อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม จากแดนมะกะโรนี? (จบ)/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ไชยันต์ รัชชกูล

 

อะไรหรือ คือนิยายอันยอดเยี่ยม

จากแดนมะกะโรนี? (จบ)

 

ลบเส้นกั้น

Fair is foul, and foul is fair:

Hover through the fog and filthy air.

Shakespeare, Measure by Measure, I:i

ซื่อคือคด คดคือซื่อ เกี่ยวพัน

ล้วนลอยคว้างในหมอกเขม่าควัน

เช็กส์เปียร์,

 

เมื่อเริ่มอ่าน ผู้เขียนคิดไปว่านิยายชุดนี้ขนานกับแนวเรื่อง “Sense and Sensibility” ของออสติน (Jane Austen) โดยให้เลนูกับลิลาเดินทางคนละเส้นทางชีวิต

เลนูไปในทางเน้นเหตุผล (Sense) คือเรียนไปเรื่อยๆ จนถึงระดับอุดมศึกษา

ส่วนลิลาไปในทางเน้นอารมณ์ความรู้สึก (Sensibility) ไม่ได้เรียนต่อชั้นมัธยม แต่ใช้ชีวิตไปบนเส้นทางอารมณ์ คือแต่งงานและมีชู้รัก

แต่เมื่อได้เข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เห็นว่าบุคลิกและการกระทำของแต่ละคนนั้นไม่สามารถจะจับแยกลงกล่องได้อย่างเด็ดขาด

ทั้งลิลาและเลนูมีทั้ง Sense กับ Sensibility ควบคู่กันไป

เลนูเองก็มีประสบการณ์ “วัยรุ่นใจแตก” มีคู่รักหลายคน และผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องรักคุด รวมไปถึงไม่ขัดขืนการข่มขืน

ส่วนลิลานั้นก็ใช่ว่าจะให้อารมณ์พาไปอย่างหัวปักหัวปำ เธอใช้ ‘หัว’ ในการตัดสินใจหลายเรื่อง

อีกทั้งมีส่วนช่วยเลนูตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลอย่างแยบยล

ถึงจะไม่ได้มีการศึกษาทางการในระดับสูง แต่ความที่เป็นคนฉลาดหลักแหลม ก็กลับโยงความเข้าใจโลกและชีวิตเข้ากับนักคิด นักเขียนคนสำคัญๆ ได้อย่างคมคาย

เมื่อเปรียบเทียบเส้นทางชีวิตระหว่างเลนูกับลิลา คงเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะรู้คำตอบตามมาตรฐานความนิยมของสังคม ต่อคำถามสำหรับเด็กสาววัยไม่ถึง 20 ปีว่า “ระหว่างเรียนหนังสือ กับแต่งงาน อะไรจะสมควรกว่ากัน?” แต่คำตอบนี้ จะปัดตกความเห็น ความรู้สึกของลิลาไปเลยหรือ?

ความงดงามของความรัก และรสกามจากความรักนั้น ด้อยค่าสำหรับชีวิตหรือ?

ชีวิตควรดำเนินด้วยตรรกะ (2+2=4) เท่านั้นหรือ?

ชู้รักของลิลา ชุบชีวิตเธอ “…ตื่นขึ้นอย่างเคลิบเคลิ้ม พันธะทั้งหลายสิ้นสุด แต่ถึงกระนั้นก็มีความพึงพอใจในพันธะใหม่จนเกินจะเอื้อนเอ่ยออกมาได้ การเกิดใหม่ที่ขณะเดียวกันก็เป็นการแข็งขืน เขากับเธอ เธอกับเขา เรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ขับพิษร้ายออกไป สร้างชีวิตแบบใหม่ในฐานะเป็นความสุขอันบริสุทธิ์ในการคิดและการใช้ชีวิต” (เล่ม 2 น.309)

การลักลอบรักระหว่างลิลากับนิโนนั้น ถ้าแม่รู้เข้า ก็คงจะถูก “ฟาดจนกระดูกแหลก” กระนั้น ลิลาก็ยังพูดกับเกลอแก้วว่า “ฉันรักเธอนะเลนู และจะรักตลอดไป ดังนั้น ฉันจึงหวังว่า เธอจะมีโอกาสรู้สึกอย่างที่ฉันรู้สึกในห้วงเวลานี้สักครั้งในชีวิต” (เล่ม 2 น.296)

ผู้เขียนคิดว่า ลิลาคงไม่เสียใจภายหลัง ถึงแม้ว่าจะต้องจ่ายราคาสูงสำหรับความหฤหรรษ์ของชีวิตเช่นนั้น

นอกเหนือจากนี้ คุณ (โทษ?) สมบัติ ของลิลากับเลนู ก็มิใช่เป็นบุคลิกของตนเองล้วนๆ

คงไม่มีมนุษย์ผู้ใดมี “ธรรมชาติ” แบบใดแบบหนึ่งที่แน่นอนมาตั้งแต่เกิด แต่มาจากการหล่อหลอมของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงชีวิตของตนกับผู้คนอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อใครจะใช้ ‘หัว’ มากกว่า ‘ใจ’ หรือกลับกันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เธอไปผูกพันกับใคร ในสถานการณ์ใด

เมื่อมองจากมุมนี้ ก็กล่าวได้ว่า แฟร์รานเตลบเส้นคั่นระหว่าง ‘หัว’ กับ ‘ใจ’ มิได้เดินซ้ำรอย เจน ออสติน แต่กลับก้าวข้าม “คู่ขั้วตรงข้าม”

การก้าวข้ามนี้ ควบคู่กับอีกแนวคิดหนึ่งคือ ประเด็นที่ลิลาเคยกล่าวกับเลนูถึง “dissolving margins” ผู้แปลใช้สำนวนไทยว่า “การสลายขอบ” (เล่ม 1 น.161) หรือจะแปลว่า “ลบเส้นกั้น” ก็ย่อมได้ ซึ่งสื่อถึงความไม่สามารถแบ่งแยกสรรพสิ่งให้เป็นประเภทหนึ่งประเภทใดอย่างเด็ดขาดได้ อันกินความหมายกว้าง ตั้งแต่ภาษาในฐานะที่สื่อความหมาย จนถึงพฤติกรรม

มีหลายฉากที่แสดงถึงการพูดความจริงจนกลายเป็นความเท็จ และกลับกัน เมื่อสเตฟาโนพยายามคาดคั้นว่าลิลาเป็นชู้กับนีโนหรือไม่นั้น ลิลาปฏิเสธ สเตฟาโนไม่เชื่อ ในที่สุดลิลาตะโกนตอบว่าก็ใช่สิ ซึ่งเป็นความจริง แต่สเตฟาโนก็ไม่เชื่อ เพราะลิลาพูดด้วยน้ำเสียงแดกดันเชิงประชด

‘ลบเส้นกั้น’ ในแง่พฤติกรรมก็ยุ่งยากไม่น้อยไปกว่ากัน “แฟร์นันโดมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย แกรักเขามาก แต่ก็เกลียดด้วย… มันจะเป็นยังงี้ไปตลอดชีวิตนั่นแหละ เดี๋ยวโดนตบ เดี๋ยวโดนจูบ” (เล่ม 2 น.224)

มีฉากที่ ‘ลบเส้นกั้น’ อย่างที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไรแน่ คือฉากที่ก้ำกึ่งกันระหว่างการข่มขืนกับการไม่ขัดขืน ซึ่งยากที่จะกล่าวว่าเป็นการข่มขืนหรือไม่ กล่าวคือ จะว่าขืนทั้งกายและใจก็ไม่ใช่ แต่จะว่าเต็มใจก็ไม่เชิง ในเมื่อกายก็พร้อมที่จะประกอบกามกิจไปด้วยคือบอก ‘Yes’ คือใจบอก ‘No’ ซึ่งถ้าเป็นคดีความ ลูกขุนก็คงเสียงแตกเป็นครึ่งต่อครึ่ง

นิยายชุดนี้คงไม่ถือกันว่าเป็นนิยายเชิงปรัชญา ที่มีการเสนอและถกเถียงความคิดนามธรรมเป็นแกนของเรื่องนิยายในลักษณะนี้ (เท่าที่ผู้เขียนรับรู้) ตัวละครจะเป็นคนกลุ่มระดับบนๆ ของสังคม หรือไม่ก็เป็นกลุ่มปัญญาชน แต่เรื่องนี้กลับเป็นผู้คนที่อยู่อีกขั้วหนึ่งทั้งทางการศึกษาและสถานะทางสังคม

แต่แท้แล้วเรื่องราวและข้อความการสนทนาซึ่งมาจากตัวละครที่ไม่เข้าข่ายเป็น “คนมีการศึกษา” อีกทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องพื้นๆ เรื่อง “น้ำเน่า” ที่เราอ่านได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์สำหรับพื้นบ้านร้านตลาดนั้น

ในเบื้องลึกแล้วกลับเป็นเรื่องที่แฝงหรือมีฐานจากทฤษฎีและปรัชญาที่ถกถียงกันในวงวิชาการสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ตั้งแต่เรื่องปัญหาความหมายในภาษา ปัญหาที่แนวเฟมินิสต์ขบคิด ปัญหาการดำเนินและดำรงชีวิต ปัญหาความย้อนแย้งระหว่างสังคมกับศีลธรรม ปัญหาที่ถกเถียงกันในวงการวรรณกรรมวิจารณ์ ปัญหาการกำหนดบงการของอำนาจทั้งจากฟ้าและจากดิน ปัญหาการนิยามเรื่องที่อยู่คู่กับความเป็นมนุษย์ อย่างความรัก ความดี ฯลฯ

กระนั้น เราก็ไม่ได้อ่านนิยายเพื่อเรียนรู้ความคิดทฤษฎีเป็นเหตุผลหลัก เราอ่านด้วยเหตุผลที่วรรณกรรมชุดนี้นี้ปั่นความรู้สึกของเราด้วยความรู้สึก และป่วนความคิดของเราด้วยความคิด จนถึงสะเทือนทั้งความคิดด้วยความรู้สึก และสะท้านอารมณ์ความรู้สึกด้วยความคิด

จนเราอยาก “นอนจ้องเพดาน” (เล่ม 2 น.454) เหมือนความคิดฝันของเลนูที่วูบลงพร้อมกับฟ้าถล่ม

ไชยันต์ รัชชกูล

กุมภาพันธ์-มีนาคม 2564

บ้านกองทราย สารภี เชียงใหม่

ป.ล. บทวิจารณ์นี้เน้นที่เล่มหนึ่งและเล่มสองซึ่งมีฉบับแปลไทยแล้ว ส่วนการวิจารณ์อีก 2 เล่ม ก็จะมีภาคสองต่อไป อีกทั้งหวังว่าผู้แปลคงได้ทำตามความตั้งใจที่จะแปลให้ครบชุด ผู้เขียนรู้สึกขอบคุณผู้แปล (นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ) ที่เมื่อได้พบวรรณกรรมชั้นเลิศแล้วแทนที่จะชื่นชมอยู่เพียงลำพัง กลับอุตส่าห์ลงแรงแปล อีกทั้งแปลจากต้นฉบับภาษาอิตาเลียนเสียด้วย