ธงทอง จันทรางศุ | ประชาชน “พร้อม”

ธงทอง จันทรางศุ

บันทึกไว้ในหน้ากระดาษแผ่นนี้ว่า กลางเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2564 หัวข้อสนทนาของคนไทยนับแสนนับล้านคนไม่พ้นไปจากคำถามว่า จะฉีดวัคซีนไหม และจะได้ฉีดเมื่อไหร่กันแน่

เท่าที่สังเกตจากหมู่เพื่อนฝูงซึ่งไม่มีโอกาสได้พบหน้ากันสม่ำเสมอแบบดั้งเดิมอีกแล้ว แต่ต้องสื่อสารผ่านระบบเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ใช้ LINE หรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นประโยชน์ เพื่อนของผมส่วนใหญ่ผู้มีอายุเกินหกสิบปีแล้วทั้งนั้น

สิบกว่าวันที่ผ่านมา ไม่มีหัวข้อสนทนาไหนท็อปฮิตไปกว่า แต่ละคนจะได้คิวฉีดวัคซีนวันที่เท่าไหร่ และฉีดที่ไหน

ใครได้ก่อนได้หลังเชือดเฉือนกันวันสองวันก็คุยฟุ้งไปสามบ้านแปดบ้าน

แต่ก็มีบ้างเหมือนกันครับที่ยังอยู่ในจำพวกลังเล เพราะฟังข่าวสารที่ระดมส่งกันมาจากสารพัดทิศทาง

เมื่อฟังแล้วทำให้เกิดความลังเลสงสัยว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 คราวนี้จะมีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไร

วัคซีนแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิภาพดีจริงแค่ไหน

ฟังทางโน้นทีฟังทางนี้ที ได้ข้อสรุปว่าเป็นโรคประสาทเสียแล้วก่อนติดเชื้อโควิด ฮา!

ผมมานึกย้อนหลังว่าในชีวิตของตัวเองรู้จักกับเรื่องของการฉีดวัคซีนหรืออะไรทำนองนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว

วัคซีนชนิดแรกที่ผมนึกออกว่ามาตอแยกับผมคือเรื่องของการปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ

ยุคนั้นผมยังเป็นละอ่อนน้อยเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมที่โรงเรียนสวนบัวตรงซอยราชครู ทุกปีจะมีคุณหมอหรือพยาบาลผมไม่แน่ใจนักมาปลูกฝีให้นักเรียนทุกคน

วิธีการคือเอาเข็มเล็กๆ มาจิ้มที่ต้นแขนของเราสามสี่ครั้ง

แล้วเอาอะไรก็ไม่รู้มาป้ายลงไปที่ตรงรอยเข็มนั้น

ผ่านไปสาม-สี่วัน ตรงตำแหน่งนั้นเองก็จะมีอาการคล้ายฝีเม็ดเล็กเกิดขึ้น

จำได้เลือนรางว่ารู้สึกคันยิบๆ แม่ห้ามเด็ดขาดไม่ให้เกา

เลยต้องคันอยู่ในหัวใจอย่างนั้นไปอีกวันสองวัน สถานการณ์จึงคลี่คลาย

แผลสดหายแล้วยังมีร่องรอยแผลเป็นเหลืออยู่ที่ต้นแขนนิดหน่อย เป็นอาภรณ์ประดับร่างไปตลอดชีวิต

เด็กรุ่นเดียวกันกับผมต้องผ่านพบประสบการณ์อย่างนี้มาเหมือนกันทุกคน แล้วอยู่ดีๆ โรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษนี้ก็ปลาสนาการไป

ผมไม่เห็นว่าเด็กสมัยนี้ต้องปลูกฝีเหมือนผมอีกต่อไปแล้ว

ขณะที่ตัวผมเองกลับก็ต้องไปฉีดวัคซีนชนิดใหม่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาและความก้าวหน้าทางการแพทย์

วัคซีนที่ต้องฉีดเป็นประจำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหวัดสายพันธุ์ต่างๆ

ซึ่งสำหรับคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ระดับงูๆ ปลาๆ แบบผม เขาบอกว่าป้องกันได้สามสายพันธุ์หรือสี่สายพันธุ์

ผมก็เชื่อหมดไม่โต้เถียงอะไร

ฉีดเป็นฉีดสิน่า

มาถึงวันนี้ โรคโควิด-19 เป็นมหันตภัยใหญ่โตของมนุษยชาติ จากจุดเริ่มต้นเมื่อปลายปีพุทธศักราช 2562 เวลานั้นยังไม่มีวัคซีนอะไรสักอย่างที่ช่วยป้องกันภัยจากโรคนี้ได้

ผ่านไปปีครึ่ง มนุษย์ได้ระดมสติปัญญาสร้างวัคซีนหลายยี่ห้อขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

วัคซีนหลายยี่ห้อนี้ก็ชวนให้มึนงงอยู่เหมือนกันนะครับ

ความรู้ที่จะผลิตวัคซีนขึ้นเพื่อต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บนี้แน่นอนว่าเป็นความคิดที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเริ่มต้นขึ้นในซีกโลกตะวันตก

ผู้สันทัดกรณีเล่าให้ผมฟังว่า วัคซีนชนิดแรกก็เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษที่ผมได้ปลูกฝีมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กนั่นแหละครับ

แต่น่ามหัศจรรย์ใจว่าความรู้นี้ได้ประกายความคิดมาจากแอฟริกาครับ

ถอยหลังไปหลายร้อยปี ในสมัยที่การค้าทาสยังเป็นเรื่องที่ทำมาหากินกันอย่างหน้าชื่นตาบานโดยไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดหรือความชั่วร้ายอะไร

การไปซื้อหาทาสจากตลาดค้าทาสที่แอฟริกาเพื่อมาใช้แรงงานในประเทศที่ขาดแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ทาสที่ไปซื้อมาจากแอฟริกามักมีรอยแผลเป็นขนาดเล็กที่เกิดจากตุ่มฝีที่แห้งแล้วอยู่บนร่างกาย โดยเป็นความรู้ท้องถิ่นที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในแอฟริกาและในบางประเทศเช่นตุรกี ด้วยวิธีนำของเหลวที่ได้จากฝีของคนเป็นโรคไข้ทรพิษ มาหยอดใส่แผลขนาดเล็กที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจบนร่างกายของคนปกติ

ถึงแม้จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นบ้างชั่วขณะ แต่ถ้ารอดมาได้ก็จะทำให้ไม่ป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษอีกจนตลอดชีวิต

ฝรั่งเห็นแล้วก็นึกสงสัยเป็นกำลังว่า นี่มันอะไรหว่า

จนกระทั่งถึงปีคริสต์ศักราช 1721 ที่เมืองบอสตัน เกิดไข้ทรพิษระบาดหนัก มีคนเจ็บคนตายจำนวนมาก ทำให้มีคนกล้าคิดนอกกรอบสองคน คนหนึ่งเป็นหมอสอนศาสนา ชื่อ Cotton Mather เห็นทาสชาวแอฟริกา ไม่ป่วยเป็นไข้ทรพิษ เลยถามไถ่ดูทำให้ทราบวิถีปฏิบัติของคนแอฟริกาดังที่ว่ามาข้างต้น

กับหมออีกคนหนึ่ง ชื่อ Zabdiel Boylston แกเองเคยทดลองปลูกฝีกับตัวเองมาแล้ว แม้เกือบเอาชีวิตไม่รอดแต่ก็รอดมาได้

ทั้งสองแรงแข็งขันจึงช่วยกันพยายามทดลองปลูกฝีกับคนในบอสตันดูบ้างและเก็บข้อมูลไว้เพื่อค้นคว้าวิจัยต่อไป

จากการทดลองคราวนั้น พบว่าปลูกฝีให้คนไป 180 กว่าราย มีคนตายโดยเฉลี่ยเพราะการนั้นอยู่ที่อัตราประมาณร้อยละ 2 ซึ่งก็ยังต่ำกว่าอัตราการตายจากการติดเชื้อซึ่งมีตัวเลขที่อยู่ประมาณร้อยละ 10 ขณะเดียวกันกับที่อัตราการติดเชื้อสูงมีถึงร้อยละ 60

สมมุติตัวเลขให้เข้าใจง่ายๆ ว่าอย่างนี้ครับ ถ้าประชากรบอสตันมีจำนวน 1,000 คน ในจำนวนนี้จะต้องติดเชื้อมากถึง 600 คน และจะต้องมีคนตายจำนวน 60 คน

แต่ถ้าประชากรทั้ง 1,000 คนนี้ได้ปลูกฝีตามวิธีการที่ว่าแล้วครบทุกคน จะมีคนตายเพียงแค่ 20 คน

ผมพูดมาแค่นี้ทุกคนคงโวยวายกันใหญ่ว่าแม้จำนวน 20 คนที่ต้องตายไปเมื่อปีคริสต์ศักราช 1721 จะฟังดูสมเหตุสมผลสำหรับเวลานั้น

แต่ถ้าจะใช้ตัวเลขค่าเฉลี่ยนี้ในปีปัจจุบัน คือปีคริสต์ศักราช 2021 คงไม่มีใครรับได้เป็นแน่

ถูกแล้วครับ นั่นเป็นตัวเลขเมื่อ 300 ปีก่อนพอดิบพอดี

แต่จากวันแรกที่มีการใช้แนวคิดนี้ขึ้นมาป้องกันโรคไข้ทรพิษ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้เดินหน้าไปอีกยาวไกล

เช่น แทนที่จะใช้เชื้อจากร่างกายมนุษย์ ก็เปลี่ยนไปใช้วิธีเพาะเชื้อจากวัวแทน

รวมตลอดถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การปลูกฝีไม่มีความเสี่ยงอีกต่อไป และทำให้โรคไข้ทรพิษกลายเป็นเพียงเรื่องราวในตำนานเท่านั้น

และเป็นต้นทางของความรู้ที่ได้มีการสร้างและพัฒนาวัคซีนขึ้นมาอีกมากมายหลายอย่างเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้กับมนุษย์ในเวลาต่อมา

กลับมาพูดถึงเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิดซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันของเรากันบ้าง

ผมถึงแม้ไม่ใช่มดหมออะไรแต่ก็ตระหนักดีว่า พวกเราหลายคนมีความกังวลห่วงใยกับเรื่องของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนยี่ห้อต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นในร่างกาย ชะดีชะร้ายจะตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้

ผมไม่อยู่ในสถานะฉลาดรอบรู้จะไปแนะนำใครได้ ในที่นี้จึงจะขอเล่าแต่เพียงว่าผมคิดอะไรไว้ในใจ และผมตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องแบบนี้

ผมพออนุมานได้ว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 นี้จะยังไม่เหือดหายสร่างซาไปในเวลาอันใกล้ เห็นจะต้องอยู่กับเราไปอีกแรมปีครับ สำหรับคนที่อายุอานามอย่างผมแล้วสักวันหนึ่งโอกาสที่ผมจะต้องไปติดเชื้อโรคนี้มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ย่อมมีความเป็นไปได้มาก และไม่รู้จะหลบหนีอย่างไรจึงจะหลีกพ้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เสียด้วย สักวันหนึ่งถ้าพลาดท่าเสียทีเข้าไป พูดแบบโบราณก็ต้องบอกว่า

ถ้าไม่ตายก็คางเหลืองล่ะครับ

และไม่ว่าจะตายหรือไม่ตาย ทุกขั้นตอนก่อนตายหรือก่อนรอดล้วนเป็นเรื่องของความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวดและเป็นความเจ็บปวดของหัวใจเจ้าตัวเองและคนใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็มีเพิ่มมากขึ้นทุกวันอย่างมีนัยยะสำคัญ

ขณะที่ผลข้างเคียงที่เกิดมีขึ้นจากการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้ออะไรก็ตาม ถึงแม้เป็นข่าวคราวที่ผมได้ยินอยู่บ้าง แต่เมื่อเปรียบความรุนแรงของความทุกข์ทรมาน และค่าเฉลี่ยทางสถิติที่มีโอกาสเกิดขึ้นเปรียบกันกับโอกาสที่ผมจะต้องติดโรคโควิด-19 และอาจต้องเสียชีวิตแล้ว ผมก็คิดอ่านตามสติปัญญาอันน้อยของผมว่า ถ้ามีโอกาสผมเลือกที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยไม่ลังเลใจครับ

ผมเข้าใจดีว่าหลายท่านมองเห็นว่าภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนนั้น เป็นผลที่อาจเกิดขึ้นใกล้ตัว มองเห็นได้ทนโท่ ขณะที่ภัยอันอาจเกิดขึ้นจากการติดโรคโควิด-19 เป็นภัยไกลตัว มองไม่เห็นถนัด เพราะเรา “อาจจะโชคดี” ไม่ติดโรคร้ายกาจที่ว่านี้ก็ได้

แต่จนถึงวันนี้มีคนที่ “อาจจะโชคไม่ดี” ทั่วโลกไปกี่สิบกี่ร้อยล้านแล้วก็ไม่รู้

แบบนี้เราก็ต้องลองชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบดูครับ ว่าแต่ละคนจะตัดสินใจอย่างไร ผมเคารพทุกการตัดสินใจและหวังว่าทุกท่านจะตัดสินใจเลือกได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน

ข้อสำคัญเหนือกว่านั้นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งคือ ถ้าพวกเราชาวไทยเลือกจะฉีดวัคซีนแล้ว ขอให้รัฐบาลจัดวัคซีนมาให้เพียงพอและทันต่อเวลาเถิด

ต้องให้กราบกันแบบที่ท่านรัฐมนตรีบอกว่าจะไปกราบขอซื้อวัคซีนมาจากบริษัทผู้ผลิตหรือไม่อย่างไร ก็บอกกันมาให้ละเอียด ชาวบ้านจะได้เตรียมตัวไว้ให้ทะมัดทะแมง

บอกผ่านแอพพลิเคชั่น “ประชาชนพร้อม” มาก็ได้คร้าบ