เมื่อสื่อถูกคุกคาม ในความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และความท้าทาย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

เมื่อสื่อถูกคุกคาม

ในความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

และความท้าทาย

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวดังช่วงนี้ระดับโลกคงหนีไม่พ้นความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่เริ่มตั้งแต่มุสลิมปาเลสไตน์ทั้งถูกขับไล่จากบ้านเรือนตัวเองและถูกสลายการประกอบศาสนกิจในมัสยิดอัคซา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 200 กว่าคนจนพัฒนาสู่การถล่มโจมตีระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซ่า

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน บาดเจ็บนับพัน ตึกรามบ้านช่องถล่ม

และอาจจะบานปลายสู่การสู้รบวงนอกที่มีตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาร่วมวงด้วย เช่น กลุ่มติดอาวุธในซีเรีย กลุ่มฮิสบุลลอฮ์ในเลบานอน ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณอ่อนๆ ในระดับนี้หรือยกระดับเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอล เหมือนในอดีต หรือสงครามระหว่างประเทศ จากผลกระทบดังกล่าวทำให้สื่อใหญ่ๆ ระดับโลกลงพื้นที่ทำข่าว ทั้งสดและแห้ง มีการทำรายการที่เริ่มเจาะที่มาที่ไปของเหตุการณ์

กระแสเหล่านี้เริ่มทำให้คนดังหลายวงการ โดยเฉพาะนักฟุตบอลดังยุโรปออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ และผู้คนทั่วไปผ่านเฟซบุ๊ก

 

ไม่มีสงครามครั้งไหน

ที่สื่อถูกคุกคามเหมือนครั้งนี้

15 พฤษภาคม 2564 ภาพข่าวตึกถล่มจนพังราบเป็นหน้ากลอง ในหน้าสื่อทั่วโลกสร้างความตกใจและนึกไม่ถึง คืออิสราเอลถล่มอาคารสำนักข่าว Al Jazeera และ AP อ้างเป็นที่ตั้งหน่วยข่าวกรองของฮามาส ซึ่งค้านกับความเป็นจริงดังที่ AP ปฏิเสธ

“สำนักงานของ AP อยู่ในอาคารนี้มา 15 ปีแล้ว เราไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ว่ากลุ่มฮามาสอยู่ในอาคารหรือทำงานอยู่ในอาคารนี้ นี่คือสิ่งที่เราตรวจสอบอย่างเต็มที่ อย่างสุดความสามารถ เราจะไม่มีวันทำให้นักข่าวของเราตกอยู่ในความเสี่ยง”

สำหรับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซ่าครั้งนี้แม้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากผู้ที่อยู่ในอาคารได้รับคำเตือนให้อพยพออกจากตัวอาคารก่อนเกิดเหตุได้อย่างหวุดหวิด

(ดูคลิปได้ใน https://fb.watch/5wGoF95yJp/)

อิสราเอลยังสั่งปิดปากสื่อ ภาคประชาชน

 

รัฐมนตรีอิสราเอลขอความช่วยเหลือจาก Facebook และ Tik Tok ให้ช่วยลบเนื้อหาที่ “ยุยงให้เกิดความรุนแรง”

(เอพี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอิสราเอลเรียกร้องให้โซเชียลมีเดียลบเนื้อหาที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์

Benny Gantz โฆษกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของอิสราเอลกล่าวว่า เขาบอกกับผู้บริหารของ Facebook และ TikTok ในระหว่างการประชุมบนแอพพ์ Zoom เมื่อวันพฤหัสบดีว่า สงครามในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มหัวรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์

Gantz อธิบายว่า “ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาฉุกเฉินทางสังคมและเราคาดหวังความช่วยเหลือจากพวกท่าน”

โฆษกกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บริหาร Facebook และ TikTok แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลเพื่อป้องกันการปลุกปั่นในเครือข่ายของพวกเขา

Gantz ขอให้บริษัทโซเชียลมีเดียลบเนื้อหาที่ “ยุยงให้เกิดความรุนแรง” หรือ “ส่งเสริมการก่อการร้าย” ซึ่งหมายถึงเนื้อหาที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์นั่นเอง

 

ความท้าทาย

โจทย์ใหญ่การนำเสนอข่าว

ท่ามกลางความขัดแย้ง

สถานการณ์ความขัดแย้งที่โลกกำลังถูกจับตามองครั้งนี้ “สื่อ” มีความสำคัญมากๆ หากถูกคุกคามด้วยวิธีต่างๆ แล้ว “ประชาชนประชาคมโลก” ก็จะถูกลิดรอนสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารรอบด้านอย่างอัตโนมัติ ดังที่เอพีแถลงว่า “การโจมตีสำนักงานของเอพีในกาซ่า จะทำให้โลกรู้น้อยลงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซ่าปัจจุบัน”

“เรากำลังหาข้อมูลจากรัฐบาลอิสราเอลและทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม”

“นี่เป็นการพัฒนาที่กวนใจอย่างไม่น่าเชื่อ เราหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตที่เลวร้ายได้อย่างหวุดหวิด นักข่าวเอพี และนักแปลอิสระหลายสิบคนอยู่ในอาคารและโชคดีที่เราสามารถอพยพพวกเขาได้ทันเวลา”

“โลกจะรู้น้อยลงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซ่าเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

สำหรับ Al Jazeera ได้ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์นี้ โดยระบุว่า เป็นการกระทำเพื่อหยุดนักข่าวจากการปฏิบัติหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในการบอกให้โลกได้รับรู้และรายงานเหตุการณ์จากพื้นที่ ซึ่งจะกระทบกระบวนการหนุนเสริมสันติภาพโลกในที่สุด ไม่เพียงคุกคามสื่อเท่านั้น แต่ยังใช้ไอโอเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ควบคู่กันไป

IO (ไอโอ) ย่อมาจาก Information Operation แปลเป็นทางการว่า ‘การปฏิบัติการสารสนเทศ’ แต่ถ้าแปลให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ‘ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร’ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือการสร้างข้อมูลขึ้นมาเพื่อสร้างกระแสให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทำให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบอีกฝ่าย

ในขณะเดียวกันก็ปล่อยข่าวเท็จขึ้นมาเพื่อสร้างผลกระทบต่อความคิด การตัดสินใจ และเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้คนเกิดความเกลียดชังฝ่ายตรงข้าม เรียกว่าเป็นการปลุกกระแสมวลชนด้วยการบิดเบือนข่าวสารนั่นเอง

ดังนั้น ในยุคดิจิตอลที่ข่าวสารกระจายเร็วปานจรวด ไม่มีอะไรจะหยุดข่าวเท็จได้ นอกจากตัวคุณเอง ที่ควรทำการไตร่ตรองและพินิจพิเคราะห์กับทุกข้อมูลที่เสพทั้งในสื่อออนไลน์หรือกระทั่งสื่อกระแสหลักเองก็ตามว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

และหากยังไม่แน่ใจจริงๆ ก็อย่าเพิ่งกดแชร์หรือส่งต่อเพราะหลายครั้งที่ผ่านมาคุณอาจไม่รู้ตัวว่าคุณตกเป็นเครื่องมือช่วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปโดยไม่รู้ตัว

 

วันที่ 22 สิงหาคม 2557 ผู้เขียนได้เข้าร่วมในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ (Communication, Conflicts and Peace Processes) หรือ CCPP ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ซึ่ง รศ.ดร. Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยของเขา และการปรับวิธีนำเสนอข่าวที่จะสร้างประโยชน์ให้สาธารณชนได้อย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะให้การนำเสนอข่าวเป็นตัวเอื้ออำนวยไม่ให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ซึ่งท่านกล่าวว่า สื่อระดับชาติมักรายงานข่าวความขัดแย้งทั่วโลก และมักนำเสนอข้อมูลที่มองว่าผู้รับสารชื่นชอบ

…ผู้สื่อข่าวมีกระบวนการเลือกนำเสนอข่าว บางองค์กรเลือกประเด็นข่าวที่ตัวเองชื่นชอบ และนักข่าวมักนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์ แต่ผลกระทบหลังจากนั้นมักไม่ค่อยนำเสนอ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของนักข่าวที่ต้องส่งข่าวสำนักข่าวตามเวลาที่กำหนดนั่นเอง…

การนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ คือนำประเด็นต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ มานำเสนอไม่เฉพาะเหตุรุนแรงเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนพลังของประชาชนในการรับมือหรือตอบโต้กับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือความพยายามสร้างสันติภาพอย่างไรบ้าง

ข้อจำกัดใหญ่ของสื่อมวลชนคือ มักต้องนำเสนอตามวาระขององค์กรข่าวของตัวเอง ของเจ้าของหนังสือพิมพ์หรือเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งที่จริงผู้สื่อข่าวต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากที่สุด ในภาวะสงครามจะต้องมุ่งเน้นการนำเสนอที่ต่างกับความขัดแย้งทั่วไป

แต่นักข่าวส่วนใหญ่มักไม่อยากพูดเรื่องสันติภาพ ซึ่งเป็นไปได้ว่านักข่าวมักจะเกรงว่าผู้รับสารอาจไม่อยากรับฟัง หรือกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าพูดเกินจริง

การผลิตข่าวต่างๆ จำเป็นต้องพิจารณาว่า เมื่อนำเสนอแล้วจะส่งผลให้เกิดความกระจ่างต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น หรือทำให้สถานการณ์ถูกปิดบังลง หรือสร้างความมืดมนให้กับสังคม

ซึ่งการเสนอข่าวแบบแพ้-ชนะ คือตัวเร่งขยายความรุนแรง

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อใหม่ และออนไลน์ คือข้อเท็จจริง Fact และความสมดุล เท่าเทียม Fair รวมทั้ง Free ความมีเสรีภาพในการนำเสนอและรับข้อมูลข่าวสาร