ปัญหาของราชนีติใหม่/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ปัญหาของราชนีติใหม่

 

ขัตติยประเพณีแต่ก่อนวางพระราชอำนาจของกษัตริย์ไว้กับหลักการทางธรรมของศาสนา เช่น กษัตริย์ยุโรปคือผู้ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้เป็นผู้ปกครองดูแลสิ่งสร้างของพระองค์บนโลก

กาหลิบคือตัวแทนของตัวแทนผู้ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้เผยแพร่คำสอนของพระองค์ จักรพรรดิจีนคือโอรสสวรรค์ที่อำนวยความสงบสุขและความเป็นธรรมแก่มนุษย์ และ ฯลฯ

ในเมืองไทยและอีกหลายรัฐเถรวาทของเอเชียใช้หลักธรรมราชา คือกษัตริย์มีหน้าที่ในการเผยแผ่และรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคงถาวร ทรงกระทำการทั้งนี้ได้ด้วยการปฏิบัติพระองค์ตามหลักราชพิธทศธรรม และจักรวรรดิวัตร

เพราะฉะนั้น ในบรรดาพระราชอำนาจด้านต่างๆ ของกษัตริย์ ว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว พระราชอำนาจทางศีลธรรมดูจะมีความสำคัญที่สุด เพราะที่สามารถผูกขาดการค้าได้ สั่งหรือแม้แต่ฆ่าเจ้านาย, ขุนนางและราษฎรได้, ระดมกองทัพได้, เป็นจุดสูงสุดของความยุติธรรมได้, ออกกฎหมายได้ตามใจชอบ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นอำนาจที่ต้องอาศัยอำนาจทางศีลธรรมค้ำจุน

ซ้ำเพื่อรักษาอำนาจอื่นๆ นั้นไว้ ยังต้องสร้างกลไกต่างๆ เพื่อผดุงให้เป็นอำนาจจริงในทางปฏิบัติได้ด้วย กลไกนั้นๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกับคนอื่น และด้วยเหตุดังนั้นจึงบังคับให้ต้องแบ่งปันอำนาจนั้นแก่พวกเขาไปด้วย ซึ่งเท่ากับพระราชอำนาจด้านนั้นๆ ถูกจำกัดไปโดยปริยาย ดูเหมือนเต็มเปี่ยมก็แต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่อำนาจทางศีลธรรมทรงทำเองคนเดียวได้

จริงอยู่ศีลธรรมก็จำกัดพระราชอำนาจลงได้เช่นกัน แต่มันมีทางหนีทีไล่มากกว่าอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย ฯลฯ เพราะสามารถใช้การโฆษณาชวนเชื่อด้วยนัยยะวิธีอันหลากหลาย เพื่อทำให้พระราชจริยวัตรถูกต้องตามความคาดหวังของศีลธรรมได้เสมอ หากยิ่งคิดถึงสมัยโบราณ การโฆษณาชวนเชื่อยิ่งทำง่าย เพราะสามารถควบคุมข้อมูลสาธารณะให้เหลือแต่เพียงข้อมูลที่ต้องการเท่านั้น

แต่ปัญหามาอยู่ที่ว่า เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ถึง “ธรรม” อาจไม่เปลี่ยน (แต่ที่จริงผมคิดว่าเปลี่ยน) แต่ “ศีล” หรือมาตรฐานทางความประพฤตินั้นเปลี่ยนแน่ อะไรที่เคยถือว่าทำได้ไม่ผิดอะไร ก็กลายเป็นเรื่องน่าตำหนิหรือทำให้ผู้ประพฤติมัวหมองได้

 

การรับสินบนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความชอบธรรมของผู้มีอำนาจในเกือบทุกสังคมกระมัง เพราะไม่รับสินบนเลยจะแสดงว่าตนมีอำนาจบารมีได้อย่างไร (ซึ่งภาษาเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันเรียกรวมๆ ว่า “ค่าเช่า”) แต่ในปัจจุบัน ผู้มีอำนาจรวมทั้งกษัตริย์ด้วยจะเก็บ “ค่าเช่า” โดยไม่โดนนินทาหรือถึงขั้นประณามเลยไม่ได้เสียแล้ว

ดังนั้น กษัตริย์จะทำนุบำรุงพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดาต่อไป หรือจักรักษาความเคารพศรัทธาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าต่อไปก็ทำไปเถิด แต่เฉพาะ “ศีล” ที่ศาสนาเคยกำกับความประพฤติมาก่อนนั้น ไม่เพียงพอหรือในบางสังคมและกาลเวลา ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ตรงกันข้ามกลับมี “ศีล” ข้อใหม่ๆ อีกหลายอย่างที่กษัตริย์ต้องเคารพเชื่อฟัง เพื่อรักษาพระราชอำนาจทางศีลธรรมเอาไว้ต่อไปให้ได้

นี่คือ ราชนีติ สำนวนใหม่ ที่บังคับใช้แก่กษัตริย์ในเกือบทุกราชวงศ์ของโลกปัจจุบัน

 

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เคยชี้ให้เห็นว่า “ศีลธรรม” ใหม่ของพระราชาสำนวนนี้ อันที่จริงแล้วไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อพระราชาโดยตรง แต่เป็นผลผลิตของเหล่ากระฎุมพีของรัฐต่างๆ แม้แต่ในรัฐที่จำนวนหัวของกระฎุมพีไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ เพราะถึงอย่างไร รสนิยม, ผลประโยชน์, ความชอบ, วิถีชีวิต และศีลธรรมของกระฎุมพีก็ครอบงำคนในสังคมปัจจุบันสูงสุดอยู่แล้ว

แต่ที่น่าตลกไปกว่านั้น ท่านยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ศีลธรรมกระฎุมพีก็ไม่ใช่ข้อบังคับตายตัวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในหมู่กระฎุมพี เพราะที่จริงมันเป็นเพียงอุดมคติ (ที่สอดรับกับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและการเมืองของกระฎุมพี) เท่านั้น ในชีวิตจริง กระฎุมพีทุกคนต่างก็ปากว่าตาขยิบเข้าหากัน อย่าทำอย่างโน้น อย่าทำอย่างนี้ อย่างประเจิดประเจ้อเกินไปเท่านั้น แต่ต่างก็รู้กันดีว่า ทุกฝ่ายย่อมละเมิด “ศีล” เหล่านี้มากบ้างน้อยบ้าง ข้อนี้บ้าง ข้อโน้นบ้าง เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตปรกติแบบกระฎุมพี

เคร่งครัดเกินไปเสียอีก จะดู “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” ไปเสียเลย (เช่น เปิดหรือกินไวน์ไม่เป็น)

แม้กระนั้น อุดมคติก็สำคัญนะครับ ชีวิตจริง อยากทำอะไรก็ทำ แต่ปากต้องยกย่องสรรเสริญและปกป้องอุดมคติที่ไม่มีใครทำจริงไว้อย่างแข็งขันเสมอไป

และด้วยเหตุดังนั้น กระฎุมพีจึงใจร้ายพอจะยกอุดมคติที่เขาไม่ตั้งใจจะปฏิบัติเหล่านี้ให้กลายเป็นวัตรปฏิบัติของคนที่เขาเคารพยกย่องขึ้นเป็นอุดมบุรุษในทัศนะของเขา นั่นคือเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายและพระบรมวงศานุวงศ์ของพระองค์

ตั้งแต่ก่อน สสส.แล้ว กระฎุมพีสูบบุหรี่ควันฉุยได้สบายเฉิบ แต่เจ้านายต้องสูบหลังกล้องโทรทัศน์ เหล้าก็เหมือนกัน เสวยเป็นมารยาทตามพิธีกรรมได้ ในขณะที่กระฎุมพีอาจเอามาคุยดังๆ ได้ว่า เมื่อคืนเมาแหลกเลย “กิ๊ก” ซึ่งใครๆ เขาก็มีกันอย่างค่อนข้างไม่มิดเม้นนักได้ แต่เจ้านายทำได้อย่างปิดบังซ่อนเร้นให้มิดเท่านั้น

ไปล่าช้างที่ซาฟารี, รับสินบน หรือมีเงินเก็บที่ไม่รู้แหล่งที่มา, ตลอดจนยังสัมพันธ์กับนางแบบที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ก่อนเษกสมรส, ปรากฏองค์กับผู้หญิงอื่นด้วยท่าทางใกล้ชิดลับหลังพระชายา, ปรากฏองค์ในบ่อนพนัน, คบหากับมาเฟีย, เที่ยวกลางคืนดึกไปหรือบ่อยไป, สัมพันธ์ใกล้ชิดกับหญิงหรือชายม่าย, ล้มเหลวในการแต่งงาน, มีเพศวิถีทางเลือก ฯลฯ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เจ้านายในยุโรปถูกนินทาว่าร้าย หรือตำหนิติเตียนเป็นเรื่องใหญ่ จนบางพระองค์ต้องเสียบัลลังก์ หรืออย่างน้อยก็ต้อง “หลบพระพักตร์” ไปจากสังคมพักใหญ่ๆ หรือตลอดไปทีเดียว

พฤติกรรมทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องขี้ผงของกระฎุมพีทั้งนั้น อย่างมากก็ถูกแซะจากเพื่อนฝูงใกล้ชิด ไม่กระเทือนถึงอาชีพการงาน หรือแม้แต่ชีวิตครอบครัวด้วยซ้ำ แต่ในหมู่เจ้านายแล้วกลับเป็น “พระจริยวัตร” ที่ทำลายพระราชอำนาจทางศีลธรรมอย่างรุนแรงโดยตรง และดังที่กล่าวแล้วว่าพระราชอำนาจด้านนี้เป็นฐานให้แก่พระราชอำนาจด้านอื่น เช่น การเมือง, เศรษฐกิจ, การทหาร, การนำ ฯลฯ เสียหายไปหมดทุกเรื่อง

แต่ “กิเลส” เหล่านี้เป็นกิเลสแห่งยุคสมัย หรือแม้อาจเป็นสามัญกิเลสของความเป็นมนุษย์ก็ได้ เจ้านายก็เป็นมนุษย์ จะให้ท่านอยู่เหนือยุคสมัยหรือความเป็นมนุษย์ไปหมดได้อย่างไร หากท่านไม่ใช่เจ้านาย ใครๆ ก็คงมองว่าเป็นเรื่องผิดพลาดพลั้งเผลอที่อาจเกิดกับใครก็ได้ ขึ้นชื่อว่า ค.คน ก็คอหยักเหมือนกันนี่ครับ

 

แต่วิถีชีวิตของกษัตริย์และพระบรมวงศ์เป็นอุดมคติทางศีลธรรม ถึงไม่มีใครตั้งใจทำตามก็ยังเป็นอุดมคติที่อยากเห็นมันลอยเด่นอยู่เหนือฟากฟ้านภากาศ หันไปเมื่อไรก็ได้เห็นเมื่อนั้น สื่อซึ่งเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นทุกทีจะไม่เสนอข่าวที่รู้อยู่แล้วว่า “ขายได้” เช่นนี้ได้หรือ ถ้าเป็นข่าวพระราชจริยวัตรที่ไม่ตรงกับความคาดหวังทางอุดมคติ ข่าวนั้นก็มีคุณค่าในเชิงอุบัติการณ์ทางสังคมที่ต้องจับตาดู ถ้าข่าวนั้นคือพระราชจริยวัตรที่เป็นไปตามอุดมคติ คุณค่าของข่าวนั้นคือ “ประโลมใจ” คุ้มราคาที่ต้องเสียเงินซื้อเพื่อรับรู้ เหมือนข่าวนางสาวไทยได้เป็นรองนางงามโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้กษัตริย์และราชวงศ์ทั้งหลายในโลกจะจัดการกับความล้มเหลวต่อราชนีติยุคใหม่ ซึ่งหลีกหนีไม่ได้นี้อย่างไร

 

ผมคิดว่ามีวิธีการอยู่สามอย่างในการจัดการ มิให้พระราชจริยวัตรส่วนพระองค์กระทบต่อพระราชอำนาจทางศีลธรรม แต่ละวิธีอาจนำไปสู่ความสำเร็จได้ ถ้ามีเงื่อนไขอื่นๆ เอื้ออำนวย แต่มันไม่มีหรอกครับที่จะมีเงื่อนไขอะไรในโลกที่อยู่นิ่งๆ ไม่เปลี่ยนเลย

วิธีแรก คือใช้อำนาจบังคับมิให้สื่อเสนอข่าวได้อย่างอิสระ แต่ต้องตรวจข่าว หรือหากเผลอหลุดออกมาก็ปฏิเสธหรือลงโทษผู้ลงข่าวอย่างหนัก เพื่อให้ต้องจำนนกันไปทั้งวงการ

วิธีนี้ทำกันมากในประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือค่อนไปทางนั้น แต่จะทำได้อย่างราบรื่นหน่อย ก็ต้องกอปรด้วยสองเงื่อนไข หนึ่ง คือระบอบกษัตริย์ต้องมีรายได้มากพอจะอำนวจสวัสดิการแก่ประชาชนได้เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ “สมบูรณาฯ” ไม่เท่า ดังนั้น จึงมักพบบ่อยในราชาธิปไตยปิโตรเลียม แต่ถ้าหาปิโตรเลียมไม่ได้ บางรัฐก็อาจใช้อุดมการณ์ประเภทดัชนีความสุขมวลรวมแทน แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเงื่อนไขทั้งสองอย่างนี้จะไม่เปลี่ยนเลย เมื่อรถไฟฟ้าและแบตเตอรีราคาถูกลง หรือเมื่อ “ข้าราษฎร” มีการศึกษาสูงขึ้นจนกลายเป็น “ประชาชน” หรือหนักข้อกว่านั้นคือ “พลเมือง”

เงื่อนไขอีกอย่างสำหรับวิธีแรกนี้ก็คือ รัฐราชาธิปไตยนั้นต้องมีความสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศระดับหนึ่ง หากไม่มีเลยแล้วไปเที่ยวอุ้มฆ่านักข่าวหรือนักเคลื่อนไหวที่หลบหนีไปต่างประเทศ อาจเกิดผลสะท้อนที่แรงกว่าจะคุมอยู่ ก็เหมือนเงื่อนไขอื่นนะครับ สถานะความสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนได้เสมอ เร็วเสียด้วย

 

วิธีที่สอง คือหาทางอยู่กับข่าวจริงและข่าวลือ (ซึ่งอาจจริงด้วยก็ได้) ที่แพร่หลายไปทั่วสังคมสมัยใหม่ให้ได้ โดยการปิดบังวิถีชีวิตส่วนที่อาจขัดกับอุดมคติทางศีลธรรมของกระฎุมพีอย่าให้เป็นที่รู้เห็น เจ้านายที่ไปงานปาร์ตี้กับพระญาติและพระสหายใกล้ชิดจะปล่อยตัวอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีแขกภายนอกร่วมงานด้วย แต่เมื่อไรที่เป็นงานกาลาเปิดตัวหนังสักเรื่อง ซึ่งเต็มไปด้วยกล้องโทรทัศน์หลายสิบ ก็ต้องปฏิบัติพระองค์ไปอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่คอเสื้อก็อย่าให้ต่ำไปนัก

แขกใกล้ชิดที่ได้รับความไว้ใจให้มาร่วมปาร์ตี้ส่วนตัว ต้องเลือกเอาเองว่า จะขายข่าวแก่สื่อจนทำให้อดร่วมงานอีกหรือไม่ หากเห็นว่าไม่คุ้มก็คงไม่ขาย แม้กระนั้นก็มีเรื่อง “มันส์ๆ” แบบนี้แพล็มออกมาเป็นครั้งคราว ซึ่งในยุโรปก็มักใช้วิธีเฉยเสีย คือไม่รับไม่ปฏิเสธ รอให้เวลาพล่าความสนใจของผู้คนไปเอง (วิธีให้ข้าราชบริพารออกมาโพสต์ปฏิเสธข่าวในเฟซบุ๊กเป็นวิธีฉลาดน้อยที่สุด)

แต่ปัญหาของวิธีนี้มีสองอย่าง หนึ่ง คือมันมีบางข่าวซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องเปิดเผยในที่สุดจนได้ เช่น ไปมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับหญิงม่ายที่สามีเก่ายังไม่ตาย ซึ่งขัดกับหลักศาสนาของสังคมนั้น (แต่ถ้าเป็นกระฎุมพีก็ทำได้ และนับวันก็ทำกันดาษดื่นยิ่งขึ้นด้วย) ปัญหาเช่นนี้แก้ได้ด้วยการตัด “นิ้วร้าย” ทิ้งไปเสียก่อน อันเป็นการแก้ปัญหาที่เจ็บปวดและทำไม่ได้ง่ายๆ เสมอไป เช่น จะเลือกหาคนมาแทนไม่ได้

ปัญหาอย่างที่สองยิ่งแก้ยาก การได้เป็นข่าวให้คนได้เล่าลืออ้างถึง (และชื่นชม) เป็นกิเลสอย่างหนึ่งของคน ยิ่งในสมัยปัจจุบันยิ่งเป็นกิเลสที่แรงขึ้นเสียด้วย ว่าที่จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไฮโซไฮซ้อด้วย เจ้านายจึงบินเข้าหาแสงไฟเหมือนแมลงเม่าเป็นธรรมดา ผมอ่านเพจรอยัลเวิลด์ไทยแลนด์แล้ว ก็เห็นแต่ข่าวแบบนี้ของเจ้านายยุโรปเต็มไปหมด เพียงโชคดีที่ราชวงศานุวงศ์ที่เป็นข่าวเหล่านั้นส่วนใหญ่ เป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่ไม่มีบัลลังก์ จึงไม่มีผลกระทบทางการเมืองอะไรมากไปกว่าไฮโซไฮซ้อทั่วไป

ปัญหาจึงมาอยู่ที่เจ้านายซึ่งเป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่ยังมีบัลลังก์ ซึ่งผมไม่พบวิธีแก้ที่ได้ผลจริงจัง นอกจากแก้กันไปเป็นเรื่องๆ เท่านั้น ข่าวนี้แก้อย่างนี้ ข่าวนั้นแก้อย่างนั้น ไม่มีแบบแผนแน่นอน เช่นที่ทรงทำอย่างนี้เพื่อสืบราชประเพณีโบราณที่ลืมกันไปหมดแล้ว โดยไม่ต้องอธิบายว่าแล้วจะไปรื้อฟื้นมันกลับมาทำไม หรือทรงทำอย่างนี้เพื่อปรับเปลี่ยนให้ราชประเพณีโบราณมีความทันสมัย โดยไม่ต้องอธิบายว่าแล้วจะไปทำให้มันทันสมัยทำไม

 

วิธีที่สามนั้นน่าสนใจที่สุดในทัศนะของผม และบอกเลยว่าทำกันในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประชาธิปไตยและเปิดเสรีภาพสื่ออย่างมาก นั่นคือการที่ราชวงศ์ไม่ทำองค์ให้เป็นข่าวเลย นอกจากข่าวตามแบบแผนเปี๊ยบ เช่น พระราชพิธีต่างๆ และแม้แต่ที่เป็นพระราชพิธีก็ทำอย่างที่ไม่ให้เป็น spectacle ซึ่งผมขอแปลว่า “ฉากละคร” โดยสิ้นเชิง

ในพระราชพิธีต่างๆ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงฉลองพระองค์อย่างที่ (อ้างว่า) เหมือนกับจักรพรรดิทรงมากว่า 2,000 ปีแล้ว และเหมือนกับจักรพรรดิองค์ที่แล้ว หรือเหมือนกับที่ทรงในปีที่แล้วด้วย และทรงทำอะไรอื่นๆ ทั้งหมดซ้ำๆ กับที่จักรพรรดิเคยทำ ไม่มีอะไรที่ผิดแผกให้ “ชม” ได้เลยสักอย่างเดียว

แต่ความไม่เป็นข่าวนี้ กลับทำให้พระราชพิธีและองค์จักรพรรดิซึ่งไม่ต้องการเรตติ้งนี้ กลายเป็นอุปกรณ์ที่ให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่พสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่คือสัญลักษณ์ความมั่นคงยั่งยืนของอัตลักษณ์ความเป็นคนญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็เป็นม่านผืนใหญ่หนาทึบที่ปิดบังพระราชวงศ์ไว้ไม่ให้ใครอยากจะสอดหูหรือตาเข้าไปฟังหรือดูด้วย

การบังคับตนเองให้มองไม่เห็น (invisibility) แม้แต่ทำบุญกุศลก็ไม่ต้องเฉลิมพระเกียรติกันในที่สาธารณะ และนี่คือการธำรงส่วนหนึ่งของความเป็นชาติไว้อย่างสง่างาม

แต่วิธีที่สามนี้ก็มีปัญหาได้ในอนาคตอยู่นั่นเอง เพราะพระประยูรญาติย่อมขยายตัวออกไปเป็นธรรมดาโลก จะให้รัฐเลี้ยงดูทั้งหมด ก็หาเหตุผลสนับสนุนแก่ประชาชนยากขึ้น ครั้นปล่อยให้ทำมาหากินเอง ก็ต้องออกมาอยู่นอกม่าน

ที่สำคัญกว่านั้นก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า ความ “หิวแสง” เป็นกิเสลของมนุษย์ด้วย เป็นกิเลสของยุคสมัยด้วย จะคุมให้พระบรมวงศานุวงศ์มิให้ “หิวแสง” ได้ทุกองค์ไปหมดได้อย่างไร ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นข่าวเจ้าหญิงเจ้าชายออกไปตีเทนนิสหรือทรงใช้ชีวิตในทางอื่นๆ บ้างแล้ว ยังไม่มีอะไรเสียหาย เพราะไม่ขัดแย้งกับอุดมคติทางศีลธรรมของกระฎุมพี แต่อย่าลืมว่ากระฎุมพีนั้นยึดถืออุดมคติทางศีลธรรมเคร่งครัดมาก เพราะตัวไม่ต้องปฏิบัติตาม และวิธีหนึ่งในการแสดงความเป็นผู้ยึดถืออุดมคติศีลธรรมแน่นแฟ้น คือด่าคนอื่น โดยเฉพาะคนเด่นคนดัง ว่าละทิ้งศีลธรรมที่ตนเองก็ละทิ้งนี่แหละครับ