ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ
ถึงเวลา
ของห้างสรรพสินค้าสำหรับคนสูงวัย
แล้วหรือยัง
ปัจจุบัน สังคมไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปราว 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งว่ากันตามนิยามสากลก็ต้องถือว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงวัย (Aging Society) เต็มตัวแล้ว
และจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เห็นพ้องร่วมกันว่าตัวเลขนี้จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรไทยที่นับวันมีแต่จะลดลง
ภายใต้ทิศทางดังกล่าว ทุกหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนต่างก็เริ่มมองเห็นแนวโน้มนี้และเริ่มให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับ
ในวงการการออกแบบสถาปัตยกรรม สิ่งที่เราอาจจะได้ยินกันบ่อยๆ เพื่อรับมือกับปรากฏการณ์นี้ก็คือ “การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล” (Universal Design) ซึ่งเป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เอื้อสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย
แนวคิดดังกล่าวจะว่าไปก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้มานานพอสมควร ราว 70 ปีได้แล้ว หรือหากมองเฉพาะเข้ามาในสังคมไทยเอง แม้แนวคิดนี้จะใหม่มากๆ (อาจย้อนกลับไปได้ไม่เกิน 30 ปีเท่านั้น)
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน คำว่า Universal Design ก็เป็นคำศัพท์ที่คุ้นเคยและถูกพูดถึงกันบ่อยขึ้นมากในสังคมไทย
แต่สิ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ แนวคิดนี้ส่วนมากยังคงมุ่งเน้นไปที่การออกแบบเพื่อตอบสนองข้อจำกัดทางกายภาพเป็นด้านหลัก
ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบทางลาดหรือการสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการและคนสูงวัย, การออกแบบป้ายต่างๆ ด้วยอักษรเบลล์, ประตูบานเลื่อนอัตโนมัติ, การเพิ่มราวจับในจุดต่างๆ ที่ช่วยพยุงร่างกาย ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกต่างๆ
โดยแทบไม่ได้พูดถึงหรือให้ความสำคัญมากนักกับมิติทางด้านจิตใจ
ปัญหาข้อจำกัดทางกายภาพของคนสูงวัยเป็นเพียงด้านหนึ่งของเหรียญเท่านั้น
ซึ่งในทัศนะผม อีกด้านของเหรียญที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ การขาดพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะสำหรับคนสูงวัย (คนพิการและด้อยโอกาสทั้งหลายก็ขาดพื้นที่สำหรับเขาเช่นกันนะครับ แต่คงต้องขอละไว้เขียนถึงในโอกาสอื่นแทน)
ผมขอยกตัวอย่างห้างสรรพสินค้าเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน
พูดอย่างไม่ต้องอ้อมค้อมอะไรกันมาก พื้นที่ห้างสรรพสินค้าคือพื้นที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานเป็นหลัก ลองดูร้านรวงที่มาเปิดตลอดจนกิจกรรมทั้งหลายที่จัดในห้างดูสิครับ กลุ่มเป้าหมายล้วนไม่ใช่ผู้สูงวัยทั้งสิ้น
กล่าวให้ชัดๆ ก็คือ พื้นที่ห้างสรรพสินค้าไม่ได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาเพื่อผู้สูงวัย
แน่นอน ผู้สูงวัยถ้าอยากเดินเข้าห้างก็ไม่มีใครห้ามนะครับ และในความเป็นจริงเราก็เห็นผู้สูงวัยเข้าห้างไม่น้อย และที่พูดว่าห้างไม่ใช่พื้นที่ของผู้สูงวัย ผมก็ไม่ได้หมายถึงมิติทางกายภาพนะครับ เพราะห้างสมัยใหม่ทั้งหลายล้วนออกแบบโดยคำนึงถึงทางลาด ลิฟต์คนพิการ ราวจับ ผิววัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น ฯลฯ ที่เอื้อต่อการใช้สอยของคนกลุ่มนี้อย่างมากแล้วทั้งนั้น
แต่ที่อยากจะชวนให้คิดมากกว่าก็คือ ถ้าเราลองพิจารณาดีๆ จะพบว่าส่วนมากผู้สูงวัยจะมาเดินห้างพร้อมลูกหลานเป็นหลัก เช่น ลูกพามาทานข้าว พามาซื้อของ หรือพามาเฝ้าหลานเวลามาเรียนพิเศษหรือมาเล่นสวนสนุกในห้าง
มีเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่จะมาเพราะเป้าหมายของตนเอง
ผู้สูงวัยมาห้างเพื่อเป้าหมายของตนเองคืออะไร ผมขอยกตัวอย่าง 2 กรณี
ก่อนวิกฤตโควิด มีใครเคยเดินเข้าไปห้างพาต้ากันไหมครับ ที่ชั้นใต้ดินจะมีกลุ่มผู้สูงวัยเข้ามานั่งใช้พื้นที่โซนร้านอาหารของพาต้ากันหนาตาทีเดียว หลายคนคือขาประจำที่มานั่งนานๆ เพื่อมาพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูง หรือบางทีก็เป็นคนที่ไม่รู้จัก พูดคุยเรื่องสัพเพเหระ หิวก็ซื้ออาหารกิน ซื้อกาแฟกิน
ส่วนการเดินทางมาที่ห้าง บางส่วนก็เดินทางมาด้วยตัวเอง และบางส่วนลูก-หลานมาส่ง
ดิโอลด์สยาม เป็นอีกห้างหนึ่งที่ผู้สูงวัยชอบไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่ฟู้ดเซ็นเตอร์บริเวณชั้นสามยังเปิดให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้สูงวัยมาร้องเพลงได้ ต่างคนต่างก็มานั่งในบริเวณนี้ทั้งเพื่อทานอาหารและเพื่อเดินขึ้นเวทีไปร้องเพลงเสียเอง หลายคนใช้พื้นที่นี้ในการนัดพบเพื่อนฝูงมาสังสรรค์ กินข้าว และผ่อนคลาย
และก็เช่นเดียวกัน ผู้สูงวัยเหล่านี้มีทั้งเดินทางมาด้วยตนเองและลูก-หลานมาส่ง
สองกรณีนี้คือตัวอย่างของพื้นที่สำหรับคนสูงวัย โดยเป็นพื้นที่ที่พวกเขามีเป้าหมายอยากมาด้วยตัวของเขาเอง เพราะมันเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ของพวกเขา มีกิจกรรมที่อยากมาทำด้วยตัวเขาเอง มีพื้นที่ที่ปล่อยให้เขาได้นั่งเล่น นั่งแช่ คิดอะไรเรื่อยเปื่อย และพูดคุยกับคนในวัยเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม พื้นที่สูงวัยพาต้าก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบอะไรมากนักนะครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว มันเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญอย่างเป็นไปเอง
ด้วยสภาพของพาต้าที่กลายเป็นห้างที่ไม่ได้รับความนิยมของวัยรุ่นและคนทำงานมานานหลายปีมากแล้วจนพื้นที่เงียบลง ทุกตารางนิ้วของห้างไม่ใช่พื้นที่ทำเลทองที่ไม่สามารถอนุญาตให้ใครมานั่งแช่นานๆ ได้เหมือนห้างที่ได้รับความนิยมอื่นๆ อีกต่อไป
และด้วยเงื่อนไขเหล่านี้จึงเอื้อให้ผู้สูงวัยเลือกที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้สอยของตนเองได้
กรณีดิโอลด์สยาม อาจจะต่างไปบ้าง เพราะดูเป็นห้างที่เน้นภาพลักษณ์ของความเก่าโบราณเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และหลายกิจกรรมก็ถูกคิดขึ้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัยโดยตรง
แต่กระนั้นก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เฉพาะโดยตรงสำหรับผู้สูงวัยเช่นกัน
จากทั้งหมดที่พูดมา ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องขยายนิยามของ Universal Design ให้ไกลมากขึ้นกว่ามิติทางกายภาพ มาสู่มิติทางจิตใจของผู้สูงวัย
ขยายจากทางลาด ราวจับ และลิฟต์ มาสู่การสร้างพื้นที่ที่ผู้สูงวัยสามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อน พูดคุย พบเจอคนวัยเดียวกัน สามารถซื้อของที่ผลิตเฉพาะมาเพื่อพวกเขา และมีกิจกรรมในห้างที่สอดรับกับรสนิยมของพวกเขาอย่างแท้จริง
ไม่จำเป็นต้องเป็นห้างที่สร้างขึ้นเพื่อคนวัยนี้โดยเฉพาะหรอกนะครับ แค่ออกแบบโซนเฉพาะที่ผู้สูงวัยรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของพวกเขา ในลักษณะแบบเดียวกับที่มีโซนเด็กภายในห้าง แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ห้างสรรพสินค้าในประเทศญี่ปุ่น (ประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยมานานมาก) ได้สร้างพื้นที่สำหรับผู้สูงวัยมาหลายปีแล้วนะครับ ห้าง Aeon Kasai ในกรุงโตเกียวคือตัวอย่างที่ชัดเจน ภายในห้างถูกออกแบบให้มีโซนเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยที่มีทุกอย่างครบวงจร ทั้งอาหาร สินค้าในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงกิจกรรมภายใน ซึ่งผลตอบรับก็ดีและประสบความสำเร็จทีเดียว
ข้อกังวลใหญ่ในกรณีที่จะสร้างพื้นที่ผู้สูงวัยในห้างคือความคุ้มทุน เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีกำลังซื้อมากมายเท่าวัยรุ่นและวัยทำงาน
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวโน้มสู่สังคมสูงวัยของไทยที่มากขึ้นดังที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผมเชื่อว่า แม้จะไม่ได้มีผลกำไรสูงสุด แต่ไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน
ในทัศนะผมแล้ว มิใช่แค่เฉพาะห้างสรรพสินค้านะครับที่ควรจะสร้างพื้นที่สำหรับผู้สูงวัย
อาคารสาธารณะทุกประเภทก็ควรคำนึงถึงประเด็นนี้
เช่น ร้านอาหารสำหรับผู้สูงวัย สวนสนุกสำหรับผู้สูงวัย โรงภาพยนตร์สำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น
หากทำได้จริง การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยก็จะไม่เป็นปัญหาใหญ่อีกต่อไป เพราะการมีพื้นที่ของผู้สูงวัยจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต และสืบเนื่องตรงมาสู่สุขภาพกายอย่างไม่ต้องสงสัย
ซึ่งถ้ามองในภาพกว้างของสังคมโดยรวม ผมเชื่อว่า สิ่งนี้คือทางออกระยะยาวของการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน