ครบรอบ 7/11 ปี กรรมยุค 5 G ไม่มีรอชาติหน้า ครบรอบ 7/11 ปี การยึดอำนาจและการฆ่าประชาชน/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ครบรอบ 7/11 ปี

กรรมยุค 5 G ไม่มีรอชาติหน้า

ครบรอบ 7/11 ปี

การยึดอำนาจและการฆ่าประชาชน

 

เดือนพฤษภาคม 2564 ครบรอบ 11 ปีของการล้อมปราบม็อบเสื้อแดงที่มีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน และยังไม่สามารถฟ้องร้องใครได้ และครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหารที่นำโดยคณะ คสช.

ถ้าย้อนดูเส้นทางของการเปลี่ยนอำนาจ ตอนรัฐประหาร 2549 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ปี 2553 ขณะที่มีการปราบม็อบเสื้อแดง เป็น รอง ผบ.ทบ. ส่วน ผบ.ทบ.คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์มารับตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.ในปลายปี 2553 จนถึงช่วงที่ทำการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 และเป็นนายกฯ ในรัฐบาล คสช.อีกเกือบ 5 ปี และสามารถสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง 2562 โดยมีพรรคการเมือง และ ส.ว.หนุนหลัง

แต่เขาเป็นแค่ตัวละครตัวหนึ่งในซีรีส์ ตลอดระยะเวลา 15 ปี หลัง 2549 ที่มีการเปลี่ยนอำนาจไปสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย เพียงแต่วันนี้เป้าเด่นมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน

ในขณะที่คนจํานวนหนึ่งต่อต้านการรัฐประหาร ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งสนับสนุน และยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่แสดงปฏิกิริยาอะไรอยู่เฉยๆ เพราะคิดว่าเหตุการณ์คงจะคลี่คลายไปแบบที่ผ่านๆ มา คือยอมจมอยู่กับความกลัว

มีการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจตั้งแต่มีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนมาเลือกนายกฯ ได้ หลายคนก็คิดว่าคงไม่เป็นไรหรอก แต่ในที่สุด คสช.ก็ปกครองมาเกือบ 5 ปีและต่อด้วยรัฐบาลสืบทอดอำนาจอีก 2 ปี วันนี้ครบรอบการปกครองแบบอํามาตยาธิปไตย 7 ปี

ประชาชนก็ได้เห็นผลจากการนิ่งเฉยและยอมรับให้คนบางกลุ่มมายึดเอาอำนาจอธิปไตยของตนเองไปทำให้ไม่อาจเลือกตัวแทนที่มีความสามารถแท้จริงเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้

ความยากลำบากที่เกิดขึ้นวันนี้และวันหน้า ที่ก่อขึ้นและจะต้องชดใช้หนี้ไปนาน 10 ถึง 20 ปี เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน คนที่รับผิดชอบมากหน่อยก็คือชนชั้นปกครองปัจจุบัน

ต่อมาก็คือกลุ่มที่สนับสนุนและเปิดทางให้เกิดการรัฐประหาร ทั้งพวกที่ออกมาชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง พวกขัดขวางการเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนการเงิน และพวกที่ใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนฝ่ายเผด็จการทั้งหลาย

พอถึงวันนี้ทุกคนได้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ความยุติธรรม ว่าได้ตกต่ำลงมาขนาดไหน

 

ความอยุติธรรม

กลายเป็นกฎหมายและอำนาจปกครอง

ความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย ก็คือการที่นำสิ่งผิดๆ นำเอาการกดขี่มาร่างเป็นกฎเกณฑ์ เพื่อใช้บังคับกับคนส่วนใหญ่ของสังคม

ถ้าเรายึดหลักว่าคนเกิดมาเท่าเทียมกัน สิ่งที่เป็นกฎหมายหลายมาตราวันนี้ก็จะใช้ไม่ได้

ถ้าเรายึดหลักเสรีภาพ คงไม่ออกกฎหมายมาควบคุมประชาชนไม่ให้พูด หรือแสดงความคิดเห็นที่ต่างกับรัฐ และคงไม่ไล่จับประชาชนที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย

เมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยกำลังอาวุธ ถ้าสำเร็จผู้คุมอำนาจใหม่ก็จะประกาศว่าการยึดอำนาจของตนเองนั้นจำเป็น แม้ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่ก็จะได้รับการนิรโทษกรรม

แต่นิรโทษกรรมตนเองดูไม่ดีก็จะตั้งสภาขึ้นมา จะเรียกอะไรก็ตาม แต่ทั่วไปมักเรียกว่าสภานิติบัญญัติเพื่อให้มีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายและให้สภานั้นเสนอการนิรโทษกรรมให้กับผู้ยึดอำนาจสำเร็จ ดังนั้น สิ่งที่ทำผิดกฎหมายในตอนต้นก็จะได้รับการยกเว้นไม่เอาผิด ไม่ต้องโทษจำคุก ไม่ต้องโทษประหารชีวิต

และต่อมาผู้มีอำนาจก็จะออกคำสั่งเพื่อใช้บังคับกับประชาชน แม้คำสั่งนั้นจะไม่มีในกฎหมายดั้งเดิมก็ตาม แต่สามารถทำได้ และคำสั่งนั้นก็จะกลายเป็นกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้น เช่น ห้ามชุมนุมกันเกิน 5 คน ห้ามมีการเรียกร้องเคลื่อนไหวทางการเมือง ยุบพรรคการเมือง สั่งปิดสื่อสารมวลชน น.ส.พ. สถานีโทรทัศน์ ฯลฯ สามารถสั่งจับคนไปขังไว้ เพื่ออบรม ทำอย่างไรก็ได้

สุดท้ายก็จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่ตนเองต้องการมาสืบทอดอำนาจต่อไป

7 ปีที่ผ่านมาไม่มีการปฏิรูปและการพัฒนา ทั้งระบบยุติธรรม ระบบการปกครองที่ควรจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง แถมยังมีการทำลายระบบรัฐสภาโดยการซื้อ ส.ส.ด้วย Banana Coin

ไม่มีการปฏิรูปการศึกษาที่จะต้องให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของไทยและโลก ซึ่งต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบสมัยใหม่ แต่การคอร์รัปชั่นที่เคยกล่าวหาคนอื่นกลับขยายตัวอย่างมากมาย

ที่ทำได้เพียงด่าคนอื่น แต่ทำโครงการเลียนแบบ แล้วเปลี่ยนชื่อ อยู่กินเงินเดือนจากภาษีอากรกันไปวันๆ แม้ล่าสุดยังมีคนตั้งคำถามต่อการแก้ปัญหาโควิดว่าที่ล่าช้าเพราะทำงานไม่เป็น และมีบางคนหวังประโยชน์ แต่คนที่ตั้งคำถามก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาฟ้องร้อง

ประชาชนจึงไม่มีความหวัง เครียด อยากเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งสุดท้ายก็ห้ามไม่ได้ เพราะวันนี้คนที่เคยสนับสนุนก็ออกมาต้านแล้ว เพราะพวกเขาก็เดือดร้อนแล้ว

 

การต่อต้านอยุติธรรม

เป็นหน้าที่ของประชาชน

…ชู 3 นิ้วมาครบรอบ 7 ปีเช่นกัน

ถ้าย้อนดูกลุ่มต้านรัฐประหาร มีการชู 3 นิ้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 (หลังรัฐประหาร 1 สัปดาห์) โดยเดินทางมารวมกันตามสถานที่ที่นัดหมาย ทั้งหน้าทางเดินสกายวอล์กสนามกีฬาแห่งชาติ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ห้างสรรพสินค้า เทอร์มินอล 21 แยกอโศก, ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวมถึงห้างสรรพสินค้าห้างเมยา เชียงใหม่ เพื่อประท้วงเชิงสัญลักษณ์ไม่เอารัฐประหาร

บางคนก็นำสีสเปรย์มาพ่นคำว่า “NO COUP” และ “ปล้นประชาธิปไตย” ในหลายพื้นที่ และตะโกนเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

สำหรับการชูนิ้ว 3 นิ้วของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของ “สันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ” ลักษณะเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง “The Hunger Games”

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คนได้ชูสามนิ้วและโชว์เสื้อที่มีข้อความว่าไม่เอารัฐประหาร ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาทั้ง 5 คนถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น

มีการจับกุมนักศึกษาที่ชูสามนิ้วหน้าโรงภาพยนตร์สยามพารากอน ก่อนฉายหนังเรื่อง The Hunger Games โรงภาพยนตร์สกาลาและลิโด้ ในกรุงเทพฯ ยังได้ประกาศยกเลิกรอบฉายทั้งหมดของหนังเรื่อง The Hunger Games เพราะนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ได้เชิญชวนประชาชนมาดูหนังพร้อมกันเพื่อเป็นการแสดงออกต่อต้านรัฐประหาร

แต่การที่รัฐบาลใช้กำลังทางทหารจับกุมผู้แสดงสัญลักษณ์นี้ ยิ่งทำให้สัญลักษณ์สามนิ้วมีพลังทางการเมืองในโลกความจริง และยังชูต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ และจะมีอีกมากขึ้นอีก

การต่อต้านผ่าน…แอพพ์

และ โอม…ม…ม…เพี้ยง

 

สถานการณ์ปัจจุบันการต่อต้านโดยการชุมนุมมวลชนถูกสกัดทุกวิถีทาง ข้ออ้างโควิดทำให้เกิดได้ยากขึ้น จึงมีการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสื่อสารเข้าช่วย ด้วยแอพพ์ต่างๆ แบบที่คนไม่ต้องมารวมกัน แต่ฟังการปราศรัยได้

แต่ตอนนี้ที่น่ากลัวที่สุด คือแอพพ์ไสยศาสตร์ เป็นพิธีสาปแช่งซึ่งทำตามวิชามนต์ดำของแต่ละท้องถิ่น

มันเป็นการประยุกต์แบบร่วมสมัย เพราะใช้ไสยศาสตร์ 500 ปีก่อน ถ่ายทอดผ่านระบบ 5 G ในภาวะที่โควิด-19 กำลังปรับเปลี่ยนพันธุกรรมไปเป็นโควิด-21 และโควิด-22 ที่ทำลายชีวิตได้เร็วขึ้น

หวังว่า วัคซีนและผลกรรมดีของแต่ละคนจะช่วยคุ้มครอง…ในชาตินี้