จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (2)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (2)

 

เรื่องของห้าราชวงศ์

ห้าราชวงศ์ที่จะได้กล่าวต่อไปนี้ประกอบไปด้วยราชวงศ์เหลียงสมัยหลัง ราชวงศ์นี้มีพื้นที่ที่ยึดครองส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑลเหอหนัน สั่นซี ซันตง หูเป่ย และบางส่วนของเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ยกับมณฑลเหอเป่ย ซันซี กันซู่ อันฮุย และเจียงซีในปัจจุบัน

ราชวงศ์ถังสมัยหลัง จิ้นสมัยหลัง ฮั่นสมัยหลัง จะยึดครองพื้นที่ที่กว้างกว่าเหลียงสมัยหลัง และโจวสมัยหลัง จะยึดครองเขตแดนที่กว้างใหญ่ที่สุด โดยเขตแดนจะยืดไกลออกไปทางใต้ตลอดแนวชายฝั่งด้านเหนือของแม่น้ำหยังจื่อในมณฑลหูเป่ย อันฮุย และเจียงซู

โดยหากไม่นับขนาดของพื้นที่ที่ห้าราชวงศ์เหล่านี้ยึดครองแล้ว โจวสมัยหลังนับเป็นราชวงศ์ที่มีบทบาททางที่สำคัญที่สุด เพราะถือเป็นราชวงศ์ที่รัฐใหญ่น้อยต่างๆ จะยอมขึ้นต่อในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ในห้าราชวงศ์นี้มีเพียงถังสมัยหลังเท่านั้นที่ใช้ลว่อหยังเป็นเมืองหลวง ที่เหลืออีกสี่ราชวงศ์ต่างใช้ไคเฟิงเป็นเมืองหลวงทั้งสิ้น

 

การกล่าวถึงยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐที่สืบเนื่องมาจากการล่มสลายของราชวงศ์ถังนั้น ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงบทบาทของจูเวินผู้โค่นล้มถังเป็นจุดเริ่มไปได้ โดยเมื่อโค่นล้มถังไปแล้วเขาก็ตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่มีชื่อว่า เหลียง

ชื่อนี้ตั้งตามชื่อพื้นที่ที่ราชวงศ์นี้ตั้งมั่นเอาไว้ แต่ชั้นหลังต่อมาชื่อราชวงศ์นี้ถูกเรียกว่า โฮ่วเหลียง (เหลียงสมัยหลัง, ค.ศ.907-923)

เมื่อตั้งราชวงศ์ขึ้นแล้วก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิตามธรรมเนียม แต่แทนที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร จูเวินกลับทำแต่ศึกและปล้นสะดมจากตอนใต้ไปตอนเหนือไม่ยั้งมือ ส่งผลให้ราษฎรโกรธแค้นจนเกิดเป็นกบฏของชาวนาขึ้นมาทั่วจีน

ตราบจน ค.ศ.912 จูเวินถูกบุตรชายคนที่สามของตนสังหารแล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิแทน แต่ไม่นานหลังจากนั้นบุตรคนที่สามก็ถูกบุตรคนที่สี่สังหารอีก แต่นั้นมาบุตรคนที่สี่ก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่จูเวินเรืองอำนาจอยู่นั้น ศัตรูสำคัญของเขากลับมิใช่กบฏชาวนา หากแต่คือ หลี่เค่อย่ง

 

หลี่เค่อย่ง (ค.ศ.856-908) เป็นชนชาติซาถว๋อและข้าหลวงทหารคนหนึ่งในยุคถัง ตอนนั้นเขาเป็นคู่แข่งกับจูเวิน ทั้งสองจึงมีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดี และได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่ ค.ศ.884

ครั้นถึง ค.ศ.907 อันเป็นปีที่จูเวินโค่นถังได้สำเร็จ หลี่เค่อย่งซึ่งจงรักภักดีต่อถังจึงกลายเป็นศัตรูของจูเวินอย่างเปิดเผย แต่โชคมิได้อยู่ข้างเขา ด้วยพอปีถัดมาเขาก็เสียชีวิตลง ก่อนเสียชีวิตเขาให้บุตรของเขาสาบานว่าจักต้องกำจัดจูเวินให้ได้ และบุตรของเขาก็รับคำสาบาน

บุตรของเขาชื่อ หลี่ฉุนซี่ว์ (ค.ศ.885-926)

กล่าวกันว่า หลี่ฉุนซี่ว์ได้ติดตามบิดาไปทำศึกตั้งแต่เยาว์วัย นิยมชมชอบการขี่ม้าและยิงธนูตั้งแต่เด็ก จนครั้งหนึ่งขณะเข้าเฝ้าจักรพรรดิถังเจาจง พระองค์ทรงพอใจในตัวเขาและได้พระราชทานหยกให้เขา พร้อมกับทรงลูบหลังของเขาแล้วตรัสว่า

“กุมารผู้นี้มีหน้าตาวิเศษ ภายภาคหน้าจักเป็นผู้สามารถในแผ่นดิน ขอจงภักดีต่อถังแห่งเราเถิด”

 

หลังจากสืบทอดอำนาจต่อจากบิดาแล้ว หลี่ฉุนซี่ว์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว ตราบจน ค.ศ.923 ก็ประกาศตั้งราชวงศ์ขึ้นโดยใช้ชื่อว่า ถัง เพื่อบ่งบอกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อราชวงศ์นี้ ประวัติศาสตร์เรียกราชวงศ์นี้ว่า โฮ่วถัง (ถังสมัยหลัง, ค.ศ.923-937)

หลังจากนั้นก็กรีธาทัพเข้าโค่นล้มเหลียงสมัยหลังได้สำเร็จสมตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นบิดา ครั้นถึง ค.ศ.925 ก็ให้ไพร่พลหกหมื่นนายกรีธาเข้าตีรัฐสู่สมัยแรก (หนึ่งในสิบรัฐของยุคนั้น) ได้สำเร็จอีกด้วย

แต่ที่ดูเหมือนไม่ได้อยู่ในเจตนารมณ์ก็คือว่า เมื่อโค่นล้มเหลียงสมัยหลังลงแล้ว โฮ่วถังภายใต้การนำของหลี่ฉุนซี่ว์ก็มิได้นำพาต่อรัฐกิจอีกเลย เขากลายเป็นจักรพรรดิที่มุ่งแต่หาความสำราญให้ตน โดยเฉพาะการหมกมุ่นอยู่กับการดูงิ้วและเล่นงิ้ว

หลี่ฉุนซี่ว์รักการเล่นงิ้วจนมีสหายที่เป็นนักแสดงงิ้วด้วยกันจำนวนมาก เวลาไปไหนจะมีนักแสดงงิ้วติดสอยห้อยตามเป็นขบวน จนทำให้นักแสดงเหล่านี้สามารถเข้านอกออกในวังได้ทุกเวลา ครั้นเวลาผ่านไปก็ถึงกับเข้ามาก้าวก่ายรัฐกิจ และรับสินบนจากเหล่าเสนามาตย์ที่ต้องการความดีความชอบจากหลี่ฉุนซี่ว์

ถึงตอนนี้ราชสำนักถังสมัยหลังจึงถูกเปรียบไม่ต่างกับเวทีงิ้ว

นอกจากนี้ เขายังแยกตัวออกจากกองทัพอีกด้วย ความดีความชอบที่กองทัพพึงได้จากการช่วยให้เขาตั้งตนเป็นใหญ่ได้ก็ละเลย ในขณะที่ราษฎรอดอยากยากแค้น เขากับมเหสีกลับใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะมเหสีที่เคยยากจนมาก่อนนั้น ครั้นพอได้ดีก็เกิดความละโมบนำเงินจากคลังหลวงมาเป็นของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ ความไม่พอใจของเหล่าขุนศึกก็เกิดไปทั่ว และได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านและสังหารเขาจนสิ้นชีพใน ค.ศ.926

โดยภายหลังจากนั้นเหล่าขุนศึกหาได้ตั้งตนครองอำนาจแทนไม่ หากให้บุคคลในสกุลหลี่เป็นจักรพรรดิต่อไป ซึ่งก็มิได้ราบรื่นดีนัก ด้วยแต่ละคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิล้วนมาจากการสังหารจักรพรรดิองค์ก่อนหน้าทั้งสิ้น

ตราบจนจักรพรรดิองค์ที่สี่การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเกิดขึ้นโดยน้ำมือของข้าหลวงทหารผู้หนึ่งที่ชื่อ สือจิ้งถัง

 

สือจิ้งถัง (ค.ศ.892-942) เป็นข้าหลวงทหารชนชาติซาทว๋อ ช่วงที่ยังมิได้เรืองอำนาจนั้น กล่าวกันว่า สือจิ้งถังเป็นขุนนางที่ดำรงตนสมถะ ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุข ใส่ใจในหน้าที่การงาน และมีความยุติธรรมในการตัดสินคดีความต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับจากราษฎร

และด้วยคุณความดีดังกล่าวทำให้เขาได้เป็นราชบุตรเขยของถังสมัยหลัง ตอนที่จักรพรรดิองค์ที่สี่ของถังสมัยหลังขึ้นครองอำนาจ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงทหาร และเป็นผู้ปกครองเมืองไท่หยวนซึ่งเป็นเมืองสำคัญในเวลานั้น

แต่การช่วงชิงอำนาจของถังสมัยหลังกลับทำให้สือจิ้งถังไม่พอใจ และมีความคิดที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจบ้าง แต่ก็ทำมิได้ถนัด ด้วยกำลังของเขายังไม่เข้มแข็งพอที่จะโค่นถังสมัยหลังลงได้

จากความทะเยอทะยานนี้ได้ผลักดันให้สือจิ้งถังใช้วิธีที่ผิดๆ และน่าอัปยศอดสูด้วยการขอกำลังจากชนชาติคีตัน (ชี่ตัน) ที่กำลังกล้าแข็งอย่างยิ่งให้มาช่วยเขายึดอำนาจ

ที่ว่าน่าอัปยศอดสูก็เพราะว่า นอกจากผู้นำคีตันจะขอประโยชน์ต่างๆ เพื่อแลกกับการช่วยให้สือจิ้งถังเป็นจักรพรรดิแล้ว ก็ยังขอให้ราชวงศ์ใหม่ที่สือจิ้งถังจะตั้งขึ้นต้องขึ้นต่อคีตัน และตัวเขาในฐานะจักรพรรดิต้องให้ความเคารพผู้นำคีตันเยี่ยงบิดา

ด้วยเหตุที่เขาปรารถนาที่จะเป็นจักรพรรดิอย่างแรงกล้าจึงยอมตามเงื่อนไขดังกล่าว

เหตุดังนั้น ในปลาย ค.ศ.936 ทัพของคีตันและสือจิ้งถังจึงบุกเข้าตีถังสมัยหลังจนยึดเมืองหลวงลว่อหยังเอาไว้ได้ ส่วนจักรพรรดิและวงศานุวงศ์พร้อมด้วยตราพระราชลัญจกรก็ใช้เพลิงเผาจนตายสิ้น

เมื่อถังสมัยหลังล่มสลายแล้วสือจิ้งถังจึงตั้งราชวงศ์จิ้นขึ้นโดยมีตนเป็นจักรพรรดิองค์แรก

 

ประวัติศาสตร์เรียกราชวงศ์นี้ว่า จิ้นสมัยหลัง (โฮ่วจิ้น, ค.ศ.936-947)

จิ้นสมัยหลังที่เกิดตามแรงปรารถนาใคร่เป็นจักรพรรดิของสือจิ้งถังมิได้ราบรื่นดีนัก ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นมีมูลค่าที่สูงมาก กล่าวคือ จิ้นสมัยหลังจักต้องส่งผ้าไหมสามแสนพับให้แก่คีตันทุกปี

และต้องยกพื้นที่ใน 16 เมืองแถบกรุงเป่ยจิง มณฑลเหอเป่ย ภาคเหนือของซันซีกับบางส่วนของมองโกเลียในในปัจจุบันให้แก่คีตันอีกด้วย แต่ที่ประมาณค่ามิได้ก็คือ การที่จักรพรรดิของจิ้นสมัยหลังมีฐานะเป็นราชบุตร (เอ๋อร์ฮว๋างตี้) ของผู้นำคีตัน

ซึ่งจักต้องเรียกผู้นำชนชาตินี้ว่า ราชบิดา ไปตลอดราชวงศ์