วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (26)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

South Atlantic Ocean, Antarctica, Antarctic Peninsula, Gerlache Strait, Iceberg floating in water

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (26)

 

กระแสน้ำ

ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไหลอ่อน

แต่ที่อื่นกลับแรงขึ้น

กระแสน้ำในมหาสมุทรทั้งหลายเกิดความผิดปรกติ อันเนื่องจากภาวะโลกร้อน

นั่นคือโดยทั่วไปไหลแรงขึ้น แต่ในบางแห่งได้แก่ กระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ที่รู้จักกันในนามกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมกลับไหลช้า จะได้กล่าวถึงเป็นลำดับไป

การไหลช้าลงของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม สังเกตเห็นได้ตั้งแต่ปี 1950 และก็ได้ไหลช้าลงเรื่อยๆ จนปัจจุบัน กล่าวว่ามันไหลช้าลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปรกติก่อนนั้น

บางการศึกษากล่าวว่ากระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมไหลช้าลงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 1,000 ปี เรียกว่าช้าลงกว่าที่คาดไว้มาก

กระแสน้ำกัลป์สตรีมนี้เป็นเหมือน “สายพานลำเลียง” อากาศอบอุ่น แร่ธาตุและสารอาหารจากเขตร้อนบริเวณอ่าวเม็กซิโก (จึงได้ชื่อว่า “กระแสน้ำอ่าว”) ผ่านด้านตะวันออกของอเมริกาเหนือไปยังยุโรปตะวันตก

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ความสนใจเรื่องนี้อยู่ในระดับสูง เพราะยุโรปตะวันตก และชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เป็นศูนย์กลางโลกมายาวนาน มีสถาบันและนักวิชาการศึกษาด้านภูมิอากาศและมหาสมุทรจำนวนมาก

กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมมีขนาดใหญ่ ไหลอยู่ส่วนบนของน้ำลึกไม่เกิน 2,000 เมตร กล่าวกันว่ามีปริมาณน้ำมากกว่าของแม่น้ำแอมะซอนที่ไหลลงทะเล

ที่ไหลช้าลงเข้าใจว่าเนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งทำให้อุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนืออุ่นขึ้นมากกว่าที่ใดในโลก เกิดการละลายของพื้นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลปริมาณมหาศาล

นอกจากนี้ ทะเลน้ำแข็งที่บริเวณขั้วโลกก็ละลายตัวมากด้วยในหน้าร้อน ทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นมีความเข้มของเกลือน้อยลง ความหนาแน่นก็ลดลง รบกวนต่อการไหลของกัลฟ์สตรีมให้อ่อนแรงช้าลง

ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ กระแสน้ำจะอ่อนกำลังลงอีกร้อยละ 34 ถึง 45 จนกระทั่งอาจหยุดนิ่งไปอย่างถาวรได้ในศตวรรษถัดไป

 

มีการสร้างตัวแบบจำลองว่า เมื่อกระแสน้ำอุ่นที่ไหลช้าและเย็นตัวลงดังกล่าวแล้ว จะทำให้ภูมิภาคยูโรปเกิดอากาศหนาวจัดและแห้งแล้ง มีคลื่นความร้อนรุนแรงกว่าเดิม

ส่วนชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ (ด้านติดมหาสมุทรแอตแลนติก) จะมีน้ำทะเลหนุนสูง เกิดพายุใหญ่รุนแรงบ่อยขึ้น ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในแอตแลนติกเหนือจะเกิดหายนะใหญ่

สรุปได้ว่าแอตแลนติกเหนือจะอยู่ได้ยากขึ้นสำหรับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย (ดูรายงานข่าวของบีบีซี ชื่อ “กระแสน้ำอุ่น ‘กัลฟ์สตรีม’ อ่อนกำลังที่สุดในรอบพันปี ชี้เข้าใกล้จุดวิกฤติหยุดไหลถาวรหลังสิ้นศตวรรษนี้” วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2021 รายงานข่าวนี้จับบางประเด็นที่น่าสนใจและเข้าใจง่ายสำหรับสาธารณชน)

สำหรับกระแสน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกจะไหลแรงขึ้นหรืออ่อนลงนั้น ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 มีการเผยแพร่งานวิจัยที่บ่งชี้ว่า มันไหลเร็วขึ้น เป็นงานวิจัยที่มี ศ.สือเจียนหู เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์กายภาพของจีน เป็นผู้นำคณะ (มีนักวิทยาศาสตร์สหรัฐร่วมในคณะด้วย) เขาสนใจเรื่องกระแสน้ำในมหาสมุทรและภูมิอากาศ โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย ทำงานประจำที่สถาบันสมุทรศาสตร์ในสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน

บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า (Science Advances ใน สมาคม AAAS) อันเป็นที่เชื่อถือของสหรัฐ ได้รับการสนใจจากนักวิชาการด้านนี้ และมีรายงานข่าวในวารสารทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป

 

คณะวิจัยเห็นว่า มหาสมุทรเป็นแหล่งเก็บกักความร้อนที่สำคัญของระบบภูมิอากาศ อุณหภูมิในมหาสมุทรตั้งแต่ผิวน้ำลงลึกหลายพันเมตร ที่มีการไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง มีบทบาทในการกำหนดภูมิอากาศโลก แต่ความร้อนนี้ยังขึ้นกับความผันแปรของอุณหภูมิท้องถิ่นหลายอย่างด้วยกัน

การวัดกระแสน้ำในมหาสมุทรและอุณหภูมิของมัน โดยตัดส่วนที่เป็นการผันแปรดังกล่าว จะเป็นกุญแจให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศโลก

การศึกษาชี้ว่ากระแสน้ำมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ต่างๆ แสดงแนวโน้มเป็นต่างๆ ยังไม่ชัดว่ารูปแบบหลักของการอุบัติใหม่เป็นอย่างไร

การศึกษาของคณะได้ชี้ให้เห็นว่า กระแสน้ำในมหาสมุทรที่ไหลลึกลงไปหลายพันเมตร ซึ่งเป็นกระแสแนวนอนได้ไหลแรงขึ้น

เนื่องจากลมที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำในขอบเขตทั่วโลกมีความเร็วขึ้น ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แนวโน้มที่กระแสน้ำไหลเร็วขึ้นเห็นชัดในมหาสมุทรเขตร้อน

แม้กระแสลมที่แรงขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการผันแปรในระดับท้องถิ่น แต่กระแสลมที่แรงขึ้นมากนี้ แสดงว่ามันไม่ได้ขึ้นกับการผันแปรทางธรรมชาติ หากด้านหลักเป็นแนวโน้มระยะยาวเนื่องจากภาวะโลกร้อน

กระแสน้ำในมหาสมุทรที่เร็วขึ้นอาจเปลี่ยนแปลงกระบวนการเคลื่อนย้ายอุณหภูมิและสารอาหารไปทั่วโลก ซึ่งจะเปลี่ยนแบบรูปของภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเลของโลก

 

อย่างไรก็ตาม แม้พบว่ากระแสน้ำในมหาสมุทรส่วนใหญ่ไหลเร็วขึ้น แต่ในบางแห่งก็ไหลคงตัว และในบางแห่งไหลช้าลง เช่น กระแสน้ำที่แอตแลนติกเหนืออ่อนลง

มีรายงานสือเจียนหู ตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ลมแรงขึ้น และพัดพากระแสน้ำในมหาสมุทรไหลแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ซึ่งอาจทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกชะลอตัวลง ทั้งสองอย่างเป็นจริงด้วยกันทั้งคู่

(ดูบทความวิชาการของ Shijian Hu และคณะ ชื่อ Deep-reaching acceleration of global mean ocean circulation over the past two decades ใน advances.sciencemag.org 05/02/2021 และรายงานข่าวของ Chelsea Harvey ชื่อ Ocean currents are speeding up, driven by faster winds ใน scientificamerican.com 06/02/2021)

ดังนั้น ในเฉพาะหน้างานวิจัยด้านกระแสน้ำในมหาสมุทรจึงยังไม่ถึงขัดกันรุนแรง จำต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป มีความไม่แน่นอนและความไม่รู้อยู่อีกมาก

 

วิจารณ์ได้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้และชิ้นอื่นที่จะตามมาของสือเจียนหู และคณะ ส่งผลกระทบไม่เพียงด้านวิชาการ แต่ยังขยายไกลไปสู่ด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วย สามารถอธิบายได้ดังนี้ว่า

ก) การศึกษาเรื่องกระแสน้ำในมหาสมุทร ที่เป็นข่าวต่อเนื่องเป็นที่รับรู้กันทั่วไป ก็คือกรณีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมอ่อนกำลังลง กระทั่งอาจหยุดนิ่งอย่างถาวร จะก่อหายนะใหญ่ทำให้ซีกโลกเหนือเย็นเยือก ฮอลลีวู้ดได้นำแนวคิดนี้ไปสร้างภาพยนตร์ชื่อภาษาไทยว่า “วิกฤติวันสิ้นโลก” (The Day After Tomorrow เผยแพร่ 2004 แปลตามตัวว่า “วันมะรืนนี้”) ได้รับการตอบรับและการทำเงินสูงลิ่ว จนเกิดความรู้สึกว่ากระแสน้ำในแอตแลนติกเหนือมีบทบาทสูงยิ่ง สามารถเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้ทั้งโลก แต่งานวิจัยของสือเจียนหู ชี้ว่ากระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย มีลักษณะเฉพาะตัวของมัน กระทั่งเป็นแนวโน้มของกระแสน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก นั่นคือไหลเร็วขึ้น ไม่ใช่ช้าลง

ข) การวิจัยพื้นฐานมีความสำคัญสูง สร้างพื้นฐานทางความรู้ให้รู้ลึกรู้กว้าง และรู้รายละเอียดของสิ่งนั้น ไปจนถึงพื้นฐานวิธีเข้าถึงความรู้นั้น และการสร้างคณะวิจัยที่ชำนาญการด้านนี้ขึ้นมากพอ ความรู้จากการวิจัยพื้นฐานนี้ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ได้แก่ เป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการวิจัยเชิงประยุกต์ หรือวิจัยและพัฒนา สร้างความน่าเชื่อถือแก่บุคคล สถาบันที่ทำการวิจัยนั้นๆ สามารถโน้มน้าวให้ผู้คนยอมรับเชื่อถือในข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปได้กว้างขวางและแน่นแฟ้น

ค) ในทางภูมิรัฐศาสตร์ แสดงว่าจีนต้องการเป็นเจ้าสมุทรเช่นเดียวกับสหรัฐ อย่างน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิก-อินเดีย คาดหมายว่าการแข่งขันด้านการวิจัยทางสมุทรศาสตร์และภูมิอากาศจะมีความเข้มข้นขึ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการตายหมู่ของปะการังและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง