หลังโควิด-19 : โลกล่มสลายหรือโลกใบใหม่?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

หลังโควิด-19

: โลกล่มสลายหรือโลกใบใหม่?

 

ขณะนั่งใคร่ครวญว่าไทยเราจะฝ่าข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยความเจ็บปวดน้อยที่สุดอย่างไร ผมก็เริ่มมองไปข้างหน้า…หลังโควิดแล้วสังคมไทยจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร

คำถามนี้อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะถ้าถามว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็แปลว่าเราจะปล่อยไปตามยถากรรม คือยอมให้ปัจจัยรอบด้านมาเปลี่ยนเรา

จึงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า “โควิดทำให้เราต้องเปลี่ยนสังคมไทยในทุกๆ ด้านอย่างไร”

เป็นโจทย์ยักษ์ที่ต้องหาคำตอบกันขนานใหญ่ และเป็นงานท้าทายที่ต้องคิดกันให้ครอบทุกมิติ

เพราะวิกฤตระดับโลกหลังโควิดครั้งนี้อาจจะมีวิกฤตระดับสากลหรือระดับภูมิภาคที่เราต้องเผชิญอีก

เช่น วิกฤตโลกร้อน

วิกฤตสงครามไซเบอร์

หรือวิกฤตโรคระบาดที่มาในรูปเชื้อโรคอื่นๆ ที่คาดไม่ถึง

 

ก่อนจะนั่งใคร่ครวญถึงหัวข้อ “ประเทศไทยหลังโควิด” ผมไปค้นดูว่า “ผู้รู้” ในวงการระหว่างประเทศเขาวิเคราะห์และมีข้อเสนอว่าโลกจะเปลี่ยนไปเพราะวิกฤตโควิดอย่างไร

ในกรณีนี้ ก่อนเราจะคิดหาสูตรสำหรับประเทศไทยต้องค้นหาแนวทางระดับโลกก่อน

เพราะการระบาดของโควิดครั้งนี้มีผลกระทบไปทั่วโลก และเพราะมันเขย่าทุกผู้ทุกคนบนโลกใบนี้ การคิดถึงทางรอดของไทยจึงต้องโยงกับทางรอดของโลก

นักวิเคราะห์หลายประเทศเห็นตรงกันว่าก่อนหน้าที่โควิด-19 จะอาละวาดไปทั่วโลกนั้น สิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลก” ก็ตกอยู่ในภาวะที่ง่อนแง่นและเปราะบางอยู่แล้ว

แต่โควิด-19 มาเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับสากลอย่างมีนัยสำคัญ

ว่ากันในแง่ของ “ภูมิรัฐศาสตร์” ระดับนานาชาติแล้ว โควิดจะมาเร่งปฏิกิริยาของแนวโน้ม “ต่อต้านโลกาภิวัตน์” ที่เรียกว่า deglobalization

 

กระแสแห่ง “โลกาภิวัตน์” ถูกตั้งคำถามในหลายวงการ และถูกตอกย้ำด้วยแนวโน้มของหลายประเทศที่ไม่ยอมรับแนวทางนี้เพราะคนบางกลุ่มได้ประโยชน์มหาศาล แต่คนอีกหลายกลุ่มกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการ globalization

พอเกิดวิกฤตโควิด และห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain กับระบบการขนส่งหรือ logistics ถูกโรคระบาดตัดงานเป็นช่วงๆ แต่ละประเทศก็เริ่มคิดถึง “ความอยู่รอด” ของตัวเองเป็นหลัก

ยิ่งเมื่อต้องแก่งแย่งวัคซีนที่มีจำนวนจำกัดเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสตัวนี้ภายในเฉพาะหน้า กระแส “ตัวใครตัวมัน” ก็มาทดแทน “โลกาภิวัตน์” ขึ้นมาทันที

กระแส “ชาตินิยม” และ “ประเทศฉันต้องมาก่อน” กลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศที่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและธุรกิจทั้งหลายอย่างกะทันหัน

คำว่า “ระบบ logistics ระดับโลก” ถูกย่อเป็น “การเชื่อมต่อระดับภูมิภาค”

 

ความล้มเหลวของสหรัฐและยุโรปในช่วงการระบาดของโควิดในช่วงแรกทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการประเมินว่าระบอบการเมืองแบบ “เสรีนิยมแบบตะวันตก” ที่ยกเอาสิทธิเสรีภาพส่วนตัวเหนือความมั่นคงของสังคมส่วนรวมนั้นสามารถจะต่อสู้กับภัยระดับโลกเช่นโรคระบาดอย่างโควิดหรือไม่

นักวิเคราะห์บางสำนักถกแถลงในประเด็นที่ว่าระบอบการเมืองอาจจะไม่ใช่ตัวตัดสินว่ามีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับภัยระดับโลกได้หรือไม่

เพราะบางประเทศที่มีระบบการเมืองรวมศูนย์ก็ล้มเหลว ขณะที่ชาติเสรีนิยมหลายประเทศก็ทำได้สำเร็จในการเผชิญหน้ากับโควิด-19

แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือภัยคุกคามโลกที่มาในรูปโคโรนาไวรัสตัวนี้ได้เห็นการเติบใหญ่ของจีนในฐานะเป็นดาวเด่นในด้านการบริหารวิกฤตครั้งนี้

นักวิเคราะห์บางคนอ้างว่าที่จีนจัดการกับโควิดได้รวดเร็วและขึงขังกว่าสหรัฐก็เป็นเพราะมีระบบการปกครองรวมศูนย์ที่สามารถกำหนด, ตัดสินและสั่งการนโยบายให้ประชาชนต้องทำตามมาตรการที่เข้มข้นถึงขั้น “ปิดบ้านปิดเมือง” ได้รวดเร็วทันการ

ขณะที่ในหลายประเทศทางตะวันตกนั้นระบบการเมืองแบบ “เสรีนิยม” ไม่อนุญาตให้ผู้นำทางการเมืองดำเนินนโยบายแบบฉับพลัน, เด็ดขาดและรวบรัดได้

ตัวอย่างกรณีการสั่งให้สวมหน้ากากหรือจะฉีดวัคซีนหรือไม่

นี่ไม่ใช่ประเด็นในบางประเทศที่บริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่เป็นเรื่องเป็นราวที่สร้างความแตกแยกระหว่างรัฐบาลกับประชาชนบางส่วนจนกลายเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าจัดการกับวิกฤตโรคระบาด

หรือในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ “ระบบการปกครอง” หากแต่หัวใจของความสำเร็จอยู่ที่ “วินัย” ของสังคมนั้นๆ ในการเผชิญภัยคุกคามร่วมกัน

เพราะ “ประชาธิปไตย” ที่มีประสิทธิภาพย่อมจะต้องมี “วินัย” แต่ต้องเป็น “วินัย” ที่เห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่ในชาติ มิใช่ “วินัย” ที่ถูกสั่งมาจากข้างบน

ข้อถกเถียงประเด็นนี้จะยังไม่มีข้อสรุปง่ายๆ ตราบเท่าที่ฝุ่นยังไม่หายตลบ

และการจะตกผลึกในเรื่องนี้ได้จริงๆ อาจจะต้องรอให้พายุร้ายนี้ผ่านพ้นไปแล้วระยะหนึ่ง

 

แต่ที่ไม่เป็นข้อถกแถลงกันมากนักคือโควิด-19 จะทิ้งบาดแผลสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้ก่อนโรคระบาดที่ผ่อนเบาลง เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะถาวรในวิถีชีวิตของมนุษยชาติแล้ว

จากนี้ไปการ “ตรวจหาไวรัส” สำหรับผู้คนก็จะกลายเป็นกิจกรรมปกติ

ทำนองเดียวกับการตรวจค้นคนเดินทางไปมาหาสู่กันด้านความปลอดภัยหลังเหตุการณ์ช็อกโลก 9/11

ทั้งโลกจะต้องปรึกษาหารือการสร้างระบบเพื่อป้องกันการระบาดของโรคครั้งใหม่

เพราะหากไม่มีระบบด้านสาธารณสุขเพื่อตรวจจับสัญญาณก่อนการระบาดของโรคร้ายครั้งใหม่ เศรษฐกิจโลกก็ไม่อาจจะถือว่าอยู่ใน “เขตปลอดภัย” ได้อีกต่อไป

ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเช่นกันที่โควิด-19 กลายเป็น “ตัวเร่ง” ให้เกิดการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โลกดิจิตอลที่เรียกว่า Digital Transformation

ในแง่นี้ ต้องถือว่าโควิด-19 ได้สร้างคุณูปการสำคัญในการกดดันบังคับให้หลายประเทศ (โดยเฉพาะประเทศไทย) ถูกผลักไสให้เข้าสู่การปรับตัวด้วยระบบดิจิตอล

ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

ความลังเลและข้ออ้างเดิมๆ ของหลายภาคส่วนของสังคมที่ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยียุคใหม่หายวับไปต่อหน้าต่อตาชั่วข้ามคืนเมื่อถูกโควิด-19 บังคับให้ทำงานที่บ้านและทำกิจกรรมหลายอย่างผ่านระบบออนไลน์

ที่เคยอ้างว่า “ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ยากเกินไป ทำไมฉันต้องทำด้วย” อันตรธานหายไปต่อหน้าต่อตา

เพราะสัญชาตญาณความอยู่รอดของมนุษย์ถูกนำมาใช้อย่างฉับพลันทันที

 

หลายคนอาจจะเถียงว่าหากโควิดผ่านพ้นไป คนไทยก็คงกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ความกระตือรือร้นเกี่ยวกับการดำรงชีวิตแบบ Digital life ก็จะหายไปด้วยเพราะขาดแรงกดดัน

ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น

เพราะการที่คนไทยจำนวนไม่น้อยได้ลิ้มลองรสชาติของความสะดวก, ประสิทธิภาพและความคล่องตัวของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันแล้วก็จะตระหนักว่าชีวิตไม่อาจจะกลับไปสู่ระบบอะนาล็อกเดิมได้อีก

การทำงานนอกที่ทำงานหรือ Remote Work จะกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตผู้คนหลังวิกฤตโควิด

การที่โควิด-19 ยืดยาวกว่าที่ควรจะเป็นอาจจะมีผลทางอ้อมที่จะทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีนั้นพลิกกลับไปสู่แบบดั้งเดิมได้ยากขึ้น

วิกฤตโควิดทำให้กระแสการใช้ e-commerce, telemedicine, videoconferencing, online teaching และ fintech พุ่งพรวดพราด

และไม่เฉพาะในหมู่คนวัยรุ่นและวัยทำงานเท่านั้น หากแต่ยังทำให้คนสูงวัยรวมถึง baby-boomers ที่มีอายุเกิน 55 ก็ยังเห็นประโยชน์และความคล่องแคล่วของชีวิตดิจิตอลอย่างชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย

ธุรกิจที่ได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดจากระบบขนส่งและสื่อสารที่ถูกโควิดตัดขาดก็จะต้องเริ่มปรับแผน

โลกหลังโควิดจะร่วมมือกันมากขึ้นหรือปริแยกในลักษณะ “ตัวใครตัวมัน” เป็นโจทย์ใหญ่ที่ยังต้องพิเคราะห์

จะเป็นการล่มสลายของโลกใบนี้หรือเป็นการสร้างโลกใบใหม่?