อย่ายอมให้เทคโนโลยีล้วงความคิด/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
3D medical background with male head and brain on DNA strands

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

อย่ายอมให้เทคโนโลยีล้วงความคิด

 

ภาพยนตร์เรื่อง Inception ที่พระเอกอย่างลีโอนาโด ดิคาปริโอ รับบทเป็นโจรที่มีความสามารถพิเศษแอบย่องเข้าไปในความฝันของคนอื่นและฉกฉวยความลับออกมาจากจิตใต้สำนึกของเหยื่อได้ทำให้ผู้ชมทั่วโลกตื่นตะลึงกับพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่แบบนี้มาแล้วตั้งแต่ในช่วงปี 2010 ที่หนังเรื่องนี้เริ่มฉาย

แต่ในตอนนั้นผู้ชมอย่างเราก็รับชมเพื่อความบันเทิงโดยไม่ได้รู้สึกหวาดหวั่นสักเท่าไหร่ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้

เพราะถ้าเราไม่เผลอละเมอพูดเนื้อหาในความฝันออกมา ใครเล่าจะเข้าไปล้วงได้ลึกถึงขนาดนั้น

ผ่านมาแค่สิบปีนิดๆ เราเริ่มได้เห็นชัดขึ้นว่าจินตนาการคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ได้ฝากเอาไว้ในหนังเรื่องนี้อาจจะกำลังค่อยๆ คลี่คลายกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาเร็วๆ นี้ก็ได้

 

ประเทศชิลีตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งที่เรียกว่า neuro-rights หรือสิทธิทางประสาท โดยจะเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่ม ลด หรือรบกวนความคิดหรือจิตใต้สำนึกโดยที่เจ้าของไม่ยินยอม

เทคโนโลยีที่พูดถึงนี้ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าจะต้องมาในรูปแบบไหนบ้าง ซึ่งก็อาจจะหมายถึงตั้งแต่อัลกอริธึ่ม การปลูกถ่ายอวัยวะเทียม หรือแก็ดเจ็ตใดๆ ก็ตามที่จะเข้าไปส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายของมนุษย์ไปจนถึงอิสรภาพทางความคิดและเจตจำนงเสรีทั้งหลาย

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น มันก็คือเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่จะทำหน้าที่ในการอ่านความคิดของเราได้ หรือบางครั้งมันอาจจะอ่านสิ่งที่อยู่ในความคิดเราได้ก่อนที่เราจะรู้ตัวว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่เสียอีก

ไม่ใช่แค่การอ่านอย่างเดียว แต่การปกป้องนี้จะรวมไปถึงการเขียนข้อมูลเพิ่มด้วย

เพราะถ้าหากจะมีอะไรสักอย่างเข้ามาล้วงความคิดเราไปได้ สิ่งนั้นก็อาจจะใส่อะไรเพิ่มเติมเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัวและทำให้เราเข้าใจไปว่านี่คือความคิดที่มาจากสมองเราเองล้วนๆ สิ่งนั้นอาจจะเข้ามาใส่อารมณ์บางประเภทให้เรา ใส่เรื่องราวในชีวิตที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเข้าไป และสมองของเราก็จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องนั้นๆ เกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ทางการออกแบบของคนที่ไม่ประสงค์ดีกันแน่

เขาซีเรียสเรื่องนี้กันถึงขนาดที่เซบาสเตียน พิเนรา ประธานาธิบดีของชิลีออกมาเรียกร้องให้ประชาชนจับตามองอนาคตไว้ให้ดี และให้ตั้งการ์ดปกป้องความเป็นส่วนตัวทั้งต่อข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ไปจนถึงสิ่งที่อยู่ในความคิด ความรู้สึก ข้อมูลทางประสาทต่างๆ เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาวุ่นวายได้

ร่างกฎหมายที่ชิลีวางเอาไว้มีอยู่ 4 ส่วนหลักๆ ซึ่งประกอบไปด้วยการปกป้องข้อมูลจากความคิดของมนุษย์หรือข้อมูลประสาท

การกำหนดขอบเขตของเทคโนโลยีที่สามารถใช้อ่านและเขียนข้อมูลในสมองได้

การเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียม

และการกำหนดขอบเขตของอัลกอริธึ่มที่เกี่ยวข้องกับประสาท

 

อ่านดูถึงนี่ก็อาจจะรู้สึกว่า โอ้โห ชิลีมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตข้างหน้านู้นเลยสินะ

แต่ผู้เชี่ยวชาญจากในสหรัฐก็บอกว่าเทคโนโลยีที่พูดถึงเนี่ยมีใช้กันแล้วจริงๆ ในปัจจุบัน

และต่อให้มีเทคโนโลยีที่ยังมาไม่ถึง แต่ถ้าจะให้ประเมินระยะเวลาดู เทคโนโลยีที่น่าจะอยู่ห่างไกลที่สุดก็ห่างไกลไปแค่สิบปีเท่านั้นแหละ

อ้าว แต่ถ้าเทคโนโลยีที่ว่ามีใช้กันอยู่จริงแล้ว ทำไมเรายังไม่เคยเห็นใครมาลองอ่านหรือเขียนความคิดของคนอื่นให้ดูกันเลยล่ะ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกใช้อยู่กับสัตว์ในห้องทดลองต่างๆ นั่นเองค่ะ

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองกับหนูด้วยการใส่ภาพวัตถุแปลกใหม่เข้าไปในสมองของพวกมันและคอยสังเกตว่าหนูเหล่านี้จะยอมรับภาพวัตถุใหม่ๆ เหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในชีวิตจริงของพวกมันและนำไปผสมรวมเข้ากับพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันอย่างไรบ้าง

เมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ หากเราสามารถเข้าไปกระตุ้นกระบวนการทางเคมีของสมองได้ก็อาจจะทำให้เราเปลี่ยนความคิดหรือการตัดสินใจของคนคนนั้นได้

และนี่ก็เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทดลองทำกับสัตว์มาแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ก็ไม่ได้มีแต่ความดาร์กเพียวๆ

เพราะประโยชน์ของมันก็มีอยู่

อย่างการใช้เพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีรับมือกับโรคทางสมองต่างๆ อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคลมชัก ไปจนถึงการรักษาอาการซึมเศร้าและหูหนวก

แต่ก็เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ถ้าหากนำไปใช้ไม่ถูกทาง แทนที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ดีๆ ก็อาจจะทำให้โลกเราในอนาคตกลายเป็นดิสโทเปียเหมือนที่เราเห็นกันในหนังได้

ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ไม่ถูกทางก็คือการใช้เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดของคน ชี้นำความสนใจ ความชอบ หรือรูปแบบการบริโภค เพื่อให้สมประโยชน์กับผู้ใช้เทคโนโลยีมากที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเทคโนโลยีประเภทนี้จะถาโถมเข้าหามนุษยชาติราวกับคลื่นสึนามิที่จะมาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเตรียมตัวกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

นอกวงการทางการแพทย์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการอ่านสัญญาณจากสมองก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริษัทหลายแห่งเปิดตัวอุปกรณ์ที่จะช่วยจับสัญญาณกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมองเพื่อช่วยระบุอารมณ์ของผู้ที่สวมใส่ หรือแม้กระทั่งใช้ในการบังคับควบคุมอุปกรณ์อื่นๆ

จนมีการพูดถึงกันว่าต่อไปเราอาจจะไม่จำเป็นต้องจำกัดการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเอาไว้ที่การสัมผัสหรือส่งเสียงอีกต่อไป บางทีแค่การคิดเฉยๆ ก็อาจจะเพียงพอที่จะสั่งการสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแล้วก็ได้

ฉันได้อ่านบทความของสื่อบางแห่งที่แสดงความเป็นห่วงว่าหากมีเทคโนโลยีที่สามารถล่วงล้ำและปรับแต่งความคิดของคนได้ และเทคโนโลยีชิ้นนั้นไปตกอยู่ในมือของผู้นำลัทธิอะไรสักอย่างก็คงเป็นเรื่องที่น่าชวนขนลุกไม่น้อย

เพราะสิ่งนี้จะถูกใช้เพื่อปลุกระดมความคิดของคนจำนวนมากให้ทำตามความต้องการของผู้นำได้ ดังนั้น จึงจำเป็นเป็นอย่างมากที่จะต้องวางกฎระเบียบและข้อตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าว่ามนุษยชาติจะไม่ยอมพากันเดินไปถึงจุดนั้นง่ายๆ

ใช่ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีวิธี “ล้างสมอง” มาก่อน แต่หากมีเทคโนโลยีแบบนี้มาช่วย ก็อาจทำให้การเจาะทะลุเข้าไปในความคิดคนเกิดขึ้นได้ง่าย ครอบคลุมเป็นวงกว้าง ต้นทุนต่ำ และทำได้รวดเร็วเพียงไม่กี่นาที ไม่ต้องใช้เวลาปลูกฝังกันนานเป็นสิบปีหรือชั่วอายุขัยอีกต่อไป

แค่คิดก็สยองแล้ว