ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin
หาหมอ AI ระยะไกล
เทรนด์การพบหมอระยะไกลหรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกว่า Telemedicine หรือ Telehealth เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานเป็นทศวรรษแล้ว
เริ่มตั้งแต่การปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ มาจนถึงยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นของที่ทุกคนมีติดตัว ก็ทำให้เราสามารถพบแพทย์ผ่านวิดีโอคอลล์ได้สะดวกง่ายดายขึ้น
แต่จนแล้วจนรอดก่อนหน้านี้เทรนด์การหาหมอแบบนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้างเสียที
เรายินยอมที่จะลางานครึ่งวันเพื่อไปให้หมอตรวจ 15 นาที เพราะเรารู้สึกว่าอุ่นใจกว่าเมื่อได้พูดคุยกับหมอแบบตัวต่อตัว
และการได้พบปะตัวเป็นๆ กันก็น่าจะทำให้หมอวินิจฉัยอาการของเราได้แม่นยำขึ้น
นี่ก็เลยน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ Telemedicine ไม่ค่อยบูมนัก
ยกเว้นในกลุ่มคนที่ทางเลือกน้อยกว่า คือที่พักอาศัยอยู่ไกลจากโรงพยาบาลจริงๆ อย่างคนที่อยู่ในเขตชนบท เป็นต้น
ภายในช่วงเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ โควิด-19 ที่เข้ายึดครองแทบจะทุกพื้นที่ทั่วโลกก็ผลักดันให้เทรนด์พบแพทย์ระยะไกลนี้เกิดขึ้นรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง
เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น
เมื่อออกจากบ้านไม่ได้แต่ก็ยังต้องปรึกษาหมอ Telemedicine ก็เลยเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่
และทุกคนก็ถูกบังคับให้ต้องปรับตัว
ปรับกันมาสักพัก เราก็เริ่มเปิดใจให้กับการขอคำวินิจฉัยหมอผ่านทางวิดีโอคอลล์กันมากขึ้น
และเริ่มจะรู้สึกถึงความสะดวกสบายของการไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
ไม่ต้องเสียเวลาอยู่บนรถ
ไม่ต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงกับการรับเชื้อโดยไม่จำเป็น Telemedicine จึงถูกเร่งให้โตอย่างรวดเร็ว
อีกปัจจัยที่ทำให้เราสามารถหาหมอระยะไกลกันได้ง่ายขึ้นก็คือการพัฒนาของดีไวซ์อย่างสมาร์ตโฟนที่มีการเชื่อมต่อรวดเร็วขึ้น
อุปกรณ์ที่ติดมาด้วยอย่างกล้องถ่ายรูปก็ถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากจะชัดแล้วก็ยังทั้งซูมทั้งจ่อได้ บางรุ่นก็ทำได้แบบน้องๆ กล้องจุลทรรศน์
จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะใช้สิ่งเหล่านี้ช่วยให้หมอวินิจฉัยอาการของเราได้ง่ายขึ้น
ในงาน Google I/O ประจำปี 2021 Google ได้เผยแผนว่าบริษัทจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยวิเคราะห์สภาพผิวเพื่อวินิจฉัยได้ว่าคนคนนั้นน่าจะมีปัญหาหรือโรคผิวหนังอะไร
พร้อมทั้งยังบอกได้ด้วยว่ามีระดับความรุนแรงอยู่ขั้นไหน
ทำให้สามารถวินิจฉัยอาการทางผิวหนังของตัวเองได้เบื้องต้นก่อนจะปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
เครื่องมือสำหรับแพทย์ผิวหนังนี้จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่บนฐานของแมชชีนเลิร์นนิ่ง คอมพิวเตอร์จะเรียนรู้จากเซ็ตข้อมูลมหาศาลและสามารถวิเคราะห์ได้ว่าภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นภาพอะไร
เมื่อเราถ่ายรูปผิวหนัง เส้นผม หรือเล็บของเราและส่งให้คอมพิวเตอร์ประมวลผล มันจะเฟ้นหารูปแบบ ความเชื่อมโยง
และบอกได้ว่าผิวหนังในภาพนี้บ่งบอกให้เห็นถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคผิวหนังแบบไหน
เครื่องมือชนิดนี้จะช่วยตอบได้ว่าไฝหรือผื่นที่จู่ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาบนผิวหนังเรานั้นน่าจะบ่งบอกถึงโรคอะไร โดยใช้ภาพที่เราถ่ายมาจากกล้องของสมาร์ตโฟนของเราเพียงอย่างเดียว
Google วางแผนจะเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นที่อยู่บนเว็บภายในปลายปีนี้
เมื่อผู้ใช้งานถ่ายภาพผิวหนัง ผม หรือเล็บของตัวเองในมุมต่างๆ แล้วส่งไป พร้อมกับตอบคำถามบางคำถามด้วย ระบบก็จะแสดงผลการวิเคราะห์ออกมาให้ พร้อมๆ กับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และภาพที่น่าจะเกี่ยวข้องกันที่สามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต Google บอกไว้ว่าเอไอจะสามารถระบุอาการของโรคผิวหนังได้มากถึง 288 แบบเลยทีเดียว
ทุกวันนี้เราก็พึ่งพาเสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Google ในการที่จะค้นหาคำตอบให้กับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราอยู่แล้ว สถิติของ Google บอกว่าในแต่ละปีมีคนเสิร์ชหาคำค้นที่เกี่ยวกับผิวหนัง ผม และเล็บ มากถึงเกือบ 10,000 ล้านครั้งเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น แทนที่จะเสิร์ชด้วยข้อความและสุ่มไล่อ่านไปเรื่อยๆ ก็หันมาใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ที่อาจจะช่วยวิเคราะห์ได้แม่นยำกว่าก็น่าจะดีกว่า
เมื่อประกอบเข้ากับเทรนด์ของการหาหมอทางไกลแล้ว นี่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หมอสามารถวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น ทั้งการได้เห็นภาพถ่ายผิวหนังของคนไข้อย่างละเอียด และการได้ดูผลวิเคราะห์จากเอไอมาช่วยประกอบการตัดสินใจด้วย
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเอไอของ Google ครั้งนี้ แม้ว่าจะมีจุดมุ่งหมายที่ดีและน่าจะมีศักยภาพที่จะสามารถช่วยชีวิตคนได้มาก
แต่ก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า Google ฝึกฝนเอไอด้วยการใช้เซ็ตข้อมูลที่หนักไปทางภาพถ่ายของคนผิวขาว โดยใช้ภาพถ่ายของคนผิวขาว ผิวขาวปนคล้ำ หรือผิวคล้ำเล็กน้อย มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
และมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นภาพผิวของคนผิวคล้ำและผิวดำ
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ หากผู้ใช้งานไม่ใช่คนผิวขาว ระบบที่เรียนรู้หลักๆ มาจากฐานข้อมูลคนผิวขาวก็อาจจะวินิจฉัยภาพที่เห็นผิดพลาดได้
และหากเกิดขึ้นกับการวินิจฉัยโรคร้ายแรงอย่างเช่นมะเร็ง ผลกระทบที่ตามมาก็จะก่อให้เกิดความเสียหายและวุ่นวายแน่นอน
Google ตอบเว็บไซต์ Vice ไปว่าแวดวงโรคผิวหนังนั้นประสบปัญหาขาดแคลนข้อมูลและภาพของผู้ป่วยที่ไม่ใช่คนผิวขาวมาโดยตลอด ทำให้การหยิบชุดข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาเทคโนโลยีจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย แต่ก็จะมีการปรับปรุงให้ทำได้ดีกว่านี้ก่อนที่จะเปิดให้สาธารณชนได้ใช้งานกันจริงๆ
เพราะท้ายที่สุดแล้ว นี่จะต้องเป็นแอพพลิเคชั่นที่ทุกคนจะสามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะผิวสีอะไรก็ตาม
ปัญหาการพัฒนาเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิ่งโดยที่ไม่มีชุดข้อมูลจากกลุ่มคนที่หลากหลายมากเพียงพอจนทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายกลายเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้ดีกับคนแค่บางกลุ่มเท่านั้นเป็นปัญหาที่วงการเทคโนโลยีประสบมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และถือเป็นปัญหาที่จะต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ไข เพราะเทคโนโลยีนี้แทรกซึมไปอยู่ในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต ตั้งแต่เพื่อความสะดวกสบาย ความบันเทิง ไปจนถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัย
เราคงยังไปไม่ถึงขั้นที่จะใช้เอไอมาวินิจฉัยโรคแทนแพทย์กันง่ายๆ เพราะความคิดเห็นจากแพทย์ที่เป็นมนุษย์ด้วยกันก็ยังมีค่าเสมอ เอไอถูกมองว่าจะต้องใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำให้แพทย์เท่านั้น
ส่วนการที่เรามีหลากหลายวิธีที่จะขอคำวินิจฉัยจากแพทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจอตัว ทางโทรศัพท์ ทางวิดีโอคอลล์ หรืออาจจะโฮโลกราฟิกกันในอนาคต ก็จะช่วยให้เราหาหมอได้ง่ายและประหยัดเวลามากขึ้น
ไม่ต้องลางานทั้งวันไปนั่งรอคิวที่โรงพยาบาลอีกแล้ว