ยานยนต์ สุดสัปดาห์/จาก “ญี่ปุ่น” ถึง “เซี่ยงไฮ้” ตามรอยวิถีฮอนด้า “2030” (2)

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

จาก “ญี่ปุ่น” ถึง “เซี่ยงไฮ้” ตามรอยวิถีฮอนด้า “2030” (2)

หลังทดสอบรถยนต์ “ฮอนด้า เลเจนด์” ที่มีระบบขับขี่อัตโนมัติบนทางไฮเวย์ หรือถนนใหญ่ ก็ถึงคิวทดลองนั่ง “ฮอนด้า แอคคอร์ด” ที่ติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติในเมือง

ผมใช้คำว่าทดลองนั่งเนื่องจากคันนี้มีเจ้าหน้าที่ของฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี เป็นผู้ควบคุม ให้ผู้สื่อข่าวนั่งคู่ไปด้วย พร้อมอธิบายการทำงานของระบบอัตโนมัติ

อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ฉบับที่แล้วว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติในเมืองนั้นซับซ้อนและมีเงื่อนไขมากกว่าระบบขับขี่อัตโนมัติบนทางไฮเวย์หลายขุม

รถยนต์ที่ฮอนด้า นำมาเป็นต้นแบบคือ “แอคคอร์ด” ที่คนไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดี

เป้าหมายของฮอนด้า เกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติ ต้องการลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งนำความสูญเสียให้น้อยลง

รวมถึงพยายามแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักกว่า 90% ของอุบัติเหตุทั้งหมด

เหนือสิ่งอื่นใด ฮอนด้ามองว่าต้องการให้ผู้ขับขี่มั่นใจในระบบการขับขี่อัตโนมัติอย่างเต็มที่ พัฒนาระบบที่สามารถคำนวณความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ รวมถึงคำนวณเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นบนท้องถนนโดยรอบที่มีความซับซ้อน และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย

รวมทั้งพยายามยับยั้งสาเหตุของสถานการณ์ที่อันตรายด้วยเช่นกัน

ระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่ติดตั้งในแอคคอร์ดนอกจากมีคล้ายๆ กับรุ่นที่ขับขี่บนไฮเวย์ หรือถนนใหญ่แล้ว ยังมีระบบ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” ซึ่งวิศวกรฮอนด้า ใส่ข้อมูลต่างๆ ลงไปจำนวนมาก เพื่อให้สมองกลสามารถแยกแยะลักษณะของคน สิ่งของ และอื่นๆ

ไม่เพียงเท่านั้นเอไอ ในระบบขับขี่อัตโนมัติในเมืองนี้ยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ได้เองด้วย

เนื่องจากต่อให้วิศวกรจะคำนวณได้แม่นยำขนาดไหน แต่การขับขี่ในเมืองมีตัวแปรมากเกินไป จึงต้องให้สมองกลสามารถเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย

จากการพูดคุยกับผู้บริหารและวิศวกรฮอนด้า ใส่ข้อมูลเบื้องต้นไปค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับคนเดินถนน โดยจะจับใบหน้า อาศา-ความเร็วการเดิน แนวโน้มต่างๆ ฯลฯ

ยิ่งปัจจุบันเป็นยุค “สังคมก้มหน้า” จึงเกิดความเสี่ยงสูงที่คนจะก้มหน้าก้มตาเดินเล่นโทรศัพท์มือถือโดยไม่ทันระวังรถ

ในรถติดตั้งกล้องหลักๆ 3 ตัวที่บริเวณกระจกหน้า ทำหน้าที่คำนวณช่องจราจรทั้งด้านหน้า ซ้าย และขวา ในการเบรกและเลี้ยวให้ถูกช่องทางมากที่สุด

เชื่อมกับระบบแผนที่จากระบบเซิร์ฟเวอร์ผ่านกล่องระบบโทรคมนาคม (Telecommunications Units) และระบบจะทำการประมวลข้อมูลที่ได้รับมาร่วมกับการระบุตำแหน่งจาก Multi-GNSS-ANT เพื่อการระบุตำแหน่งที่แม่นยำมากขึ้น

ทำงานคู่กับเซ็นเซอร์ 2 ระบบประสานกัน ประกอบด้วย กล้องกับเรดาร์ และกล้องกับ LiDAR ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบุตำแหน่งบนท้องถนนและสิ่งกีดขวาง

ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำมารวมกัน และ ECU หลักจะคำนวณหาเส้นทางไปยังจุดมุ่งหมายที่เหมาะสมที่สุด

ถึงเวลาเริ่มการทดสอบ วิศวกรฮอนด้า ทำหน้าที่ขับขี่โดยผมนั่งคู่ไปตอนหน้าเพื่อดูการทำงาน มีจอแสดงผลอยู่คอนโซลกลาง แสดงภาพจากกล้องมุมต่างๆ

หลังจากกดปุ่มทำงานอัตโนมัติจะเห็นเส้นคู่ 2 เส้นระหว่างข้างทางกับเส้นแบ่งเลนกลางถนน โดยรถจะขับไปตามเลนดังกล่าว

เมื่อมาถึงทางแยกกล้องอีกตัวจะจับภาพทั้งเส้นทึบบนถนน หรือแสดงให้เห็นว่ามาถึงแยกแล้วรถจะค่อยๆ เบรก จนเมื่อปลอดภัยแล้วรถจะเคลื่อนตัวไปทางซ้าย หรือขวา ตามที่เรากำหนดเส้นทางเอาไว้

อย่างไรก็ตาม การนั่งทดสอบครั้งนี้ทำขึ้นในศูนย์ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี ที่มีตัวแปรค่อนข้างน้อย

แต่ทางผู้บริหารและวิศวกรฮอนด้า ยืนยันว่าระบบตรวจจับภาพของกล้องและเรดาห์ติดรถในระบบขับขี่อัตโนมัติในเมืองนั้น แม่นยำและมีความปลอดภัยสูง สามารถจับภาพคนหรือรถจักรยานในที่มืดได้ดีกว่าสายตาคนด้วยซ้ำ

รวมไปถึงสามารถคำนวณเลนขึ้นมาเองได้ ในกรณีที่ขับไปบนถนนที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน

ด้วยความที่ระบบขับขี่ในเมืองนั้นซับซ้อนกว่าค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องใช้เวลาพัฒนตาอีกพักใหญ่

ฮอนด้าคาดว่าจะติดตั้งในรถได้ภายในปี ค.ศ.2025 หรือหลังจากระบบขับขี่อัตโนมัติบนไฮเวย์เริ่มใช้ราวๆ 5 ปี

ปิดท้ายการทดสอบรถรุ่นต่างๆ ในงาน Honda Meeting 2017 ที่เมืองโตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยรถรุ่น “คลาริตี้” (Clarity)

“คลาริตี้” เป็นเก๋งขนาดกลางที่ขายในอเมริกา ถือเป็นรุ่นประวัติศาสตร์ของฮอนด้า เพราะใช้เครื่องยนต์ “ไฮโดรเจน” หรือ “ฟิวเซล” (Fuel cell) วางตลาดด้วยวีธีเช่าซื้อ

“คลาริตี้” ยังวางขายในญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากที่นี่ให้ความสำคัญกับพลังงานไฮโดรเจน

การทดสอบในทริปนี้ได้ลองทั้ง 3 เครื่องยนต์ คือนอกจากไฮโดรเจน แล้วยังมีเครื่องยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ “อีวี” และปลั๊กอินไฮบริด

2 รุ่นหลังคาดว่าจะวางจำหน่ายปลายปีนี้

การทดสอบทางฮอนด้า ทำสนามจำลองขึ้นมามีทั้งทางโค้ง และทางตรงให้ซัดยาวๆ

แม้จะขับแค่รุ่นละ 1 รอบ แต่ทางยาวสามารถกดได้มิดคันเร่ง ทำความเร็วสูงสุดราวๆ 150 ก.ม./ชั่วโมง ในรถพลังงานไฟฟ้า

ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ใกล้เคียงกัน ขณะที่ปลั๊กอินไฮบริด มีอัตราเร่งตีนต้นด้อยสุดในทั้ง 3 เครื่องยนต์

แต่บอกก่อนว่าความเร็ว 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังไม่สุดนะครับ เพียงแต่ทางตรงหมดเสียก่อน

สำหรับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ถือว่าทำได้แรงเกินตัว

เครื่องยนต์ทั้ง 3 แบบนี้ล่ะครับจะเป็นอนาคคตของฮอนด้า ตามวิสัยทัศน์ “2030” ซึ่งฮอนด้าตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ.2030 รถฮอนด้าที่ผลิตออกมาจำนวน 2 ใน 3 จะเป็นพลังงานสะอาดเหล่านี้

สัปดาห์หน้าพบกับตอนจบ ซึ่งผมบินจากญี่ปุ่นไปยังนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมงาน “ซีอีเอส เอเชีย 2017” (CES ASIA – Consumer Electronics Show ASIA 2017) แสดงความไฮเทคของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

“ฮอนด้า” ขนรถต้นแบบตัวเด็ดๆ ไปอวดโฉม ไม่ว่าเป็นต้นแบบรถไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ, รถจักรยานยนต์ที่ไม่ล้ม หรือพาหนะส่วนบุคคลรุ่นใหม่ ที่บังคับด้วยการยกตัว และตั้งโปรแกรมให้เคลื่อนไปด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ