จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (3) ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (3)

ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ต่อ)

 

เรื่องของห้าราชวงศ์ (ต่อ)

สือจิ้งถังยอมตนเช่นนั้นโดยไม่สนใจกับคำไยไพใดๆ อยู่ได้เจ็ดปีก็เสียชีวิต หลานของเขาได้เป็นจักรพรรดิต่อในฐานะราชบุตรได้สี่ปี คีตันก็มองไม่เห็นถึงเหตุผลที่จะต้องค้ำชูจิ้นสมัยหลังอีกต่อไป ทัพคีตันจึงโค่นล้มราชวงศ์นี้ลงใน ค.ศ.947

จากนั้นผู้นำคีตันก็ตั้งราชวงศ์ของตนขึ้น นั่นคือราชวงศ์เหลียว

เมื่อตั้งวงศ์ขึ้นแล้วก็ทำการปล้นสะดมและรีดไถราษฎรไปทั่วที่ราบภาคกลาง ชาวนาจึงรวมตัวกันต่อต้านทัพเหลียว จนทัพคีตันมิอาจยืนหยัดอยู่ได้ต้องถอยร่นกลับขึ้นไปทางเหนือในถัดปีมา อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเหลียวนี้จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

ตอนที่จิ้นสมัยหลังถูกโค่นล้มนั้น มีข้าหลวงทหารคนหนึ่งของราชวงศ์นี้ชื่อ หลิวจือหย่วน (ค.ศ.895-548) ได้ฉวยโอกาสตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามราชวงศ์ฮั่น ซึ่งต่อมาก็คือ ฮั่นสมัยหลัง (โฮ่วฮั่น, ค.ศ.947-951)

หลิวจือหย่วนเป็นจักรพรรดิได้เพียงสิบเดือนก็สิ้นชีพ ส่วนบุตรของเขาที่เข้ามาเป็นจักรพรรดิแทนก็ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของเหล่าเสนามาตย์

จนถึง ค.ศ.950 ข้าหลวงทหารชื่อ กวอเวย (ค.ศ.904-954) ก็นำกำลังเข้าโค่นล้มฮั่นสมัยหลังหลังตั้งวงศ์มาได้สี่ปี จากนั้นกวอเวยก็ตั้งตนเป็นใหญ่

 

กวอเวยถือเป็นตัวละครที่มีความสำคัญที่พึงกล่าวถึงตามสมควร

เขามีภูมิหลังเป็นเด็กกำพร้าที่อยู่ในการดูแลของผู้เป็นน้า

เมื่อเติบใหญ่ก็ให้ปรากฏเป็นชายที่มีรูปร่างสูงใหญ่ อีกทั้งยังห้าวหาญ มีพละกำลังมาก และชอบช่วยเหลือผู้ที่ถูกรังแก

เขาได้เข้าไปเป็นทหารของกองทัพถังสมัยหลัง ครั้งหนึ่งมีคนขายเนื้อผู้หนึ่งวางเขื่องเที่ยวระรานผู้มีอาชีพเดียวกัน

กวอเวยเห็นเข้าจึงเดินเข้าไปหาคนขายเนื้ออย่างไม่เกรงกลัว คนขายเนื้อจึงเอานิ้วชี้ไปที่พุงของตนแล้วท้าให้เขาแทง

กวอเวยจึงคว้ามีดแทงคนขายเนื้อเสียชีวิต ตัวเขาจึงถูกจับกุมคุมขัง แต่เขาอยู่ในคุกไม่นานก็ถูกปล่อยตัวโดยผู้บังคับบัญชาของเขาที่นับถือในน้ำใจของเขา

เมื่อถังสมัยหลังถูกโค่นล้มลง กวอเวยก็เข้าไปอยู่กับหลิวจือหย่วน

เขาใช้ชีวิตในช่วงนี้ศึกษาตำราต่างๆ โดยเฉพาะตำราพิชัยสงคราม

ครั้นต้องออกศึกเขาก็นำหน้าทหารคนอื่นด้วยความกล้าหาญ อีกทั้งยังใจใส่ทุกข์สุขของเหล่าทหารในกองทัพอยู่เสมอ

เวลาที่ได้รางวัลความดีความชอบก็แบ่งให้กับทหารที่ร่วมรบ

กวอเวยจึงได้เป็นนายทหารที่ใกล้ชิดกับหลิวจือหย่วน

และตอนที่จิ้นสมัยหลังถูกทัพคีตันโค่นล้มลงนั้น กวอเวยก็เป็นผู้ที่สนับสนุนให้หลิวจือหย่วนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฮั่นสมัยหลัง

ครั้นฮั่นสมัยหลังตั้งขึ้นแล้วเขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงทหารในฐานที่มีความดีความชอบ

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้กวอเวยจำต้องโค่นล้มฮั่นสมัยหลังก็เพราะว่า จักรพรรดิองค์ต่อมาของฮั่นสมัยหลังไม่ใส่ใจในรัฐกิจ ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยการหาความสำราญไปกับมเหสีด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังถูกรายล้อมด้วยเหล่าขุนนางที่ประจบสอพลอ

จนอยู่มาคราวหนึ่งขุนนางเหล่านี้ได้แจ้งแก่จักรพรรดิให้สังหารขุนนางที่ซื่อสัตย์สุจริต และหนึ่งในนั้นคือ กวอเวย ซึ่งเวลานั้นเป็นข้าหลวงทหารปกครองพื้นที่ภาคเหนือเพื่อคอยสกัดกั้นการรุกรานของคีตัน

กล่าวเฉพาะแผนสังหารกวอเวยแล้วกลับรั่วมาถึงหูของกวอเวย เขาจึงวางแผนตลบหลังด้วยการปลอมราชโองการลับให้สังหารเหล่าขุนศึกทั้งหมด จากนั้นก็นำราชโองการลับปลอมนี้ไปแจ้งแก่เหล่าขุนศึก เมื่อเหล่าขุนศึกรู้เข้าก็ให้บันดาลโทสะพร้อมประกาศตนเป็นกบฏโดยมีกวอเวยเป็นผู้นำ

เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผนของกวอเวย ทัพกบฏจึงกรีธาเข้าบุกเมืองหลวงไคเฟิง จักรพรรดิเป็นผู้นำกำลังออกปราบกบฏด้วยตนเอง แต่ถูกทัพกบฏฆ่าตายในที่สุด ฮั่นสมัยหลังจึงล่มสลายลง หลังจากนั้นกวอเวยก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามของราชวงศ์โจว

ซึ่งเรียกกันในชั้นหลังว่า โจวสมัยหลัง (ค.ศ.951-960)

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้กล่าวถึงโจวสมัยหลังต่อไป ในที่นี้มีประเด็นที่ควรกล่าวอยู่เรื่องหนึ่งคือ ก่อนที่ฮั่นสมัยหลังจะถูกตั้งขึ้นนั้น น้องชายของหลิวจือหย่วนชื่อ หลิวฉง มีเรื่องบาดหมางกับกวอเวย หลิวฉงจึงอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานของคีตัน ตนจึงขอตั้งทัพเพื่อรักษาเมืองไท่หยวนเอาไว้

จากนั้นเขาก็ฉวยโอกาสนี้ขยายกำลังของตนอยู่ที่เมืองนี้ ครั้นกวอเวยตั้งโจวสมัยหลังขึ้นมา หลิวฉงจึงประกาศตั้งราชวงศ์ฮั่นสืบต่อ ในชั้นหลังต่อมาจึงเรียกฮั่นของหลิวฉงว่า ฮั่นเหนือ (เป่ยฮั่น, ค.ศ.951-979) ที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในห้าราชวงศ์ แต่จัดเป็นหนึ่งในสิบรัฐของยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ

และเป็นรัฐเดียวที่มีที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ในขณะที่อีกเก้ารัฐอยู่ทางตอนใต้ ในแง่นี้ย่อมหมายความว่า ฮั่นเหนือเป็นศัตรูกับโจวสมัยหลังไปโดยปริยาย

การตั้งตนเป็นใหญ่ของกวอเวยครั้งนี้ออกจะแตกต่างไปจากสี่ราชวงศ์ที่ได้กล่าวไปแล้วคือ กวอเวยเป็นจักรพรรดิที่มีความรู้ความสามารถจริง เขาได้ทำการปฏิรูปการปกครองขึ้นใหม่ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

เขาใช้ชีวิตด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ เลือกใช้บุคคลที่มีความรู้และคุณธรรม ยกเลิกมาตรการภาษีที่ขูดรีดราษฎรและบทลงโทษที่ทารุณโหดร้าย จนบ้านเมืองเข้าสู่ความสงบสุข เขาปกครองอยู่ได้สี่ปีก็ป่วยจนสิ้นชีพ

บุตรบุญธรรมของเขาชื่อ ไฉหญง (ค.ศ.921-959) ได้เป็นจักรพรรดิสืบต่อ

 

ไฉหญงสืบทอดเจตนารมณ์การปกครองจากกวอเวย เขาได้ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ที่ดิน ชลประทาน ฯลฯ ครอบคลุมแทบจะทุกด้าน เมื่อบ้านเมืองแข็งแกร่งขึ้น เขาก็กรีธาทัพเข้าทำศึกกับฮั่นเหนือที่เป็นศัตรูมาแต่เดิม จนฮั่นเหนือต้องถอยร่นกลับไป

จากนั้นก็ทำศึกกับสู่สมัยหลัง ถังใต้ และคีตันได้รับชัยชนะ และทำให้โจวสมัยหลังขยายดินแดนของตนได้กว้างไกลยิ่งขึ้น

แต่ถึงที่สุดแล้วความแข็งแกร่งของโจวสมัยหลังก็มิอาจก้าวไปถึงจุดที่นำจีนไปสู่เอกภาพได้ เมื่อไฉหญงต้องมาล้มป่วยลงจนสิ้นชีพก่อนวัยอันควรใน ค.ศ.959

จากนั้นบุตรของเขาคือ ไฉจงซวิ่น (ค.ศ.953-973) ก็ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนในขณะที่อยู่ในวัยเจ็ดขวบ

 

และด้วยเหตุที่ยังเป็นกุมารน้อย รัฐกิจจึงอยู่ในการดูแลของเหล่าเสนามาตย์ โดยผู้ที่มีบทบาทสูงในขณะนั้นเป็นข้าหลวงทหารคนหนึ่งชื่อ เจ้าควางอิ้น

เจ้าควางอิ้นเกิดในตระกูลขุนศึก ครั้นเติบใหญ่ได้เข้าไปเป็นทหารในทัพของกวอเวยจนเป็นที่ยอมรับในความสามารถและนำไปสู่ความใกล้ชิดกับกวอเวย เมื่อกวอเวยตั้งโจวสมัยหลังขึ้นแล้วเขาจึงได้รับตั้งแต่งให้เป็นข้าหลวงทหาร

ช่วงก่อนที่ไฉหญงจะสิ้นชีพจนถึงเมื่อไฉจงซวิ่นก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดินั้น เจ้าควางอิ้นกำลังเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงในเหล่าเสนามาตย์ และด้วยเหตุที่จักรพรรดิยังเยาว์วัย เขาจึงเห็นช่องทางที่จะช่วงชิงเอาอำนาจมาเป็นของตนเอง

แผนยึดอำนาจถูกวางโดยน้องชายของเขาคือ เจ้าควางอี้ ร่วมกับขุนศึกที่ใกล้ชิดบางคน ด้วยการสร้างรายงานเท็จว่า ทัพคีตันกับฮั่นเหนือกำลังบุกมาประชิดชายแดนเพื่อเจ้าควางอิ้นจะได้เรียกรวมกำลังพล แล้วนำกำลังพลนั้นยึดอำนาจ

แผนนี้เกิดขึ้นใน ค.ศ.960 โดยเมื่อกำลังพลถูกระดมมาพร้อมหน้าแล้วนั้น เจ้าควางอิ้นก็นำพลเคลื่อนทัพอันยิ่งใหญ่ออกจากเมืองไคเฟิง ครั้นทัพเดินทางมาถึงสะพานเฉิน (เฉินเฉียวอี้ ปัจจุบันคือหมู่บ้านเฉินเฉียว เมืองเฟิงชิว มณฑลเหอหนัน) เจ้าควางอิ้นก็แสร้งปล่อยให้เจ้าควางอี้เป็นดูแลกองทัพ

แล้วตนเองเข้าไปในกระโจมดื่มสุราจนเมามายและหลับไปบนเตียงสนาม

 

คืนนั้นเองคนสนิทของเจ้าควางอิ้นก็แพร่ประเด็นวิจารณ์ว่า ณ บัดนี้จักรพรรดิยังเยาว์วัยไร้ความรู้ ความดีความชอบจากชัยชนะเหนืออริราชศัตรูของเราในภายภาคหน้าใครจะเป็นผู้ให้บำเหน็จ สู้แต่งเจ้าควางอิ้นนายเราเป็นจักรพรรดิขึ้นเองมิได้กว่าหรือ

ประเด็นวิจารณ์นี้แพร่ไปในหมู่แม่ทัพนายกองอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับทั่วทั้งกองทัพ

เช้าวันรุ่งขึ้นเหล่าขุนศึกได้มารวมตัวกันอยู่ที่หน้ากระโจมของเจ้าควางอิ้น และส่งเสียงอื้ออึงอึกทึกไปทั่วบริเวณ ฝ่ายเจ้าควางอิ้นก็ออกมาหน้ากระโจม ครั้นเหล่าขุนศึกเห็นเข้าก็กรูกันเข้าไปโอบอุ้มเขา พร้อมกันนั้นก็เอาเสื้อคลุมสีเหลืองสำหรับจักรพรรดิสวมใส่เวลาขึ้นครองราชย์คลุมตัวเขา

จากนั้นก็แสดงความเคารพพร้อมกับเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ”