และแล้ว ‘ประชาธิปไตยที่ตีนเขาพระสุเมรุ’ ก็ปรากฏ/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

และแล้ว

‘ประชาธิปไตยที่ตีนเขาพระสุเมรุ’ ก็ปรากฏ

 

คงอีกไม่นานนัก มหากาพย์ว่าด้วยปัญหาสารพัดตลอดระยะเวลาเกือบ 12 ปีของโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็จะสิ้นสุดลงและพร้อมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ

โดยส่วนตัว ติดตามและวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่ผลการประกวดถูกประกาศอย่างเป็นทางการ

และยังคงยืนยันความเห็นเช่นเดิมมาจนวันนี้

ด้วยความรู้สึกที่ผูกพัน (แต่ไม่ถูกใจ) กันมายาวนานเกินทศวรรษ ผมจึงคิดว่า ในโอกาสที่รัฐสภาใกล้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะตอกย้ำความไม่เห็นด้วยของตัวเองต่อโครงการนี้อีกสักครั้ง

โดยไม่จำเป็นต้องอารัมภบทให้ยืดยาว เมื่อผมได้เห็นรัฐสภาใหม่ที่สร้างเกือบสมบูรณ์ด้วยสายตาตัวเอง ผมก็ยังขอยืนยันว่ารัฐสภาแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมที่น่าผิดหวังมากที่สุดชิ้นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของไทย

ถ้าจะให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมว่าภาพจริงที่ปรากฏแห่สายตาดูน่าผิดหวังเสียยิ่งกว่าภาพจำลองตอนประกวดแบบเสียอีก

ความน่าผิดหวังที่มีต่ออาคารนั้นมีมากเกินกว่าหน้ากระดาษคอลัมน์นี้มีให้ (หากใครสนใจก็สามารถค้นสิ่งที่ผมเสนอไว้ในที่ต่างๆ และลองอ่านดูเองนะครับ)

แต่ถ้าหากจะกล่าวเฉพาะที่สำคัญที่สุดจนไม่ควรให้อภัย ผมคิดว่า คือแนวคิดหลักของการออกแบบที่ตั้งใจให้อาคารแห่งนี้คือ “รัฐสภาแห่งศีลธรรม”

 

คณะผู้ออกแบบย้ำเสมอว่าต้องการให้รัฐสภาเป็นสถานที่ประกอบกรรมดี

เป็นสภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบายโดยสื่อความหมายตรงตัวในการตั้งชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน”

และด้วยเหตุที่แนวคิดพุ่งไปที่เรื่องศีลธรรมและความดี การออกแบบจึงได้นำแนวคิด แผนผัง และองค์ประกอบที่อ้างอิง “ไตรภูมิ” อันเป็นความเชื่อเก่าแก่อย่างหนึ่งของพุทธศาสนามาใช้เป็นแนวทางหลังในการออกแบบ

ภายใต้แนวคิดนี้ทั้งอาคารจึงเป็นดั่งการจำลองเขาพระสุเมรุลงมาบนพื้นโลก

ยอดเจดีย์สีทองคือ “จุฬามณีเจดียสถาน” บนยอดเขาพระสุเมรุ ภายในประดิษฐาน “พระสยามเทวาธิราช”

ถัดลงมาคือท้องพระโรงสำหรับเสด็จเปิดการประชุมรัฐสภา ที่อาจเทียบเคียงได้ดั่งที่ประทับของพระอินทร์

ถัดลงมาเป็นฐานอาคารที่ปลูกต้นไม้ไว้โดยรอบ สื่อความหมายคือป่าหิมพานต์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

ปีกอาคารทั้งสองด้านคือห้องประชุม ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งทำหน้าที่ในเชิงความหมายเป็นดั่งพระอาทิตย์และพระจันทร์ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ

สะท้อนชัดเจนจากชื่อห้องประชุม ส.ส.ที่ใช้ว่า “ห้องพระสุริยัน” ส่วนห้องประชุม ส.ว.ใช้ชื่อว่า “ห้องพระจันทรา”

 

ในทัศนะผม การวางแนวคิดเช่นนี้เป็นเสมือนการตั้งหางเสือเรือไปผิดทางตั้งแต่ต้น

เพราะรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นสถานที่ทางโลก

เป็นพื้นที่สำหรับการตกลงและต่อรองในการจัดสรรใช้สอยทรัพยากรของชาติ ตรากฎหมาย

ตลอดจนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างเสรี ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำเอาหลักการทางศาสนามาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ

คณะผู้ออกแบบให้ความเห็นต่อกรณีนี้หลายครั้ง สาระสำคัญโดยสรุปคือการมองว่าคนไทยมักศรัทธาในหลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตกมากเกินไป

ในขณะที่คณะผู้ออกแบบเชื่อว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยจะไปไม่มีทางก้าวหน้าไปถึงไหนแน่ หากขาดไร้ซึ่งศีลธรรมคอยกำกับ

ฟังดูดีนะครับ แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบตรรกะที่ผิดพลาด เพราะเป็นการคิดเองเออเองว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตก (จริงๆ คำว่าแบบตะวันตกก็มีปัญหาพอสมควร แต่จะขอละไว้ก่อน ณ ที่นี้) คือรูปแบบการปกครองที่ปราศจากศีลธรรมคอยกำกับ

โดยไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญก็น่าจะพอรู้นะครับว่า ศีลธรรมที่คอยกำกับประชาธิปไตยนั้นมีอยู่มากมายมหาศาลทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นหลักการถ่วงดุลอำนาจ หลักการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หลักการเรื่องความเสมอภาค

และโดยเฉพาะหลักการที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะเจ้าของชาติและอำนาจอธิปไตยสูงสุด ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องดีงามทั้งสิ้นไม่ใช่หรือ

ทำไมผู้ออกแบบจึงมองไม่เห็นศีลธรรมชุดนี้

 

แน่นอน หลักการดังกล่าวมีช่องโหว่รูรั่วมากมายจนสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยมาโดยตลอด แต่สิ่งที่ผมไม่เข้าใจจนทุกวันนี้ก็คือ ทำไมคณะผู้ออกแบบถึงคิดว่าศีลธรรมทางศาสนาจะช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้ ที่สำคัญคือ ไม่ใช่ศีลธรรมทางศาสนาเฉยๆ ด้วยนะครับ แต่ต้องเป็นศีลธรรมเฉพาะของพุทธศาสนาอีกต่างหาก

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศมากมายในยุคก่อนมีประชาธิปไตย ในยุคที่ศาสนาคือแกนหลักในการเมืองการปกครอง ผมอยากถามจริงๆ ว่า คณะผู้ออกแบบมองเห็นแต่ความสวยงามอย่างเดียวจริงหรือ มองไม่เห็นด้านที่เลวร้าย กดขี่ และไร้ศีลธรรมในนามของศาสนาบ้างเลยหรือครับ

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ต้องการจะให้มานั่งชั่งตวงวัดเทียบกันนะครับว่าข้อเสียของสังคมที่มีศาสนาเป็นแกนกลาง กับมีประชาธิปไตยเป็นแกนกลางนั้นแบบไหนมีข้อเสียมากกว่ากัน

แต่ประเด็นคือทำไมเราจึงเลือกแก้ปัญหาสังคมประชาธิปไตยโดยเลือกที่จะเดินถอยหลังกลับไปเจอปัญหาแบบเดิมๆ

ทำไมเราจึงไม่เลือกแก้ปัญหาประชาธิปไตยด้วยวิธีก้าวไปข้างหน้า

ทำไมคณะผู้ออกแบบจึงไม่ยึดถือในหลักศีลธรรมของระบอบประชาธิปไตยนี้และออกแบบพื้นที่ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ศีลธรรมชุดนี้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ออกแบบพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

 

ผมผิดหวังมากที่รัฐสภาแห่งใหม่เต็มไปด้วยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ลองนึกภาพรัฐสภาแห่งนี้ตอนเปิดใช้งานเต็มรูปแบบดูนะครับ ผู้คนส่วนใหญ่ที่ผ่านไปผ่านมาก็ต้องคิดว่านี่คือวัด เพราะมีเจดีย์ตั้งอยู่ตรงยอด ซึ่งก็คงจะต้องผ่านพิธีกรรมที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เกิดขึ้นกับเจดีย์และรูปเคารพข้างในอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยพิธีกรรมดังกล่าวที่ผสมโรงเข้ากับภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ยกเขาพระสุเมรุบนสวรรค์มาไว้บนพื้นโลก ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดความรู้สึกของการเป็นพื้นที่วัดมากกว่ารัฐสภา

และพวกเขาต้องรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเป็นพื้นที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของพวกเขา

สิ่งเหล่านี้ผมเคยเสนอไปแล้วว่า มันคือภาษาในการออกแบบที่เข้ามากด ข่มประชาชน

ไม่ใช่การออกแบบที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อคนรู้สึกว่าตรงนี้คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะไม่เกิดการคอร์รัปชั่นจริงหรือ หรือเกิดลดลงแน่หรือ

จุดนี้แหละคือสิ่งที่ผมพูดตลอดว่า คณะผู้ออกแบบคาดหวังอย่างไร้เดียงสาเกินไปว่าการออกแบบพื้นที่เช่นนี้จะทำให้นักการเมืองละอายและเกรงกลัวต่อบาปไม่มากก็น้อย

 

จะว่าไป อาคารแห่งนี้ก็เปิดใช้งานมาพอสมควรแล้วนะครับ เป็นยังไงบ้างครับ จริยธรรมของนักการเมือง, รัฐมนตรี, ส.ส. และ ส.ว. ดีขึ้นบ้างหรือยัง

หรือจริงๆ แล้วการออกแบบที่ยิ่งสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นนอกจากจะไม่ช่วยให้ศีลธรรมสูงส่งขึ้นแล้ว ซ้ำร้ายยังทำให้ศีลธรรมแบบประชาธิปไตยอ่อนแอเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ไม่ว่าจะเป็นหลักการตรวจสอบถ่วงดุล หลักความเสมอภาค และหลักการว่าด้วยประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด

ในทัศนะผม การออกแบบพื้นที่ประชาธิปไตยในรัฐสภาแห่งนี้ไม่ใช่การออกแบบ “รัฐสภาแห่งศีลธรรม” ตามที่คณะผู้ออกแบบกล่าวอ้างแต่อย่างใดเลย แต่แท้จริงแล้วมันคือการออกแบบที่กดพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมไทยให้อยู่ได้แค่ที่ตีนเข้าพระสุเมรุต่างหาก

ผมอธิบายในหลายแห่งแล้วว่า ความเลวร้ายที่ไม่น่าให้อภัยของรัฐสภาแห่งใหม่นี้เป็นผลพวงสืบเนื่องโดยตรงมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ตัวมันเป็นเสมือนผลไม้พิษอีกลูกหนึ่งที่เจริญเติบโตมาจากต้นไม้แห่งการรัฐประหารที่ฝังรากลึกในสังคมไทย

หากในอนาคตข้างหน้าเราสามารถถอนรากโค่นของการรัฐประหารทิ้งออกไปได้ การรื้อถอนผลพวงรัฐประหารที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องจัดการก็คือ สัปปายะสภาสถาน แห่งนี้

 

การรื้อถอนมิได้หมายถึงการทุบอาคารทิ้งนะครับ เพราะงบประมาณหลายหมื่นล้านจากภาษีประชาชนในการก่อสร้างไม่ควรถูกเททิ้งลงแม่น้ำไปอย่างไร้ความหมาย

แต่การรื้อถอนหมายถึงการทำลายความหมายตลอดจนภาษาสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำ “ประชาธิปไตยที่ตีนเขาพระสุเมรุ” ลง

โดยผ่านกระบวนการจัดประกวดแบบครั้งใหม่ที่มีโจทย์ในการปรับปรุงรัฐสภาเฉพาะส่วนที่จำเป็นให้กลับมาเป็นพื้นที่ที่ยึดมั่นในศีลธรรม

ตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงอีกครั้ง