การศึกษา / ศธ.คุมเข้มสอบคัด ‘ม.1-ม.4’ งัดสารพัดมาตรการสกัดโควิด-19

การศึกษา

ศธ.คุมเข้มสอบคัด ‘ม.1-ม.4’

งัดสารพัดมาตรการสกัดโควิด-19

เรียบร้อยโรงเรียน ศบค.ไปแล้ว โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ไฟเขียวตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอขอยกเว้นการใช้อาคารในโรงเรียนจากเดิมที่ห้ามใช้ ในการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ประจำปีการศึกษา 2564

พร้อมเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ขออนุญาตใช้อาคารในสถานศึกษาในการจับสลากของนักเรียนชั้น ป.1 และการสอบเข้าของชั้น ม.1 และชั้น ม.4 โดยดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงการยื่นความจำนงกรณีเด็กไม่มีที่เรียน
  2. ขออนุญาตจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนมากกว่า 20 คน ในสถานศึกษา

และ 3. ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค.และจังหวัดในพื้นที่กำหนด

นอกจากนี้ ยังให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาในสังกัดอื่นๆ ที่เทียบเคียงกัน เช่น สำนักการศึกษาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้รูปแบบเดียวกันได้ แต่ต้องขออนุญาต เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ ที่มีหน่วยงานการศึกษา ต้องทำเรื่องขออนุญาตเช่นกัน

 

ส่วนมาตรการการจัดห้องจับสลาก และห้องสอบคัดเลือก ศบค.ให้ดำเนินการดังนี้

  1. กรณีใช้ห้องเรียนปกติ (ขนาด 8 คูณ 8 เมตร) จัดไม่เกินห้องละ 20 คน เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร และไม่ควรจัดให้สอบในห้องปรับอากาศ หรือห้องที่มีสภาพอากาศปิด
  2. กรณีใช้ห้องเรียนขนาดอื่น หรืออาคารอเนกประสงค์ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร ไม่ควรจัดให้สอบในห้องปรับอากาศ หรือห้องที่มีสภาพอากาศปิด
  3. จัดเตรียมห้องสอบสำรอง กรณีผู้เข้าสอบอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า หรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส ไม่จัดสอบในห้องปรับอากาศ หรือสภาพอากาศปิด เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

และ 4. ทำความสะอาดพื้นที่ที่นักเรียนใช้ร่วมกัน ด้วยน้ำยา หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นฆ่าเชื้อโรคได้

สำหรับมาตรการในวันจับสลาก ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน คัดกรองวัดอุณหภูมิผู้เข้าจับสลาก ผู้ควบคุมการจับสลาก ผู้เข้ามาในสถานที่จับสลาก จัดจุดล้างมือให้ผู้ปกครองจับสลาก โดยไม่ต้องนำนักเรียนมา เพื่อลดความหนาแน่น ลดการรวมกลุ่ม เว้นระยะห่าง 1.5 เมตร

นอกจากนี้ โรงเรียนต้องแจ้งให้ทราบว่าไม่มีการจำหน่ายอาหารในวันจับสลาก จัดสถานที่สำหรับผู้เข้าจับสลากชุดละ 20 คน นั่งเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร เพื่อรอเรียกเข้าจับสลาก ให้เรียกจับสลากเป็นช่วงเวลา ช่วงละ 30 นาที จับสลากเสร็จแล้วกลับทันที จัดเตรียมถุงมือยางให้ผู้จับสลาก แอลกอฮอล์ล้างมือ

โดยให้ประสานโรงพยาบาล และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อดูแลส่งต่อ และจัดห้องพยาบาล!!

 

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ สพฐ.และหน่วยงานจัดการศึกษาอื่นๆ สามารถจับสลากเข้าเรียนชั้น ป.1 และจัดสอบคัดเลือกชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ของ ศบค.เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอก 3

ที่สถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำนิวไฮ 9,635 ราย มียอดผู้ป่วยระลอกใหม่กว่า 8 พันคน รวมยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 1.1 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตระลอกใหม่ 500 กว่าราย รวมยอดเสียชีวิตสะสมกว่า 600 ราย

ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 หรือไม่ และจำเป็นต้องขยับการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ที่ สพฐ.เพิ่งประกาศปฏิทินคัดเลือกออกไปด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ สพฐ.เพิ่งปรับปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 ฉบับใหม่ โดยเลื่อนจากปฏิทินเดิม 2 สัปดาห์ ดังนี้ ชั้น ม.1 เลื่อนสอบเป็นวันที่ 22 พฤษภาคม คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 19 พฤษภาคม จับสลากจากวันที่ 24 พฤษภาคม ประกาศผลภายในวันที่ 24 พฤษภาคม และมอบตัววันที่ 29 พฤษภาคม

ส่วนชั้น ม.4 เลื่อนสอบเป็นวันที่ 23 พฤษภาคม คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 19 พฤษภาคม ประกาศผลภายในวันที่ 25 พฤษภาคม รายงานและมอบตัวพร้อมกัน วันที่ 30 พฤษภาคม

สำหรับเด็กที่ยังไม่มีที่เรียน สามารถยื่นความจำนงได้ในวันที่ 25-27 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 29 พฤษภาคม และมอบตัววันที่ 30 พฤษภาคม โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ เป็นศูนย์รับนักเรียนสำหรับผู้ที่พลาดสอบ และยังไม่มีที่เรียน

โดย สพท.จะจัดลำดับโรงเรียนที่ว่างไว้ให้ เพื่อให้เด็กมีที่เรียนทุกคน!!

 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยืนยันว่า จะ “ไม่เลื่อน” เปิดภาคเรียนที่ 1 ออกไปอีกแน่นอน ส่วนการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของโรงเรียนตาม 5 รูปแบบการเรียนที่ สพฐ.วางไว้ คือ

On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค.

On-air เรียนผ่าน DLTV

On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ

On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต

และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร

โดยสถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่นๆ ตามบริบท ตามความเหมาะสม

กรณีที่ สพท.กังวลเรื่องการจัดสอบคัดเลือกชั้น ม.1 และชั้น ม.4 เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ เลขาธิการ กพฐ.ก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะ “ไม่เลื่อน” การสอบคัดเลือกออกไปอีกเช่นกัน โดยก่อนเปิดภาคเรียน เด็กทุกคนจะต้องมีที่เรียน

นายอัมพรยอมรับว่ากังวล แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยกำชับทุกโรงเรียนจัดสอบแบบเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจัดสอบห้องละไม่เกิน 20 คน ให้จัดสอบภาคเช้า หรือภาคบ่ายรวดเดียว โดยไม่ให้เด็กออกจากห้องสอบ และไม่ให้ผู้ปกครองเข้ามารอในโรงเรียน เพื่อลดการรวมตัว

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ กพฐ.มั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะโรงเรียนทั่วประเทศ 3 หมื่นกว่าแห่ง ไม่ได้จัดสอบคัดเลือกทุกแห่ง แต่โรงเรียนที่จัดสอบคัดเลือกส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนดังๆ ที่มีอัตราการแข่งขันสูงเท่านั้น!!

 

ขณะที่นายสุชาติ กลัดสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กรุงเทพมหานคร (สพม.เขต 2 กทม.) ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ฯ ที่มีโรงเรียนในการดูแลมากที่สุดในประเทศ ได้เตรียมแผนรับมือกับการสอบคัดเลือกชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ในวันที่ 22-23 พฤษภาคม อาทิ การเว้นระยะห่าง ไม่ให้ผู้ปกครองเข้าไปนั่งรอในโรงเรียน ไม่มีการจำหน่ายอาหาร เป็นต้น

ส่วนการจัดการเรียนการสอน ทาง สพม.เขต 2 กทม.ได้ประชุมวางแผน ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนในพื้นที่จะเน้นการเรียนการสอนแบบไฮบริด หรือเรียนผสมผสานกันตามรูปแบบที่ สพฐ.กำหนด หรืออาจจะสอนวิธีอื่นๆ ให้สอดคล้องบริบทของพื้นที่ได้ โดยได้สำรวจความพร้อมของนักเรียนแล้ว พบว่ายังมีนักเรียนที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์ เนื่องจากมีอุปกรณ์ไม่พร้อม โดยได้ให้โรงเรียนแก้ไขปัญหาเป็นรายบุคคลไป

นายสุพจน์ หล้าธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ ระบุว่า ขณะนี้โรงเรียนได้ออกแนวปฏิบัติให้นักเรียน และผู้ปกครอง ในการจัดสอบคัดเลือกชั้น ม.1 และชั้น ม.4 โดยให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่อนุญาตให้ออกจากห้องสอบจนกว่าจะหมดเวลาสอบ และไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองรอรับนักเรียนในโรงเรียน

ซึ่งมาตรการและแนวปฏิบัติที่เข้มข้นเหล่านี้ ทางผู้บริหาร สพฐ.และผู้บริหารโรงเรียน “มั่นใจ” ว่าจะทำให้การจัดสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผ่านไปอย่างราบรื่น!!