สายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด’ ติดหนู (ทดลอง)/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

สายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด’

ติดหนู (ทดลอง)

อย่าพึ่งตกอกตกใจไป เพราะนี่มาจากงานวิจัย ไม่ใช่การระบาดระลอกใหม่

วินีต เมนาเชรี (Vineet Menachery) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์เท็กซัส ที่แกลเวสตัน (University of Texas Medical Branch in Galveston) ได้พัฒนาสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาให้ติดเชื้อและก่อโรคในหนูได้

ทุกอย่างเกิดขึ้นในห้องแล็บที่เท็กซัส

ประเด็นคือ แล้วจะทำให้ไวรัสโควิด-19 ติดหนูไปเพื่ออะไร? เพราะปกติหนูไม่ได้เป็นเป้าหมายของโควิด ต่อให้ติดก็ไม่หนัก ซึ่งที่จริงนั่นก็น่าจะดีอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ

 

วินีตไม่ได้มีปัญหาอะไรกับหนู ไม่ได้ต้องการให้หนูสูญพันธุ์ และไม่ได้ต้องการสร้างไวรัสที่ใช้หนูเป็นพาหะเชื้อโรคร้ายมาล้มล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์แต่อย่างใด

แม้งานวิจัยของเขาจะฟังดูเหมือนฉากเปิดของหนังไซไฟสยองขวัญ แต่งานวิจัยของวินีตอาจจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การพัฒนายาใหม่เพื่อต้านโควิด-19 และอีกสารพัดไวรัสอุบัติใหม่ในอนาคตได้

ทว่า การศึกปราบโควิดในครั้งนี้ แม้จะมีแอพพ์มากมาย แต่มนุษยชาติก็ยังไม่ได้เฉียดใกล้คำว่า “ชนะ”

ถ้าจะพุ่งชนให้ถึงเป้าแห่งชัยชนะ ก็ต้องหาจุดอ่อนของโควิดให้เจอ… รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

ทว่า แม้จะมีการศึกษากันอย่างท่วมท้น ค้นหาวิธีทั้งแบบป้องกันและรักษากันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผ่านไปเพียงแค่ปีกว่าๆ ก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาในทุกแง่มุมจัดไปเกือบๆ จะถึงแสนเปเปอร์ เรียกว่าแฟนพันธุ์แท้ตามอ่านกันจนตาบวม ก็ยังตามไม่ทัน อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว

แต่กลไกเบื้องลึกในการก่อโรคในร่างกายก็ยังเป็นปริศนาที่ไม่มีใครตีแตกได้ เพราะถ้าอยากรู้อยากเข้าใจว่าโควิดส่งผลอะไรกับร่างกายอย่างไรบ้าง ปอดอักเสบเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วยาขนานใดหรือวัคซีนประเภทไหนจะเอาอยู่จริงๆ ก็ต้องวิจัยและทดลองกับสิ่งมีชีวิตที่มีอาการของโรค

และสิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นก็คือ “มนุษย์”!

 

อุปสรรคใหญ่ของการพัฒนายาใหม่ก็คือ การหาหนูทดลองยา

คำถามคือ แล้วจะหาที่ไหน มีใครมั้ยที่จะอยากเป็นหนูลองยา คงไม่มีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยคนไหนที่จะยอมให้โดนผ่าเพื่อเอาปอดมาศึกษาดูว่าการติดเชื้อเป็นอย่างไร เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือลองว่ายาตัวไหนจะดี ถ้ายังมีทางเลือกอยู่

แต่ “The show must go on” ถ้าเราหยุดก้าวไปข้างหน้า เราก็จะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง เพราะไวรัสไม่รอท่า

และทางเดียวที่จะกำราบไวรัสที่วิวัฒน์อย่างรวดเร็วตลอดเวลานั้น คือต้องพัฒนาไปให้ไวยิ่งกว่า

อย่างที่บอกไปตอนต้นแล้วว่าปัญหาคือหนูไม่ติดโควิด ต่อให้ติดก็ไม่ป่วยหนักเหมือนคน และนั่นคือปัญหาที่ทำให้ผลของการพัฒนายาและวัคซีนตีความได้ยากขึ้น เพราะต่อให้หาหนูทดลองได้ ถ้าไม่มีอาการ ให้ยาไป ยังไงก็วิเคราะห์อะไรไม่ได้เท่าไร

อย่างวัคซีน ที่ทำได้ก็แค่ลองฉีดเข้าไปในหนู เจาะเลือดมาดู ให้ปลาบปลื้มที่เจอว่าหนูมีภูมิคุ้มกัน สร้างแอนติบอดี้ต้านไวรัส แต่ภูมิที่สร้างขึ้นมานั้น จะป้องกันการติดเชื้อหรือบรรเทาอาการโรคได้จริงหรือไม่ ก็บอกไม่ได้ เพราะโดยปกติ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีภูมิ ไวรัสโควิด-19 ก็แทบจะไม่ติดมันอยู่แล้ว

ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมเสี่ยงทดลองกับคน แล้วรอลุ้นผลกันอีกที

 

ในการพัฒนายาก็ไม่ต่างจากวัคซีน ในทางทฤษฎี อาจจะมียาขนานใหม่ที่ว่าน่าจะมีสรรพคุณดีสุดแล้ว แต่พอเอามาใช้จริงกับผู้ป่วย อาจจะทำงานอะไรไม่ได้เหมือนที่คาดคิดเอาไว้เลยก็เป็นได้ เพราะในสภาวะแวดล้อมในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะทำนายได้

ปัญหาคือ ถ้าหนูติดโควิดไม่ป่วยหนักจากการติดเชื้อจนเกิดอาการปอดอักเสบ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ายาขนานใหม่ในจินตนาการนี่จะยับยั้งปอดอักเสบจากไวรัสได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้ข้อมูลจากสัตว์ทดลอง ทางเดียวที่จะรู้ได้ ก็คือต้องไปเสี่ยงทดสอบเอากับคนเช่นกัน และนั่นหมายความว่าผู้ป่วยติดเชื้อบางคนอาจจะต้องยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อเป็นหนูลองยา

หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นเรื่องที่โหดร้าย ที่เอาหนูน้อยน่ารักน่ากอดมาทดลอง

แต่อย่าลืมว่า ไม่ว่าติดโควิดแล้วจะมีอาการหรือไม่ ยังไงน้อนก็ถูกเอามาใช้ทดลองยาอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ควรต้องคิดให้ดีที่สุดก็คือจะทำยังไงให้ต้องสังเวยชีวิตน้อนให้น้อยที่สุด ทรมานน้อยที่สุด และได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติให้มากที่สุดจากการทดลองที่ต้องทำลงไป

เพราะหนึ่งชีวิตของน้อนนนที่ต้องเสียไปนั้น ต้องไม่เสียเปล่า

 

ตามธรรมชาติแล้ว ไวรัส SARS-CoV2 นั้นจะติดเชื้อผ่านทางการจับกันของโปรตีนหนามของมันกับโปรตีน ACE2 ของโฮสต์ – โปรตีนหนามของไวรัสสายพันธุ์กลายที่สามารถจับกับ ACE2 ของมนุษย์ได้แน่นขึ้น จะทำให้ไวรัสสายพันธุ์กลายนั้นมีโอกาสติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้มากยิ่งขึ้น

แต่โปรตีนหนามของไวรัส SARS-CoV2 นั้นไม่สามารถจดจำและยึดเกาะกับโปรตีน ACE2 ของหนูได้ น้อนก็เลยไม่ติดโควิด

นักวิจัยหลายกลุ่มมองเห็นประเด็นนี้ และได้ทดลองปรับแต่งพันธุกรรมของโปรตีนหนามไวรัสให้สามารถยึดจับโปรตีน ACE2 ในหนูได้ ด้วยความหวังที่ว่าหนูจะป่วยด้วยโควิด แล้วจะได้เอามาใช้เป็นโมเดลในการทดลองต่อได้

อนิจจา ฟ้าไม่เป็นใจ แม้หนูจะติดโควิดจากไวรัสสายพันธุ์กลายแบบนี้ได้อย่างมากมาย แต่หนูส่วนใหญ่กลับไม่แสดงอาการใดๆ ของโรคให้เห็น ทำเอาหลายกลุ่มวิจัยต้องยอมแพ้ ม้วนเสื่อกลับบ้าน หรือเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นแทน

 

วินีตก็เจอปัญหานี้เช่นเดียวกันแต่แทนที่เขาจะหยุดแค่นั้น หลังจากการค้นคว้าอย่างหนักว่ามีสัตว์อะไรที่น่าจะเอามาเป็นสัตว์ทดลองได้บ้าง ลิง แมว มิ้ง แต่ท้ายที่สุด เขากลับเลือกจะก้าวเดินงานต่อไปในหนู แม้จะไม่ก่ออาการของโรคให้เห็นชัดเจน แต่เขาพบว่าหนูที่ติดเชื้อจะมีไวรัสที่หลุดเข้าไปได้ถึงในปอดอยู่บ้างพอสมควร

วินีตและทีมพยายามเก็บตัวอย่างไวรัสที่หลุดรอดลงไปในปอดหนู แล้วเอามาติดเชื้อหนูกลุ่มใหม่ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ด้วยเชื่อว่าไวรัสที่หลุดเข้าไปในปอดได้น่าจะเป็นพวกที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดโรครุนแรง และการทำให้ติดเชื้อซ้ำแบบนี้หลายๆ ครั้ง (serial passaging) จะเป็นการคัดเลือกไวรัสที่ติดเชื้อลงปอดที่ร้ายกาจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เป็นไปได้ว่าไวรัสพวกนี้อาจจะมีการกลายพันธุ์อะไรบางอย่างที่อาจจะพัฒนาไปจนสามารถก่อโรคจนเห็นเป็นอาการหนักหนาสาหัสเหมือนที่พบเจอในผู้ป่วยมนุษย์ และถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไป เขาก็น่าจะมีโอกาสที่จะค้นพบไวรัสพันธุ์กลายติดเชื้อลงปอดในหนูได้มากจนก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้

 

และแล้วไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ CMA3p20 ที่พัฒนาขึ้นมาจากห้องแลบของวินีตก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการแยกไวรัสจากปอด และเอาไปติดเชื้อซ้ำใหม่ซ้ำไปซ้ำมาถึง 20 ครั้ง ไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถติดเชื้อและก่อให้เกิดอาการติดเชื้อในปอด ปอดอักเสบ และน้ำหนักลดได้ในหนูทดลอง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการเช่นเดียวกับที่พบในผู้ป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด

วินีตและทีมรายงานต่ออีกว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ CMA3p20 นี้สามารถติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ทางเดินหายใจมนุษย์ได้ในหลอดทดลอง ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็คือการเอาไวรัสนี้มาใช้ในการทดสอบยา และการศึกษากลไกการติดเชื้อก็น่าจะให้ผลที่เอามาเทียบเคียงกันได้กับไวรัสในมนุษย์

นอกจากนี้ พวกเขายังรายงานต่ออีกว่าแอนติบอดี้ที่แยกออกมาได้จากหนูที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV2 ในเซลล์มนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองได้

แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือไวรัสนี้น่าจะยังติดเชื้อในมนุษย์ได้เหมือนกับไวรัสโควิดที่ยังแพร่กระจายจนเป็นวิกฤตอยู่ แต่สายพันธุ์นี้ได้กระโดดข้ามโฮสต์ไปติดในหนูได้ด้วย

ซึ่งถ้าหลุดออกมา คงจินตนาการได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

งานวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถออกแบบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ตามใจ และไม่ได้สนับสนุนไอเดียใดๆ ที่ว่าไวรัสโควิดนั้นหลุดออกมาจากห้องแล็บของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องแต่อย่างใด

ทุกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้เชื้อก่อโรคจะถูกควบคุมอย่างรัดกุมและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลุดออกไปก่อปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ และมีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าไวรัสโควิดและวงศาคณาญาติของมัน ทั้งไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์สนั้นอุบัติขึ้นมาจากการติดต่อโรคจากสัตว์ที่เรียกว่าซูโอโนสิส (zoonosis) ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมากมายต่างก็ตื่นเต้นกับโมเดลหนูทดลองติดเชื้อไวรัสโควิดของวินีต เพราะนี่อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่น่าจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจกลไกการเกิดโรคของไวรัส SARS-CoV2 จนนำไปสู่การพัฒนากลวิธีที่จะต่อกรและกำราบไวรัสร้ายโควิด-19 ให้ได้จนอยู่หมัดก็เป็นได้

อย่างที่บอกแหละครับ สงครามยังไม่จบ ยังต้องหายุทธวิธีรบต่อไป

งานวิจัยของวินีตเผยแพร่ในรูปแบบของพรีปรินต์ สนใจอ่านต่อสามารถเข้าไปได้ที่ https://doi.org/10.1101/2021.05.03.442357