สินค้า “ไม่แน่นอน” : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เคยได้ยินชื่อร้าน “ปุ้ม กะเพราวัดใจ” ไหมครับ

เป็นร้านอาหารที่เมืองจันท์

เดิมเคยเปิดเป็นร้านเหล้ามาก่อน แต่พอเจอกฎหมายเรื่องระยะห่างของร้านเหล้ากับสถานศึกษา

“ปุ้ม” ต้องปิดร้านเหล้า

และเปลี่ยนมาขายอาหารตามสั่ง

แต่มีให้สั่งได้อย่างเดียวคือ “ผัดกะเพรา”

ร้านนี้ไม่ได้ดังที่ “รสชาติ” แต่ดังที่ภาชนะใส่อาหาร

ไม่ใช่แค่จานแปลกๆ

แต่ภาชนะที่ใส่ไม่ใช่ “จาน” ปกติธรรมดาครับ

“จาน” ของร้านนี้มีทั้งเข่ง กะละมัง กรงนก ถังขยะ

จนถึง “ส้วม”

เขามีกระดาษปูรองรับอาหารไว้อย่างดี

สะอาดครับ

แต่ “แปลก”

ด้วยความแปลกนี้เองที่ทำให้ร้านนี้โด่งดัง เพราะลูกค้าที่เข้าร้านจะต้องลุ้นว่าวันนี้จะได้ “จาน” แบบไหน

นึกภาพสิครับ ถ้าเรามากับเพื่อนๆ เป็นกลุ่ม

พอพนักงานเอา “กะเพรา” มาเสิร์ฟ

คนแรก ได้ “กะละมัง”

เพื่อนๆ ก็จะเฮ

คนที่สองได้ “เข่ง”

เพื่อนเฮอีก

กลายเป็น “ความสนุก” ก่อนกินอาหาร

ที่สำคัญ หลังจาก “เฮ” เสร็จ ทุกคนก็จะถ่ายรูปแล้วนำไปแชร์ในโซเชียลมีเดีย

เพราะใครเห็นก็ฮา

ร้านนี้จึงโด่งดังอย่างรวดเร็ว

สไตล์การแต่งร้านก็ออกแนว “กวน-กวน”

ลองอ่านข้อความในสติ๊กเกอร์ที่ติดไว้ในร้านสิครับ

“ไม่อร่อยให้ต่อยคนข้างๆ”

หรือ “แมลงวันที่ร้านนี้ล้างเท้าแล้วทุกตัว”

ถามว่าร้านนี้อร่อยไหม

น้องที่เคยไปบอกว่ารสชาติดีเลย

แต่ที่เหนือกว่ารสชาติก็คือ “ความสนุก”

นอกจากอิ่มท้องแล้ว

ยัง “อารมณ์ดี” กลับบ้านด้วย

ไม่ใช่แต่เมืองจันท์

ที่ “ญี่ปุ่น” ก็มีนะครับ

เมื่อต้นเดือนนี้เอง มีร้านเปิดใหม่ที่เมืองโตเกียว

ชื่ออ่านไม่ออก

แต่แปลได้ว่า “ร้านอาหารที่สั่งอะไร ก็จะได้อีกอย่างหนึ่ง”

ที่เมืองไทยมีร้านอาหาร “ตามสั่ง”

แต่ร้านนี้เป็นร้านอาหาร “ไม่ได้ตามสั่ง”

ประมาณว่าสั่ง “ข้าวมันไก่”

อาจได้ “ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ”

ถ้าลำพังเพียงแค่ไอเดียแค่นี้ คงไม่น่าสนใจเท่าไร

แต่ถ้าบอกว่าพนักงานเสิร์ฟในร้านนี้ เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะ “ความจำเสื่อม”

ลูกค้าสั่งอะไร แล้วไม่ได้อย่างนั้น

เพราะบางทีเธออาจจะลืม หรือสั่งผิด

พอฟังที่มาของร้านแล้ว

ร้านอาหาร “ไม่ได้ตามสั่ง” น่าสนใจขึ้นมาทันที

ไม่ได้น่าสนใจเพราะ “ความกวน” เหมือนกับ “ปุ้ม กะเพราวัดใจ”

แต่เป็นความน่าสนใจกึ่งน่าเห็นใจ

บรรยากาศในร้านจะน่ารักมาก

เพราะเมื่อเข้าใจ “ที่มา” ของร้าน

เข้าใจว่าพนักงานเป็นใคร

ลูกค้าที่เข้ามาก็ทำใจไว้แล้ว

ร้านนี้ทดลองเปิดขายเมื่อต้นเดือนมิถุนายน

เชฟก็เป็นอาสาสมัคร

ตอนนี้กำลังรับบริจาคเงินเพื่อเปิดร้านอีกครั้งในเดือนกันยายน

วางแผนว่าจะเปิดประมาณ 7 วัน

ผมชอบบรรยากาศของวันทดลองเปิดร้านมาก

คุณป้าไอโนะ ที่เคยเป็นคนดูแลเด็กเล็กเป็นหนึ่งในพนักงานเสิร์ฟ

เธอเดินมารับออเดอร์ที่โต๊ะ

เดินมาถึงโต๊ะ แล้วนึกไม่ออกว่าเดินมาทำไม

ป้าไอโนะหัวเราะ

ลูกค้าก็หัวเราะ

ถามว่า “ป้าจะมารับออเดอร์ใช่ไหมครับ”

ป้าไอโนะเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเธอจะมาทำอะไร

สุดท้ายลูกค้าก็เป็นคนจดออเดอร์ในกระดาษให้

ยังไม่จบ

เพราะต้องมาลุ้นต่อว่าคุณป้าไอโนะจะยกอาหารมาเสิร์ฟถูกโต๊ะหรือเปล่า

พอเดินไปเสิร์ฟที่โต๊ะ

เธอก็ถามลูกค้าว่าอาหารตรงตามที่สั่งรึเปล่าคะ

ลูกค้าพยักหน้า บอกว่ากำลังลุ้นอยู่ว่าจะได้อาหารตามที่สั่งหรือไม่

“แต่เสียดายที่มันไม่ผิด”

พูดจบก็หัวเราะ

เป็นไงครับ บรรยากาศน่ารักไหม

คุณป้าไอโนะรู้สึกดีที่เธอสามารถทำงานได้

ชีวิตยังมีค่า

ผิดบ้างก็ไม่มีใครว่า

ลูกค้าก็รู้สึกสนุกที่ได้ลุ้นว่าจะได้อาหารตามสั่งหรือไม่

และรู้สึกดีกับ “ความผิดพลาด” ที่อาจเกิดขึ้น

ร้านปุ้ม กะเพราวัดใจ และร้านอาหารไม่ได้ตามสั่ง ทั้ง 2 ร้านขายสินค้าที่ร้านอื่นไม่มี

ร้านอาหารทั่วไปขาย “ความคาดหวัง”

คือ อาหารอร่อย บริการดี

แต่ 2 ร้านนี้ขาย “ความไม่แน่นอน”

จะได้จานแบบไหนใส่กะเพรา

หรือจะได้อาหารที่สั่งไว้หรือเปล่า

แค่ลุ้นก็สนุกแล้ว

ผมชอบแนวคิดของคุณโอกุนิ ที่คิดทำร้านอาหาร “ไม่ได้ตามสั่ง”

“โอกุนิ” เป็นคนทำรายการโทรทัศน์คนหนึ่ง

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาเคยทำรายการสารคดีเกี่ยวกับการดูแลผู้ที่มีภาวะความจำเสื่อม

ไปถ่ายทำที่กรุ๊ปโฮม ที่มีคนสูงอายุมาอยู่ด้วยกันและทำภารกิจประจำวันร่วมกัน

วันหนึ่ง “โอกุนิ” ทานอาหารกับคนกลุ่มนี้

มื้อนั้น ระบุว่าจะเป็น “แฮมเบอร์เกอร์”

แต่ถึงเวลาจริง กลายเป็น “เกี๊ยวซ่า”

วินาทีนั้นแทนที่จะหงุดหงิด เขากลับรู้สึกว่า “ถึงจะเป็นเกี๊ยวซ่าก็ไม่เห็นเป็นอะไรนี่นา”

แล้วก็เกิดความคิดว่าบางครั้งสังคมให้ความสำคัญกับ “ความถูกต้อง” มากไป

ต้องทำให้ถูก

ห้ามทำผิด

ทั้งที่ในโลกนี้ไม่มีใครที่ทำอะไรถูกต้องทุกเรื่อง

ทุกคนล้วนเคยผิดพลาด

ถ้าเราสามารถยอมรับว่า “ความผิดพลาด” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

สนุกไปกับ “ความผิดพลาด”

เข้าใจ

และให้อภัย

อะไรก็คงจะดีขึ้น