ตลาดเสรีกับสินค้าทางจิตวิญญาณ : คำ ผกา

คำ ผกา

หลักสูตร “ไลฟ์โค้ช” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปอเมริกาเหนือนั้นถือกำเนิดมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และว่ากันว่ามีมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ไลฟ์โค้ช ไม่ใช่จิตบำบัด ไม่มีการตรวจจับรักษา หากลุ่มอาการทางจิตแบบจิตแพทย์ เพราะฉะนั้น ไลฟ์โค้ชไม่ใช่ Therapists หรือนักบำบัด แต่เป็นเหมือนคนที่สามารถชี้แนะ นำทางให้ “ลูกค้า” เดินไปสู่ความสำเร็จ

สิ่งที่ไลฟ์โค้ชถูกตั้งคำถามมากๆ คือ แล้วไลฟ์โค้ชเป็นใคร? ถึงได้มั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถไปชี้ทางสว่างสู่ความสำเร็จให้กับคนอื่นได้

ไลฟ์โค้ชต้องจบหลักสูตรอะไรมา ต้องมีประสบการณ์อะไรบ้าง

ที่แน่ๆ เมื่อลูกค้าตัดสินใจจ่ายเงินในราคาค่อนข้างแพง เพื่อเข้าอบรมหลักสูตรของไลฟ์โค้ชคนนั้นคนนี้ พวกเขาตัดสินใจจากอะไร?

คำบอกเล่าของคนที่เคยไปแล้ว ออกมาบอกว่าดีจริง หรือไปดูวิดีโอ ฟังคนนั้นพูดแล้วถูกใจ หรือติดตามจากการเขียนคำคมลงในโซเชียลมีเดียแล้วมันโดนใจเรา มันตอบคำถามชีวิตของเรา?

ลักษณะร่วมของกิจกรรม “พัฒนาตนเอง” ผ่านไลฟ์โค้ช ซีนที่จะต้องมีคือ การที่ “โค้ช” เลือก “ลูกค้า” มาคนหนึ่ง แล้วให้เขาเล่าปัญหาชีวิตของเขาให้คนอื่นฟัง

เช่น อาจมีคนมาเล่าเรื่องการหย่าร้างกับภรรยา ปัญหาความขัดแย้งกับลูก ครอบครัวที่แตกสลาย แล้วไม่รู้ว่าจะกลับไปกอบกู้มันอย่างไรดี ไม่คุยกับลูกมาสามปีแล้ว อยากกลับไปคุยกับเขา จะเริ่มต้นอย่างไร เลิกกับแฟนที่คบกันมา 20 ปี ตอนนี้ยังไม่หายช็อก ชีวิตที่เหลืออยู่พังทลาย ฯลฯ

จากนั้น “โคช” ก็จะทำการให้คำคม ปลุกปลอบ ทำการ “ดึงตัวแทนที่แท้จริง สวยงาม และแข็งแกร่ง” ของคุณกลับมา ให้คาถาเพื่อนำไปสู่การฟื้นคืนชีพของความภาคภูมิใจในตนเอง

มีเทคนิคการพูดที่ดึงคนอื่นๆ ให้รู้สึกเห็นใจ ร้องไห้ ฮึกเหิม เข้มแข็ง ไปตามจังหวะที่โค้ชบิ๊วด์ขึ้นมา ก่อนจะไปพีกที่คนคนนั้น ร้องให้โฮ แล้วกอดโค้ช ขอบคุณโค้ช

ตอนนี้เขารู้แล้วว่า เขาสวยงามแค่ไหน แข็งแกร่งแค่ไหน และมีใครในโลกบ้างที่เขาควรแคร์ สิ่งแรกที่เขาต้องลงมือทำให้ตอนนี้คืออะไร

จากนั้น คนทั้งห้องก็จะปรบมือ มีคนร้องไห้ตาม

กิจกรรมเหล่านี้ ปัจจุบันยังสามารถทำผ่านโปรแกรมสไกป์ ไม่ต้องไปร่วมกิจกรรมจริงๆ แค่จ่ายเงินให้โค้ช แล้วก็โค้ชกันผ่านสไกป์ได้ คิดค่าใช้จ่ายกันเป็นรายชั่วโมง

และคิดกันถึงชั่วโมงละเกือบสามร้อยเหรียญเลยทีเดียว

การวิพากษ์วิจารณ์วิธีการของไลฟ์โค้ชว่ามันก้ำกึ่งกับการหลอกลวงหรือเปล่า พวกเขาเอาอะไรมารับประกันว่า จ่ายเงินไปแล้วชีวิตจะดีขึ้น หรือหายจากความทุกข์ ความเศร้า ออกจากปัญหาความทุกข์ระทมที่เผชิญอยู่ได้จริงๆ

จึงนำมาสู่การตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า International Coach Federation (IFC) ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลธุรกิจไลฟ์โคช ไม่ให้มีโค้ชกำมะลอ หลอกลวงลูกค้า ออกใบรับรองมาตรฐานอาชีพ ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2012

จากข้อมูลของ ICF ปัจจุบันมีไลฟ์โคช 47,500 คนทั่วโลก อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ 15,800 คน

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอย่างฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด NYU และโคลัมเบีย ก็มีหลักสูตร coaching ฝึกคนเป็นไลฟ์โค้ช

และมีหลายสถาบันที่เปิดมาเพื่อเทรนคนเข้าสู่อาชีพไลฟ์โค้ช

โดยมากหน้าที่ของไลฟ์โค้ช (อ้างจากคนที่เป็นไลฟ์โค้ช) คือ ขุดหาตัวตนของลูกค้าให้เจอว่ามีอะไรที่ไปขัดขวางไม่ให้เขาเดินไปข้างหน้าได้

ในปัจจุบัน แค่การที่คนอยู่ในโซเชียลมีเดียแล้วรู้สึกตัวเองล้าหลังคนอื่น ประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนอื่น ก็ทุกข์ใจ แล้วก็ต้องมาพึ่งไลฟ์โค้ช

ไลฟ์โค้ชคนหนึ่งบอกว่า “เราได้มาอยู่ในยุคที่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตมากพอที่จะมานั่งถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข”

พูดง่ายๆ คือ เรามีชีวิตที่สบายเกิ๊นนน ไม่ต้องเข้าป่าล่าสัตว์ เผชิญกับโรคระบาดอะไรอีกแล้ว เลยมีเวลาฟุ้งซ่าน เศร้ากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

แทนที่จะคิดว่า ชีวิตโชคดีจัง เกิดมาในยุคที่ร้อนก็มีแอร์ หนาวก็มีฮีตเตอร์ นอนยุงก็ไม่กัด ปวดอึ ปวดฉี่ก็ไม่ต้องไปป่า ไปทุ่ง มีส้วมอยู่ในห้องนอน แสนสบาย

แต่ในท่ามกลางความสบายเช่นนี้ มนุษย์สมัยใหม่ก็เลยต้องไปหาเรื่องอื่นๆ มาให้ตัวเองทุกข์ใจ เช่น เรื่องไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

เรื่องคิดไปเองว่าไม่มีใครรัก หรือแค่คิดถึงพ่อที่ตายไปแล้วหลายปีก็สามารถถาโถมตัวเองไปร้องไห้สามวันสามคืน นอนกอดบาดแผล trauma ของชีวิต เหวอะหวะเหลือเกินแล้ว โอ้ อกเอ๋ย

นี่เอง ที่ทำให้อาชีพไลฟ์โค้ชเลยมีงานทำ แถมยังทำเงินมหาศาล

แต่ความน่าสนใจระหว่างไลฟ์โค้ชอย่างธรรมดา กับไลฟ์โค้ชบวกแนวคิดจิตวิญญาณเชิงพุทธอย่างที่รุ่งเรืองในสังคมไทยที่สามารถสร้างเครือข่าย และความเป็นเจ้าลัทธิไปในตัว แบบที่เกิดขึ้นกับหลายกรณีที่เป็นข่าวคือ ไลฟ์โค้ชอย่างธรรมดาจะไม่เอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับลัทธิทางศาสนาใด

กับไลฟ์โค้ชที่ดูมี “บารมี” และอาจพัฒนาไปเป็นเจ้าสำนักที่มีสาวก (ในต่างประเทศ ไลฟ์โค้ชกับ cult หรือสำนักลัทธิ จะแยกออกจากกัน)

สิ่งที่อำนวยให้ลัทธิลูกผสมไลฟ์โคชเช่นนี้เติบโตในสังคมไทย คือลักษณะเชื่อไปโดยอัตโนมัติของคนไทยว่า การเคร่งศาสนาหรือสนใจศาสนา เท่ากับ “ความดี” และ “คนดี”

สิ่งที่ประหลาดมากๆ ของสังคมไทยและไม่มีในสังคมอื่นที่เป็นรัฐฆราวาสคือ การประกาศความเป็นศาสนิกอย่างพร่ำเพรื่อ หรือการพร่ำพูดพร่ำเขียนในที่สาธารณะว่าตนเองใช้หลักศาสนามาเยียวยาแก้ไขปัญหาชีวิตอย่างไรบ้างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะได้รับการยอมรับ

พูดให้ง่ายกว่านั้น การที่นักคิด นักเขียน ปัญญาชน นักเคลื่อนไหว ดาราภาพยนตร์ จะมานั่งเขียน นั่งพูด หรือป่าวประกาศโฆษณาว่าตนเองสมาทานหลักศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน และดื่มด่ำกับความเชื่อนั้นๆ อย่างไร สามารถเขียนและพูดในแง่ของการบอกรสนิยมส่วนบุคคลเท่านั้น

เขียนและพูดออกไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า จะถูกสาธารณชนมองด้วยสายตาประหลาดๆ

การเที่ยวไปป่าวประกาศศรัทธาความเชื่อในเชิงศาสนานั้น มีสถานะเป็นเพียง sub culture หรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเท่านั้น

คือ จะเชื่ออะไรก็ไม่ผิด ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่มันไม่ใช่ norm หรือบรรทัดฐานของนักคิด ปัญญาชน หรือบุคคลสาธารณะแน่ๆ

แม้แต่คนกลุ่มอนุรักษนิยม ฝ่ายรีพับลิกัน โปรเตสแตนต์จ๋าๆ ก็ไม่มีใครเที่ยวไปพูดหรือไปเขียนว่า ตนเองบำเพ็ญเพียรในทางศาสนาอย่างไร อ่านไบเบิลทุกวันไหม หรือไปสนทนาธรรมกับศาสนาจารย์คนไหนเป็นพิเศษ

นั่นก็เพราะวัตรปฏิบัติทางศาสนาเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” อย่างยิ่ง และไม่พึงนำมาเปิดเผยในที่สาธารณะเลย

ตรงกันข้ามกับสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง

Norm หรือบรรทัดฐานของนักคิด นักเขียน ศิลปิน นักการเมือง ดารา นักร้อง บุคคลสาธารณะของไทย กลับกลายเป็นเรื่องของการเขียนเรื่องตัวเองนุ่งขาวห่มขาว ตัวเองเข้าวัด ตัวเองนั่งสมาธิ ตัวไปวัดนั้น ไปไร่นี้ ไปนับถือพระรูปนั้น รูปนี้เพราะอะไร ลงภาพถ่ายของตัวเองเดินคู่กับพระ กุมมือพระ เขียนเล่าเรื่องตัวเองฟังเทปธรรมะแล้วบรรลุจิตธรรมเรื่องอะไรบ้าง

ก่อนจะให้บทสรุปกับสังคมว่า ธรรมะนำสิ่งดีให้กับชีวิตอย่างไรบ้าง

ธรรมะทำให้ตัวเองกลายเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไรบ้าง

สำหรับสังคมไทย ใครก็ตามที่ประกาศว่าตนเองเป็นพุทธมามกะที่จริงจัง ที่ปวารณาตน คนคนนั้นจะได้รับการยอมรับนับถือ ได้รับความชื่นชมยกย่อง ถูกเรียกว่าเป็น “คนดี” คนน่านับถือขึ้นมาโดยปราศจากเงื่อนไข

(ถ้าประเทศอื่น ถ้ามีบุคคลสาธารณะคนไหนทำแบบนี้ คนต้องมองว่า เพี้ยน บ้า เป็นโอมชินริเกียว หรืออะไรทำนองนั้น)

เนื่องจากมีลักษณะทางวัฒนธรรมเป็นทุนเช่นนี้ จุดน่าสังเกตประการหนึ่งของหลักสูตร “พัฒนาตนเอง” ซึ่งเป็น “สินค้า” อย่างหนึ่งในระบบทุนนิยม อันมีต้นกำเนิดมาจากอเมริกาที่ต่อมาเรารู้จักกันในชื่อของพวกไลฟ์โค้ชต่างๆ ในเมืองไทย จึงเกิดการไฮบริด เป็นลูกครึ่งระหว่างการเป็นสำนัก ไลฟ์โค้ชบวกจิตวิทยา บวกลัทธินิวเอจกระแสจิต พลังจิต

สุดท้ายเอามาบรรจบกับหลักความเป็น “พุทธ” – กลายมาเป็นกึ่งหลักสูตรพัฒนาตนเอง กึ่งการเรียนธรรมะ

สถานที่ แทนที่จะเป็นวัด หรือเป็นโรงแรม ก็ใช้ห้องหับที่โอ่โถงสวยงาม

ไม่ใช่สักแต่ว่าสวย หากเราดูสถานที่ “ปฏิบัติ” และอบรมลูกศิษย์ของหลักสูตรเข็มทิศชีวิต เราจะเห็นว่า ความงดงามของสถานที่นั้น ล้วนบรรจุเอาความฝันของคนชั้นกลางในสังคมไทยไว้ครบถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นแชนเดอเลียระย้าอลังการ เฟอร์นิเจอร์สไตล์หลุยส์สีทอง สีขาวงาช้าง ความระยิบระยับ มลังเมลือง โอ่อ่าของสถานที่ กระตุ้นทั้งกิเลส ตัณหา ความปรารถนาในความร่ำรวย ความสุขสบาย เยี่ยงชีวิตในพระราชวังแวร์ซายส์ขนาดย่อม

ในแง่นี้หลักสูตรเข็มทิศชีวิตจึงเป็นหลักสูตรที่เติมเต็มความฝันของชนชั้นกลางได้หมด เพราะมัน promise ความมั่งคั่ง การประสบความสำเร็จในอาชีพการงานตามวิถีทุนนิยมที่เน้นการแข่งขัน และศักยภาพของปัจเจกบุคคล ที่จะต้องเข้มแข็ง ที่ต้องชนะในการแข่งขัน

(ในขณะที่ศาสนาจะมีมิติของการทำทาน การเห็นใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไปจนถึงการสมาทานความสมถะ และความรู้จักพอ – ซึ่งถ้าไปจริงจังกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไปมันย่อมไม่ใช่เชื้อเพลิงที่ดีของระบบทุนนิยม ที่จะต้องร่ำรวย)

ในหลายคลิป เราจึงได้เห็นและได้ยินการกู่ก้อง ตะโกน ถึงความสำเร็จออกมาเป็นจำนวนเงิน ว่า สิบล้าน ร้อยล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน ยิ่งตอนเปล่งเสียงว่า ร้อยล้าน พลังงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะพุ่งสู่จุดที่เหมือนเอนโดรฟินหลั่งแรงมาก

และขณะเดียวกันก็มี accent ของความเป็นพุทธศาสนาเบาๆ เช่น มีการจัดคอร์สภาวนา และภาพที่เห็น ก็เป็นคนนุ่งขาว ห่มขาว นั่งภาวนา ดูศักดิ์สิทธิ์ ดูเป็นพุทธมามกะในเลเวลที่ค่อนข้างสูง (https://www.facebook.com/DDNARD/videos/1695199737186818/)

เมื่อมิติของการเป็นศาสนาภาวนาปนไปกับการเป็นไลฟ์โค้ช ผู้นำหรือเจ้าของบริษัท เจ้าของหลักสูตรจึงมีสถานะเป็นเหมือนเจ้าสำนัก เจ้าลัทธิ

สิ่งที่ตามมาคือการดึงดูดความภักดีจากสาวกไปสู่ตัวเจ้าสำนัก และนำไปสู่สภาวะกึ่งๆ ศรัทธา

จึงไม่แปลกใจที่ในภาพโปรโมต เราจะเห็นว่าการจัดวางองค์ประกอบของภาพ การแต่งตัวของเจ้าสำนัก จะมีทั้งในโหมดสวมชุดแบบกึ่งๆ ศาสนา กึ่งๆ เป็นเจ้าแม่เนื้อนาบุญ

อีกโหมดหนึ่งใส่สูท ใส่กางเกง เหมือนนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรตาม ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขอบเขตของ “ความเชื่อส่วนบุคคล” ตามหลักการของตลาดเสรีที่ใครใคร่เชื่อในสิ่งใดและจ่ายเงินไปเพื่อความเชื่อใดเพื่อความสบายใจใดๆ ก็ย่อมเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้บริโภค

เช่นเดียวกับการเลือกบริโภคสินค้าอื่นในตลาดเสรี ที่ผู้บริโภคต้องสั่งสมวิจารณญาณ และภาวะฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก ให้กับตนเอง

การบริโภคสินค้าในหมวดจิตวิญญาณ ก็เช่นกัน