2503 สงครามลับ สงครามลาว (29)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (29)

 

แสวงเครื่อง

“ในที่สุดการเข้าประจำที่ตั้งยิงของหน่วยยิงใหม่คือ ปกค. 155 จำนวน 4 หมู่ก็สำเร็จเรียบร้อย จะเริ่มเปิดการยิงครั้งแรกก็ได้รับรายงานจากนายสิบหัวหน้าส่วนยิง ปกค. 155 ว่าไม่มีเครื่องมือการยิง เครื่องมือวัดระยะและบรรทัดตารางยิง สิงห์ได้รายงานไปยัง บก.ขอให้ส่งเครื่องมือการยิงไปให้โดยด่วน

ระหว่างที่รอคอยเครื่องมือการยิงอยู่นั้น หน่วยยิงทั้งสองคือ ปบค. 105 และ ปกค. 155 ถูกปืนใหญ่ข้าศึกยิงมาจากระยะที่ปืนใหญ่ฝ่ายเรายิงไม่ถึง แต่ ปกค. 155 ยิงถึง

‘สิงห์’ จึงได้ริเริ่มต่อระยะยิงโดยใช้บรรทัดวัดระยะของ ปบค. 105 ทำขึ้นเอง (ทำจากไม้ไผ่) จนได้ระยะที่ ปกค. 155 ยิงได้ไกลที่สุด สำหรับมุมสูงที่จะสั่งไปยังหมู่ปืนนั้น สิงห์ได้ทำบรรทัดการยิงชั่วคราวขึ้น ทำจากไม้ไผ่เช่นเดียวกัน เทียบกับบรรทัดตารางยิงของ ปบค. 105 ม.ม. (เอาสมุดตารางยิงของ ปบค. 105 เป็นหลักแล้วใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์ 10 เมตรเท่ากับมุมสูงกี่มิลเลียม) แล้วก็เปิดการยิงตอบโต้ปืนใหญ่ของข้าศึกอย่างดุเดือด จำไม่ได้ว่านานเท่าไร ฝรั่งจึงส่งเครื่องมือการยิงมาให้

ข้าศึกได้หยุดการยิงปืนใหญ่แล้วเคลื่อนย้ายไปข้างหลังจนพ้นระยะยิง ปกค. 155 ของฝ่ายเรา นานๆ จึงลอบเข้ามายิงครั้งหนึ่ง แล้วรีบถอนปืนใหญ่ไปข้างหลังจนพ้นระยะปืนใหญ่ของเรา

เมื่อที่ตั้งยิง ปกค. 155 เสร็จเรียบร้อย สิงห์ก็ได้พักค้างคืนที่หน่วยยิง ปบค. 105 แต่ได้เดินทางไปเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบทหารของ ปกค. 155 ทุกวัน

อยู่มาวันหนึ่ง สิงห์ออกจากที่ตั้ง ปบค.105 เพื่อไปที่ตั้ง ปกค. 155 เริ่มออกเดินทางอากาศแจ่มใสดี เมื่อเดินทางถึงหน้าที่ตั้งหน่วย ปกค.155 อากาศกลับมืดมิดลงทันที สิงห์ยังคงเดินทางไปเรื่อยๆ กำลังจะผ่านเข้าไปในหน่วย นึกอย่างไรไม่ทราบได้ส่งเสียงเข้าไปก่อนว่า “วันนี้มาเยี่ยมแล้วนะ”

เมื่อเข้าไปถึงหน่วยก็ไปคุยกับทหารประจำศูนย์อำนวยการยิง ปกค. 155 สักครู่ก็มีนายสิบคนหนึ่งเข้ามาพบสิงห์ หน้าตาไม่ค่อยดี ถามสิงห์ว่าเพิ่งเข้ามาใช่ไหม สิงห์ตอบว่าใช่

เขาบอกว่ากำลังจะเหนี่ยวไกอยู่แล้ว เห็นคนเดินเข้ามาเป็นเงาๆ ถ้ายิงก็ตาย”

 

“จบภารกิจ”

เมื่อการปฏิบัติผ่านไป 7 เดือน หน่วยเหนือได้ส่งหน่วยปืนใหญ่มาสับเปลี่ยน เรียกนามหน่วยว่า เอสอาร์ 2 เป็นหน่วยมาจากเมืองหลวง โดยสนธิกำลังจากหน่วยปืนใหญ่หลายหน่วย

ในช่วงเวลาเหล่านั้นประเทศไทยได้ส่งทหารทุกเหล่าทัพเดินทางไปปฏิบัติการลับประเทศที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ

ในการรบนั้น ทหารไทยได้บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ได้ประกอบวีรกรรมไว้มากมาย แต่มิได้มีชื่อปรากฏเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

เอสอาร์ 1 ประกอบวีรกรรมและชื่อเสียงไว้พอสมควรแต่ไม่ปรากฏวีรกรรมที่เด่นชัด คนไทยไม่ค่อยทราบกันทั่วไปเพราะเป็นการปฏิบัติการลับ

เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์จริงมิได้แต่งขึ้นเพื่อให้บังเกิดความเพลิดเพลินตื่นเต้นแต่อย่างใด”

 

เสร็จสิ้นภารกิจ

นอกจากการปฏิบัติการในสนามแล้ว กองร้อยเอสอาร์ 1 ยังทำการฝึกตามที่ได้รับการร้องขอแก่ทหารปืนใหญ่ในกองทัพแห่งชาติลาวหลายหลักสูตร

เช่น หลักสูตรการฝึกพลประจำปืน ปบค. 105 ม.ม.

หลักสูตรการอำนวยการยิงปืนใหญ่

หลักสูตรช่างซ่อมปืนใหญ่

หลักสูตรผู้ตรวจการณ์ปืนใหญ่ทางอากาศ

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร เป็นนายทหาร 7 คน นายสิบ 88 คน

กองร้อยเอสอาร์ 1 เสร็จสิ้นภารกิจ 1 มีนาคม 2508 เดินทางกลับประเทศไทย รวมเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้น 7 เดือนเศษ

กองร้อยเอสอาร์ 2 เข้ารับหน้าที่ต่อ

กองทัพบกได้จัดส่งทหารปืนใหญ่ไปป้องกันเมืองสุยในนาม “กองร้อยเอสอาร์” รวม 9 รุ่น จาก พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ.2514

 

หมายเหตุ

“ยิงหาหลักฐานประณีต” เป็นการยิงมิใช่หวังเพื่อทำลายที่หมายโดยตรง แต่เป็นเทคนิคเพื่อหาหลักฐานตัวแก้ไว้สำหรับการยิงครั้งต่อๆ ไปให้เกิดความรวดเร็วและแม่นยำสูงสุด

“การยิงรบกวนและขัดขวาง” เป็นการยิงเพื่อทำลายข้าศึก ต่อตำบลที่คาดว่าข้าศึกจะปรากฏตัว เช่น พื้นที่ที่คาดว่าข้าศึกจะรวมตัว เส้นทางเคลื่อนที่ แหล่งน้ำ ฯลฯ เป้าหมายได้จากการข่าว มิใช่การตรวจการณ์เห็นโดยตรง

“ปบค. 105” ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง กว้างปากลำกล้อง 105 ม.ม. ระยะยิง 11.5 ก.ม.

“ปกค. 155” ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง กว้างปากลำกล้อง 155 ม.ม. ระยะยิง 14.6 ก.ม.

“มิลเลียม” องศาสำหรับการคำนวณในการยิงปืนใหญ่ โดยแบ่งย่อยจาก 360 องศา ให้ละเอียดขึ้นเป็น 6,400 มิลเลียม

 

การรบที่ไม่มีแนวรบ

มีบันทึกที่น่าสนใจของ “สิงห์”เกี่ยวกับจุดอ่อนของหน่วยทหารปืนใหญ่ในปฏิบัติการที่ไม่มีแนวรบชัดเจนดังนี้

“ตามหลักการแล้ว หน่วยทหารปืนใหญ่จะต้องอยู่หลังที่ตั้งของทหารราบในแนวหน้า โดยมีกำลังฝ่ายเดียวกันอยู่ทางข้างและด้านหลังอีกด้วย แต่การเข้าปฏิบัติการในลาวถือได้ว่าเป็นการรบนอกแบบ ไม่มีแนวรบ ขณะนั้นไม่มีหน่วยทหารราบของไทยร่วมทำการรบอยู่ด้วย จึงไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่ากำลังทหารราบของลาวที่อยู่รอบๆ จะสามารถคุ้มกันการเข้าตีของข้าศึกโดยตรงต่อทหารปืนใหญ่ได้ การสู้รบที่มีระยะเวลายาวนานก่อนที่หน่วย SR จะเข้าไปปฏิบัติการ ทำให้ทหารลาวเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายการสู้รบ อาจจะถอนตัวโดยไม่แจ้งเตือน หรือแจ้งเตือนในเวลากระชั้นชิด หรือมีการถอนตัวก่อนแล้วจึงมีหน่วยอื่นขึ้นไปทดแทน ทำให้หน่วยทหารปืนใหญ่อยู่ในลักษณะโดดเดี่ยว นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดของข้าศึกแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยกำลังทางพื้นดินอีกด้วย”

“นอกจากนี้ ที่ตั้งของกองร้อยทหารปืนใหญ่ยังมีจุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีถนนตัดผ่านกลางระหว่างส่วนยิงทั้ง 2 ส่วนกำลังฝ่ายลาวสามารถเคลื่อนย้ายผ่านไปมาได้ มีผลให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถแทรกซึมเข้าโจมตีได้”

“แต่ที่จำเป็นต้องใช้ที่ตั้งแห่งนี้ เพราะเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม มีที่ลาดหลังเนิน สามารถกำบังการยิงด้วยปืนใหญ่กระสุนวิถีราบหรือการยิงเล็งตรงของข้าศึก การวางกำลังระวังป้องกันจึงเน้นในเรื่องการโจมตีด้วยกำลังทหารราบและการโจมตีด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ทั้งยังอาศัยประโยชน์จากการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนของลาวเป็นเครื่องมือในการหาข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของข้าศึก เพื่อเสริมสร้างการระวังป้องกัน”

 

จากเอสอาร์ 1 ถึงเอสอาร์ 9

กองทัพบกได้จัดส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่ไปป้องกันเมืองสุยในนาม “กองร้อย เอสอาร์” รวม 9 รุ่น จาก พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ. 2514 ดังมีรายนามผู้บังคับกองร้อย เอสอาร์ 1- 9 ดังนี้

เอสอาร์ 1 พ.ต.วิวัฒน์ โรจนะยานนท์ (หัวหน้าศักดิ์) 4 กรกฎาคม 2507-1 มีนาคม 2508

เอสอาร์ 2 พ.ต.วิชิต บุณยะวัฒน์ (หัวหน้าธาร) 1 มีนาคม 2508-30 พฤศจิกายน 2508

เอสอาร์ 3 พ.ต.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ (หัวหน้าเจน) 30 พฤศจิกายน 2508-10 พฤษภาคม 2509

เอสอาร์ 4 พ.ต.ประชัน อนันตสุรกาจ (หัวหน้ากาพย์) 10 พฤษภาคม 2509-1 มีนาคม 2510

เอสอาร์ 5 พ.ต.วิโรจน์ แสงสนิท (หัวหน้าอุทัย) 1 มีนาคม 2510-1 พฤศจิกายน 2510

เอสอาร์ 6 พ.ต.แผ้ว แผ้วพิษากุล (หัวหน้าพิกุล) 1 พฤศจิกายน 2510-1 กรกฎาคม 2511

เอสอาร์ 7 พ.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง (หัวหน้ารุจา) 1 กรกฎาคม 2511-1 มีนาคม 2512

เอสอาร์ 8 พ.ต.สมหมาย วงศ์ข้าหลวง (หัวหน้าบวร) 1 มีนาคม 2512-1 มิถุนายน 2512

เอสอาร์ 9 พ.ต.นานศักดิ์ ข่มไพรี (หัวหน้าเกริก) 9 มีนาคม 2513-14 เมษายน 2514

(เอสอาร์ 9 เปลี่ยนที่ตั้งจากเมืองสุยเป็นล่องแจ้ง)