Jailbreak ในจินตนาการ/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

Jailbreak ในจินตนาการ

 

ช่วงวิกฤตโควิดระบาดระลอก 3 และต้องปิดชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยรับมือนี้ การหันมาสอนออนไลน์ และ work from home ก็มี “ข้อดี” ของมันอยู่ คือผมได้ประหยัดเวลาเดินทาง (ไปกลับหนองแขม-รังสิต) และมีโอกาสค้นคว้าเตรียมสอนเต็มที่ขึ้นกว่าก่อนโควิด

แต่ไม่ว่าจะอ่านค้นอะไรไปถึงไหน ก็อดคิดถึงบริบทปรากฏการณ์และปัญหาสังคมการเมืองรายรอบตัวไม่ได้

จึงระหว่างอ่านหนังสือ Great Political Thinkers (Oxford University Press, 1992) อยู่ ผมก็สะดุดใจกับแนวคิดการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของออกัสต์ กองต์ (Auguste Comte, ค.ศ.1798-1857) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเจ้าสำนักปฏิฐานนิยม (positivism) ผู้ได้รับยกย่องว่าก่อตั้งอีกทั้งบัญญัติชื่อวิชาสังคมวิทยา (sociologie ในภาษาฝรั่งเศส)

ภายใต้อิทธิพลของแซงต์-ซิมอง นักสังคมนิยมยูโทเปีย กองต์แบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคอินทรียภาพกับยุควิพากษ์ (organic & critical periods) โดยอธิบายว่า (p. 287) :

– ยุคอินทรียภาพ (organic periods) คือยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่ลัทธิความเชื่อเฉพาะเจาะจงหนึ่ง ครอบงำความคิดจิตใจผู้คน และสิทธิอำนาจของครูบาเจ้าลัทธิผู้เผยแพร่อบรมความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ส่วน…

– ยุควิพากษ์ (critical periods) ได้แก่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์เมื่อลัทธิความเชื่อ หนึ่งกำลังตกยุคพ้นสมัยไป และผู้คนซึ่งมิสามารถเชื่อลัทธิเก่าแก่ดั้งเดิมต่อไปได้ พากันควานหาลัทธิความเชื่อใหม่มาทดแทน

อ่านแล้วก็อดนึกถึงช่วงราวทศวรรษที่ผ่านมาจนปัจจุบันซึ่งเกิดการเปลี่ยนผ่านระเบียบอำนาจและแผ่นดินภายใต้รัฐบาลประยุทธ์@คสช. ไม่ได้

แล้วอะไรล่ะคือสภาวะความคิดจิตใจของผู้คนในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านอันเวิ้งว้างเคว้งคว้างปลอดเปล่าลัทธิความเชื่อและครูบาเจ้าลัทธิให้ยึดเป็นสรณะดังกล่าว (เกษียร, “80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (1)”

https://www.matichonweekly.com/column/article_335947)?

ภาพเฟซบุ๊กเพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” & เคร็ก ชาร์ลส์ พิธีกรรายการเรียลลิตี้ ทีวี เกมโชว์ Jailbreak

ผมฉุกคิดถึงแนวคิดทางสังคมวิทยาเรื่อง anomie (อโนมี) ซึ่งพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาอังกฤษ-ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ.2524) นิยามไว้ที่ น.20 ว่า :

“anomie อโนมี เป็นคำภาษาฝรั่งเศส หมายถึงความไร้บรรทัดฐาน ความเสียระบบทางสังคมและส่วนตัวบุคคล การทำให้เสียกำลังทางใจ ฯลฯ”

ด้าน Oxford Dictionary of Critical Theory (2018) ขยายความอโนมีออกไปพิสดารขึ้นว่า :

“anomie การปราศจากปทัสถาน ระเบียบหรือกฎเกณฑ์ทางสังคม ทว่าอย่าปะปนสับสนอโนมีกับลัทธิอนาธิปไตย อโนมีเป็นสภาพเงื่อนไขแห่งการดำรงอยู่มากกว่าสภาพการณ์เฉพาะเจาะจงหนึ่งๆ อโนมีเกิดขึ้นได้แม้ในสังคมที่จัดระเบียบไว้อย่างดี หากแม้นปทัสถาน ระเบียบหรือกฎเกณฑ์เหล่านั้นสูญเสียความชอบธรรมของมันไปและมิได้ถูกแทนที่ด้วยวิสัยทัศน์ทางเลือกว่าสิ่งต่างๆ ควรเป็นเช่นใด

“อโนมีมาจากศัพท์กรีกว่า ‘nomos’ หมายถึงกฎเกณฑ์ คำว่าอโนมีถูกใช้ครั้งแรกโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌอง-มารี กูโย ทว่าการสรุปอโนมีขึ้นเป็นสูตรซึ่งรู้จักกันดีที่สุดเป็นของนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เอมิล เดอร์ไคม์ ผู้ใช้มันในหนังสือของเขาเรื่อง Suicide (อัตวินิบาตกรรม, ค.ศ.1897) เพื่อบรรยายสถานการณ์ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับลู่ทางจ้างงาน นำมาซึ่งภาวการณ์ที่ผู้คนเริ่มรู้สึกสิ้นหวังและไร้อนาคต เพราะความตกห่างระหว่างวาทกรรมสาธารณะ (สิ่งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นจริง) กับหลักฐานหน้างานจริงซึ่งขัดฝืนกับโวหารที่ว่านั้น” (p. 22)

ป่วยการยกตัวอย่างรูปธรรมนะครับ กล่าวเฉพาะช่วงโควิดระบาดในเมืองไทย 3 ระลอกที่ผ่านมาก็เหลือแหล่ มิพักต้องย้อนหลังไปถึงตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 7 ปีก่อนนู่น

 

คนเราในภาวะอโนมี ใช่ว่าจะงอมืองอเท้ายอมสิ้นหวัง รับสภาวะไร้อนาคตง่ายๆ เสียทีเดียว ของมันก็ต้องลุกขึ้นสู้เพื่อผลักดันให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกันบ้าง ตามสติปัญญา กำลังวังชาและจินตนาการที่พอมี ดังที่สตีเว่น ลุกส์ ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองและสังคมชาวอังกฤษ เคยวาดภาพบรรยายไว้อย่างสมจริงในการิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง (ฉบับแปลไทย พ.ศ.2541, บทที่ 27) ตอนหนึ่งว่า :

“คุณคิดจริงๆ หรือว่าไม่มีทางบรรลุสังคมอื่นที่ดีกว่านี้ได้?” (นิโคลาส การิทัต ถาม)

ลีออนยิ้ม “คนที่นี่เคยจินตนาการว่ามีที่แห่งหนึ่งเรียกว่า ‘เสมอภาคนคร’ ที่ซึ่งทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เป็นสวรรค์ที่ว่ากันว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน สิทธิเหล่านี้จะเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่อิงนิยายอย่างที่นี่ เป็นความจริง ไม่ใช่สัญญาหลอกๆ ทุกคนจะมีรายได้พื้นฐานจริง อาชีพจริง บ้านจริง ไปเรียนโรงเรียนดีๆ มีหมอดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ชาวบ้านธรรมดาจะสนใจการเมืองเพราะเขาคิดว่าเขาสำคัญพอจะก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมได้

“จินตนาการดูซี่! ตามข้างถนนจะไม่มีคนนอนหลับ ขอทาน แหล่งเสื่อมโทรม หรือคนเที่ยวทำลายของหลวง จะไม่มีการดูหมิ่นเหยียดหยามคนเพียงเพราะกำเนิดหรือความเชื่อของเขา หรือเพราะเขาไม่ยอมคล้อยตามสังคม ที่ซึ่งทุกคนจะมีเสรีภาพเท่ากันในการดำเนินชีวิตตามมโนธรรมของตน แทนที่จะทำตามกฎเกณฑ์ของตลาดเท่านั้น ที่ซึ่งคุณจะสูดลมหายใจได้อย่างอิสระไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม พูดสั้นๆ คือมันเป็นที่ประเภทที่คุณกับผมคงจะอยู่อย่างค่อนข้างเป็นสุข”

“แล้วเขาว่ากันว่ามันอยู่ที่ไหนล่ะ?” นิโคลาสถาม

“พ้นพรมแดนทางเหนือของเราออกไป” ลีออนบอก “ที่ยุ่งก็คือมันไม่มีที่อย่างว่าอยู่หรอก มันเป็น ยูโทเปีย ซึ่งดูเหมือนผมจะจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าหมายถึง ‘ไม่มีที่ไหนเลย’ เป็นเรื่องเพ้อฝัน นิทาน เทพนิยาย ที่ดูคล้ายเจ้าหมอจัสตินพิลึกคนนั้นยังเชื่อหรืออยากจะเชื่ออยู่”

“ทำไมคนถึงได้เลิกเชื่อว่ามันดำรงอยู่เล่า?”

“ก็มีคนไปสำรวจหากันที่นั่นเยอะอยู่หรอกนะ แต่หาไม่เจอ ก็เลยท้อถอย แล้วพอรัฐบาลใหม่ชุดนี้ขึ้นมา แค่พูดถึงเสมอภาคนครก็ยังกลายเป็นเรื่องน่าอายเลย

“ตอนแรกก็ยังมีการประท้วงแผนแปรกิจการเป็นของเอกชนและอะไรต่อมิอะไรมากพอควร มีคนเดินขบวนคัดค้านการปิดโรงพยาบาลเอย ปิดโรงเรียนเอย หรือปกป้องบ้านช่องของตัวจากพวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น พวกเขายังพอมีความคิดอยู่ในหัวบ้างว่าสภาพทางเหนือมันดีกว่านี้ และฉะนั้น สภาพที่นี่ก็น่าจะดีกว่านี้ได้ (แฟลชม็อบราษฎร, หมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบฯ เป็นต้น) แต่ทั้งหมดนั้นมันจบเห่แล้ว”

“ไม่เหลือใครประท้วงเลยหรือ?” นิโคลาสถาม

“ไม่เหลือเลย พูดตรงๆ ผมอยากแนะให้คุณทำใจเสีย แล้วยิ้มสู้ดิ้นรนไปตามมีตามเกิด…”

 

การที่ผู้คนในสังคมหนึ่งเลิกเชื่อยูโทเปีย ไม่ได้แค่แปลว่าสังคมนั้นเลิกเชื่อความเพ้อฝันที่ไม่มีอยู่จริง (disillusionment ซึ่งฟังดูก็ดีแล้ว) เท่านั้น

หากยังหมายความว่าสังคมนั้นสูญเสียสมรรถนะในการจินตนาการถึงความเป็นจริงทางเลือกที่แตกต่างจากความเป็นจริงดังที่เป็นอยู่อย่างขุดรากถอนโคนด้วย (the loss of imagniation : In order to change the world, you have to be able to imagine a radically different one.)

มันนำไปสู่ภาวะท้อถอย เฉื่อยเนือย ชินชา หมดสิ้นกำลังใจในการประท้วงต่อสู้ หมดสิ้นความหวังในการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และวิกฤตศรัทธา

ดังที่สตีเว่น ลุกส์ บรรยายไว้อีกตอนหนึ่งในบทที่ 4 ว่า :

“… ประชาชนหันมายอมรับสภาพที่เป็นอยู่เพราะพวกเขาสูญสิ้นศรัทธาว่าอะไรที่ดีกว่านี้มันจะเป็นไปได้ พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่เรา (ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารในเสนานคร) ยึดมั่น และเราเองก็ไม่รู้ว่าไอ้สิ่งที่เรายึดมั่นนั้นมันคืออะไร เราเสนอทางเลือกอะไรให้ได้และทำไมมันจึงจะดีกว่าเก่าล่ะ? เราจะต่อสู้และเรียกร้องการเสียสละที่จำเป็นไปเพื่อภารกิจอันใดกัน? เรารู้ว่าเราคัดค้านสิ่งใด แต่อะไรคือสิ่งที่เราสนับสนุนเล่า?”

ในสภาพเช่นนั้น นักคิดนักวิชาการที่ศึกษาสังคมอเมริกันเคยเขียนหนังสือเปรียบเปรยว่าขบวนการแรงงานอเมริกันที่พลาดท่าเพลี่ยงพล้ำถดถอยมาในประวัติศาสตร์และประสบความอับตันอ่อนเปลี้ยทางการเมืองเรื้อรังอยู่ในภาวะเสมือน Prisoners of the American Dream : Politics and Economy in the History of the US Working Class (นักโทษของความฝันแบบอเมริกัน, โดย Mike Davis, 1986) ดิ้นรน หนีไปไหนไม่ได้ ติดแหง็กอยู่ในความเพ้อฝันที่นับวันไม่มีทางเป็นจริงซึ่งสังคมวัฒนธรรมอเมริกันปลูกฝังให้

ในขณะที่คนชั้นกลางอเมริกันก็ติดคุกความฝันแบบอเมริกันเหมือนกัน แต่เป็นนักโทษโดยสมัครใจที่ครอบครองและอาศัยบ้าน (จองจำตัวเองไว้ในห้องขังที่ตัวเองเป็นเจ้าของ?) ในชุมชนบ้านจัดสรรรั้วรอบขอบชิดที่มียามเฝ้า (gated communities) ซึ่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามชานเมืองใหญ่ต่างๆ

ดังที่ St?phane Degoutin นักเขียนนักวิจัยและศิลปินชาวแคนาดาวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในหนังสือ Prisonniers volontaires du r?ve am?ricain (นักโทษสมัครใจของความฝันแบบอเมริกัน, 2006)

 

มองมุมเปรียบเทียบนี้ การชักชวนให้ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ในกลุ่มเฟซบุ๊กซึ่งมีสมาชิกถึง 3 แสนกว่าคนเพียงวันเดียวหลังก่อตั้ง (https://www.matichon.co.th/social/news_2703187) จึงสะท้อนอาการดิ้นรนแหกกรอบหาทางออกอย่างเป็นไปเองแบบปัจเจกบุคคลโดยบรรดาผู้ตื่นรู้ตาสว่างและต้องการย้ายออกจากความฝัน (ร้าย) แบบไทยๆ ซึ่งนับวันสิ้นไร้ประสิทธิภาพในการดูดดึงเหนี่ยวรั้งจองจำพวกเขาไว้ในจินตนาการอีกต่อไปแล้ว

ชวนให้ผมหวนนึกถึงรายการ Jailbreak (แหกคุก) อันเป็นเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังทางทีวีช่อง 5 ของอังกฤษเมื่อราวปี ค.ศ.2000 ซึ่งมีเคร็ก ชาร์ลส์ เป็นพิธีกรหลัก

ไอเดียคือผู้เข้าร่วมแข่งขัน 10 คนดิ้นรนหาทางแหกคุกที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษที่เฮิร์ตฟอร์ดไชร์ ในอังกฤษ คนแรกที่แหกคุกออกมาสำเร็จจะได้รางวัลเป็นเงินหนึ่งแสนปอนด์จากยอดเงินรางวัล 250,000 ปอนด์ (https://en.wikipedia.org/wiki/Jailbreak_(TV_series)

ทว่าแทนที่จะเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมัน หากสมัครสมานสามัคคี ร่วมคิดร่วมแรงร่วมใจกันแหกคุกสำเร็จ พวกเขาแต่ละคนจะได้ยอดเงินรางวัลทั้งก้อนไปแบ่งปันกันถ้วนหน้า

ว่าแต่ว่าจะหาทางออกจากความฝัน (ร้าย) แบบไหนกันดีล่ะครับ?