ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต เอฟรอน อักกุน
ครบวาระสี่ปีที่ผูกพัน
สานสัมพันธ์ไทย-ตุรกี (จบ)
“นอกเหนือจากมีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ระหว่างยุโรปและเอเชียแล้ว ยังมีหลายเหตุผลหลักที่ทำให้ตุรกีเป็นประเทศที่ควรค่าแก่การลงทุน กล่าวคือ มีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และการเงินที่ทันสมัย แรงงานที่อายุน้อย และมีทักษะ ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตร”
“ตุรกีเป็นประเทศที่เสนอโอกาสและแรงจูงใจในการลงทุนมากมายให้กับนักลงทุนต่างชาติ ไม่ว่าจะมีการลงทุนในภูมิภาคใดก็ตาม โครงการทั้งหมดที่ตรงตามเงื่อนไขของกำลังการผลิตที่เฉพาะเจาะจง และจำนวนเงินลงทุนคงที่ขั้นต่ำ ล้วนจะได้รับการสนับสนุนภายในกรอบของโครงการแรงจูงใจในการลงทุนทั่วไป (General Investment Incentives Scheme) ตุรกีเสนอสิ่งจูงใจมากยิ่งขึ้นตามลำดับความสำคัญและภาคส่วนที่กำหนดไว้ เช่น เรื่องของการขนส่ง และพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น”

นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน (Her Excellency Mrs. Evren Dağdelen AkgÜn) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยชี้แจงว่า
“ตุรกียินดีรับการลงทุนจากประเทศไทยในทุกภาคส่วน โดยไทยสามารถเปิดฐานการผลิตในตุรกีเพื่อส่งต่อไปยังยุโรปและภูมิภาคใกล้เคียง ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากร 1.6 พันล้านคนและอยู่ในระยะเวลาเพียง 3-4 ชั่วโมงเที่ยวบินจากตุรกี การเชื่อมต่อสายการบินไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบด้านโลจิสติกส์เพียงอย่างเดียวที่ตุรกีมี”
“ตัวอย่างเช่น โครงการขยายประตูการค้าสู่โลกที่ใหญ่ที่สุดของตุรกีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คือการเปิดท่าเรือนานาชาติเมอร์ซิน (Mersin International Port) เป็นการขยายความสามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าจาก 2.6 ล้านทีอียู เป็น 3.6 ล้านทีอียู”

โดยท่าเรือนี้ได้เปิดโครงการพัฒนาท่าเรือเฟสสอง ขยายศักยภาพสู่ 3.6 ล้านทีอียู ท่าเรือนานาชาติเมอร์ซินเป็นประตูการค้าหลักของตุรกีและระดับภูมิภาคของพื้นที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีที่ตั้งที่เชื่อมต่อกับทางรถไฟและทางหลวงของตุรกี รวมไปถึงเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่าง Ankara, Gaziantep, Kayseri, Kahramanmaraş และ Konya และตั้งอยู่ใกล้พรมแดนประเทศซีเรีย อิรัก และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) โดยยังสามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นทวีปออกสู่ตะวันออกกลางและพื้นที่แถบทะเลดำ
“เศรษฐกิจของตุรกีเติบโต 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีในปี ค.ศ.2020 และ 5.9% ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเร็วกว่าประเทศในกลุ่ม G-20 ทั้งหมด ยกเว้นประเทศจีน และในปี ค.ศ.2020 ตุรกีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลกโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน (PPP)”
“ผลการศึกษาล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) (ดัชนี CLI) พบว่าตุรกีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งเป็นอันดับ 5 ในบรรดา OECD 23 ประเทศ และ 10 ประเทศที่ไม่ใช่ OECD รวมถึงรัสเซีย อินเดีย และจีน”

ท่านทูตเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับต่างประเทศ
“เราได้ถูกให้คำนิยามและการปฏิบัติที่เป็นไปอย่างมี ‘มนุษยธรรม และกล้าได้กล้าเสีย’ (Humanitarian and Enterprising) ตุรกีเป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแง่ของอัตราส่วนต่อรายได้ประชาชาติด้วยเงินกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นผู้มอบความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดทั่วโลกสำหรับการบรรเทาทุกข์จาก COVID-19 โดยเราได้รับคำขอความช่วยเหลือประเภทต่างๆ และได้ให้ความช่วยเหลือแก่ 157 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศถึง 12 แห่ง”
“นโยบายต่างประเทศอย่างกล้าได้กล้าเสีย (Enterprising Foreign Policy) ของเรา หมายถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีและพหุภาคีของเราทั่วโลก ปัจจุบันตุรกีเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์กรในยุโรปหลายแห่ง ตุรกีเป็นประเทศผู้สมัคร (candidate) เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป”
“ตุรกีเป็นสมาชิกหรือผู้สังเกตการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศและ/หรือระดับภูมิภาคเกือบทั้งหมด จากตะวันออกกลางและแอฟริกาไปจนถึงเอเชียแปซิฟิก จากละตินอเมริกาไปจนถึงเอเชียกลาง ตุรกีอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกด้วยเครือข่ายภารกิจทางการทูตขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับการทูตเชิงรุกของเรา”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ เรามีสถานทูตประจำอยู่ใน 10 ประเทศอาเซียน และตุรกียังเป็นพันธมิตรคู่เจรจารายสาขาของอาเซียน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับบทบาทของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ปริมาณการค้าของเรากับประเทศสมาชิกได้เพิ่มขึ้นสิบเท่าถึง 10 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เรามั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มตัวเลขเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากศักยภาพในภูมิภาค โดยอาศัยกลยุทธ์ใหม่ ตลอดจนการบูรณาการโดยมุ่งเน้นที่ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งความพยายามร่วมกันของภาครัฐและเอกชน ซึ่งในขณะนี้ตุรกีและไทยกำลังเจรจา FTA คาดว่าจะเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีขึ้นถึง 40%”
“ส่วนความร่วมมือทวิภาคีของเราก็ยังคงดำเนินต่อไปในเวทีการประชุมอื่นๆ เช่น ความร่วมมือในการเจรจาเอเชีย (Asia Dialogue Cooperation) และในปัจจุบันตุรกีได้ดำรงตำแหน่งประธาน นอกจากนี้ นโยบาย ‘Asia Anew’ ของตุรกีจะสามารถนำไปสู่กรอบที่ครอบคลุมมากขึ้นในการยกระดับความร่วมมือกับทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย”
“ปัจจุบันโปรไฟล์ของตุรกีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริษัทในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 7 แห่งของตุรกี ได้เป็นหนึ่งใน 100 บริษัทชั้นนำของโลกโดยอยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศทั้งหมด การส่งออกผลิตภัณฑ์ไฮเทคที่คุ้มทุนในภาคนี้มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ”

“ตุรกียังเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในภูมิภาคด้านพลังงานหมุนเวียน ตัวอย่าง ส่วนแบ่งของทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ 52.3% ซึ่งทำให้ตุรกีอยู่ในอันดับที่ 6 ในยุโรปและอันดับที่ 13 ของโลก”
“นอกจากนี้แล้ว ตุรกียังติดอันดับนักลงทุนพลังงานลมรายใหญ่อันดับ 5 ในยุโรปในปี ค.ศ.2020 และในปีเดียวกันตุรกียังเปิดตัวโรงงานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกและแห่งเดียว ด้วยโครงการการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ซึ่งนำโดยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นางเอมีเน เออร์โดกัน (Emine Erdoğa) และอัตราการแปรรูป (recycle) ของเสียจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ภายในปี ค.ศ.2035”
“ตุรกียังได้เริ่มดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกพร้อมให้บริการในปี ค.ศ.2022 และหลายแห่งเสนอโอกาสในความร่วมมือทางทวิภาคี”
“นอกจากนี้ ตุรกีได้เปิดตัวโรงงานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แบบบูรณาการแห่งแรกและแห่งเดียวในปี 2020 ซึ่งเราได้เริ่มดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกพร้อมให้บริการในปี 2022 พื้นที่เหล่านี้หลายแห่งยังมีการเสนอโอกาสความร่วมมือในระดับทวิภาคีอีกด้วย”
“ในฐานะจุดหมายปลายทางอันดับ 6 ของโลกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 ตุรกีครองอันดับที่ 13 ในแง่ของรายได้จากการท่องเที่ยว อีกทั้งตั้งอยู่ที่ทวีปยุโรปและเอเชียเชื่อมต่อกันโดยมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาบรรจบกับทะเลดำ ทำให้อารยธรรมและวัฒนธรรมหลากหลายมารวมกันที่นี่เป็นเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา”
“ตุรกียังเป็นที่ตั้งของกรุงทรอย (Troya) สองในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณ-วิหารอาร์เทมิสในเอเฟซัส และสุสานในฮาลิคาร์นัสซัสโบดรัม (the Temple of Artemis in Ephesus and the Mausoleum in Halicarnassus, Bodrum) บ้านของวัดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุ 12,000 ปี (Göbeklitepe) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองชาตัลเฮอยืค (Çatalhöyük) เป็นที่รู้จักแห่งแรกในโลก บ้านของซานตาคลอสและสุเหร่าฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia Mosque) ดินแดนที่เหรียญแรกได้ถูกสร้างขึ้น”
“หากเมื่อเอ่ยถึงสิ่งมหัศจรรย์ก็สามารถหาได้ในตุรกี”

“แน่นอนว่าการระบาดของโรคได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างหนัก แต่คิดว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ.2021 ด้วยการรณรงค์ฉีดวัคซีน และความเคลื่อนไหวนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี ค.ศ.2022 และ 2023 ซึ่งดิฉันหวังว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของเราจะสามารถฟื้นตัวในไม่ช้า และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
“เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตุรกีได้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน และยังได้วางมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง การติดต่อระหว่างคนสู่คน ซึ่งถือเป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพที่ดีที่สุด รวมทั้งการช่วยเหลือทางธุรกิจและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ในประเด็นดังกล่าว ตุรกีและไทยได้ดำเนินการผ่านความร่วมมือทางวิชาการ โครงการฝึกงานและผ่านโครงการทุนการศึกษา”
ท้ายสุด ก่อนเดินทางกลับประเทศตุรกี ท่านทูตเอฟรอน อักกุน กล่าวคำอำลาท่านผู้อ่านว่า
“นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ดิฉันได้มาเป็นตัวแทนของประเทศตุรกีในฐานะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ด้วยความยินดีอย่างที่สุดที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบให้บรรลุความสำเร็จตามความมุ่งหมาย และ…จนกว่าเราจะพบกันอีกในอนาคต”
