‘สโมสรคณะราษฎร’ : จากพรรคการเมือง (Political party) สู่สโมสรพลเมืองสังสรรค์ (Public sphere)/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘สโมสรคณะราษฎร’

: จากพรรคการเมือง (Political party)

สู่สโมสรพลเมืองสังสรรค์ (Public sphere)

 

อุดมคติของสมาชิก คือ “พยายามแนะนำให้ประชาชนชาวไทยเข้าถึงการปกครองระบอบระชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ตามประกาศของคณะราษฎร โดยมีหลักหกประการเป็นนโยบาย

จรูญ เสตะรุฐิ, 2507

จาก “สมาคมการเมือง”

ถึง “สโมสรคณะราษฎร”

เหรียญแจกสมาชิกในสมัยสมาคมคณะราษฎร สาขาชลบุรี เมื่อกุมภาพันธ์ 2476 (นับอย่างใหม่) เครดิตภาพ Thaprachan.com

จากปฐมบทการรวบรวมเหล่านักปฏิวัติจากคณะราษฎร ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนเข้าต่อสู้ทางการเมืองด้วยการจัดตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” ให้เป็นพรรคการเมือง เพื่อชิงชัยทางการเมืองและการแสวงหาการสนับสนุนจากพลเมืองอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างสังคมแห่งอุดมคติขึ้น

โดยมีนโยบายหลัก คือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประกอบด้วย 1.หลักเอกราช 2.หลักความปลอดภัย 3.หลักเศรษฐกิจ 4.หลักเสมอภาค 5.หลักเสรีภาพ 6.หลักการศึกษา

ดังที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกระดับนำของคณะราษฎร หวนรำลึกไว้ว่า “คณะผู้ก่อการเห็นว่า ควรจะมีองค์กรหรือสโมสรหรือสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อปลูกฝังสามัคคีธรรมในหมู่ประชาชน และให้เป็นแหล่งสำหรับเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในวิถีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งขณะนั้นประชาชนส่วนมากยังไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างซาบซึ้ง…ต่อมาจึงได้มีสมาคมคณะราษฎรเกิดขึ้นและมีสาขาตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย ทำหน้าที่ปลูกฝังความสามัคคีธรรมแก่ประชาชนทุกฐานะ ทุกอาชีพ และมีการชุมนุม มีการปาฐกถาชี้แจงคุณประโยชน์ของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและอื่นๆ เพื่อหวังผลในการนำทางให้ราษฎรทำหน้าที่เลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้โดยถูกต้องและเหมาะสม…” (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, 2507)

ในขณะที่กลุ่มอนุรักษนิยมมองอย่างหวาดวิตกว่า สมาคมคณะราษฎรเป็นฐานทางการเมือง อีกทั้งมีการจัดตั้งสาขาสมาคมฝ่ายปฏิวัติอย่างกว้างขวางจะเป็นอันตรายต่อพวกตนจึงนำไปสู่การหาหนทางยุบสมาคมลง ในราวเดือนเมษายน 2476 สมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ นั้นเอง

พระราชหัตถเลขาของพระปกเกล้าฯ เรื่องคณะการเมือง วันที่ 31 มกราคม 2476 (นับอย่างใหม่)

นักเรียนกฎหมาย

เสนอให้ลงโทษพระยามโนปกรณ์ฯ

เมื่อคณะราษฎรรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ลงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนลงแล้ว นักศึกษานิติศึกษา จำนวน 400 คนเดินจากโรงเรียนกฎหมายที่ผ่านฟ้าไปตามถนนราชดำเนินเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาที่วังปารุสกวันเมื่อ 30 มิถุนายน เพื่อให้รัฐบาลใหม่ไต่สวนลงโทษพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีอนุรักษนิยม ในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญการปกครอง

นายเซ่งตัน เจริญสุข ตัวแทนกลุ่มยื่นหนังสือประณามคณะรัฐมนตรีของพระยามโนฯ และขอให้มีการลงโทษด้วย เนื่องจากการกระทำของพระยามโนฯ เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ข้อความในหนังสือประท้วงระบุว่า

“เมื่อใดมีการละเมิดรัฐธรรมนูญขึ้น และในเมื่อสภาพและโอกาสเปิดช่องว่างให้เราทำได้แล้ว เมื่อนั้นเราจะไม่ยอมละเว้นเป็นอันขาด เราจึงต้องยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องตามหน้าที่พลเมืองที่จงรักภักดีต่อชาติ ไม่เลือกหรือเห็นแก่หน้าบุคคล และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลคณะใดๆ ทั้งสิ้น”

เมื่อพระยาพหลฯ รับหนังสือแล้ว เขาตอบแก่นักศึกษาเหล่านั้นว่า รัฐบาลคณะราษฎรไม่ต้องการอาฆาตกันต่อไป จึงได้ทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยให้นักศึกษาเลิกแล้วต่อกัน

นอกจากการประท้วงดังกล่าวแล้ว นักศึกษานิติศาสตร์ยังได้พิมพ์เอกสาร “เผยแพร่รัฐธรรมนูญ” ออกแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476 อีกด้วย (silpa-mag.com “นิติศึกษา” แห่งโรงเรียนกฎหมาย ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา)

คณะกรรมการอำนวยการ สโมสรคณะราษฎร ชุดแรก ปี 2477

 

ตั้งสโมสรคณะราษฎร

ให้เป็น “คลับ” ของพลเมือง

ต่อมา เมื่อคณะราษฎรสามารถคุมสภาพทางการเมืองจากฝ่ายต่อต้านภายหลังรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ แล้ว ติดตามด้วยปราบปรามกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 ลงได้แล้ว เลขานุการสโมสรคณะราษฎรคนแรกบันทึกถึงการจัดตั้งสโมสรคณะราษฎรขึ้นเป็นพื้นที่ความร่วมมือร่วมใจของเหล่านักปฏิวัติว่า

“ปี พ.ศ.2476 เกิดกบฏชิงระบบการปกครอง รบรากันขึ้น ซึ่งก็ดูเป็นกรณีธรรมดาของการปฏิวัติแทบทุกยุค เพราะฝ่ายหมดอำนาจราชศักดิ์ ยังอยากจะเอาคืนอยู่อีก บังเอิญอีกฝ่ายหนึ่งยังกำชัยชนะไว้ได้ และเป็นชัยชนะที่ราษฎรพออกพอใจอีก ด้วยสาเหตุนี้แหละ…จึงอุบัติสโมสรคณะราษฎรขึ้น เพื่อเรียกมติมหาชนจากราษฎรไทยทั้งประเทศ ให้มาร่วมมือกันเป็นเจ้าของงานปฏิวัติด้วยกัน ให้สมนามว่า คณะราษฎร” (ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, 2502)

อันนำมาสู่การจัดตั้ง “สโมสรคณะราษฎร” เมื่อ 23 มิถุนายน 2477 ที่พระราชวังสราญรมย์ขึ้นแทนสมาคมคณะราษฎรที่ถูกทำลายลงจากกลุ่มอนุรักษนิยม

ด้วยเหตุนี้ สโมสรจึงเปลี่ยนวัตถุประสงค์การต่อสู้ทางการเมืองทางตรงมาเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการปรึกษาหารือทางการเมืองระหว่างสมาชิก อันมี

“วัตถุประสงค์ของสโมสร คือรวบรวมกำลังของคนไทยให้มีความกลมเกลียวเป็นปึกแผ่นแหน่นหนา จะได้ช่วยกันทำนุบำรุงการปกครองภายในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงตลอดรอดฝั่งไปได้” (พ.อ.ขุนทะยานราญรอน, 2507)

สมาชิกเมื่อแรกเริ่ม บันทึกว่า

“…สโมสรคณะราษฎรได้เจริญรุ่งเรือง และรุ่งโรจน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีสมาชิกเป็นจำนวนหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลชั้นยอดของคณะปฏิวัติหรือคณะราษฎร ผู้มีอำนาจในเวลานั้น เป็นสมาชิกและเข้าร่วมอุปถัมภ์อยู่มากมาย ที่น่าสรรเสริญความเป็นนักประชาธิปไตยของบุคคลเหล่านี้ก็คือ ท่านให้ความสนิทสนมกับสมาชิกทุกคนอย่างเป็นกันเอง ตลอดเวลาที่พบกันในสโมสร จึงเป็นที่ชื่นชมแก่สมาชิกรุ่นเยาว์ทั้งอายุและตำแหน่งราชการอย่างที่สุด” (จรูญ, 55)

สำหรับบรรยากาศการพบปะปรึกษาหารือกันในสโมสรคณะราษฎร อันเป็นพื้นที่เปี่ยมเสรีภาพความเท่าเทียมเพื่อระดมความคิดเห็นทางการเมือง (political opinion) ระหว่างสมาชิกที่เป็นคณะรัฐมนตรี สมาชิกคณะราษฎร กับสมาชิกทั่วๆ ไปเป็นเช่นไรนั้น มีสมาชิกคนหนึ่งบันทึกบรรยากาศการปรึกษาหารืออย่างเสมอภาคว่า

“ในเวลานั้น มีผู้ก่อการชั้นอาวุโสเป็นสมาชิกหลักอยู่มากที่สุด ทุกเวลาเย็นจึงมีการมาสโมสรอยู่เป็นประจำจำนวนมากๆ ในวงสนทนาจึงย่อมมีการแลกเปลี่ยนความคิด-ความเห็นเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติของผู้ที่มีอุดมคติอันเดียวกัน กลุ่มสมาชิกอาวุโสกับกลุ่มสมาชิกผู้เยาว์อยู่ใกล้กัน ด้วยความใกล้ชิด ด้วยความเป็นกันเองของผู้ก่อการโดยถือว่า สมาชิกทุกคนย่อมเท่ากันหมดเมื่ออยู่ที่สโมสร ฉะนั้น บรรดาสมาชิกรุ่นเยาว์จึงได้มีโอกาสวิสาสะพูดคุยกับสมาชิกรุ่นอาวุโสบ้างถึงเรื่องการบ้าน-การเมือง สิ่งที่ดีที่สุดของความดีทั้งหลายคือ พวกเราสมาชิกรุ่นเยาว์ได้กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวออกมาให้ผู้ใหญ่รู้และทราบความต้องการว่า สิ่งใดควรเปลี่ยนแปลงบ้างในวงราชการและบ้านเมืองให้เกิดความเจริญ เพื่อเป็นส่วนรวมของประเทศชาติตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” (จรูญ, 55-56)

สมาชิกยุคบุกเบิกเล่าถึงจิตวิญาณที่เจิดจรัสเหนือสโมสรคณะราษฎรว่า “ผมขอยืนยันด้วยความสุจริตใจว่า ในเวลานั้น ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังเรื่องใดๆ ที่จะเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแก้ไข เป็นการเอารัดเอาเปรียบต่อประชาชน ราษฎร เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้มีอำนาจแห่งยุค จึงทำให้พวกสมาชิกรุ่นผม มีความคิดถึงแต่เรื่องประเทศชาติตลอดมา”

กล่าวโดยสรุป ภายหลังสมาคมคณะราษฎรในฐานะพรรคการเมือง (Political party) ถูกยุบลง มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นสโมสรคณะราษฎร พร้อมเปลี่ยนวัตถุประสงค์การต่อสู้ทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งเป็นสโมสรสังสรรค์ มุ่งปรึกษาหารือและให้ความรู้แก่สมาชิกสโมสรแทน กล่าวอีกอย่างคือ สโมสรได้กลายพื้นที่ในการปรึกษาหารือทางการเมือง (public sphere) ของเหล่าสมาชิก โดยสมาชิกล้วนยึดมั่น สนับสนุนให้พลเมืองอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยและยึดถือหลัก 6 ประการของคณะราษฎรอย่างมั่นคงนั่นเอง

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และคณะกรรมการอำนวยการสโมสรคณะราษฎร 2478
หน้าปกหนังสือของนักเรียนกฎหมายและราษฎร ร่วมกันเทิดรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2476