เขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบ : เมื่อ รัฐบาล vs รัฐสภา เพราะ กม.พิเศษ เป็นเหตุ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

เขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบ

: เมื่อ รัฐบาล vs รัฐสภา เพราะ กม.พิเศษ เป็นเหตุ

 

‘ศรีลังกา’ ประเทศในแถบใต้สุดของอนุทวีปอินเดีย ซึ่งตั้งบนเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญของโลกกลางมหาสมุทรอินเดีย กำลังต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดหนักขึ้นหลังปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันเป็นหลักพันราย ซึ่งเป็นผลพวงจากคลัสเตอร์สงกรานต์ คล้ายกับที่เกิดขึ้นในไทย

แต่โควิด-19 ไม่ใช่สิ่งเดียวที่รัฐบาลตระกูลราชปักษาต้องรับมือ

อภิมหาโครงการเขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบ (ซีพีซี) ที่รัฐบาลหวังสร้างเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก ก็เป็นอีกประเด็นที่ยืดเยื้อและยกระดับเป็นหัวข้ออภิปรายในรัฐสภา

เพราะด้วยความกังวลต่ออิทธิพลของจีนที่จะครอบงำเหนืออำนาจอธิปไตยของศรีลังกา แลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

เรื่องที่กลายเป็นประเด็นในรัฐสภาเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษโคลอมโบคือ เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีญัตติพิจารณาร่างกฎหมายคณะกรรมการกิจการเขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบที่รัฐบาลเสนอและต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน

โดยคนที่เป็นตัวเปิดประเด็นคือ ดร.วิเจยาดาส ราชปักษี ส.ส.พรรครัฐบาลและทนายความชื่อดัง ได้ออกมากล่าวหาประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ว่ากฎหมายพิเศษดังกล่าว หากมีผลบังคับใช้

จะทำให้เขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบ กลายเป็นอาณานิคมของจีน

 

ต่อมามีการล่ารายชื่อเพื่อยื่นร้องต่อศาลสูงสุดให้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลสูงพิจารณาโดยไต่สวนรับฟังจากผู้ยื่นหลายฝ่าย คาดว่าจะมีผลตัดสินเพื่อแจ้งให้ประธานาธิบดีและประธานรัฐสภาให้ทราบเร็วๆ นี้

ดร.ราชปักษี ซึ่งค้านกฎหมายนี้แบบหัวชนฝา ได้จัดงานแถลงข่าวกล่าวหารัฐบาลว่า การผลักดันให้กฎหมายพิเศษนี้ผ่านความเห็นชอบนั้นเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเอง อาลี ซาบรี รัฐมนตรียุติธรรมศรีลังกากล่าวว่า โครงการเขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบ แม้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการวางโครงสร้างพื้นฐานจากจีน แต่ยืนยันรัฐบาลศรีลังกาเป็นเจ้าของพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 100%

“การที่กล่าวหาพื้นที่นี้เป็นของบางคนนั้น เป็นเรื่องเท็จ” รมต.ยุติธรรมกล่าว

 

แม้กระนั้น ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยศาลสูงจะออกมาอย่างไร ก็ยังไม่ใช่เวลาของรัฐบาลศรีลังกา ที่ตอนนี้มุ่งเน้นไปกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยศรีลังกาได้รับวัคซีนโควิดจากซิโนฟาร์มจำนวน 3 แสนโดสในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และจะได้รับอีก 6 แสนโดสในเดือนนี้ แต่วัคซีนเหล่านี้ถูกบริหารจัดการให้กับคนงานชาวจีนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ศรีลังกายังไม่ถึงกับสิ้นหวังจากวิกฤตโควิด-19 แม้จะไม่ได้วัคซีนจากอินเดียซึ่งเจอการระบาดใหญ่ในประเทศ แต่ศรีลังกาได้อนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์ เมื่อ 8 พฤษภาคม และยังได้อนุมัติสปุตนิก-วี และซิโนฟาร์มเช่นกัน

อีกทั้งรัฐบาลศรีลังกาได้ลงนามข้อตกลงกับธนาคารโลก ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อเข้าถึงและกระจายวัคซีนโควิดจำนวน 80.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนประเด็นกฎหมายคณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบที่เป็นประเด็นก็เพราะสถานะกฎหมายที่ถูกทำให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่กำหนดโครงสร้างสมาชิกคณะกรรมการไว้ 5-7 คน โดยทุกเรื่องที่อยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ให้ยึดมติของคณะกรรมการดูแลกิจการฯ อันเป็นที่สุดที่เดียว ประธานคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้ง/ถอดถอนกรรมการได้

รวมถึงมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางทั้งการอนุญาตบุคคลทำธุรกิจในเขตเมืองท่า กำหนดภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้สัมปทานนำเข้า-ส่งออกสำหรับนักลงทุน การได้รับการยกเว้นในกฎหมายการพนันและกาสิโน รวมถึงการคุ้มครองหรือมอบสัมปทานการลงทุนซึ่งศรีลังกายังไม่ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

โดยทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่ได้เชื่อมโยงต่อกลไกและโครงสร้างของรัฐธรรมนูญประเทศ หรือแม้แต่ไม่เชื่อมโยงกับหลักกฎหมายและวิธีปฏิบัติที่มีอยู่ของศรีลังกา

 

ต่อมา ประธานาธิบดีโกตาบายาได้โทรศัพท์ไปยัง ดร.ราชปักษีหลังจัดงานแถลงข่าวพร้อมกับแสดงความไม่พอใจ แต่ก็ทำให้ ดร.ราชปักษีจัดงานแถลงข่าวเป็นครั้งที่ 2 และกล่าวกับสาธารณชนว่าประธานาธิบดีใช้คำพูดไม่เหมาะสมกับเขา และยังอ้างว่า เขตเศรษฐกิจเมืองท่าโคลอมโบนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศรีลังกา หากกฎหมายพิเศษดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ

ดร.ราชปักษีได้ชี้ปัญหาพื้นฐานของกฎหมายของซีพีซี ประมวลรัษฎากรของศรีลังกาจะไม่สามารถใช้ได้กับซีพีซีเพราะกฎหมายพิเศษที่ให้ข้อยกเว้น รายได้ที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ต้องเสียภาษีให้กับศรีลังกา พร้อมกับวิจารณ์เงินเดือนที่ได้รับในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้คงได้เป็นเงินสกุลหยวน

นอกจากนี้ อนุรา กุมาร ดิสซานายากี หัวหน้าพรรคพลังประชาชนแห่งชาติ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ต้องการให้ทำประชามติต่อเรื่องนี้ และยังกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้วิกฤตโควิดในการเร่งผ่านกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐสภาได้มีการอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน ก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด และยังคงมีตอนต่อไป