ปาเลสไตน์-ฮามาส ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (1)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ปาเลสไตน์-ฮามาส

ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (1)

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2021 หนึ่งชั่วโมงหลังจากอิสราเอลออกคำสั่งให้ประชาชนอพยพทันทีออกจากตึกที่มีชื่อว่า อัล-ญะลาอะฮ์ (Al-Jalaa) อันเป็นที่รวมของสำนักข่าวหลายแห่ง เช่น เอพี (AP) และอัล-ญะซีเราะฮ์ (Al-Jazeera) ระเบิดก็พุ่งตรงลงมาที่ตึกดังกล่าว ซึ่งได้กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี โดยอิสราเอลอ้างในเวลาต่อมาว่าตึกดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของสำนักข่าวกรองแห่งเมืองกาซา

สำนักงานของ Associated Press และ Al-Jazeera ซึ่งเป็นตึกสูงถูกถล่มทางอากาศ พร้อมๆ ไปกับตึกและสำนักงานที่อยู่ในบริเวณนั้นอีกหลายแห่ง

การถล่มตึกสำนักข่าวเกิดขึ้นหลังจากอิสราเอลโจมตีทางอากาศในเมืองกาซาและสังหารชาวปาเลสไตน์ไป 10 คนเป็นอย่างน้อย ซึ่งรายงานจาก AP กล่าวว่าส่วนใหญ่เป็นเด็ก

หลังจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและขบวนการฮามาสขยายตัวออกไป ชาวปาเลสไตน์ก็ได้เห็นการประท้วงที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างไกลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

คนหนุ่ม-สาวปาเลสไตน์ที่เดินขบวนอยู่ทั่วไปได้ออกมาปะทะกับทหารอิสราเอลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันอย่างน้อย 11 คน

 

ในเวลาเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกองค์กรที่ใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมอย่าง OIC ให้มีการประชุมร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2021

การรวมตัวดังกล่าวก็เพื่อพูดคุยกันในเรื่องการใช้ความรุนแรงของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ทั้งนี้ ตำรวจอิสราเอลได้ใช้กำลังต่อต้านผู้ประท้วงที่มัสญิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa Mosque) ในนครเยรูซาเลมในช่วงปลายเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดพร้อมกันทั่วโลก

โดยซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดทางออนไลน์ พร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การความร่วมมืออิสลาม 57 ประเทศเพื่อ “พูดคุยถึงการรุกรานของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของมัสญิดอัล-อักซอ

อย่างน้อยชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไป 7 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2021 หลังจากอิสราเอลถล่มบ้านเรือนในเมืองกาซา ความรุนแรงเริ่มขึ้นเมื่ออิสราเอลยิงถล่มมาจากรถถัง ซึ่งตามมาด้วยการถล่มทางอากาศที่เมืองกาซาหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าฉนวนกาซา

อิสราเอลกล่าวว่าการถล่มดังกล่าวถือเป็นการถล่มเพื่อเปิดทางไปสู่อุโมงค์ของเครือข่ายผู้ต่อต้านอิสราเอลก่อนที่อิสราเอลจะใช้การรุกรานทางภาคพื้นดินต่อไป

ในขณะเดียวกันความรุนแรงในเวสต์แบงก์เผยให้เห็นถึงคลื่นของความไม่สงบอันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการขยายตัวของความขัดแย้งอิสราเอล-กาซา

ท่ามกลางการถูกถล่มอย่างต่อเนื่องในเมืองต่างๆ ของอิสราเอล กองกำลังของอิสราเอลก็เพิ่มความรุนแรงด้วยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และการถล่มทางอากาศ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่อุโมงค์ของผู้ต่อต้านอิสราเอลที่อยู่ในเมืองกาซา ซึ่งถูกเรียกว่า “เมโทร”

ความขัดแย้งอิสราเอล-ขบวนการฮามาสขยายตัวออกไปในหลายแห่ง รวมทั้งกลุ่มก้อนของผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย

อย่างเช่นอิหร่าน ซึ่งหนุนขบวนการฮามาส กับออสเตรียที่หนุนอิสราเอล ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านได้ยกเลิกการเยือนออสเตรียในกรุงเวียนนา หลังจากผู้นำออสเตรียและรัฐมนตรีต่างประเทศโบกธงอิสราเอลเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับอิสราเอลอันเนื่องมาจากความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

โดย Die Presse ซึ่งเป็นสื่อของออสเตรียได้รายงานถึงการตัดสินใจยกเลิกการเดินทางของรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านดังกล่าว

 

ความพยายาม

ในการสนับสนุนการหยุดยิงพลเรือน

ในเมืองกาซา

สิทธิในการปกป้องตนเองไม่ได้หมายถึงการถล่มประชาชนอย่างไม่เลือกหน้าในเมืองกาซา

นับจากกองกำลังของอิสราเอลถล่มมัสญิด อัล-อักซอ เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2021 ในตอนเช้าจนถึงอิสราเอลถล่มเมืองกาซาทางอากาศและการใช้ปืนใหญ่ในค่ำคืนวันพฤหัสบดีเพื่อโต้ตอบกับจรวดของขบวนการฮามาสได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ขยายตัวสู่อันตรายในระยะเวลาไม่กี่วัน

อย่างน้อยชาวปาเลสไตน์ 119 คน เด็กๆ อีก 31 คน ต้องจบชีวิตลงจากการโจมตีของอิสราเอลในเมืองกาซามาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม

ชาวอิสราเอลถูกสังหารไป 9 คน จากการโจมตีด้วยจรวดของปาเลสไตน์ รวมทั้งเด็กเชื้อสายอินเดียหนึ่งคน

ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะไม่ยุติการต่อสู้ทั้งๆ ที่ได้รับการเรียกร้องจากนานาชาติ

ทั้งนี้ อิสราเอลไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจากวิกฤตการณ์ที่รายล้อมภูมิภาคนี้ได้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือความเบื่อหน่ายและความไม่พอใจในหมู่ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยึดครองที่แลเห็นการขยายพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวยิวในเขตยึดครองอยู่ตลอดเวลา

ความไม่พอใจนี้มาจากการจัดการของเจ้าหน้าที่อิสราเอล ในนครเยรูซาเลมตะวันออก และความเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนของพวกเขาในชัยค์ ญัรเราะฮ์ (Sheikh jarrah) โดยให้ชาวยิวเข้าไปอยู่แทน อันนำไปสู่ความโกรธเคืองยิ่งขึ้นไปอีก

กองกำลังฮามาส ซึ่งถือกันว่าเป็นกลุ่มต่อต้านการยึดครองหลักจึงยื่นข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลถอนตัวออกจากมัสญิดอัล-อักซอ เมื่อไม่สำเร็จจึงใช้จรวดโจมตี ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวในเวลาต่อมา

อิสราเอลจึงประกาศที่จะทำลายล้างโครงสร้างของฝ่ายต่อต้านปาเลสไตน์ แต่อิสราเอลก็รู้ว่าไม่ได้ทำได้อย่างง่ายๆ

ในปี 2014 อิสราเอลต้องใช้เวลาถึงเจ็ดสัปดาห์สำหรับปฏิบัติการในแบบเดียวกัน 7 ปีต่อมาฮามาสก็ยิงจรวด 1,800 ลูกถล่มอิสราเอลห้าวันติดต่อกัน

 

ท่ามกลางโวหารที่มาจากทั้งสองฝ่าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีแต่เสียกับเสีย (loss-loss situations) ซึ่งพลเรือนต้องกลายเป็นเหยื่อจรวดของขบวนการฮามาสและของอิสราเอล

ในขณะที่ Iron Dome ซึ่งเป็นระบบป้องกันจรวดที่ส่วนหนึ่งสหรัฐมอบให้ และอีกส่วนหนึ่งที่อิสราเอลผลิตเองสามารถป้องกันจรวดที่มาจากกาซาได้เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าประชาชนอิสราเอลจำนวนหนึ่งจะถูกโจมตีด้วยจรวดของปาเลสไตน์ที่เล็ดลอดจากการติดตามของ Iron Dome มาได้ก็ตาม

การจลาจลทำให้ประธานาธิบดี Rewven Rivlin หวาดหวั่นว่าสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้น รัฐบาลจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางแห่ง รวมทั้งใจกลางเมืองล็อด (Lod)

นี่เป็นการใช้ระเบียบและกฎหมายที่เอาจริงเอาจังที่สุดต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในอิสราเอลนับตั้งแต่มีการลุกฮือเพื่อการปลดปล่อยของชาวปาเลสไตน์ หรืออินติฟาเฎาะฮ์ (Intifata) ครั้งที่ 2 ในปี 2000

ในทางกลับกันอิสราเอลได้เข้าบดขยี้ชาวปาเลสไตน์ในเมืองกาซาจนนำไปสู่การสูญเสียของเด็กๆ จำนวนมากโดยอิสราเอลอ้างถึงสิทธิในการป้องกันตัวเองตามที่สหรัฐและเยอรมนีให้การยอมรับ

แต่สิทธิดังกล่าวอิสราเอลก็ไม่อาจถล่มอย่างไม่เลือกหน้าต่อพลเรือนของเมืองกาซาได้

 

ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศมั่นใจว่าสหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรชิดใกล้ของอิสราเอลมีความสามารถที่จะกดดันให้ทั้งสองฝ่ายยุติความขัดแย้งดังกล่าวได้และควรรีบเร่งโดยไม่รั้งรอ

เนื่องจากคนจำนวนมากต้องมารับเคราะห์กรรมอันเนื่องมาจากความรุนแรงดังกล่าวในแต่ละวันที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ความรุนแรงเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนเราะมะฎอนแล้วหลังจากเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ตำรวจอิสราเอลได้เข้ามาปิดกั้นประตูทางเข้ามัสญิดที่เรียกว่าประตูดามัสกัส (Damaskat Gate) ซึ่งอยู่ภายนอกเมืองเก่าในนครเยรูซาเลมตะวันออกที่ถูกยึดครอง (Occupied Old City)

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม กองกำลังอิสราเอลบุกเข้าไปในมัสญิดอัล-อักซอในหะรอม อัล-ชารีฟ (Haram al-Sharif) แห่งนครเยรูซาเลม ก่อนหน้าที่ชาวอิสราเอลจะมีการเดินเฉลิมฉลองการรำลึกถึงการยึดเอาครึ่งหนึ่งของนครเยรูซาเลมตะวันออกมาเป็นของตัวเองในปี 1967

การบุกเข้าไปในมัสญิดอัล อักซอของกองกำลังอิสราเอลดังกล่าวนำไปสู่การปะทะและการบาดเจ็บของชาวปาเลสไตน์ 300 คน

เพื่อโต้กลับการกระทำดังกล่าวขบวนการฮามาส ซึ่งบริหารฉนวนกาซาได้ยิงจรวดนับโหลออกไป แต่อิสราเอลตอบโต้ด้วยการถล่มทางอากาศอย่างหนักหน่วง

สังหารชาวปาเลสไตน์ที่เมืองกาซาไป 21 คน

รวมทั้งเด็กอีก 9 คน