ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | การ์ตูนที่รัก |
ผู้เขียน | นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ |
เผยแพร่ |
ผ่าพิภพไททัน-บทตาม : กินเนื้อคน
การ์ตูนที่รักตอนที่แล้วใช้การ์ตูนสั้นเรื่อง Pierre ของ Maurice Sendak ปูพื้นฐานเรื่องการกลืนกินและกำเนิดใหม่
เพื่อเข้าใจส่วนนี้ชวนไปดูภาพเขียนของ Luca Signorelli – Resurrection of the Flesh 1499-1502 ที่ Orvieto Cathedral ในอิตาลีที่แสดงให้เห็นการสลายร่างและเกิดใหม่ของมนุษย์ และอ้างถึงคำพูดของนักบุญเปาโลในพระคริสตธรรมใหม่ ดังนี้
“นี่แน่ะ ข้าพเจ้ามีความล้ำลึกที่จะบอกกับพวกท่าน คือเราจะไม่ล่วงลับหมดทุกคน แต่จะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกคน ในชั่วขณะเดียว ในพริบตาเดียว เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้าย เพราะว่าจะมีการเป่าแตร และพวกที่ตายแล้วจะถูกทำให้เป็นขึ้นโดยปราศจากความเสื่อมสลาย แล้วเราจะถูกเปลี่ยนใหม่เพราะว่าสิ่งที่เสื่อมสลายได้นี้ต้องสวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้ และสภาพที่ต้องตายนี้ต้องสวมด้วยสภาพที่ไม่ตาย เมื่อสิ่งที่เสื่อมสลายได้นี้สวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้ และสภาพที่ต้องตายนี้สวมด้วยสภาพที่ไม่ตาย เมื่อนั้นพระวจนะที่เขียนไว้จะสำเร็จว่า “ความตายก็ถูกกลืนเข้าในชัยชนะแล้ว”
1 โครินธ์ 15:51-54 THSV11
https://www.bible.com/174/1co.15.51-54.thsv11
ทบทวนกลไกทางจิตเรื่องการกลืนกิน หรือการสวาปาม จิตวิเคราะห์เรียกว่า incorporation
เมื่อทารกอายุ 6 เดือนมีฟันขึ้นเริ่มขบกัดหัวนมแม่ แม่จะบิดตัวหนีไม่ให้นม และบางครั้งเผลอตีลูกด้วยความเจ็บ บัดนี้แม่ใจดีกลายเป็นแม่ใจร้าย ทารกจะกำจัดแม่ใจร้ายด้วยการกลืนกินเข้าไปหมดทั้งตัว นี่คือกลไกป้องกันตัวทางจิตแรกๆ ของชีวิต
ได้ประโยชน์ 2 ข้อ ข้อแรก คือกำจัดแม่ใจร้าย ข้อสอง คือได้พลังอำนาจของแม่มาไว้กับตัว พูดง่ายๆ คือแม่ตีมา เราข่วนหน้ากลับ
เรื่องกินเนื้อคน หรือ cannibalism เป็นประเด็นจิตวิเคราะห์ที่รองรับโครงเรื่องของผ่าพิภพไททันตลอดทั้งเรื่อง
เริ่มตั้งแต่ฝูงไททันวิปริตไล่กินคน
ไททันตัวหนึ่งกินเอเลน
ฝูงไททันวิปริตรุมกินไททันหญิง
และกองทหารกินไขสันหลังของไททัน
ตามความเชื่อของบางชนเผ่า การกินเนื้อคนเป็นพิธีกรรมและวิธีการที่จะได้พลังอำนาจของคนนั้นมา
เรื่องกองทหารกินไขสันหลังของไททันอยู่ใต้ความเชื่อนี้ การ์ตูนจะแปลงเรื่องนี้ให้ซับซ้อนขึ้น มีทั้งแบบกินสดๆ หรือผสมไวน์ให้ดื่ม จากนั้นจึงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ทหารทั้งหลายนั้นจึงกลายร่างเป็นไททัน
ไททันไล่กินคนในตอนต้นเรื่องให้ภาพน่ากลัวและน่าคลื่นเหียน เหมือนสัตว์ป่าไล่กินเนื้อกวาง เป็นที่ทราบกันว่าสัตว์บางสปีชีส์กินพวกเดียวกันได้ ข้อเสียทางชีววิทยาคือเมื่อทำไปนานๆ อาจจะก่อโรคบางอย่างขึ้น ดังที่เราเคยได้ข่าวเรื่องการกินสมองคนในแอฟริกา
การ์ตูนบอกเป็นนัยว่าเพราะไททันเหล่านี้ทำตัวแบบนี้จึงวิปริต
มาที่เรื่องเอเลนถูกไททันกินแล้วกำเนิดใหม่เป็นมนุษย์ที่สามารถแปลงร่างเป็นไททัน ความตายมิใช่จุดสิ้นสุด ที่แท้มนุษย์จะกำเนิดใหม่เมื่อถึงวันสิ้นโลก แล้วเอเลนก็เป็นตัวแปรสำคัญของวันสิ้นโลกในตอนท้ายเรื่องจริงๆ เสียด้วย
ไททันที่เห็นในการ์ตูนมีจุดอ่อนที่ท้ายทอย ซึ่งเป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่อคล้ายไขสันหลังของมนุษย์ เป็นว่าไททันทุกตัวทั้งที่เป็นไททันวิปริตหรือไททันระดับสูงจะมีไขสันหลังของมนุษย์หลงเหลืออยู่ที่ตรงท้ายทอย หากฟันถูกตรงนี้คือตาย ครั้นพอถึงฉากที่ไททันหญิงถูกทรมานถึงที่สุด หล่อนโหยหวนเรียกฝูงไททันวิปริตมารุมกินโต๊ะตัวเอง เพื่อปลดปล่อยตัวตนของ “แอนนี่” ที่อยู่ภายใน ที่แท้แล้วไททันที่เห็นเป็นได้เพียงแค่เปลือก
เป็นการ์ตูนที่เชิดชูความเป็นมนุษย์ (humanistic) มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
เมื่อทารกสวาปามแม่เข้าไป แม่ถูกย่อยสลายแล้วเกิดใหม่อยู่ภายใน เป็น mental representation ของแม่ที่จะคงอยู่ตลอดไป พูดง่ายๆ ว่าบางส่วนของแม่จะอยู่กับเราไปเสมอมิใช่เพียงแค่เรื่องนิสัยใจคอ แต่รวมถึงหน้าตาด้วย
หลายครั้งที่เราไม่อยากดุลูก ไม่อยากตีลูก เหมือนที่แม่เคยทำกับเรา แต่สุดท้ายเราก็ทำ เพราะที่แท้แล้วแม่ยังอยู่ที่ต้นคอของเราและคอยขยุ้มเราเมื่อเราเผลอ
เมื่ออายุมากขึ้น เราอาจจะพบว่าไม่เพียงนิสัยเราเหมือนแม่ หน้าตาของเราเหมือนใบหน้าของแม่มากขึ้นทุกๆ ปีที่ผ่านไป หากหยิบรูปถ่ายตอนเราแก่และตอนที่แม่แก่มาวางไว้คู่กัน จะพบด้วยความมหัศจรรย์ใจว่าเหมือนกันมาก ยิ่งไปกว่านั้นบางคนเหมือนแม้กระทั่งท่าเดิน ท่านั่งหรือสำเนียงการพูด
ความจริงก็คือ ท่านจะเกลียดแม่เพียงไรท่านก็สลัดไม่หลุด
นอกเหนือจากคำว่าสวาปาม หรือ incorporate ยังมีคำว่านำเข้าภายใน หรือ internalize คำนี้มีความหมายกว้างกว่าและใช้ได้กับทั้งพ่อและแม่ กล่าวคือ เราไม่เพียงสวาปามแม่ตอนกินนม แต่เราอินเทอร์นอลไลซ์พ่อและแม่ในชีวิตประจำวันด้วย
ด้วยกลไกนี้เราจึงเหมือนพ่อทั้งนิสัยใจคอและอากัปกิริยาเช่นเดียวกัน มากกว่านี้คือท่าเดินและการพูดจาเหมือนๆ กัน
เหล่านี้เป็นทั้งประเด็นทางจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์อธิบายว่าทำไมเราจึงเหมือนพ่อ-แม่มากนักทั้งๆ ที่พยายามจะไม่เหมือน
ยังมีคำคล้ายกันอีกคำหนึ่งคือ introjection แปลว่าการพุ่งใส่ตนเอง เป็นกลไกทางจิตที่ทำงานในทิศทางตรงข้ามกับการโยนกลองให้ผู้อื่นคือ projection ยกตัวอย่างที่บอกในตอนแรกว่าที่แท้เป็นเรา “พวกมนุษย์” ที่กินไม่เลือก กินสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ขวางหน้า แล่เนื้อเถือหนังปลาวาฬทั้งตัวเพื่อกัดกิน ไล่ล่าค้างคาวเอามากิน กินได้หมดทั้งสมองลิง สมองคน เนื้อดิบๆ และลาบเลือด แต่เราไม่ผิด ที่ผิดคือไททัน
เราโยนผิดไปที่ “พวกมัน”
ระบาดรอบสาม ที่ผิดคือพวกชนชั้นล่างไม่ใส่หน้ากาก ชอบสุมหัวกินลาบแล้วไม่ระวังตัว
ชาวเอลเดียในค่ายกักกันที่เมอเร่ทำตรงกันข้าม พวกเขาพุ่งหอกแห่งความผิดเข้าใส่ตนเอง ที่ชาวเอลเดียรุ่นหลังตกระกำลำบากก็เพราะเผ่าพันธุ์ของเราทำผิดและเราสมควรรับความผิดนั้นไว้ หลายคนแปรเป็นอารมณ์เศร้าและโรคซึมเศร้า ชาวเมอเร่ช่วยเปลี่ยนทิศทางของหอกพุ่งออกไปที่พวกไททันในกำแพงอีกต่อหนึ่ง
อาร์มินฝั่งเอลเดียและฟอลโกฝั่งเมอเร่ เป็นตัวอย่างของการกินไขสันหลังของไททันแล้วได้พลังชีวิตของไททัน ที่เขารับเอาเข้ามาไม่เพียงแค่ชีวิตแต่เป็นพลังอำนาจ ด้วยความที่สองคนนี้ดูเป็นเด็ก เราจึงรู้สึกถึงประเด็นนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น
ในตอนจบของเล่ม 33 ซึ่งเกือบจะเหมือนวันสิ้นโลก กลไกทางจิตทุกประการที่เล่ามากำลังจะเข้าปะทะกันในหน้าสุดท้าย