วัชระ แวววุฒินันท์ : โอลิมปิก 2016

วัชระ แวววุฒินันท์

ตอนที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ตีพิมพ์ก็ได้ผ่านการเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการไปแล้วสัปดาห์นิดๆ ยังมีเส้นทางการแข่งขันให้ได้ติดตามอีกหลายยก

แต่ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ เพิ่งผ่านไปได้ไม่กี่วันเอง และไทยเราก็เพิ่งได้เหรียญทองมาครองได้ 1 เหรียญจากกีฬายกน้ำหนักโดยฝีมือของ น้องแนน-โสภิตา ธนสาร ที่ยิ้มไปยกไปอย่างมั่นใจจนคว้าเหรียญมาคล้องคอให้คนไทยได้เฮ ก่อนจะออกไปใช้สิทธิลงประชามติกัน

ถ้าการลงประชามติเป็นกีฬา ก็นับว่า คสช. ได้เหรียญทองไปครองเพราะคะแนนรวมของผู้ไม่รับน้อยกว่ารับแบบไม่ต้องลุ้นด้วยภาพถ่ายแต่อย่างใด

โอลิมปิกครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 31 มีประเทศที่เข้าร่วม 207 ประเทศ ลงพันตูกันใน 28 ชนิดกีฬา สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 16 แล้ว และมีเหรียญติดกลับมาให้คนไทยได้ภูมิใจกันรวม 26 เหรียญ

มาลุ้นกันว่าครั้งนี้จะได้เหรียญรวมเพิ่มอีกกี่เหรียญ

 

ในพิธีเปิดที่ผ่านไปเมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น แต่เป็นเช้ามืดวันที่ 6 ของบ้านเรา มีช็อตที่น่าประทับใจอยู่ 2 ช็อต

ช็อตแรกเป็นการมอบรางวัล “Olympic Laurel” ให้แก่นักกีฬาที่สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม เป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัลนี้ และผู้ได้รับเกียรตินั้นก็คือ นักวิ่งระยะ 1,500 เมตรชาวเคนยา ที่ชื่อ Kipchoge Keino ซึ่งลงแข่งขันในปี 1968

ครั้งนั้น Keino ได้แสดงให้โลกเห็นว่า แม้เคนยาจะเป็นประเทศที่ยากจนผู้คนยังอดยากข้นแค้น แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ การวิ่งที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้เพิ่มเติมความมุ่งมั่นอุตสาหะ และหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้เข้าไป ก็แปรเปลี่ยนเป็นนักวิ่งระดับโลกที่ทุกคนยอมรับให้ความชื่นชมได้

จากวันนั้น เคนยาก็ได้มีนักวิ่งระดับโลกขึ้นมาอีกหลายคน ก็มาจากแรงบันดาลใจที่ได้จาก Keino นั่นเอง

ที่สำคัญเมื่อ Keino ได้รับเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองแล้ว เขาก็ได้ใช้มันสร้างประโยชน์ให้กับเด็กๆ ในเคนยา ด้วยการส่งเสริมการศึกษาและสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ เหล่านั้น

นี่เองที่ทำให้เขาได้รับรางวัลนี้ ในพิธีมอบรางวัลเขาได้กล่าวบนเวที โดยเน้นให้เห็นถึงอนาคตของเด็กว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความรู้” ที่เราควรจะหยิบยื่นให้

คำพูดดีๆ อย่างนี้เราเคยได้ยินบ่อยๆ จากนักการเมือง แต่ต่างกันตรงที่นักการเมืองพูดแล้วไม่ค่อยทำ แต่ Keino ทำแล้วจึงมาพูด


อีกช็อตหนึ่งที่น่าประทับใจ คือ การเดินขบวนพาเหรดของเหล่านักกีฬาประเทศต่างๆ ที่พิเศษคือ มีทีมของผู้อพยพ หรือ Refugee team ขึ้นเป็นครั้งแรกของการแข่งขัน

ที่โลกพยายามทำกันมาตลอด คือ การกีฬาที่ปลอดจากการเมือง แต่การเมืองก็มักจะส่งผลให้กับการกีฬาอยู่เสมอ

เหมือนครั้งที่ผมเคยเล่าไปแล้วในคอลัมน์นี้ ถึงโอลิมปิกครั้งที่ประเทศเยอรมนีในยุคของฮิตเลอร์เป็นเจ้าภาพ และเอาวิธีคิดแบบการเมืองมาใช้อย่างสุดโต่ง อย่างการกีดกันผู้แข่งขันที่มีเชื้อชาติยิว เป็นต้น

ครั้งนี้ผลพวงของการเมืองเกิดจากการรุกรานเพื่อมีอำนาจเหนือประเทศนั้นๆ หรือมีการสู้รบภายในโดยการหนุนหลังของชาติมหาอำนาจ จนเกิดเป็นสงครามการเมืองสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ จนต้องหนีตายลี้ภัยมายังประเทศอื่นๆ

ในจำนวนหลายล้านคนของผู้อพยพนั้น มีผู้ที่มีความสามารถทางด้านกีฬาปะปนมาด้วย แต่พวกเขาและเธอไม่สามารถลงแข่งขันในนามบ้านเกิดได้ ทางโอลิมปิกจึงให้ความสำคัญกับนักกีฬาเหล่านี้ที่มีหัวใจของนักสู้ทั้งในสนามแข่งและในสนามรบ ได้มีโอกาสร่วมการแข่งขัน จึงคัดเลือกผู้มีความพร้อมจำนวน 10 คนเป็นชาย 6 หญิง 4 รวมกันเป็นทีมชื่อว่า Refugee team

คิดดูว่า ในขณะที่นักกีฬาของไทย ได้เดินในสนามในนามของทีมชาติไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ต้องถามความรู้สึกของน้องเมย์-รัชนก เลยว่าภาคภูมิใจเพียงใดที่ได้เป็นตัวแทนถือธาติไทย

แต่นักกีฬาที่ว่านี้ ไม่สามารถแสดงตนได้เลยว่าเป็นของชาติใดทั้งๆ ที่พวกเขามีบ้านเกิดเมืองนอน ไม่มีธงชาติจะให้ถือ เพราะชาติกำลังถูกไฟสงครามล้างผลาญอยู่ เมื่อไม่มีความภูมิใจของการเป็นนักกีฬาของชาติตน นั่นคือการไม่มีตัวตนในสังคมโลก

แต่โอลิมปิกครั้งนี้ เปิดพื้นที่ให้กับพวกเขาได้มีที่ยืน มีตัวตนเป็นที่ยอมรับ แม้จะมีเบื้องหลังของสงครามในบ้านเกิดที่แสนเจ็บปวดอยู่ภายในใจก็ตาม

ในจำนวนนี้มีนักกีฬาหญิงชาวซีเรีย เธอเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ แต่ที่ผ่านมาเธอได้เคยใช้การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เพราะเรือที่อพยพพวกเธอมาได้อับปางลง เธอต้องว่ายเข้าหาฝั่งเป็นเวลา 4 ชั่วโมงเพื่อการมีชีวิตใหม่

เป็นการว่ายโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ช่างเป็นความหลังที่ไม่น่าประทับใจเอาเสียเลย

ส่วนอีกรายเป็นนักวิ่งจากประเทศคองโก ครั้งนี้เขาและเพื่อนจะแสดงให้คนในประเทศของเขาที่ยังมีสงครามการเมืองอยู่ได้ภูมิใจจากการวิ่งของพวกเขา เขาเล่าว่าตอนที่ยังอยู่ในประเทศ เขาก็ได้ใช้การวิ่งเพื่อหลบกระสุนและวิ่งข้ามศพของคนรู้จักมาแล้ว

เขาเล่าว่าในตอนที่ซ้อมวิ่งเพื่อเตรียมลงแข่งขันในโอลิมปิกหนนี้ เขาไม่มีรองเท้าวิ่งเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาถอดใจแต่อย่างใด

 

ย้อนมาถึงผลงานของ น้องแนน-โสภิตา เจ้าของวลี “เอาโว้ย” เหรียญทองยกน้ำหนักหญิงรุ่น 48 ก.ก. ด้วยการทำน้ำหนักรวมที่ 200 ก.ก. เป๊ะปัง

นับว่าเป็นการวางแผนที่แยบยลของทีมงาน เพราะเดิมน้องแนนเคยยกในรุ่นน้ำหนัก 53 ก.ก. ทีมงานมองว่ารุ่นนี้มีคู่แข่งที่น่ากลัวหลายคน จึงให้ลดรุ่นลงมายกในรุ่น 48 ก.ก. แทน นั่นก็คือต้องลดน้ำหนักตัวลงมาด้วย

ความยากคือ จะลดน้ำหนักอย่างไรให้ความแข็งแกร่งยังอยู่ แต่น้องแนนก็ทำได้ ใครที่ได้ดูเธอลงแข่งขันคงจะประทับใจกับรอยยิ้มและท่าทีมั่นใจแบบไทยๆ ที่ดูน่ารักน่าเชียร์ และเธอก็ทำให้ครอบครัวภูมิใจและคนไทยมีความสุข

น้องแนนได้เหรียญทอง ในขณะที่อินโดนีเซียได้เหรียญเงิน และญี่ปุ่นได้เหรียญทองแดง นั่นเป็นความภูมิใจของพวกเราชาวเอเชียที่แข่งขันกับคู่แข่งในทวีปอื่นได้อย่างไม่อายใคร

 

และยินดีอย่างยิ่งกับเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของประวัติศาสตร์ประเทศเวียดนาม จากกีฬายิงปืนประเภทปืนสั้นอัดลม นับว่าเป็นการประกาศการพัฒนาของประเทศอาเซียนของเรา

และอย่าลืมส่งใจเชียร์ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า มาเลเซีย กันด้วย โดยเฉพาะลาวที่ส่งนักกีฬาว่ายน้ำหญิงลงแข่งขันเป็นครั้งแรก เธอเล่าว่าที่สนามฝึกซ้อมของเธอไม่มีสระน้ำระยะ 50 เมตร เธอจึงต้องใช้สระระยะ 25 เมตรฝึกแทน

เธอบอกว่าดีใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศลงแข่งขัน เท่านี้ก็เป็นความภูมิใจของคนในประเทศแล้ว

เอาล่ะครับ ประชามติก็ลงกันไปแล้ว โอลิมปิกยังมีการแข่งขันกีฬาให้ได้ตามลุ้นตามเชียร์กันอีกหลายชนิด ทั้งที่ไทยแข่งและไม่ได้แข่ง

ในเมื่อเป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติตามที่เขาว่า เราก็ติดตามให้สมกับที่ได้เป็นหนึ่งในมวลนั้นกันหน่อยดีไหมครับ