กะลานั้นแคบและมืดนัก | คำ ผกา

คำ ผกา

1.กรุงเทพฯ 5 แห่ง ตรวจเชื้อ 14,429 ติดเชื้อ 6,749 รอผล 0 คิดเป็น 47 เปอร์เซ็นต์

2. นนทบุรี ตรวจเชื้อ 2,661 ติดเชื้อ 48 รอผล 2,214 คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์

3. ฉะเชิงเทรา ตรวจเชื้อ 798 ติดเชื้อ 22 รอผล 21 คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์

4. เชียงใหม่ ตรวจเชื้อ 6,469 ติดเชื้อ 3,929 รอผล 0 คิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์

รวม 8 แห่ง ตรวจเชื้อ 24,357 ติดเชื้อ 10,748 รอผล 2,235 คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2727725

 

ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ฉันเขียนต้นฉบับคือวันที่ 17 พฤษภาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำทั่วประเทศยอดพุ่งไปถึงเกือบร้อยละห้าสิบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก

น่ากลัวทั้งในแง่ความรุนแรงของการระบาด

น่ากลัวทั้งในมิติที่ทำให้เราต้องทบทวน “ความถูกสุขอนามัย” ของเรือนจำประเทศไทย

ก่อนที่จะเขียนแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ ฉันอยากให้ดูข้อมูลอีกชุดหนึ่ง นั่นคือเมื่อปี 2017 เรือนจำบางขวางของไทยเคยติดอันดับที่สิบของสิบอันดับคุกที่เลวร้ายที่สุดในโลกโดยเว็บไซต์ Therichest.com

อันดับ 1 Carandiru Penitentiary ประเทศบราซิล เป็นเรือนจำที่ได้รับเลือกให้เป็นคุกที่น่ากลัว โหดร้ายที่สุดในโลก โดยปี 2535 เคยเกิดเหตุสยองขวัญฆาตกรรมหมู่ มีนักโทษถูกยิงเสียชีวิต 102 ราย และมีสุขอนามัยย่ำแย่ที่สุด เพราะ 1 ใน 5 ของผู้ต้องขังติดเชื้อเอชไอวี

อันดับ 2 Tadmor Prison ประเทศซีเรีย เป็นคุกที่ขึ้นชื่อเรื่องการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยจากเหตุการณ์ปี 2523 ประธานาธิบดีฮาเฟซ อัล-อัสซาด ถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี นายอัล-อัสซาด สั่งให้ทหารสังหารนักโทษทุกคนเพื่อแก้แค้นที่ถูกโจมตี คุกแห่งนี้ถูกปิดตัวเมื่อปี 2544 ก่อนมีรายงานว่ากลับมาเปิดใช้อีกครั้งเมื่อปี 2554

อันดับ 3 Diyarbakir Prison ประเทศตุรกี เป็นเรือนจำที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายทารุณ คุมขังแม้กระทั่งเด็กและตัดสินให้พวกเขาต้องจองจำตลอดชีวิต เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดกับเรือนจำแห่งนี้เมื่อปี 2539 เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้คุมทำร้ายร่างกายนักโทษเสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บอีก 23 ราย

อันดับ 4 La Sante Prison กรุงปารีส ฝรั่งเศส สาเหตุที่เรือนจำนี้ติดอันดับความโหดร้ายน่ากลัว เนื่องจากมีนักโทษหลายคนฆ่าตัวตายขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ ด้วยเหตุผลด้านความเป็นอยู่ในเรือนจำ มีแบ่งชนชั้นทำให้นักโทษบางกลุ่มมีอำนาจเหนือกว่าบางกลุ่ม

อันดับ 5 Gitarama Prison ประเทศรวันดา ความจริงคุกแห่งนี้รองรับนักโทษได้เพียง 500 คน แต่ขณะนี้มีนักโทษอยู่มากกว่า 6,000 คนแล้ว นักโทษบางคนมีปัญหาเท้าเน่าเปื่อยจากการเหยียบย่ำอุจจาระ เกิดการติดเชื้อตามมา เลวร้ายที่สุดบางคนถูกตัดอวัยวะเนื่องจากสาหัสเกินเยียวยา และนักโทษบางรายก็ติดเชื้อจนเสียชีวิต ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในคุกแห่งนี้มาจากช่วงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา

อันดับ 6 La Sabaneta Prison ประเทศเวเนซุเอลา เป็นคุกที่มีความหนาแน่นแห่งหนึ่งในโลกด้วยจำนวนประชากรในคุกที่มากถึง 25,000 คน ทั้งๆ ที่สถานที่แห่งนี้จุคนได้ประมาณ 15,000 คนเท่านั้น ทำให้อัตราระหว่างผู้คุมกับนักโทษอยู่ที่ 1:150 แถมยังเคยเกิดเหตุความรุนแรงในคุกแห่งนี้เมื่อปี 2537 ทำให้มีนักโทษเสียชีวิตถึง 108 ราย และในปีต่อมา (2538) มีนักโทษเจ็บ 624 คน และเสียชีวิต 196 ราย จากเหตุความรุนแรงภายในเรือนจำ

อันดับ 7 Alcatraz Island Prison คุกอัลคาทราซ ประเทศสหรัฐ เคยเป็นสถานที่คุมขังอาชญากรคดีร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นที่เป็นที่รู้จักคือ อัล คาโปน หรืออีกชื่อ Scarface นายอัล คาโปน ทำรายเพื่อนนักโทษด้วยกันเพื่อจะหลบหนีออกจากคุก จนถูกเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “Battle of Alcatraz” เกิดขึ้นในปี 2489 อย่างไรก็ตาม คุกอัลคาทราซปิดตัวลงในปี 2506 เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่นำมาใช้บำรุงรักษาเรือนจำที่แพงขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษเป็นไปอย่างยากลำบาก

อันดับ 8 San Quentin Prison ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ก่อตั้งเมื่อปี 2395 ขึ้นชื่อว่าเป็นเรือนจำที่เก่าแก่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย เรือนจำแห่งนี้เกิดเหตุความรุนแรงต่อเนื่อง โดยปี 2549 เกิดเหตุนักโทษพยายามจะแหกคุก ทำให้มีคนเจ็บกว่า 100 คน และมีนักโทษเสียชีวิต 2 ราย ตามมาด้วยรายงานความรุนแรงภายในคุกดังกล่าวอีกต่อเนื่อง ทั้งให้ต้องเพิ่มการดูแลมากยิ่งขึ้น

อันดับ 9 Rikers Island Prison ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก คุกแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความลำเอียงของผู้คุม มีนักโทษถูกผู้คุมทำร้ายร่างกายอยู่เป็นประจำ มีทั้งถูกทุบตีและถูกทำให้เสียชีวิต อีกทั้งยังเป็นเรือนจำที่มีความเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อันดับ 10 Bang Kwang Prison เรือนจำบางขวาง ของประเทศไทย ตามที่เขาจัดอันดับบอกว่า คุกบางขวางมีการทำร้ายร่างกายนักโทษ อีกทั้งนักโทษยังต้องอยู่ในพื้นที่แคบๆ แออัด ทั้งยังต้องใส่โซ่ตรวนที่ขาใน 3 เดือนแรกที่เข้าสู่การจองจำอีกด้วย ทำให้เรือนจำบางขวางกลายเป็นคุกที่ฮาร์ดคอร์แห่งหนึ่งในโลก

https://www.voicetv.co.th/read/486351

เอาล่ะ เราไม่เซอร์ไพรส์หรอกว่า ประเทศไทยของเรานั้นในช่วงหลังๆ ติดโผในทุกเรื่องที่แย่

ตั้งแต่ดัชนีคอร์รัปชั่น เสรีภาพสื่อโดย Freedom house การวัดผลการศึกษาโดย PISA หรือแม้แต่ความสามารถในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนของเราก็รั้งท้าย

แต่ถ้าไปถามสลิ่ม สลิ่มจะบอกว่าคะแนนแย่ๆ อันดับแย่ๆ นั้นเป็นเพราะเราถูกดิสเครดิตโดยประเทศตะวันตก

แต่ดูเหมือนว่าสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่ย่ำแย่นี่คนไทยจำนวนมาก-มากเสียจนฉันคิดว่าเป็นคนไทยส่วนใหญ่ และไม่ได้มีแต่สลิ่ม คนไทยฝ่ายที่เชียร์ประชาธิปไตยส่วนมากก็ด้วย-มองว่า “อ้าว ก็ถูกแล้วไง คุกมันต้องโหด ต้องลำบากสิ ถ้าสบายใครเขาจะเรียกว่าคุก”

มิไยที่ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบเรือนจำจะชักแม่น้ำทั้งห้า คนไทยจำนวนมากก็จะดาหน้าเข้ามาเถียงด้วยตรรกะที่บอกว่า “ถ้าคุกมันน่าอยู่คงไม่มีใครอยากทำมาหากินสุจริต คงแห่กันไปเป็นโจร เพราะถ้าถูกจับก็ได้ไปอยู่ดีกินดีกว่าคนนอกคุก”

จะขอหมายเหตุไว้ก่อนว่า ประเด็นคนไทยชอบมีความกลัว “คนที่แย่กว่าเราจะสบายกว่าเรา” มันเกิดมาจากอะไร-ประเด็นนี้จะนำมาเขียนวิเคราะห์อีกครั้ง

ขอไปที่ประเด็นง่ายๆ ก่อนว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรเปลี่ยนชุดความคิดว่า “คุกต้องโหดร้ายเพราะคนต้องถูกทำโทษให้หลาบจำ”

ไปสู่ชุดความคิดที่ว่า “เราควรมีเรือนจำที่ให้มาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีเพื่อให้เรือนจำเป็นสถานที่สำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้กระทำความผิด เป็นสถานที่สำหรับการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ เป็นสถานที่สำหรับการซ่อมแซมฟื้นฟูความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นของผู้กระทำความผิด เป็นสถานที่สำหรับบ่มเพาะความภาคภูมิใจในตนเองกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อวันหนึ่งที่พวกเขาออกจากเรือนจำมา พวกเขาจะกลายเป็นมนุษย์ที่มีค่า เป็นเพื่อนบ้านที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้คือ ทุกคนในสังคม ไม่ใช่พวก ‘โจร’ ที่ทำชั่วแล้วไปอยู่สุขสบาย”

ทั้งนี้ ต้องขยายความอีกว่า การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำให้ “ดี” นั้น มันไม่ได้แปลว่าเราให้รางวัลคนทำผิด เพราะสิ่งที่คนเหล่านั้นสูญเสียคืออิสรภาพ พวกเขาต้องถูกกักขัง มีชีวิตภายใต้สายตาของผู้คุม มีกิจวัตรประจำวัน เวลากิน เวลานอนที่ต้องทำตามตาราง

คนที่คิดว่าสบาย ลองจินตนาการให้ตัวเองถูกขังในห้องของโรงแรมหกดาว ไม่สามารถออกไปไหน มีคนเอาอาหารจากเชฟที่ทำอาหารอร่อยที่สุดมาเสิร์ฟสามมื้อ มีคนเฝ้าดูกิจกรรมที่เราอยู่ในห้อง มีคนกำหนดให้ต้องทำกิจกรรมที่ระบุเอาไว้ การเข้าเยี่ยมจากคนภายนอกต้องขออนุญาต และพบปะในสถานที่ที่จัดหาให้เท่านั้น และอยู่ในสายตาของผู้ดูแลด้วย ฯลฯ

ลองคิดดูว่า จ้างให้ไปอยู่แบบนี้สัก 1 ปี จะยอมอยู่หรือไม่

พูดง่ายๆ คือ ลำพังการสูญเสียอิสรภาพที่จะไปไหนมาไหน จะกินกี่โมง นอนกี่โมง จะออกไปเจอใคร ไม่อยากเจอใคร จะออกกำลังกายหรือไม่ออกกำลังกาย เสรีภาพพื้นๆ แบบนี้ที่เรามีอยู่กับตัว เราจะไม่มีวันรู้เลยว่า วันหนึ่งที่ไม่มีนั้น มันเป็นเรื่องที่อึดอัดรันทดสักเพียงใด

และแม้แต่คุกที่ดีที่สุดในโลกอย่างคุกที่นอร์เวย์ ก็ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายของผู้ต้องขังสูงมากจากความเครียด

และในวันที่โควิดระบาดในเรือนจำหนักหน่วงขนาดนี้ คนไทยที่เคยคิดอยากให้คุกมีสภาพเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเลวร้ายได้เพียงเพราะอยากสะใจอย่างตื้นเขินควรจะเข้าใจเสียทีว่า คุณภาพชีวิตคนในเรือนจำส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนที่อยู่นอกเรือนจำด้วยเช่นกัน

โควิดคือไวรัส ดังนั้น กำแพงคุกสูงแค่ไหนก็ไม่อาจกักขังโควิดได้ และหาก “เอาไม่อยู่” ผลกระทบจะตามมาอย่างเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่งบประมาณที่ต้องใช้ บุคลากรที่ต้องใช้ การถูกจับตาจากนานาชาติที่ปล่อยคุกมีสภาพย่ำแย่วิกฤตจนกลายเป็นคลัสเตอร์โควิดขนาดใหญ่ เราจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากนานาชาติ นักลงทุน ทำลายความเชื่อมั่นเรื่องการท่องเที่ยว เปิดประเทศ ธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ

นี่คือผลกระทบที่ป้องกันได้ หากครั้งหนึ่งเราไม่มัวแต่มาคิดว่า คุกต้องแย่ คุกต้องสกปรกสิ เรื่องอะไรจะส่งโจรไปกินหรูอยู่สบาย นี่คุกนะ ไม่ใช่โรงแรมห้าดาว

ถ้าใครเคยคิดเช่นนี้และวันนี้ต้องล้มละลายขายกิจการสินเนื้อประดาตัว ฉันจะบอกว่า

เห็นหรือยังว่าเรือนจำไม่ใช่แค่เรื่องโจรต้องถูกทัณฑ์ทรมานให้สาสม แต่เป็นเรื่องของสุขภาวะโดยรวมของสังคมทั้งสังคม

กะลานั้นไม่เพียงแต่คับแคบ แต่มันสามารถทำร้ายเราได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม