เผยแพร่ |
---|
แม้ทั่วทั้งสังคมกำลังทุกข์ร้อนอยู่กับโรคระบาดรุนแรง แต่สำหรับคนอีกส่วนหนึ่งยังมีอีกความทุกข์ที่ยากลืมเลือน เมื่อย่างเข้าสู่เดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี ย่อมต้องนึกถึงเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 หรือเหตุการณ์ 99 ศพ
ผ่านมาแล้ว 11 ปี แต่คดีความที่จะหาคนรับผิดชอบต่อการปราบปรามประชาชนจนตายร่วมร้อยศพนั้นยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย
ทั้งที่มีพยานหลักฐาน ผ่านทางคลิปวิดีโอ ภาพนิ่งมากมาย เห็นเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้คำสั่ง ศอฉ. เล็งยิง กระหน่ำยิง
แถมผ่านการพิสูจน์ด้วยกระบวนการศาลระดับหนึ่ง โดยการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งศาลได้ชี้ผลการไต่สวนไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยมี 17 ศพที่ชี้ได้ว่าตายด้วยกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้คำสั่ง ศอฉ.
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 6 ศพที่ถูกยิงตายในวัดปทุมวนาราม!”
ศาลได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพ โดยระบุได้ชัดเจนว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าที่บริเวณหน้าวัด และอีกส่วนจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนพื้นราบ ยิงจากหน้าวัด
มีระบุชื่อเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งด้วย โดยเฉพาะบนรางรถไฟฟ้า ที่มีวิดีโอถ่ายเอาไว้ เห็นนาทีกำลังยิงอย่างชัดแจ้ง แถมยืนยิงโดยฝ่ายยิงไม่ต้องก้มหลบแต่อย่างใด บ่งบอกว่าเป็นการยิงฝ่ายเดียว ไม่มีการยิงตอบโต้จากภายในวัดอย่างแน่นอน
แต่ทั้งหมดนี้ แม้แต่คดี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่พยานหลักฐานแน่นหนา มีรายละเอียดครบถ้วน ผลการไต่สวนชันสูตรศพก็มีคำสั่งศาลชี้ชัดว่ายิงโดยเจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ.
กลับไม่สามารถนำคดีขึ้นพิสูจน์หาความจริง หาคนรับผิดชอบได้เลย
เมื่อความเป็นธรรมยังไม่เกิด ฝ่ายที่สูญเสียจะลืมเลือนได้ง่ายๆ หรือ!?!
ที่ยิ่งทำให้ญาติมิตรของคนที่เสียชีวิตอึดอัดคับข้องใจกับความตายดังกล่าวอย่างมาก เพราะนอกจากคดีสังหาร 99 ศพ ยังไม่มีการนำขึ้นสู่ศาล แต่ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงผู้จัดชุมนุมแล้วถูกปราบปราม ต่างโดนดำเนินคดีข้อหาร้ายแรง เดินเข้า-ออกคุกกันเป็นว่าเล่น
อีกส่วนหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่เป็นพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ อันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะต้องพิสูจน์หาความจริงตามพยานหลักฐาน
“กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอ่วมอรทัย”
ตรงกันข้าม สำหรับฝ่ายที่ถูกยิงตาย 99 ศพ คนที่กระทำต่อชีวิตเหล่านี้ กลับไม่มีใครต้องรับผิดชอบ หรือถูกดำเนินคดีอะไรเลย
แล้วใครจะลืมเหตุการณ์นี้ได้
“ครบรอบ 11 ปี ยิ่งเกิดคำถามในใจว่า อะไรคือความเป็นธรรมในประเทศนี้!?”
แต่พร้อมๆ กัน หากค้นหาร่องรอยของกลุ่มอำนาจที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นี้ก็จะยิ่งเห็นภาพรวมของการเมืองไทยในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาได้ชัดเจนขึ้น
เหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 นั้น มีชนวนเริ่มต้นมาจากการพลิกขั้วการเมือง จนทำให้เกิดรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปลายปี 2551
ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายมีการพลิกขั้วการเมือง ผ่านการเจรจาลับภายในค่ายทหาร จนเรียกกันว่าการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ก่อนจะเข้ามาโหวตกันในสภา ทำให้เกิดรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมา
“โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นผู้จัดการรัฐบาล และเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงในเวลาต่อมา ส่วนกลุ่มทหารที่กุมอำนาจในยุคนั้น ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง”
ขณะที่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงแสดงความไม่ยอมรับการตั้งรัฐบาลดังกล่าว ระบุว่ามีที่มาไม่ชอบธรรม พร้อมกับก่อความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์หลายครั้งหลายหน
“จนกระทั่งในเดือนมีนาคม 2553 จึงจัดชุมนุมใหญ่ ตั้งข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภา เนื่องจากเห็นว่าการเจรจาลับและการพลิกขั้วการเมืองไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย จึงต้องการให้คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใหม่”
การชุมนุมเป็นไปอย่างยืดเยื้อ จนกระทั่งรัฐบาลและ ศอฉ.ที่ตั้งขึ้นมาตามประกาศการใช้ภาวะฉุกเฉิน ได้ใช้ข้ออ้างว่า มีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธปะปนอยู่ในที่ชุมนุมเสื้อแดง จึงจำเป็นต้องใช้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ และอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ โดยอ้างว่าเพื่อใช้ป้องกันตัว
จนกระทั่ง 10 เมษายน 2553 เป็นคืนแรกที่มีการปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมอย่างดุเดือด มีเสียงระเบิดถล่มกลางวงเจ้าหน้าที่ทหาร ตามด้วยการใช้กระสุนจริงของฝ่ายเจ้าหน้าที่
“เฉพาะคืนแรกของการนองเลือดในปี 2553 นั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 24 ศพ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 ราย”
จาก 10 เมษายน เหตุการณ์ปะทะยังยืดเยื้อไปอีกกว่าเดือน ฝ่าย ศอฉ.ยังเสริมกำลังหน่วยสไนเปอร์ หรือหน่วยซุ่มยิงระยะไกล เข้ามาปฏิบัติการ ซึ่งมีวิดีโอหลักฐานการส่องยิงผู้ชุมนุมปรากฏชัดเจน นับเป็นปฏิบัติการต่อผู้ชุมนุมที่ผิดปกติและรุนแรงมากที่สุด
จนถึง 19 พฤษภาคม 2553 จึงเข้าสลายการชุมนุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ลงเอยมีคนตายไปทั้งหมด 99 ศพ!
ที่กล่าวว่า การหาร่องรอยเหตุการณ์ปี 2553 ทำให้เห็นภาพรวมการเมืองไทยในรอบ 10 ปีได้ชัดเจนนั้น ต้องเริ่มจากกระบวนการพลิกขั้วการเมือง การเจรจาลับในค่ายทหาร และนำมาสู่การตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปลายปี 2551
“ตัวละครในเหตุการณ์ปลายปี 2551 ทั้งกลุ่มกุมอำนาจในกองทัพและกลุ่มการเมืองที่ร่วมมือกัน ชุดเดียวกันนี้ ยังมีบทบาทร่วมกันในเหตุการณ์สลายเสื้อแดงปี 2553 ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาอำนาจของกลุ่มตนเองเอาไว้ให้ได้”
ต่อมาในปี 2556 ต่อเนื่องถึงปี 2557 การจัดม็อบนกหวีด ชัตดาวน์ ปฏิเสธไม่ยอมรับการยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สร้างวาทกรรมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ยังไม่ยอมให้มีเลือกตั้ง ลงเอยก็นำไปสู่การรัฐประหาร คสช. และการยึดอำนาจล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์และประชาธิปไตยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
“ทั้งหมดก็ตัวละครชุดเดิม จาก 2551 ถึง 2553 และ 2557 ชุดเดียวกันทั้งสิ้น แล้วอำนาจของกลุ่มเดียวกันนั้นก็ยังดำรงอยู่ในรัฐบาลขณะนี้!!”
กล่าวกันว่า การที่ยังไม่ยอมให้มีเลือกตั้งในปี 2557 แต่ต้องการให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ลงเอยก็คือการรัฐประหาร
“ปมประเด็นที่สอดแทรกอยู่ในกระบวนการเหล่านี้ก็คือคดี 99 ศพ ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ”
หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553
ฝ่าย ศอฉ.กล่าวอ้างว่า มีกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธร้ายแรง ลงมือสังหารเจ้าหน้าที่ทหารก่อน จากนั้นชายชุดดำก็ยังสร้างสถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรงจนมีคนตายถึงกว่า 20 ศพ
แต่ในนาทีที่กำลังปะทะกันดุเดือด เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งใน ศอฉ.เองก็ต้องแปลกใจอย่างมาก เพราะขณะที่ปืนดังระงม คนล้มตายจำนวนมาก ทำให้ประเมินว่า เสื้อแดงกำลังจุดไฟจลาจลสำเร็จ คาดว่าจะต้องขยายวง บุกเผาสถานที่ราชการต่างๆ เพิ่มแน่นอน
“แต่แล้วแกนนำเสื้อแดงนั่นเองที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้หยุดความรุนแรง ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างถอย และขอตัวแทนรัฐบาลมาเจรจาด่วน!?!”
แทนที่แกนนำเสื้อแดงจะยิ่งโหมไฟ เอาศพคนตายมาแห่ แล้วปลุกให้ลุกฮือ
มีการยิง มีคนตาย เข้าทางเสื้อแดงเต็มๆ มีแต่ต้องยกระดับไปสู่การจลาจลใหญ่ โค่นรัฐบาล
กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ทำเอาเจ้าหน้าที่ใน ศอฉ.เองยังต้องมึนงงสงสัยว่า อย่างนี้กลุ่มเสื้อแดงจะมีแผนสร้างความรุนแรงได้อย่างไร!?