ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
มุมมุสลิม
จรัญ มะลูลีม
การใช้กฎหมายอิสลาม
ในประเทศไทยและโลกมุสลิม (จบ)
ขอบเขตอำนาจศาลชะรีอะฮ์ของสิงคโปร์มีเอกลักษณ์เฉพาะ
โดยศาลสูงของสิงคโปร์ได้กล่าวถึงศาลชะรีอะฮ์ว่าเป็นศาลชำนัญพิเศษที่รัฐสภาตั้งใจให้มีขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ดังนั้น ศาลชะรีอะฮ์ต้องบังคับใช้กฎหมายอิสลามเท่านั้น
ศาลชะรีอะฮ์มีอำนาจครอบคลุมกระบวนการพิจารณาคดีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นมุสลิมหรือคู่ความที่ทำการสมรสภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายอิสลาม (มาตรา 35 (2), Administration of Muslim Law Act หรือ AMLA)
ซึ่งเกี่ยวข้องกับ (1) การสมรส (2) การหย่า (เฎาะลาก) รวมถึงการหย่าโดยมีเงื่อนไข (ตะอฺลีก อัฎเฎาะลาก) และการซื้อหย่า (คุลอฺ) (3) การหมั้น ความเป็นโมฆะของการสมรสหรือการแยกกันอยู่ (4) การจำหน่ายหรือการแบ่งทรัพย์สินเนื่องจากการหย่าร้าง และ (5) การชำระค่ามะฮฺร์ ค่าเลี้ยงดู และค่าปลอบขวัญเนื่องจากการหย่า (มุตอะฮฺ) (ตามมาตรา 35, Administration of Muslim Law Act)
เกี่ยวกับการสมรสและการหย่า AMLA ได้บัญญัติว่าในกรณีที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งพ้นจากศาสนาอิสลามในระหว่างที่การสมรสที่มีผลอยู่นั้น ศาลชะรีอะฮ์ก็ยังมีอำนาจตัดสินคดีดังกล่าวได้ (มาตรา 35(2), Administration of Muslim Law Act)
นอกจากนี้ ศาลชะรีอะฮ์ยังมีอำนาจในกรณีที่คู่ความได้ทำการสมรสตามบทบัญญัติของกฎบัตรสตรี ซึ่งเป็นกฎหมายแพ่งทั่วไปเนื่องจากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้เป็นมุสลิม แต่ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอิสลาม ณ สำนักงานทะเบียนสมรสสำหรับมุสลิม เนื่องจากคู่สมรสดังกล่าวเข้ารับอิสลาม
นอกจากนี้ ในคดีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชะรีอะฮ์ Yeo Pei Chern v.Isa Seow Zheng Xin alias Mohammed Isa Abdullah (Appeal Case No. 23/2007) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตัดสินว่า “การจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายแพ่งมิได้ทำให้การสมรสภายใต้กฎหมายอิสลาม สิ้นสุดลงแต่อย่างใด”
ในทางตรงกันข้ามศาลแพ่งได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่มีอำนาจในคดีหย่าซึ่งการสมรสได้ดำเนินการจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานจดทะเบียนสมรส แต่ต่อมาคู่สมรสได้ทำการสมรสภายใต้กฎหมายอิสลาม
สําหรับบรูไนแล้วอาจกล่าวได้ว่าบรูไนได้รับการอำนวยพรด้วยการมีประชากรที่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศอย่างเคร่งครัด
บรูไนดารุสซาลามเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทั้งในทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองจนถึงปัจจุบัน (2564) มีประชากรไม่เกินห้าแสนคน ได้ชื่อว่าคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดรองจากสิงคโปร์
ส่วนในประเทศซาอุดีอาระเบียมีการใช้กฎหมายอิสลามเต็มรูปแบบ
แต่วิธีการลงโทษตามที่กำหนดโดยกฎหมายในทางปฏิบัติแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย
เช่น ถ้าขโมยให้ตัดมือ แต่ต้องมีการพิจารณาก่อนลงโทษว่าที่ต้องลักขโมย มาจากความยากจนหรือขัดสนอย่างหนักหรือไม่?
มูลค่าจากของที่ลักขโมยมีค่ามากน้อยเพียงใด ไม่มีอันจะกินหรือไม่?
หรือรัฐให้การดูแลที่ดีแล้วหรือยัง
ในกรณีเพื่อนบ้านมาเลเซียพบว่ามาเลเซียใช้กฎหมายอิสลามผสมกฎหมายทั่วไป หรือ Common law
และการใช้กฎหมายอิสลามหรือชะรีอะฮ์ ใน 13 รัฐของมาเลเซียก็ใช้ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะกรรมการอิสลาม (มัจญลิส) ในแต่ละรัฐ
เช่น ในรัฐเปอร์ลิส (Perlis) หากจะมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน ไม่ต้องขออนุญาตจากภรรยาคนแรกก่อน ในขณะที่รัฐอื่นๆ ต้องขออนุญาตจากภรรยาคนแรก
ส่วนชาวจีนและชาวอินเดียซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยก็ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของแผ่นดิน ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์)
สําหรับฟิลิปปินส์มีการจัดตั้งองค์กรของรัฐระดับชาติเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของชาวมุสลิมเป็นการเฉพาะ และที่โดดเด่นที่สุดของนโยบายที่กล่าวมาคือการประกาศใช้กฤษฎีกาเลขที่ 1803 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าประมวลกฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานภาพบุคคล (Code of Muslim Personal laws) ซึ่งประกาศใช้โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
ซึ่งอนุญาตให้ชาวมุสลิมได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานภาพบุคคลเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ
ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศฟิลิปปินส์มีวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีรากฐานสำคัญมาจากศาสนาอิสลาม
ดังนั้น ในปี 1977 รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์โดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) จึงได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานะบุคคลควบคู่กับประมวลกฎหมายครอบครัว จึงเท่ากับว่าประเทศฟิลิปปินส์ได้ยอมรับความเป็นพหุนิยมทางกฎหมาย (Legal Pluralism)
ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่อนุญาตให้มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานะบุคคล เพื่อจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันสำหรับการบังคับใช้กฎหมายอิสลามแก่ชาวมุสลิม
ในช่วงแรกของการได้รับเอกราชจะพบว่าชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ยังไม่ได้รับสิทธิในการบังคับใช้กฎหมายอิสลามแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องไปแล้วก็ตาม จนกระทั่งในสมัยการปกครองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส มุสลิมจึงได้รับสิทธิดังกล่าว
สถานะของประมวลกฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานภาพบุคคลในฟิลิปปินส์มิได้ทำให้มุสลิมแปลกแยกออกจากกฎหมายอื่นในประเทศ มีเพียงประเด็นทางครอบครัวและมรดกเท่านั้นที่ประชาชนชาวมุสลิมแห่งฟิลิปปินส์จะมีสิทธิบังคับใช้กฎหมายอิสลาม
นอกเหนือจากประเด็นนี้แล้วมุสลิมก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายอื่นเหมือนกับพลเมืองทั่วไปของประเทศ (ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ใน มุฮัมมัดซากี เจ๊ะหะ, กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ : ศึกษาเปรียบเทียบ, ปัตตานี : มหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2561)
โดยโครงสร้างแล้ว ศาลชะรีอะฮ์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบศาลแห่งฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์
ศาลลำดับรองลงมาจากศาลฎีกาคือศาลอุทธรณ์ และลำดับรองลงมาจากศาลอุทธรณ์ก็จะเป็นศาลประจำท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายใน 13 พื้นที่ของฟิลิปปินส์ รองลงมาจากศาลเหล่านี้คือศาลปริมณฑล ศาลเทศบาลประจำภาค (H.A. Barra, Mindanao Law journal, Vol.3 No. 1, October 1988, pp. 16-33) ศาลชะรีอะฮ์ในฟิลิปปินส์ก็ถูกจัดอยู่ในลำดับเดียวกัน
ศาลชะรีอะฮ์ถูกจัดตั้งขึ้นมาอันเป็นผลจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานภาพบุคคลเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1977 ที่บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลชะรีอะฮ์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับสถานภาพบุคคลของชาวมุสลิม โดยบัญญัติให้มีศาลชะรีอะฮ์ประจำภาค (Shari’a District Courts)
ซึ่งศาลชะรีอะฮ์ทั้งสองประเภทถือว่าเป็นศาลชั้นต้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในระบบกฎหมายแห่งฟิลิปปินส์ (Mangontwar M.Gubat, “The Shariah Judicial System in the Philippines, “Mindanou Law Journal. vol 3, 1989, หน้า 70)
และถูกจัดตั้งเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีมุสลิมเป็นจำนวนมากเท่านั้น
อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายอิสลามหรือชะรีอะฮ์คือประมวลข้อกฎหมายที่มาจากคำสอนศาสนาและหลักนิติศาสตร์ (jurisprudence) พื้นฐานของศาสนาอิสลาม โครงสร้างทางกฎหมายจะครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชน ตลอดจนครอบคลุมด้านต่างๆ ของชีวิตประจำวัน ทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการดำเนินธุรกิจ ระบบการธนาคาร ระบบธุรกรรมหรือทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคมและอื่นๆ
ด้วยเหตุผลนี้อิทธิพลของชะรีอะฮ์ จึงมีให้เห็นอยู่เสมอในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมุสลิมแต่ละคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก่อนจะยกมาเป็นระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น และระดับชาติในที่สุด (Herbert Leibesny, English Common Law and Islamic Law in the Middle East and South Asia : Religious Influences and Secularization, Washington National Law Center, : Washington : George Washington University, 1985, p.21-22)
ดังได้กล่าวมาแล้ว มีประเทศมุสลิมบางประเทศที่บังคับใช้กฎหมายอิสลามเป็นหลัก เช่น ซาอุดีอาระเบีย และมีอีกหลายประเทศที่บังคับใช้กฎหมายแบบผสมผสาน ได้แก่ แอลจีเรีย ลิเบีย โมร็อกโก บังกลาเทศ จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน เป็นต้น โดยประเทศเหล่านี้ได้บังคับใช้กฎหมายครอบครัว มรดก และบางส่วนของกฎหมายปกครอง พร้อมกับบังคับใช้กฎหมายสากลทั่วไปในเรื่องอื่นๆ
เช่นเดียวกันกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ที่มีประเทศมุสลิม 3 ประเทศที่ได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามผสมผสานกับกฎหมายอื่น ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย ซึ่งบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกควบคู่กับระบบกฎหมายแพ่งที่ได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบางประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยแต่อนุญาตให้มุสลิมได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
การอนุญาตให้มุสลิมได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานภาพบุคคลนั้นเกิดจากความตระหนักของรัฐต่อความจำเป็นของมุสลิมในการยึดถือปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
และหากประเทศเหล่านี้ไม่รับรองการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานภาพบุคคล มุสลิมก็ยังคงจำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หาไม่แล้วจะเป็นบาปติดตัวตลอดไป
ด้วยข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ทำให้ประเทศไทย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์รับรองการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยสถานภาพบุคคลภายในประเทศอย่างเป็นทางการ โดยให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งกฎหมายในประเทศ
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกติกาสากลว่าด้วยการคำนึงถึงสิทธิของชนกลุ่มน้อยในการนับถือและปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลามที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง (มุฮำหมัดซากี เจ๊ะหะ, เรื่องเดียวกัน หน้า 1-2)
เพื่อความมั่นคงภายในประเทศการส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อยจึงเป็นหน้าที่ของทุกประเทศและสิทธิดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับชนส่วนใหญ่ของประเทศ
จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด ในการที่ประเทศหนึ่งจะประกาศใชกฎหมายที่ให้สิทธิทางศาสนาและวัฒนธรรมเนื่องจากสิทธิเหล่านี้ได้รับการปกป้องจากกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) 1966” มาโดยตลอดนั่นเอง