อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ชนวนเหตุความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นใหม่/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

อิสราเอล-ปาเลสไตน์

ชนวนเหตุความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นใหม่

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการสู้รบกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ในปาเลสไตน์ ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มฮามาสยิงจรวดนับพันลูกเข้าใส่อิสราเอล ซึ่งโจมตีทางอากาศตอบโต้อย่างรุนแรงไม่แพ้กัน

การสู้รบอย่างดุเดือดถูกรายงานผ่านสื่อออกไปทั่วโลก ล่าสุดมีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิตแล้ว 145 ราย ขณะที่ฝั่งอิสราเอลเสียชีวิต 12 ราย

ความขัดแย้งระหว่างในครั้งนี้ต่างจากการกระทบกระทั่งกันหลายครั้งที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นสงครามระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ปาเลสไตน์” แล้ว ยังอาจกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” ในอิสราเอลด้วยก็เป็นได้

ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้นได้ แม้แต่นายทหารระดับสูงของอิสราเอลเองยังยอมรับเมื่อ 2 เดือนก่อนว่า ภัยคุกคามใหญ่ที่สุดของอิสราเอลนั้นคือ “อิหร่าน” หรือ “เลบานอน”

ด้านฉนวนกาซาเอง กลุ่มการเมือง รวมถึงกลุ่มฮามาส ยังคงวุ่นอยู่กับการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 15 ปี ประชาชนชาวปาเลสไตน์ยังพุ่งเป้าความไม่พอใจไปที่เรื่อง “ปากท้อง” และ “ภาวะเศรษฐกิจ” มากกว่าเรื่องการรบราฆ่าฟัน

 

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเปลี่ยนไปใน “วันแรก” ของเดือนรอมฎอน หรือวันที่ 13 เมษายน ที่มัสยิดอัคซา ในเยรูซาเลมตะวันออก เมื่อตำรวจอิสราเอลบุกเข้าไปตัดสัญญาณเสียงสวดมนต์ผ่านลำโพง เหตุเพราะเสียงรบกวน “ริวเวน ริฟลิน” ประธานาธิบดีอิสราเอล ที่กำลังกล่าวสุนทรพจน์ในวันรำลึกถึงทหารผู้สละชีวิตในสงคราม ซึ่งจัดขึ้นในเวลาเดียวกัน ที่อีกฝั่งของกำแพงเยรูซาเลมตะวันตก

ตำรวจอิสราเอลยังคงเดินหน้าต่อด้วยการปิดพื้นที่ “ประตูดามัสกัส” หนึ่งในประตูทางเข้าหลักของเมืองเยรูซาเลมเก่า ที่วัยรุ่นชาวปาเลสไตน์ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์หลังพระอาทิตย์ตกในเดือนรอมฎอน

โดยตำรวจอิสราเอลให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการรวมกลุ่มและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

สร้างความไม่พอใจและเริ่มเกิดกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจถึงความคับแค้นของ “ชาวปาเลสไตน์” ในเยรูซาเลมตะวันออกก็คือ ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่รับสิทธิพลเมืองอิสราเอล ด้วยความคิดที่ว่า หากเข้าร่วมจะเป็นการมอบความชอบธรรมกับอิสราเอลที่เข้ายึดครองพื้นที่ ชาวปาเลสไตน์กลุ่มนี้จึงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง

ขณะที่กฎหมายต่างๆ เช่น การสร้างที่พักอาศัยที่ต้องเป็นพลเมืองชาวอิสราเอลเท่านั้น กดดันให้ชาวปาเลสไตน์ต้องออกจากเมืองไป หรือไม่ก็ต้องสร้างบ้านผิดกฎหมายขึ้น ก็ยิ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์อยู่ด้วยความรู้สึกถูกกดทับเรื่อยมา

ความไม่พอใจส่งผลให้เกิดกลุ่มวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์รวมกลุ่มกันทำร้ายชาวยิว และแน่นอนว่าเกิดกลุ่ม “ชาวยิว” ที่รวมตัวตอบโต้

กลุ่ม “เลฮาวา” กลุ่มชาวยิวขวาจัดสุดโต่งจำนวนหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนในกรุงเยรูซาเลมเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับตะโกนคำขวัญ “ความตายให้พวกอาหรับ” ก่อเหตุทำร้ายร่างกายชาวปาเลสไตน์แบบไม่เลือกหน้า

 

เมื่อเหตุการณ์เริ่มลุกลาม บรรดาผู้นำชาติต่างๆ รวมถึงทูตต่างชาติพยายามแนะนำให้รัฐบาลอิสราเอลเข้าควบคุมสถานการณ์ อย่างน้อยก็ด้วยการเปิดพื้นที่ “ประตูดามัสกัส” อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจแก้ไขในทันที

โดยเฉพาะนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีรักษาการที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล และต้องรวบรวมเก้าอี้โดยเฉพาะจาก ส.ส.ขวาจัดสุดโต่งอย่าง “อิตามาร์ เบน เวอร์” อดีตทนายความกลุ่ม “เลฮาวา” ส.ส.ที่มีแนวนโยบายขับไล่ชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับที่ไม่ภักดีกับอิสราเอล ออกจากประเทศ และยังคงเชิดชูชาวยิวหัวรุนแรงที่สังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์อยู่ด้วย

เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นอีกเมื่อรัฐบาลอิสราเอลใช้กฎหมายขู่ไล่ชาวปาเลสไตน์ 6 ครอบครัวออกจากบ้านในเขต “ชีกห์ จาร์ราห์” ในเยรูซาเลมตะวันออก โดยศาลเตรียมจะตัดสินคดีในวันที่ 10 พฤษภาคม และทั้ง 6 ครอบครัวมีโอกาสที่จะถูกไล่ที่เกือบจะแน่นอน

เหตุการณ์ทั้งหมดนำมาซึ่งความโกรธแค้นของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะคนที่เคยต้องอพยพออกจากบ้านเรือนหลังถูกอิสราเอลเข้ายึดครอง การถูกดขี่มาตลอดชีวิตที่อัดอั้นมานานระเบิดออกมาเป็นการประท้วงและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่

ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในเยรูซาเลมเท่านั้น แต่ในอิสราเอลเองก็เกิดการจลาจลปะทะกันระหว่าง “ชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ” ที่มีประชากรราว 20 เปอร์เซ็นต์ และ “ชาวอิสราเอลเชื้อสายยิว” ด้วย

จนหลายฝ่ายออกมาเตือนว่า อาจบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้

 

29 เมษายน ประธานาธิบดีมามุด อับบาส ของปาเลสไตน์ ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งปาเลสไตน์ เกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น ทำให้กลุ่มฮามาสมองเห็นโอกาสที่จะยกระดับความนิยมขึ้นมาอีกครั้ง

เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นอีกครั้งเมื่อในวันที่ 7 พฤษภาคม ตำรวจอิสราเอลบุกเข้าสลายการชุมนุมที่มัสยิดอัคซาอีกครั้งโดยมีการปะทะเกิดขึ้นนานนับชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน

เหตุการณ์ดังกล่าวในสถานที่ศักดิ์สิทธิของชาวมุสลิมปาเลสไตน์ดูเหมือนจะนำไปสู่ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

นั่นจึงทำให้การตัดสินคดี 6 ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันเดียวกันกับ “วันเยรูซาเลม” ของชาวอิสราเอล เพื่อเฉลิมฉลองการรวมเยรูซาเลมตะวันออกได้ในปี 1967 ถูกประกาศให้เลื่อนออกไป

แต่ฟางเส้นสุดท้ายก็เกิดขึ้นเมื่อตำรวจอิสราเอลบุกเข้าไปยัง “มัสยิดอัคซา” อีกครั้งในช่วงเช้าของวันที่ 10 พฤษภาคม “วันสุดท้าย” ของเดือนรอมฏอน หลังจากชาวปาเลสไตน์สะสมก้อนหินเตรียมพร้อมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มชาวยิวขวาจัด นับเป็นการบุกเข้าสลายชุมนุมชาวปาเลสไตน์เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน

แม้รัฐบาลอิสราเอลตัดสินใจยกเลิกการเดิน “พาเหรด” ของชาวยิวขวาจัดไปยัง “เนินพระวิหาร” ที่ตั้งของมัสยิดอัคซา เพื่อฉลอง “วันเยรูซาเลม” ในนาทีสุดท้าย

แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจที่ช้าเกินไป บ่ายวันเดียวกัน “ขีปนาวุธ” จำนวนมากก็ถูกยิงจากฉนวนกาซา ข้ามชายแดนไปยังอิสราเอล เป็นจุดเริ่มต้นของการสู้รบครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี และยังไม่มีทีท่าจะยุติ