ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
20 ปี ‘Shrek’
: ‘ยักษ์เขียว’ ผู้ทำลายขนบ ‘เทพนิยายดิสนีย์’
ไม่มีใครปฏิเสธว่าวงการภาพยนตร์แอนิเมชั่นของฮอลลีวู้ดในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล เพราะการถือกำเนิดขึ้นของ “Toy Story” ผลงาน-หมุดหมายสำคัญจากค่าย “พิกซาร์” ในเครือ “ดิสนีย์”
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจมองข้ามอิทธิพลความสำเร็จของ “Shrek” หนังแอนิเมชั่นค่าย “ดรีมเวิร์กส์” ที่พึ่งพาเทคโนโลยีการสร้างภาพพิเศษทางคอมพิวเตอร์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2001
ดังที่ “คริสโตเฟอร์ ฮอลลิเดย์” อาจารย์สาขาภาพยนตร์ศึกษาจากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร อธิบายว่าสถานภาพสูงเด่นของ “Shrek” ในวงการการ์ตูนอเมริกัน ก็คือการแผ้วทางหนทางให้ผลงานแอนิเมชั่นที่มีเนื้อหาเชิงเยาะเย้ยเสียดสีและสร้างภาวะป่วนปั่นแบบอนาธิปไตย ได้มีที่ทางอยู่ในอุตสาหกรรมมาตราบถึงปัจจุบัน
จากปลายทศวรรษ 1990 สู่หลังสหัสวรรษใหม่ “การปฏิวัติดิจิตอล” (การหันมาพึ่งพาเทคนิคการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์-ซีจี) ในวงการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่น ได้เริ่มดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง
ฝั่ง “พิกซาร์” เอง นอกจาก “Toy Story” (1995) ก็ยังมี “A Bug’s Life” (1998) ตามด้วย “Toy Story 2” (1999) ที่ต่างดำรงตนเป็นหลักไมล์ของความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าว
ยังมีผลงานน่าสนใจร่วมสมัยเรื่องอื่นๆ อย่าง “Final Fantasy : The Spirits Within” และ “Jimmy Neutron : Boy Genius” ในปี 2001 ซึ่งเป็นเสมือนบททดสอบความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์ “ตัวละคร” ขึ้นมาจากเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ ก่อนการมาถึงของ “Shrek”
ทางฟาก “ดรีมเวิร์กส์” ก็เริ่มสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นด้วยเทคนิคซีจีแบบเต็มตัว ผ่านผลงานเรื่อง “Ants” ซึ่งเล่าเรื่องราวของอาณาจักรมดใต้พื้นพิภพในปี 1998
นี่คือการประกบคู่ประลองเชิงกับ “A Bug’s Life” ของ “พิกซาร์” อยู่กลายๆ หากพิจารณาที่ความพ้องกันของเนื้อหา การใช้เทคนิคงานสร้างอันคล้ายคลึงกัน และช่วงเวลาการเข้าโรงฉาย ที่เว้นระยะห่างระหว่างกันเพียงแค่เดือนเดียว
แม้ศึกหนนั้นจะจบลงด้วยชัยชนะของ “พิกซาร์/ดิสนีย์” เมื่อ “A Bug’s Life” โกยรายได้ทั่วโลกไป 363.3 ล้านเหรียญ ส่วน “Antz” ทำรายได้รวม 171.8 ล้านเหรียญ
แต่นั่นเป็นเพียงบทเริ่มต้นของสงคราม ซึ่งสภาวะการประชันขันแข่งระหว่างสองสตูดิโอแอนิเมชั่นจะเข้มข้นดุเดือดยิ่งขึ้น โดยมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม
กล่าวคือ “เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “ดรีมเวิร์กส์” นั้นเป็นอดีตบุคลากรที่ถูกไล่ออกมาจาก “วอลต์ดิสนีย์” เมื่อปี 1994
หลังชิมลางกับการสร้างแอนิเมชั่นด้วยเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ “ดรีมเวิร์กส์” ก็ย้อนกลับไปสร้างหนังแอนิเมชั่นในรูปแบบดั้งเดิมอีกสองเรื่อง คือ “The Prince of Egypt” และ “The Road to El Dorado”
ก่อนจะได้ฤกษ์ทำคลอด “Shrek” ในปี 2001 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความสำเร็จทางด้านเงินและกล่องอันท่วมท้น พิสูจน์จากรายได้ทั่วโลก 488 ล้านเหรียญ
ส่งผลให้ “ดรีมเวิร์กส์” ผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นอเมริกัน และกลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ “พิกซาร์”
“Shrek” ดัดแปลงเนื้อหามาจากหนังสือนิยายภาพชื่อเดียวกันของ “วิลเลียม สไตก์” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1990
เป้าหมายในการผลิตหนังเรื่อง “Shrek” ของทีมงาน “ดรีมเวิร์กส์” ก็คือการทำภาพยนตร์แอนิเมชั่นสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งมีการแทนที่อาณาจักรมนตราในเทพนิยายแบบเด็กๆ ด้วยบ่อโคลนและหนองบึงของเจ้ายักษ์เขียว
หนังแอนิเมชั่นเรื่องนี้พยายามวางระยะห่าง รวมทั้งเหยียดเย้ย-เสียดสีโครงสร้างเรื่องราวแบบเทพนิยายโรแมนติกหรือพล็อตแนว “สิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ในบ้าน” ตามแบบแผนของ “ดิสนีย์”
ตลอดจนพยายามอ้างอิงวรรณกรรม ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ และวัฒนธรรมสมัยนิยมแขนงต่างๆ แบบแตะนู่นนิดนี่หน่อย
อันจะกลายเป็นแนวทางสำหรับการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดฮิตในช่วงเวลาถัดมา
เทคนิคการสร้างภาพพิเศษด้วยคอมพิวเตอร์ใน “Shrek” นั้นก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการสร้างภาพ “ไฟ” และ “น้ำ” ได้อย่างมีชีวิตชีวา และสร้างตัวละครมนุษย์ให้มีลักษณะน่าเชื่อถือมากขึ้น
หนังยังโดดเด่นด้วยการว่าจ้าง “คนดังเกรดเอ” เช่น “ไมก์ ไมเยอร์ส” “คาเมรอน ดิแอซ” และ “เอ็ดดี เมอร์ฟี” เป็นต้น มาพากย์เสียงตัวละคร โดย “ดรีมเวิร์กส์” ได้นำดาราเหล่านี้ไปเดินสายร่วมแคมเปญโปรโมตหนังด้วย
ซึ่งถือเป็นแนวทางการตลาดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวงภาพยนตร์แอนิเมชั่น
หลังความสำเร็จในปี 2001 “Shrek” กลายเป็น “แบรนด์/ปกรณัมร่วมสมัย” ที่ทรงอิทธิพล และถูกขยับขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวาง ผ่านการมีภาพยนตร์ภาคต่อจำนวนสามภาค ระหว่างปี 2004-2010 มีหนังภาคแยกอย่าง “Puss in Boots” ในปี 2011 และมีหนังตอนพิเศษสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและฮัลโลวีนออกอากาศทางโทรทัศน์
ยังไม่ต้องรวมวิดีโอเกม, ละครเพลง และสวนสนุก อันเกี่ยวเนื่องกับ “เจ้ายักษ์เขียว” ในภาพยนตร์แอนิเมชั่น
มรดกอีกชิ้นหนึ่งที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นวัย 20 ปีเต็ม มอบไว้ให้แก่อุตสาหกรรมบันเทิงสหรัฐ ก็คือ เพลงประกอบภาพยนตร์ ดังที่ “นิตยสารวาไรตี้” เขียนยกย่องว่าซาวด์แทร็กของ “Shrek” คือ “บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมในยุคสหัสวรรษใหม่”
เพราะไม่เพียงแค่ผลงานเพลงประกอบของหนังภาคแรกจะติดอันดับ “บิลบอร์ด 200” และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง “รางวัลแกรมมี่”
ทว่าบทเพลงที่โดดเด่นในหนังและโด่งดังในหมู่คนฟัง คือ “All Star” โดยวงร็อก “Smash Mouth” ซึ่งเป็นเพลงแนะนำตัวละคร “เชร็ค” ยักษ์เขียวอารมณ์ร้าย ก็มีความดิบ-สนุกสนาน-แหวกกรอบ จนแตกต่างจาก “เพลงการ์ตูนดิสนีย์” ยุค 1990 ที่ขับเน้นความไพเราะอ่อนหวานอย่างลิบลับ
สอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักในภาพใหญ่ที่ “ดรีมเวิร์กส์” จงใจจิกแซะ-กร่อนเซาะ “ดิสนีย์/พิกซาร์” อยู่เป็นทุนเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีห้วงเวลาสองทศวรรษที่ยิ่งใหญ่และน่าจดจำ แต่อนาคตในจอภาพยนตร์ของ “Shrek” กลับยังไม่แน่นอน
โดยทาง “ดรีมเวิร์กส์” ได้ดำเนินการสร้าง “หนังภาคห้า” มาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายปี ผ่านขั้นตอนเลิกทำ, กลับมาทำใหม่ แล้วก็เลิกทำอีกครั้ง หนแล้วหนเล่า
คำชี้แจงล่าสุดที่บริษัทเผยแพร่ออกมา ก็คือแฟนๆ อาจได้เห็นตัวละคร “เชร็ค” “ดองกี” และ “ฟิโอนา” ไปปรากฏกายในโปรเจ็กต์อื่นๆ
ข้อมูลจากบทความ Shrek at 20 : celebrating the film’s unique brand of animated anarchy and sardonic irreverence โดย Christopher Holliday