บทวิเคราะห์ งานนิพนธ์ออนอเร่ เดอ บัลซัค ‘เรือนแรมสีแดง’ กับการแปล (1)/บทความพิเศษ วัลยา วิวัฒน์ศร

บทความพิเศษ

วัลยา วิวัฒน์ศร

 

บทวิเคราะห์

งานนิพนธ์ออนอเร่ เดอ บัลซัค

‘เรือนแรมสีแดง’ กับการแปล (1)

ผู้เขียน-ผู้แปลว่างเว้นจากการแปลงานนิพนธ์ของออนอเร่ เดอ บัลซัค (ค.ศ.1799-1850) มาเกือบ 20 ปี หลังจากที่แปลแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ พ่อกอริโยต์ (แปลร่วมกับลัดดา วงศ์สายัณห์) ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2542 เออเฌนี กร็องเด้ต์, หญิงรักร้าง และซาร์ราซีน สามเรื่องหลังนี้ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2544

เมื่อตัดสินใจแปลบทประพันธ์ของบัลซัคอีกครั้ง ก็นึกถึงเรื่อง L’Auberge Rouge ซึ่งมีความยาวไม่มากนัก เป็นเรื่องที่อ่านมานานแล้ว และยังประทับใจในศิลปะการประพันธ์ อีกทั้งการนำเสนอเรื่องฆาตกรรมในเชิงปรัชญา

นักวิชาการฝรั่งเศสเรียกงานแต่งเรื่องนี้ต่างกันไป มีทั้งเรื่องเล่า (r?cit) นวนิยายขนาดสั้น (court roman) เรื่องสั้นขนาดยาว (longue nouvelle) และนิยาย (conte)

 

เรือนแรมสีแดง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Revue de Paris สองฉบับต่อเนื่อง คือเมื่อวันที่ 21 และ 28 สิงหาคม ค.ศ.1832 และพิมพ์รวมเล่มใน ‘ชุดการศึกษาเชิงปรัชญา’ (Etudes philosophiques) เมื่อปี ค.ศ.1832 โดยสำนักพิมพ์ Gosselin ตามความตั้งใจของผู้ประพันธ์

ในช่วงที่บัลซัคยังมีชีวิตอยู่ เรื่องนี้ตีพิมพ์รวมเล่มอีกสองครั้ง โดยสำนักพิมพ์ Werdet เมื่อปี ค.ศ.1837 และสำนักพิมพ์ Furne เมื่อปี ค.ศ.1846 สำนักพิมพ์ Furne ระบุเดือนที่เขียนเสร็จท้ายเรื่องว่า พฤษภาคม ค.ศ.1831 (บัลซัครับทราบ)

หลังจากนั้นสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่พิมพ์ซ้ำต่อมาถึงปัจจุบันก็ระบุตามนั้นแม้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงของวันที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Revue de Paris

และข้อเท็จจริงที่ว่าบัลซัคยกเลิกการไปงานเลี้ยงอาหารค่ำที่คฤหาสน์ของดัชเชสดาบร็องแตสเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1831 เพราะเขายังเขียนตอนจบของเรือนแรมสีแดง ไม่แล้วเสร็จ (Correspondance เล่ม 1 หน้า 562)

เรื่องเล่าเรื่องนี้แบ่งเป็นสามช่วง คือช่วงนำเรื่อง ยาวประมาณ 4 หน้า ช่วงที่สองชื่อ ศัลยแพทย์ผู้ช่วยทั้งสอง (Les deux sous-aides) ยาวประมาณ 20 หน้า และช่วงสุดท้ายชื่อ กรณีศึกษาการมีสติรู้รับผิดชอบ (Le cas de conscience) ยาวประมาณ 11 หน้า ชื่อช่วงที่สองและช่วงสุดท้ายนี้ปรากฏในนิตยสาร Revue de Paris และในฉบับพิมพ์รวมเล่มฉบับแรก

สำหรับฉบับที่ใช้แปล ผู้แปลใช้ฉบับสำนักพิมพ์ Rencontre พิมพ์ที่โลซานน์ ปี ค.ศ.1962 โดยถ่ายข้อมูลจาก La Biblioth?que ?lectronique du Qu?bec และตรวจสอบกับฉบับ Biblioth?que de la Pl?iade สำนักพิมพ์ Gallimard พิมพ์ที่ปารีส ปี ค.ศ.1980

ฉบับที่ใช้แปล ช่วงที่สองเปลี่ยนชื่อเป็น ความคิดกับการกระทำ (l’id?e et le fait) ช่วงสุดท้ายชื่อ ความยุติธรรมสองประการ (les deux justices) ทั้งนี้ เป็นไปตามฉบับสำนักพิมพ์ Furne

ชื่อที่เปลี่ยนไปนี้ชี้นำความคิดของผู้อ่านในการเข้าถึงตัวบท ในขณะเดียวกันผู้อ่านก็มีช่องทางในการพินิจพิเคราะห์มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบชื่อเดิมกับชื่อปัจจุบัน

 

ดังที่กล่าวในคำนำผู้แปลว่าบัลซัคจัดเรื่องเรือนแรมสีแดง ไว้ใน ‘ชุดการศึกษาเชิงปรัชญา’ ผู้อ่านคงได้ตระหนักแล้วว่า การฆาตกรรมในเรื่องช่วงที่สองมีทั้งเกิดขึ้นจริงและที่เกิดขึ้นในความคิด

ในส่วนที่เกิดขึ้นจริง ตัยเยอแฟร์ก็หนีไม่พ้นความยุติธรรมจากพระเจ้า เขาต้องชดใช้ด้วยการทนทุกข์กับความเจ็บปวดทางกายตราบจนเสียชีวิต และเจ็บปวดทางใจเมื่อต้องสูญเสียบุตรชายไปในการดวล

ในส่วนที่เกิดขึ้นในความคิด ปรอสแปร์ซึ่งถูกครอบงำด้วยความคิดฝ่ายต่ำจนถึงขั้นวางแผนกระทำ แต่ช่วงขณะที่เขายกมือขึ้นเพื่อจะประกอบอาชญากรรม เขาพลันคล้ายได้ยินเสียงและเห็นแสงสว่างวาบ เสียงและแสงนั้นหยุดเขาไว้ ผู้ประพันธ์เขียนชัดเจนต่อมาว่านั่นคือสัญญาณจากพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่จะปลิดชีวิตผู้อื่นยังสำแดงภาวะอิสระของมันต่อผู้คิด ความรู้สึกสำนึกผิดว่าเคยคิดชั่วเข้ากระหน่ำจิตใจและวิญญาณของเขา จนเชื่อว่าเขาอาจเป็นฆาตกรขณะละเมอก็ได้ เขาจึงปกป้องเพื่อนของเขาซึ่งเป็นฆาตกรตัวจริง

ในส่วนของข้าพเจ้าผู้เล่า (narrateur/narrator) การมีสติรับผิดชอบทำให้เขาพยายามหนีจากหญิงที่เขารักและที่รักเขา หนีเพราะบิดาของเธอเป็นฆาตกร เมื่อบิดาของเธอเสียชีวิต เขาก็ยังไม่อาจปลงใจขอเธอแต่งงานเพราะทรัพย์สมบัติของเธอนั้นเปื้อนเลือด เขาจัดงานเลี้ยงเชิญมิตรสหายและคนรู้จักหลากวัยหลายอาชีพมาร่วมให้ความคิดเห็นว่าเขาควรทำอย่างไร

ประโยคจบของเรื่องยืนยันว่า การมีสติรู้รับผิดชอบนั้นยังจะทำหน้าที่ต่อไปและมีผลต่อการตัดสินใจของเขา

 

บัลซัคเล่นกับกลวิธีการเขียน

เขาเขียนเรื่องซ้อนเรื่อง

เรื่องแทรกเรื่อง และเรื่องต่อเนื่อง

‘ข้าพเจ้าผู้เล่า’ เล่าเรื่องของตนเองโดยเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องที่ตัวละครตัวหนึ่ง (เฮอร์มันน์) เล่าเรื่องที่ตัวละครอีกตัว (ปรอสแปร์) เล่าให้เขาฟัง แล้วต่อด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นต่อข้าพเจ้าผู้เล่า อันเป็นผลจากการรู้เรื่องที่ตัวละครเฮอร์มันน์เล่า

เมื่อเฮอร์มันน์เล่าเรื่องของปรอสแปร์ เขาก็ต้องเล่าเรื่องของเขาด้วยว่าเหตุใดจึงได้พบปรอสแปร์ เหตุใดจึงได้รู้เรื่องของปรอสแปร์และเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ของปรอสแปร์ได้อย่างไร อีกทั้งสิ่งที่เขาพยายามทำเพื่อปรอสแปร์หลังสงคราม และทั้งหมดนี้ข้าพเจ้าผู้เล่าเป็นผู้เขียนเล่าอีกทอดหนึ่ง

ในขณะที่เล่าเรื่องของเรื่องเล่า ข้าพเจ้าผู้เล่าก็แทรกเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างตนเองกับตัวละครผู้รับฟังเรื่องเล่า (เพื่อนหญิงของข้าพเจ้าผู้เล่าและตัยเยอแฟร์) เป็นการดึงผู้อ่านจากเวลาในเรื่องเล่าของตัวละครเฮอร์มันน์มาสู่เวลาปัจจุบันของข้าพเจ้าผู้เล่าที่โต๊ะอาหารในงานเลี้ยง

ในแง่ของมิติเวลา เรื่องเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าปีใด” แต่ในตอนต้นของช่วงที่สองระบุวันเดือนปีชัดเจน คือวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1799 ในช่วงเริ่มเรื่องนั้น เรื่องเริ่มที่งานเลี้ยงมื้อค่ำและมีกิจกรรมหย่อนใจต่อถึงดึกตามวิสัยการจัดงานเลี้ยงของชาวฝรั่งเศส

ช่วงที่สองว่าด้วยเรื่องเล่าของแขกคนสำคัญ เขาเล่าย้อนไปถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในปลายปี ค.ศ.1799 ตัวละครที่เล่าถึงเป็นชายหนุ่มสองคนซึ่งเดินทางมาถึงเมืองอันเดอร์นัคค่ำวันที่ 20 ตุลาคม ค้างคืนที่เรือนแรมสีแดง เกิดเหตุฆาตกรรม ชายหนุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรถูกคุมตัวในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ถูกไต่สวน ถูกจำขัง 1 คืน และถูกประหารในเช้าวันถัดไป กล่าวได้ว่าในเรื่องช่วงที่สอง เหตุการณ์เกิด 2 คืน 1 วัน และช่วงเช้าหลังคืนที่สอง แล้วเรื่องก็ย้อนกลับมายังเวลาของช่วงเริ่มเรื่องทันที ด้วยคำขอให้หยุดเล่าของสาวน้อยในตอนเริ่มต้นของช่วงที่สาม

สำหรับมิติเวลาในช่วงที่สาม เนื้อเรื่องทำให้รู้ว่าเวลาในงานเลี้ยงสิ้นสุดลงพร้อมกับการเดินทางกลับของตัวละครที่น่าจะเป็นฆาตกรตัวจริง เวลาดังกล่าวน่าจะดึกมาก

หลังจากนั้น เหตุการณ์ที่บอกเวลามีเพียงแค่พอให้คาดคะเน เช่น ข้าพเจ้าผู้เล่าหนีหญิงสาวที่เขาหลงรักก่อนจะรู้ว่าเธอเป็นธิดาของฆาตกร ด้วยการเดินทางไปประเทศเยอรมนีและไปยังเมืองอันเดอร์นัค แล้วกลับมาซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน จดหมายเชิญไปร่วมพิธีงานศพของบิดาหญิงสาวนั้น ข้าพเจ้าผู้เล่าระบุว่าได้รับเมื่อสองเดือนก่อนการเชิญมิตรสหายมาร่วมให้คำแนะนำแก่เขาว่าควรแต่งงานกับธิดาของฆาตกรหรือไม่

เวลาที่น่าสนใจนำมาพิจารณาคือเดือนปีที่ระบุว่าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อใด นั่นคือเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1831 (หรือช่วงกลางเดือนสิงหาคมดังกล่าวแล้ว) หากหักเวลาสองเดือนที่ได้รับจดหมายเชิญไปร่วมพิธีงานศพ เวลาหนึ่งเดือนที่ไปเยอรมนี และเวลาที่อยู่ปารีสและได้พบปะหญิงสาวตามที่ต่างๆ ก่อนจะหักใจหนีไปซึ่งคาดคะเนได้ว่าประมาณสองสามเดือน งานเลี้ยงในช่วงเริ่มต้นเรื่องที่ข้าพเจ้าผู้เล่าไม่แน่ใจว่าปีใด ก็น่าจะเป็นต้นปี ค.ศ.1831 หรือปลายปี ค.ศ.1830

มิติเวลานี้ทำให้ปะติดปะต่อถึงอายุของตัวละครฆาตกรได้ ในฐานะนักศึกษาแพทย์ซึ่งเดินทางมาร่วมสงครามในตำแหน่งศัลยแพทย์ผู้ช่วย และมีคำบรรยายว่า “ศัลยแพทย์ผู้ช่วยทั้งสองอายุไม่เกินยี่สิบปี” ในปี ค.ศ.1799 ผู้อ่านทราบตั้งแต่ช่วงนำเรื่องว่าเขามีบุตรชายและบุตรสาวจากการแต่งงานครั้งที่สอง บุตรชายตายในการดวลก็น่าจะเป็นหนุ่มแล้ว บุตรสาวเพิ่งจบการศึกษาจากคอนแวนต์ก็น่าจะอยู่ในวัย 18-20 ปี นอกจากนี้ ภรรยานายธนาคารยังกล่าวถึงโรคประจำตัวของเขาว่า “เขาเป็นโรคนี้มาเกือบสามสิบปีแล้ว” หากคิดว่าความรู้สึกผิดในส่วนลึกและผลแห่งกรรมหรือการตัดสินของพระเจ้าทำให้เขาต้องทนทุกข์ทรมานมาตลอดหลังฆาตกรรมและการที่ปรอสแปร์ถูกตัดสินประหารแทนเขา

ข้อมูลทั้งหมดก็สอดคล้องกัน เมื่อเรื่องจบในปี ค.ศ.1831 เขาก็น่าจะมีอายุประมาณ 50 ปี

 

ในแง่ของการแปล เพียงผู้แปลแปลละเอียดครบความ ไม่ละเลยเนื้อหาส่วนใดส่วนหนึ่งแม้เพียงน้อยนิด ผู้อ่านที่อ่านละเอียด อ่านอย่างตื่นตัว อ่านในเชิงรุก ก็จะสามารถแกะรอยและร่วมสร้างมิติเวลาตลอดจนหาอายุของตัวละครได้ตามที่ผู้ประพันธ์ชี้แนะไว้ เป็นการปลุกเร้าสติปัญญาของผู้อ่านที่จะเพิ่มพูนอรรถรสแก่ตนเอง

ในแง่ของมิติสถานที่ เรื่องเริ่มที่งานเลี้ยงที่บ้านนายธนาคารซึ่งข้าพเจ้าผู้เล่าไปร่วมในฐานะแขกรับเชิญ เรื่องจบที่งานเลี้ยงเช่นกัน แต่ครั้งนี้ข้าพเจ้าผู้เล่าเป็นผู้จัดที่บ้านของตนเพื่อขอความเห็นจากแขกที่เขาเลือกเชิญมาว่าเขาควรตัดสินใจแต่งงานกับธิดาของฆาตกรหรือไม่ งานเลี้ยงทั้งสองงานนี้จัดที่ปารีส

ฉากในเรื่องเล่าช่วงที่สองเกิดในประเทศเยอรมนี สถานที่ชวนประทับใจคือลุ่มแม่น้ำไรน์ตามคำพรรณนาของผู้ประพันธ์ Willi Jung ในบทความชื่อ ‘L’Auberge Rouge et la vision Balzarcienne de la Rh?nanie’ ในวารสาร L’Ann?e balzacienne ฉบับที่ 1 ปี ค.ศ.2000 ให้รายละเอียดว่า ในช่วงที่เขียนเรือนแรมสีแดง บัลซัคยังไม่ได้ไปเยือนดินแดนลุ่มแม่น้ำไรน์ เขาอาศัยข้อมูลจากงานเขียนเรื่อง De l’Allemagne (ค.ศ.1813) ของ Madame de Sta?l (ค.ศ.1766-1817) หนังสือเรื่องว่าด้วยประเทศเยอรมนีนี้กล่าวถึงวัฒนธรรมเยอรมันและจินตนิยมหรือคตินิยมโรแมนติกของชาวเยอรมัน การบรรยายรูปลักษณ์ตัวละครเฮอร์มันน์ในช่วงเปิดเรื่อง ลักษณะภูมิประเทศลุ่มแม่น้ำไรน์ ตัวเมืองอันเดอร์นัค ลักษณะเรือนแรม รายละเอียดในห้องอาหาร และรูปลักษณ์นายหญิงของเรือนแรม ล้วนมีที่มาจากหนังสือเล่มดังกล่าว

แน่ละ บัลซัคเพิ่มเติมข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสเข้าไป นั่นคือการกล่าวถึงร่องรอยของสงครามและการเผาทำลายตามพระประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และด้วยฝีมือของจอมพลตูแรนน์ ซึ่งซากปราสาทบนเนินเขายอดเขาเป็นสักขีพยาน

ในแง่ของการแปล บทพรรณนาภูมิประเทศลุ่มแม่น้ำไรน์เป็นบทที่แปลยากที่สุด ถึงแม้ผู้เขียน-ผู้แปลจะเคยล่องแม่น้ำสายนี้เมื่อประมาณสี่สิบปีมาแล้ว และพอจะนึกภาพย้อนหลังไปสองร้อยปีตามคำพรรณนาได้

ที่ว่ายากเพราะบัลซัคใช้ภาษากระชับแต่รุ่มรวยด้วยภาพพจน์ เป็นช่วงที่ต้องหาคำให้พบ เข้าประโยคให้ถูกต้อง สละสลวย และอ่านได้เสียงสื่ออารมณ์เช่นเดียวกับเสียงในต้นฉบับ แปลให้กระชับแต่เปี่ยมภาพพจน์เช่นกัน

ผู้เขียน-ผู้แปลแก้ประโยคที่ตนแปล แก้แล้วแก้อีกหลายรอบเพราะตระหนักดีว่างานแปลก็เป็นงานสร้างสรรค์เช่นเดียวกับงานประพันธ์ เป็นงานสร้างสรรค์ในลำดับที่สอง และภาษาไทยนั้นรุ่มรวยไม่แพ้ภาษาใดๆ ในโลก รุ่มรวยกว่าด้วยซ้ำ

เพียงแต่ว่าผู้แปลจะต้องเป็นนายภาษาของตน งานสร้างสรรค์ลำดับที่สองจึงจะปรากฏต่อผู้อ่าน