประชาชน

นี่ยังไม่รวมการจัดสรรโควต้าวัคซีนที่มีอยู่จำกัด ซี่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นไปตารมโควต้าทางการเมืองมากกว่าความเหมาะสมโดยมีสุขภาพประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นเครื่องชี้วัด

 

เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาฟังประชาชนให้มากขึ้น ดูจะไม่ได้รับการแยแสใส่ใจนัก

เพราะเอาเข้าจริง ยังมีประชาชนอีกจำพวกหนึ่งที่พร้อมจะยืนอยู่ข้างรัฐบาล พร้อมจะมองข้ามความผิดพลาด พร้อมตอบโต้รุนแรงกับฝ่ายที่เรียกร้องการบริหารจะจัดการที่มีประสิทิภาพจากรัฐบาล

และรัฐบาลสบายใจที่จะฟังและเชื่อข้อมูลของคนจำพวกที่อวยชัยให้พรมากกว่า

โดยไม่มีใครทำอะไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้นได้