อนุสรณ์ ติปยานนท์ : บิดาแห่งการศึกษาของเยอรมนี

ท่าอากาศยานต่างความคิด

อนุสรณ์ ติปยานนท์ [email protected]

ชีวิตาในโลกใหม่ (30) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

งานสำคัญเร่งด่วนงานแรกที่ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ทำร่วมกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คือการแปลพระคัมภีร์เก่าและพระคัมภีร์ใหม่ (Old Testament and New Testament) ออกเป็นภาษาเยอรมันให้ชาวลูเธอร์แรนได้ศึกษา

งานแปลพระคัมภีร์ใหม่นั้นสำเร็จในปี 1522 (ห้าปีหลังจากที่ มาร์ติน ลูเธอร์ ออกประกาศโจมตีการขายใบไถ่บาปของศาสนจักร)

ส่วนพระคัมภีร์เก่านั้นแปลเสร็จในปี 1534

งานสำคัญที่ว่านี้พึ่งพาความรู้ภาษากรีกของ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน อย่างมาก

จนอาจกล่าวได้ว่าหากปราศจากเขาเสียแล้ว การแปลพระคัมภีร์คงไม่อาจลุล่วงลงได้

หลังจากจัดการกับงานแปลสำเร็จเสร็จสิ้น ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ได้หันมาทำในสิ่งที่เขาปรารถนา

นั่นคืองานด้านการศึกษา การขยายตัวของโปรเตสแตนต์ทำให้ความจำเป็นต้องมีสถานที่ฝึกอบรมทั้งศาสนิกใหม่ ทั้งเยาวชน ทั้งการศึกษาพระคัมภีร์และวิถีชีวิตของคริสเตียนต้องเป็นไปอย่างเร่งด่วน

ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน เริ่มต้นด้วยการฝึกสอนเหล่าหมอสอนศาสนา

จัดตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนา หนทางในการเทศนา วิธีการปฏิสัมพันธ์

รายละเอียดจำนวนมากถูกคิดค้นขึ้นผ่านการประชุมและปรึกษาหารือกับ มาร์ติน ลูเธอร์ และสมาชิกคนสำคัญของขบวนการปฏิรูปศาสนา

หลังการสร้างผู้สอนแล้ว ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน เริ่มต้นการสร้างโรงเรียน แทนการศึกษาอยู่แต่ในอาราม ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ได้จัดตั้งระบบโรงเรียนที่มีพัฒนาการในการเรียนรู้แต่ละขั้นตอนขึ้น เขาออกแบบวิชาที่ควรศึกษาในแต่ละชั้น จากอนุบาลสู่ประถม จากประถมสู่มัธยม

ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน วางรากฐานไม่ใช่การเป็นเพียงคริสเตียนที่ดีเท่านั้น หากแต่เขาได้วางรากฐานของการเป็นบุคคลที่ดีมีค่าต่อสังคมแก่เยาวชนรุ่นต่อรุ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดการการศึกษาตามแนวคิดนี้ของ ฟิลลิปป์ เมลันช์ทอน มีปัญหาในช่วงต้นอย่างมากและเป็นปัญหาทางความคิดและปรัชญาว่าด้วยความเป็นมนุษย์อันลึกซึ้งด้วยซ้ำไป

ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน นั้นมีความเชื่อตามลัทธิมนุษยนิยม หรือ Humanism ที่เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้สูงส่งขึ้นเรื่อยๆ งดงามขึ้นเรื่อยๆ หากเราให้การศึกษาเขาอย่างเหมาะสมในสิ่งที่เป็นประโยชน์

ทว่า ความคิดที่ว่านี้ขัดกับความเชื่อของผู้นำด้านการปฏิรูปศาสนาจำนวนมากโดยเฉพาะผู้นำอย่าง มาร์ติน ลูเธอร์

มาร์ติน ลูเธอร์ นั้นมีความเชื่อว่ามนุษย์นั้นถูกเลือกจากพระเจ้าแล้วให้มีความดีงามในตัวเอง

การต้องลงมือกระทำบางอย่างให้มนุษย์พัฒนานั้นแสดงว่ามนุษย์ไม่ได้มีความพิเศษดังว่า

สิ่งเดียวที่ควรทำในการฝึกฝนเยาวชนและผู้คนในความเป็นคริสเตียนคือการหาหนทางให้เขาสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้าได้อย่างถูกวิธี ให้พวกเขาได้เข้าถึงพระเจ้า

ความดีภายในตนนั้นถูกกำหนดมาแต่ต้นโดยพระเจ้าแล้ว และเราไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวแม้แต่น้อย

โดยส่วนตัวนั้น มาร์ติน ลูเธอร์ ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะกับ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ในเรื่องมนุษยนิยมเพียงผู้เดียว

ในปี 1524-1525 เขาได้เปิดวิวาทะครั้งสำคัญ เดสิเดรุส อีรัสมุส-Desiderus Erasmus นักปรัชญาสำนักมนุษยนิยมชาวดัตช์คนสำคัญ

โดยประเด็นแห่งการถกเถียงนั้นอยู่ตรงที่อีรัสมุสนั้นเชื่อมั่นในสิ่งที่เรียกว่า เจตจำนงอิสระ หรือ Free Will ว่ามีแฝงอยู่ในมนุษย์ทุกคน

และเจตจำนงอิสระนั้นทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาเป็นหลายสิ่งตามที่เขาต้องการ

ในขณะที่ มาร์ติน ลูเธอร์ เห็นว่าเจตจำนงอิสระไม่มีอยู่จริง เราจำต้องพัฒนาตนเองเข้าสู่พระเจ้าเท่านั้น ทุกอย่างเป็นการเบี่ยงเบนความเป็นมนุษย์ของเราเท่านั้นเอง และนั่นทำให้เกิดการแตกหักระหว่างผู้นำทางความคิดทั้งสอง

และเป็นเหตุให้เกิดการแตกหักระหว่างความคิดในการปฏิรูปทางศาสนาและความคิดเชิงมนุษยนิยมด้วยอีกทางหนึ่ง

ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ได้ประสบกับโจทย์อันยากเย็นในยามนั้น ทำอย่างไรเขาจะออกแบบการศึกษาที่สามารถนำพามนุษย์ให้เข้าถึงพระเจ้า

และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมเจตจำนงอิสระและศักยภาพในตัวมนุษย์ที่เขาในฐานะนักมนุษยนิยมเชื่อมั่นเช่นนั้นอยู่

เขาตัดสินใจให้เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาอยู่ที่การได้เข้าถึงพระเจ้า

แต่ในระหว่างเส้นทางนั้นหากมนุษย์ผู้นั้นยังไม่มีศรัทธาแก่กล้าพอหรือมีปัญหาในชีวิตประจำวันที่ต้องจัดการด้วยความรู้แบบอื่น เราก็ควรจัดสรรความรู้แบบนั้นให้พวกเขาเพื่อที่ว่าเขาจะได้ปลดเปลื้องภาระทางโลกโดยเร็วและเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าได้ราบรื่นขึ้น

แนวทางการจัดการศึกษาของเขาเช่นนี้มีคำเรียกเฉพาะว่า “การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาในสองดินแดน หรือ doctrine of the two realms”

มีหลายสิ่งในการจัดการศึกษาแบบใหม่ของ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ที่น่าสนใจที่ยังคงอยู่ในรูปแบบการจัดการศึกษาในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งคือการสร้างการอ่านให้เป็นกิจกรรมที่สำคัญของเยาวชน

ฟิลิปป์นั้นเชื่อว่าการศึกษาวรรณกรรมมีคุณประโยชน์อย่างมากในการที่จะทำให้การอ่านพระคัมภีร์เพื่อเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าเกิดขึ้นได้

วรรณกรรมสำหรับเขานั้นเป็นหลักฐานบันทึกประสบการณ์ของมนุษย์คนอื่น และการอ่านวรรณกรรมจะทำให้เราเข้าใจประสบการณ์เหล่านั้นทางอ้อมโดยที่เราไม่จำเป็นต้องลงทุนแสวงหาประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง

นอกจากนี้ การอ่านวรรณกรรมยังเป็นการฝึกฝนการใช้เหตุผล การใช้ภาษา ซึ่งจะมีประโยชน์ยามที่เราต้องแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อผู้อื่น

การอ่านวรรณกรรมเหล่านั้นจะถือเอาพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นศูนย์กลางและขยายวงการอ่านจากปกรฌัมไปสู่ตำนานไปสู่เรื่องราวของนักบุญและเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตามลำดับ

ในปี 1526 ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ได้เปิดโรงเรียนใหม่โรงเรียนหนึ่งที่นูเรมแบร์ก ที่นั่นเขาได้เตรียมปาฐกถาสำคัญคือการ “ยกย่องโรงเรียนแบบใหม่-In Praise of the New School” ในปาฐกถานั้นได้ถ่ายทอดความคิดของฟิลิปป์ต่อสิ่งที่เรียกว่าโรงเรียนไว้อย่างครบถ้วน ในงานนั้นทั้งผู้ปกครอง พ่อค้าวาณิช รวมถึงเหล่านักปราชญ์แห่งยุคที่สนับสนุนแนวคิดปฏิรูปศาสนาของ มาร์ติน ลูเธอร์ ได้พากันไปรวมตัวที่นั่น ฟิลิปป์เริ่มต้นการปาฐกของเขาด้วยการกล่าวขอบคุณบุคคลต่างๆ รวมถึงกล่าวชื่นชมความคิดของ มาร์ติน ลูเธอร์ ที่เห็นคุณค่าของการศึกษาจนถึงขั้นยกย่องว่าโรงเรียนนั้นมีความสำคัญเท่าเทียมกับอารามนักบวชด้วยซ้ำไป

“ในรัฐที่กำลังก่อร่างสร้างตัวนั้น งานสำคัญของโรงเรียนคือการอบรมสั่งสอนเยาวชนเพราะพวกเขาคือทรัพยากรสำคัญของรัฐนั้น การศึกษาที่ก่อให้เกิดจิตวิญญาณที่เสรีนั้นสำคัญมาก เพราะหากปราศจากมันเสียแล้ว เราย่อมไม่อาจมีพลเมืองที่ดี ไม่มีการยกย่องคุณธรรม ไม่มีการตระหนักรู้ในสิ่งที่เรียกว่าความซื่อสัตย์ ไม่มีการเข้าใจในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ได้เลย”

นอกจากการพูดถึงปรัชญาการศึกษาโดยทั่วไปแล้ว ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ยังชี้ให้เห็นว่าการจัดการศึกษาเพียงเพื่อให้มนุษย์มีงานทำนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก

มนุษย์ควรต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับชีวิตควบคู่ไปด้วย

ฟิลิปป์ยกตัวอย่างว่า เราจะเป็นพลเมืองที่ดีได้อย่างไรหากเราไม่เคยอ่านวรรณกรรมที่แสดงถึงความเป็นพลเมืองที่ดีเช่นนั้น

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองของเยาวชนมีความสำคัญไม่ต่างจากโรงเรียน พวกผู้ปกครองต้องมีหน้าที่คอยกระตุ้น คุณธรรม ความคิด และหลักการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ให้กับบุตรหลานของตนเอง ในขณะที่เยาวชนเองก็ต้องเล็งเห็นประโยชน์ของการศึกษาด้านอาชีพ พวกเขาต้องชื่นชอบการงานที่ร่ำเรียนอยู่เป็นเบื้องต้นจึงจะทำงานเหล่านั้นได้ดี

เพื่อให้การจัดการศึกษาเช่นนี้ประสบผล ฟิลิปป์ได้แบ่งระดับการศึกษาของเยาวชนเป็นสามระดับด้วยกัน

ระดับแรกนั้นเป็นระดับของการท่องจำบทสวดในพระคัมภีร์ การเรียนภาษาในพระคัมภีร์ช่วงแรกนี้จะผ่านทางภาษาละติน เพราะฟิลิปป์เห็นว่าเด็กนั้นไม่ควรเรียนรู้ภาษามากเกินไป และภาษาละตินนั้นจะช่วยให้เด็กอ่านเอกสารในภายภาคหน้าได้กว้างขวางกว่าการเรียนภาษาเยอรมันเท่านั้น การเรียนภาษานั้นจะเริ่มจากการจำหลักไวยากรณ์ การหัดเขียนและการสะสมคลังคำศัพท์เพื่อฝึกฝนความจำ

ระดับที่สองนั้น เด็กจะได้รับการศึกษาด้านดนตรี รวมทั้งการพัฒนาการอ่านและการเขียนให้มากขึ้นรวมถึงเน้นด้านการศึกษาศีลธรรมจรรยา มีการอ่านนิทานอีสปที่สอนเรื่องคุณธรรมเพิ่มเติม การจดจำไวยากรณ์ให้ถูกต้องจะถูกฝึกอย่างหนักในระดับนี้ มีการอ่านคำเทศนาของเหล่าประกาศกและนักบุญควบคู่กับการศึกษาพระคัมภีร์

ส่วนระดับที่สามนั้นเด็กจะสามารถใช้ไวยากรณ์ได้อย่างถูกต้อง มีการฝึกฝนด้านดนตรี การแปลและตีความวรรณกรรม การอ่านโคลงกลอนโบราณอย่างเวอจิลและโอวิด อ่านบทปาฐกถาของนักปราชญ์กรีกอย่างซิเซโร่

นักเรียนที่ผ่านพ้นการศึกษาระดับนี้จะสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างมั่นใจทั้งการเขียนและอ่าน และสามารถเข้ารับการฝึกฝนด้านวิชาชีพต่อไป

ความอุตสาหะและความตั้งใจของ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ในการศึกษา เป็นไปตลอดชีวิตของเขา

จนแม้หลังมรณกรรมของ มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำการปฏิรูปศาสนาในปี 1545 ฟิลิปป์ได้ชื่อว่าเป็นทายาทในงานปฏิรูปศาสนาโดยนัย แต่หากเขากลับมอบหน้าที่ให้บุคคลอื่นแทนและมุ่งหน้าปรับปรุงการศึกษาต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตของเขาในปี 1560

หากจะถือว่าการปฏิรูปศาสนาของ มาร์ติน ลูเธอร์ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในโลกใหม่

งานด้านการศึกษาของ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ย่อมเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ย่อยอันสำคัญที่แฝงอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกที

และทำให้เขาถูกจดจำในฐานะ “บิดาแห่งการศึกษาของเยอรมนี” จนถึงบัดนี้