โลกของทหารไทย : โลกของการซื้ออาวุธ!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

โลกของทหารไทย

: โลกของการซื้ออาวุธ!

 

“กองทัพเป็นเหมือนกล่องดำ ที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน”

คำกล่าวของนักเคลื่อนไหวชาวอียิปต์ในช่วงอาหรับสปริง

 

บทเริ่มต้น

บทความนี้เริ่มต้นจากคำถามของเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เมื่ออ่านบทความเรื่อง “ซื้ออาวุธแล้ว อย่าลืมทหารเกณฑ์” (The Politics, 27 เมษายน 2564) ทำให้เขามีคำถามว่า “ทหารไทยอยู่ในโลกใบเดียวกับเราไหมครับ?”

คำถามนี้ทำให้ผมต้องถามกับตัวเองเช่นเดียวกันว่า “กองทัพไทยยังอยู่ในประเทศเดียวกับเราหรือไม่?…

ผู้นำทหารไทยมีความรับรู้หรือไม่ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์อะไร?”

หรือว่ากองทัพไทยมี “โลกของตัวเอง” ที่ผู้นำทหารไทยไม่จำเป็นต้องต้องสนใจ และไม่จำเป็นต้องรับรู้กับชีวิตของคนในสังคมไทย

เสมือนหนึ่งกองทัพไทยอยู่ในโลกของตัวเองเท่านั้น จนลืมไปว่ากองทัพไทยอยู่ในสังคมไทย และอยู่ได้ด้วย “ภาษีของประชาชนไทย” ไม่ใช่ด้วยเงินส่วนตัวของผู้นำทหารคนไหน

 

สงครามโรคระบาด

เมื่อต้องพิจารณาปัญหาความมั่นคงไทยในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนับตั้งแต่ต้นปี 2563 และเกิดต่อเนื่องมาเป็นเป็นระลอกที่ 3 ในปัจจุบันนั้น ความต้องการมีระบบอาวุธสมัยใหม่ของผู้นำทหารที่มีราคาแพงจึงเป็นประเด็นที่อาจจะต้องนำมาคิดด้วยใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในยามที่ประเทศต้องการงบประมาณจำนวนมากเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เพื่อต่อสู้กับ “ปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข” นั้น กองทัพกลับเดินหน้าตัดสินใจจัดซื้ออาวุธ โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับ “สภาวะแวดล้อมภายในที่เป็นจริง” ของสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามชุดใหม่” อันเป็นเรื่องของ “สงครามโรคระบาด” (จะไม่ใช้คำว่า “สงครามเชื้อโรค” เพราะอาจมีนัยให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นปฏิบัติการทางทหารของรัฐในการทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยอาวุธชีวภาพ)

ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2563 ที่การระบาดระลอกแรกเริ่มขึ้น ได้มีเสียงเรียกร้องในสังคมอย่างมากให้มีการปรับลดงบประมาณทางทหาร โดยเฉพาะยุติการซื้ออาวุธ ที่หลายภาคส่วนในสังคมมีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ไม่มีความจำเป็นในการสร้างความมั่นคงในยามที่ประเทศต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดของเชื้อโควิด-19

ตลอดรวมทั้งการยกเลิกรายการจัดหาที่มีมูลค่าสูง เช่น กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำและรถถังจากจีน เป็นต้น

แต่เสียงเรียกร้องเช่นนี้ไม่ค่อยจะมีผลในทางปฏิบัติเท่าที่ควร

เพราะผู้นำรัฐบาลที่มาจากทหารที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความจำเป็นที่ต้องรักษาฐานการเมืองในกองทัพ และไม่ยอมที่จะลดทอนงบฯ ทางทหารที่ไม่จำเป็นลง

สิ่งที่เกิดในยุคโควิดสะท้อนให้เห็นว่า กองทัพในการเมืองไทยจึงมีสถานะเป็น “The Untouchable” ที่ไม่อาจแตะต้องได้ (หรืออาจเป็น “Untouchable Class” ในสังคมไทย!)

ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย กองทัพจะยังอยู่ในโลกของตัวเองเสมอ และเป็นโลกที่ทหารเป็นใหญ่โดยไม่ต้องคำนึงถึงสังคม

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการเหล่าทัพตามวงรอบของการเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2563 ทำให้ยังพอมีความหวังว่า “ลัทธิอาวุธนิยม” จะถูกลดทอนลงได้บ้าง เพราะ “นักช้อป” บางคนจากบางเหล่าทัพที่เป็นพวกสมาทาน “ลัทธิบูชาอาวุธ” ได้หมดวาระลงแล้ว และอาจจะเป็นโอกาสให้กองทัพได้ตระหนักถึงบทบาทที่เหมาะสมของทหารในสังคมที่เผชิญกับโรคระบาดได้บ้าง (แม้ “นักช้อปรายใหญ่” จะยังมีอำนาจในกระทรวงกลาโหมก็ตาม)

แต่ความหวังดังกล่าวก็เป็นความท้าทายอย่างมากว่าผู้นำทหารไทยตระหนักถึงปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญเพียงใด

หรือคำถามในทางยุทธศาสตร์ก็คือ ผู้นำทหารไทยมีความรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของปัญหาภัยคุกคามในโลกปัจจุบันเพียงใด หรือพวกเขาจะขังตัวเองไว้ในโลกใบเดิม

นายทหารส่วนหนึ่งอาจจะโต้แย้งว่า พวกเขาสนใจแต่เรื่องของ “ภัยคุกคามทางทหาร” และไม่จำเป็นต้องต้องสนใจประเด็นอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากบริบทของกองทัพ

แต่การกล่าวเช่นนี้ก็อาจต้องตระหนักว่า กองทัพดำรงอยู่ในบริบทของสังคมไทย พลวัตของสังคมไทยจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่สำคัญ ที่ผู้นำทหารจะละเลยมิได้

ความเชื่อที่ว่ากองทัพไทยสามารถแยกตัวเองออกจากบริบทของสังคมไทย จึงเป็นจินตนาการที่ไม่เป็นจริง

และกองทัพไทยก็ไม่ได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ จนไม่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมที่แวดล้อมอยู่ และไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของสังคม

อาวุธ = ทิชชู่

 

วิวาทะว่าด้วยเรื่องของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของปี 2564 เริ่มต้นด้วยบทสัมภาษณ์ของผู้บังคับบัญชาการทหารบกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่กล่าวถึงปัญหานี้ว่า “ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ก็มีความจำเป็น ทุกอย่างก็เหมือนของในบ้าน คุณมีของใช้ว่าต้องมีอะไรบ้าง ก็ใช้ตามระยะเวลา พอถึงเวลาเสื่อมก็ต้องซื้อใหม่… ฉะนั้น ทุกอย่างเหมือนของใช้ในบ้านเรา เหมือนกับกระดาษทิชชู่ คุณเข้าห้องน้ำก็ต้องใช้ทิชชู่ คุณบอกว่าทิชชู่ห้ามซื้อปีนี้ ถามว่าเมื่อคุณเข้าห้องน้ำคุณจะใช้อะไร” (บทสัมภาษณ์ในมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์, 4 กุมภาพันธ์ 2564)

บทสัมภาษณ์นี้ออกมาเพื่อยืนยันว่ากองทัพบกจะไม่ชะลอการจัดซื้ออาวุธในสามโครงการใหญ่ ที่มีวงเงินรวมกันมากกว่า 6,152 ล้านบาท

ซึ่งคำเปรียบเทียบเช่นนี้เป็นการสื่อสารการเมืองที่ไม่น่าจะทำให้สังคมตอบรับสมการ “ซื้ออาวุธ = ซื้อทิชชู่”

และจากปลายธันวาคม 2563 ต่อเนื่องเข้าต้นปี 2564 การระบาดของโควิด-19 ระลอกสองเกิดขึ้นที่สมุทรสาคร สังคมก็ยิ่งไม่ตอบรับกับการซื้ออาวุธของทหาร เพราะปัญหาความรุนแรงของการระบาด และผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

สภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมมองไม่เห็นความจำเป็นในแบบที่ผู้นำทหารพยายามเสนอถึงความจำเป็นในการซื้ออาวุธ

การจัดซื้อยุทโธปกรณ์กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในตอนกลางเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสามในไทย ดังปรากฏในการแถลงข่าวของกองทัพบกว่าที่กองทัพซื้ออาวุธ ก็เป็นไปตามการ “ใช้งบประมาณตามที่ได้รับการจัดสรร”

และในการนี้ ผู้บัญชาการทหารบกได้ “กำชับทุกหน่วยทหารว่า งบประมาณอะไรที่สามารถปรับมาใช้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ ก็ขอให้พิจารณา” (ข่าวสดออนไลน์, 26 เมษายน 2564)

อีกทั้งเมื่อถูกถามว่า กองทัพจะยกเลิกโครงการจัดซื้ออาวุธ ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ คำตอบด้วยความเชื่อมั่นในอำนาจทางการเมืองของทหารก็คือ “เป็นเรื่องของความคิดเห็น เราก็รับฟัง”

อันเท่ากับเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า กองทัพบกจะไม่ทบทวนสิ่งเหล่านี้ และอธิบายว่างบประมาณเหล่านี้ “ผ่านการเห็นชอบในระดับสายการบังคับบัญชาและรัฐบาลแล้ว คงจำเป็นต้องเดินหน้า” ต่อไป (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 26 เมษายน 2564)

คำตอบเช่นนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องสนใจสิ่งที่เป็น “ภัยคุกคามจริง” ของสังคมไทย และจะเดินหน้าจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่อไป

แต่หากจะมีงบประมาณส่วนใดที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ ก็เป็นเพียงการ “ขอ” ให้ผู้บังคับหน่วยไปพิจารณากันเอง

ซึ่งเท่ากับเป็นคำตอบว่า ผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพไม่ได้มีนโยบายอะไรที่ชัดเจน และโยนภาระในเรื่องนี้ให้ผู้บังคับหน่วยในระดับรองลงไปพิจารณากันเอง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโอกาสที่ผู้บังคับหน่วยต่างๆ ในระดับรองจะตัดสินใจตัด/ลดงบประมาณของตนเอง อาจจะไม่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

คำแถลงของกองทัพบกในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนเมษายนจึงไม่ได้มีสาระอะไร หากเป็นเพียงการแถลงยืนยันว่ากองทัพบกจะซื้ออาวุธตามที่ต้องการ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงคัดค้านก็มีมากขึ้นตามมาในท่ามกลางการระบาดของโควิดในปี 2564 ความเห็นแย้งมองไม่เห็นถึงความจำเป็นในการจัดหายุทโธปกรณ์ใน “สงครามโรคระบาด” เช่นนี้ ทำให้กองทัพดำรงอยู่อย่าง “แปลกแยก” ในสังคมไทยอย่างมาก

และยิ่งนานวัน สถานะความน่าเชื่อถือของทหารในสังคมไทยยิ่งลดลง…

คำแถลงของผู้นำกองทัพกลายเป็นการสื่อสารการเมืองที่ไม่มีสัญญาณตอบรับจากสังคม และบางครั้งนำไปสู่การโต้แย้งอย่างมาก หรือบางครั้งถูกนำมาล้อเล่นอย่างขบขัน

โลกของทหาร?

 

น่าสนใจอย่างมากว่าผู้นำทหารไทยไม่มีชุดความคิดอื่น นอกจากยึดมั่นอยู่กับ “ลัทธิอาวุธนิยม” ที่เชื่อว่า อาวุธเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างในทางทหาร จนแม้สถานการณ์โควิดทวีความรุนแรงขึ้น

ผู้นำกองทัพก็ยังยึดติดอยู่กับความคิดในการซื้ออาวุธ ผู้นำทหารมักสร้างโลกของตัวเองที่เชื่อว่า ประเทศไทยวันนี้กำลังเผชิญกับโจทย์ความมั่นคงที่เป็นเรื่องของ “สงครามระหว่างประเทศ” หรือปัญหา “สงครามภายในประเทศ” จึงจำเป็นต้องเน้นถึง “ความมั่นคงทางทหาร”

แต่ในความเป็นจริง ปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอย่างน่ากังวลคือ “สงครามโรคระบาด” อาวุธสมรรถนะสูงในแบบต่างๆ ที่บรรดาผู้นำทหารถวิลหาจึงไม่มีค่าในสงครามชุดนี้เลย

เหมือนครั้งหนึ่งที่โรคเอดส์เคยทำลายกองทัพในทวีปแอฟริกามาแล้ว… ทหารจำนวนมากไม่ได้ตายในสงคราม แต่ตายจากการติดเชื้อเอชไอวี

สถานการณ์ที่เป็นจริงและชัดเจนในวันนี้คือ ไทยและประเทศต่างๆ ในเวทีโลกล้วนเผชิญภัยคุกคามชุดเดียวกัน คือ “สงครามโรคระบาด” จากไวรัสโควิด-19 ดังนั้น ในสงครามชุดนี้ ทุกประเทศทั่วโลกต้องการอาวุธที่สำคัญที่สุดคือ “วัคซีน”… ประเทศไหนไม่มีวัคซีน ประเทศนั้นล่มสลาย ประเทศไหนมีวัคซีนช้า ประเทศนั้นแพ้

วันนี้ “การแข่งขันวัคซีน” ได้เข้าแทนที่ “การแข่งขันสะสมอาวุธ” ในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงของประเทศ การแสวงหาและเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้คนจะเป็นหนทางสำคัญในการสร้างศักยภาพของประเทศมากกว่าการซื้ออาวุธ และประเทศที่มีแต่คนป่วยจะไม่มีศักยภาพใดเหลือ

ความมั่นคงของประเทศวันนี้ไม่ได้เกิดจากการสะสมอาวุธ บรรดาผู้ที่สมาทาน “ลัทธิอาวุธนิยม” ควรจะตระหนักอย่างมากว่า ปัญหาความมั่นคงไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของภาครัฐในการฟื้นฟูชีวิตของผู้คนในสังคม

ปัญหาจึงไม่ใช่การเตรียมรับภัยสงคราม ที่จะต้องเร่งจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์

อีกทั้งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเองก็ประสบกับปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 และจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูสังคมของตนไม่แตกต่างกัน

ปัญหาความมั่นคงไทยที่ผู้นำทหาร (ทั้งที่กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ) ต้องเรียนรู้อย่างมากคือ ความมั่นคงไทยในยุคโควิดไม่ได้สร้างด้วยการ “ซื้ออาวุธ” การไม่ซื้ออาวุธและใช้งบประมาณให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ เพื่อตอบสนองต่อการฟื้นชีวิตประชาชนในสังคม คือโจทย์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุด…

โลกทางทหารแบบเก่าที่ผู้นำทหารสร้างขึ้นไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงไทยแล้ว!