‘ณัฐวุฒิ-วิโรจน์’ ร่วมวิเคราะห์เจาะลึก ‘คลัสเตอร์เรือนจำ’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ณัฐวุฒิ-วิโรจน์’

ร่วมวิเคราะห์เจาะลึก

‘คลัสเตอร์เรือนจำ’

เมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่เรือนจำขนาดใหญ่หลายแห่ง หรือ “คลัสเตอร์เรือนจำ” กลายเป็นปัญหาใหม่ซึ่งกำลังท้าทายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทีมข่าวการเมืองมติชน ทีวี ไม่รอช้า รีบชวนบุคคลสำคัญสองคนมาสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในประเด็นนี้ ผ่านระบบวิดีโอคอลล์

คนแรก คือ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำคนเสื้อแดง ที่ผ่านการใช้ชีวิตในเรือนจำมาแล้วหลายปีหลายวาระ

คนที่สอง คือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.และโฆษกพรรคก้าวไกล นักการเมืองรุ่นใหม่ฝีปากกล้า ที่ติดตามข้อมูลเรื่อง “คลัสเตอร์เรือนจำ” มาโดยต่อเนื่อง

 

ณัฐวุฒิเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงสภาพปัญหาภายในเรือนจำ ซึ่งเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

“กรมราชทัณฑ์ ความชำนาญของเขาคือขังคนไม่ใช่กักโรค จะให้เขาจัดการทั้งขังคนและกักโรคให้เกิดประสิทธิภาพพร้อมกันภายใต้ข้อจำกัดทั้งเรื่องพื้นที่ เรื่องความแออัด เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือสารพัด มันเป็นไปไม่ได้เลยในโลกของความเป็นจริง

“ขณะนี้ได้ยินว่าเขาจะให้ใส่หน้ากากกัน 24 ชั่วโมง ซึ่งมันจะเป็นไปได้อย่างไร? ก็ในเมื่อเวลาอาบน้ำ มันต้องอาบอยู่ในบล็อกอาบน้ำ ซึ่งยืนเรียงแถวกันเป็นร้อยๆ แล้วการอาบน้ำนี่มันไม่มีใครใส่หน้ากาก อย่างน้อยที่สุด แปรงฟันโดยใส่หน้ากากนี่ผมไม่คิดว่ามีใครทำได้ กินข้าวนี่กินในเรือนนอนด้วยกันเป็นร้อยๆ คน ในเวลาเดียวกัน นอนนี่ก็ต้องนอนด้วยกันก็อย่างที่เห็น

“(นักโทษที่เป็น) ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เช้าเขาออกไปทำงานตามส่วนงานต่างๆ เย็นเลิกงานเขากลับมานอนในแดนนะครับ แล้ววันหยุด เขาก็อยู่ในแดน ก็คลุกคลีกันอยู่แบบนั้นน่ะครับ การติดเชื้อเป็นเสียงข้างมากในเรือนจำเวลานี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด”

ขณะเดียวกัน ผู้ได้รับผลกระทบจาก “คลัสเตอร์เรือนจำ” ก็มีจำนวนมากและหลากหลายกลุ่มเกินกว่าที่คนในสังคมคาดคิด

“ข้างในนั้นมันมีเรือนจำสี่เรือนจำ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำกลางคลองเปรม สถานบำบัดพิเศษกลาง แล้วก็ทัณฑสถานหญิง มีหนึ่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่รวมกันหลายหมื่นคน

“แล้วด้านหลังของเรือนจำทั้งหลาย เป็นแฟลตที่พักของเจ้าหน้าที่และครอบครัวของทุกเรือนจำเขาอยู่รวมกัน หมายความว่าในแฟลตแท่งเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำคลองเปรม ทัณฑสถานหญิง อาจจะอยู่คนละห้องคนละชั้น ดังนั้น การพบปะการมีปฏิสัมพันธ์มันเกิดได้ แล้วโอกาสที่เชื้อมันจะหลุดเข้าไปในทุกเรือนจำมันเป็นภาวะเสี่ยง…

“คือพออยู่กันในนั้น มันเสี่ยงด้วยกันทั้งสองฝ่ายนะครับ ผู้ต้องขังนี่เสี่ยงอยู่แล้ว เขาก็ไปไหนไม่รอดต้องถูกขังอยู่ในนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องเสี่ยง เพราะมีหน้าที่ในการเข้าไปสัมผัส เข้าไปใกล้ชิด ราชทัณฑ์พยายามจะยกระดับมาตรการโน่นนั่นนี่เท่าที่ผมทราบ แต่เรื่องนี้ไม่พอครับ”

 

ส่วน ส.ส.วิโรจน์ ได้เปิดเผยข้อมูลอีกมุม ที่น่าตกใจและชวนตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำครั้งนี้มันหนักจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เคยเกิดขึ้นแล้วที่นราธิวาสในไซซ์ที่ย่อมกว่า แต่กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ไม่เคยถอดบทเรียน แล้วก็เอามาป้องกันปัญหาเลย

“และวันนี้ผมเจอเอกสารตัวหนึ่งลงวันที่ 11 พฤษภาคม มีการทำหนังสือจากกองการแพทย์ไปแจ้งเรือนจำต่างๆ โดยบอกว่างบประมาณปี 2564 มีงบฯ สำหรับทัณฑสถานต่างๆ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เรือนจำทั้งหมดทั่วประเทศ 142 แห่ง คุณคิดว่างบฯ 2564 จัดให้เท่าไหร่? 750,000 บาท

“142 แห่ง 750,000 บาท เฉลี่ยแล้วแห่งหนึ่งได้งบฯ ไป 5,282 บาท โอ้! แม่เจ้า…แล้วเขาจะมีงบประมาณอะไรไปป้องกันการแพร่ระบาดล่ะครับ?”

 

อดีตผู้ต้องขังอย่างณัฐวุฒิพยายามเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหา “คลัสเตอร์เรือนจำ” เท่าที่จะเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน

“การเอาพื้นที่ในเรือนจำเป็นโรงพยาบาลสนาม ผมไม่แน่ใจว่าเอาเข้าจริงมันจะได้ผล เพราะว่าชั้นล่างกับชั้นบนน่ะครับ แล้วคนไปเสิร์ฟอาหารเสิร์ฟกันไปเสิร์ฟกันมาวันละสามมื้อ เดินกันไปส่งกันมา ตักกันไปตักกันมา อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะว่าไอ้ตัวเชื้อโรคมันมองไม่เห็น

“ดังนั้น พื้นที่ของเรือนจำอื่นๆ ที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ หรือราชทัณฑ์นี่เขามี ‘เรือนจำเปิด’ คำว่าเรือนจำเปิดหมายความว่าเป็นเรือนจำที่มีพื้นที่กว้างๆ ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษเขาจะถูกเอาไปไว้ที่นั่น ปลูกผักปลูกหญ้าทำงานได้ พื้นที่ว่างเยอะ เอาเป็นโรงพยาบาลสนามไหม? หรือย้ายคนที่ยังไม่ติดเชื้อไปกักขังกันตรงนั้นบ้างไหม?”

ขณะที่โฆษกพรรคก้าวไกลเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ด้วยการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังบางส่วน

“ที่สำคัญที่สุด ผู้ต้องขังไม่ใช่ทุกคนที่เป็นผู้กระทำความผิดนะครับ หลายคนถูกจำกัดอิสรภาพ อย่างผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดนะครับ แต่มีการนำเขาไปขังไว้ก่อนระหว่างรอพิจารณาคดี คำถามก็คือว่าเขายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แล้วทำไมเขาต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง? ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่ควบคุมกันอย่างไร้ประสิทธิภาพแบบนี้

“แล้วถ้าเกิดเขาเสียชีวิตขึ้นมา และภายภาคหน้า มีตัวบทกฎหมายมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าเขาไม่ผิด ใครจะรับผิดชอบกับชีวิตเขา? ใครจะรับผิดชอบกับครอบครัวเขา? ที่ต้องสูญเสียคนที่เขารักไป

“ดังนั้น วันนี้ผมคิดว่าสิทธิการประกันตัวต้องถูกพูดถึงแล้ว เพราะวันนี้มีความเสี่ยงใหม่ ศาลท่านชอบบอกว่าไม่พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากไม่มีเหตุเพิ่มเติมไม่มีเหตุใหม่ วันนี้มันมีเหตุใหม่แล้ว ผมก็วิงวอนว่าต้องพิจารณาการระบาดในเรือนจำเป็นเหตุใหม่ในการพิจารณาการให้ประกันตัวด้วย

“ที่สำคัญคือผมไม่ได้พูดถึงผู้ชุมนุมอย่างเดียว ผมคิดถึงผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ ด้วย ว่าเราต้องคิดถึงสิทธิการประกันตัวของเขา”

 

ท้ายสุด แกนนำเสื้อแดงได้ส่งสารไปยังภาครัฐว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 แพร่ระบาดในเรือนจำนั้นต้องไม่ติดอยู่กับ “กรอบความคิด” แบบเดิมๆ

“อย่าคิดในกรอบ เวลานี้ทั้งผู้ต้องขังและผู้คุมอยู่ในกรอบกรงขังอยู่แล้ว เมื่อเขาเผชิญสถานการณ์แบบนี้ การแก้ปัญหาให้พวกเขาอย่าคิดในกรอบนะครับ คนถูกขังและความคิดถูกขังด้วย มันซวยด้วยกัน ดังนั้น คนถูกขังแล้วอย่าขังความคิดในการแก้ปัญหา แล้วต้องรีบต้องทำทันทีครับ ก่อนที่โศกนาฏกรรมมันจะเกิดขึ้น”

ทางด้านวิโรจน์ได้เอ่ยเตือนถึง “ความเสี่ยงใหม่” ที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“ฝากไปถึงกองทัพด้วย นี่ไง แล้วทหารเกณฑ์ ทหารกองประจำการ ผมไม่ต้องพูดหรอกว่าเวลาคุณลงโทษกัน คุณลงโทษกันอย่างไร เวลาอาบน้ำของทหารเกณฑ์ทหารกองประจำการ ภาพก็ปรากฏกันอยู่แล้ว ว่าบางส่วนมีการทำพิเรนทร์ๆ แล้วระยะห่างทางสังคมไม่มีอยู่แล้ว

“ถ้า (กระบวนการฝึก) ทหารกองประจำการยังดูเบากับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด แล้วยังยืนยันว่ายังไม่นำพากับความปลอดภัย เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นกับกรมราชทัณฑ์แล้ว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทัพจะต้องใส่ใจให้มาก และผมเชื่อว่าถ้าไม่ใส่ใจ ไอ้ระเบิดลูกนี้แบบที่กรมราชทัณฑ์เจออยู่จะระเบิดกับกองทัพด้วย คือการแพร่ระบาดหนักภายในค่ายทหาร

“ซึ่งผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ก็เลยต้องพูดตรงนี้ไว้ก่อน”