เส้นทางอำนาจอันแสนยาก ต้องฟาดฟัน/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

เส้นทางอำนาจอันแสนยาก

ต้องฟาดฟัน

 

ทุกบริบทความกระทบกระทั่งของพี่น้องกษัตริย์ร่วมสายอุทรพระบาทองค์ด้วง (สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิดี) ทั้งองค์ราชาวดี หรือพระบาทนโรดม พรหมบริรักษ์ (2377-2447) องค์สีวัตถา และองค์สีโสวัตถิ์ (2383-2470) ฉายให้เห็นภาพว่าเป็นชาติกษัตริย์นั้นมันยาก ต้องฟันฝ่าสักแค่ไหน?

ให้ดูตัวอย่างโอรสทั้ง 3 ของพระบาทองค์ด้วงที่เริ่มจาก :

ราชาวดี-สีวัตถา

พระบาทสีโสวัตถิ์

เล่ากันว่า สีวัตถาศิษย์รักพระอาจารย์เตียง (2366-2456) ซึ่งปราดเปรื่องดาราศาสตร์สมัยอยู่ที่เมืองไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงโปรดนัก ถึงกับอุปถัมภ์และยกย่องบรรพชิตผู้สืบทาสเชลยจากพ่อ-แม่ที่ถูกกวาดต้อนมาเมืองไทย

ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายมหานิกายของเขมรอันดับ 2 ที่ได้รับความเคารพจากคนท้องถิ่นมากกว่าพระเถระธรรมยุตจากสยาม ส่วนความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์นั้น ยังเป็นความลับว่า มีอะไรในกอไผ่ที่หว้ากอ? ซึ่งจะขอเล่าคราวต่อไป

ทว่า สมเด็จเตียงลูกทาสเชื่อกันว่ารู้จักบรรพชิตราชนิกุลไทยบางพระองค์ขณะบรรพชาอยู่เมืองไทย ในจำนวนนี้หาใช่ใครอื่นไม่ แต่เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต่อมาทรงสถาปนาองค์ราชาวดีขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ใหม่ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ต่อไปนี้จะเรียกว่านโรดม)

เมื่อองค์ราชาวดีจบที่ครองราชย์ ก็ไฉนเลยเล่า องค์สีวัตถาจะลุกขึ้นมาเป็นกบฏไม่ได้ ในทันทีที่นโรดมยินยอมฝรั่งตั้งกองอารักขาและสีวัตถาประกาศแยกเขตปกครอง นโรดมนั้นถึงกับอ้อนวอนพระอาจารย์เตียงที่สีวัตถาเคารพช่วยกดดันอีกทาง

และในที่สุดก็สำเร็จ สีวัตถาพ่ายแพ้และไม่อาจคืนฐานันดร

นโรดม-สีโสวัตถิ์

พระองค์เจ้าดวงจักร

ปลาสนาสีวัตถาแล้ว นโรดมยังไม่วายมีอริเป็นอนุชาคนที่ 2 คือองค์สีโสวัตถิ์ที่สถาปนาตนเป็นเจ้ากรมวังหลัง และว่าที่ตำแหน่ง “องค์รัชทายาท” (อย่างไม่เป็นทางการ) ในลักษณะสงครามสร้างภาพ-สงครามจิตวิทยาที่อาศัยฝรั่งเศสถือหาง

อย่างเดิม นโรดมแพ้หมดรูปทุกด้าน เรื่องจึงตกไปที่เปรียะองค์มจะหรือพระองค์เจ้ายุคนธรและพระองค์เจ้าดวงจักรในฐานะว่าที่ “องค์รัชทายาท” ตัวจริงที่แย่งกันฟาดฟันกับสมเด็จอา

สีโสวัตถิ์นั้นทราบดีว่า เขาไม่ใช่หัวที่ตายก่อนแบบสีวัตถา และไม่ใช่ท้ายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับยุคนธร-ดวงจักร

เอาเข้าจริงสีโสวัตถิ์นั้นมีอุปนิสัยเหมือนนโรดมทุกอย่าง ด้านพระเกษมสำราญที่โปรดปราน ไม่ว่าจะเป็นนารีหรือกัญชา และนั่นอาจเป็นคำตอบอันแสนธรรมดาที่พวกบารังพอใจ

นั่นคือ การที่สีโสวัตถิ์ไม่แสดงตนแย่งชิงอะไร ขณะที่โอรสนโรดมยุคนธร-ดวงจักรกลับฟาดฟัน และอีกครั้งที่พิสูจน์ว่า สีโสวัตถิ์เป็นตรงกลางที่ได้ครอบครองไป

ดวงจักร-ยุคนธร

พระองค์เจ้าดวงจักร

ดวงจักร-ยุคนธรคือแบบจำลองชะตากรรมในความเหมือนและต่างของสองพี่น้องนโรดมที่ไม่ถูกชะตากัน พวกเขามักแย่งชิงและอ้างกัน

ยุคนธรที่อ้างว่าเกิดก่อน แต่ดวงจักรต่างหากที่กลับถูกจดจำทั้งฝ่ายรักและฝ่ายชังแบบเดียวกับองค์สีวัตถา-สมัยยังมีชีวิต ดวงจักรคือหลานรักที่กล้าเป็นอริกับพระบิดาซึ่งมีอุปนิสัยต่างกับเขาราวฟ้ากับเหว

แต่เมื่อกษัตริย์นโรดมถูกข้าหลวงฝรั่งเศสเบียดเบียนพระทัย พระองค์เจ้าดวงจักรก็กลับมาให้ความร่วมมือกับพระบิดา จะด้วยแรงจูงใจใน “ว่าที่องค์รัชทายาท” หรือไม่ เพราะ 2 ปีให้หลังเมื่อสีวัตถาจากไป (2436) ดวงจักรก็ลักลอบเข้าสยามอันตรงกับ ร.ศ.112

มีคนกล่าวถึงดวงจักรตอนนี้ เขาอาจเป็นจารชนที่ทำงาน 2 หน้า “เพื่อจะไปรับอาสาฝรั่งเศสเข้ามาคิดร้ายต่อกรุงสยาม” (สายลับเขมรช่วงวิกฤต ร.ศ.112 คือใคร? ฯลฯ, ไกรฤกษ์ นานา, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2553) แต่ดูแล้วเหมือนว่า ดวงจักรต่างหากที่ถูกไล่ล่า

เพราะเมื่อออกจากกรุงพนมเปญแล้วเขาก็ถูกกล่าวหาว่าคิดปองร้ายองค์กษัตริย์นโรดมผู้บิดาจนต้องหลบหนีเข้าไทย

แต่ครั้นไปถึงฝรั่งเศส การณ์กลับเป็นว่า ทรงพยายามเปิดโปงข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสอินโดจีนที่มีพฤติกรรมคุกคามสวัสดิภาพของพระบิดาซึ่งแสดงให้เห็นว่า หรือพระองค์เจ้าดวงจักรจะทำภารกิจลับให้พระบิดาดังที่ผู้เขียนตั้งข้อสงสัย?

หาได้เกี่ยวข้องอันใดกับสยามหรือ ร.ศ.112 แต่อย่างใด ส่วนจะแลกกับตำแหน่งองค์รัชทายาทหรือไม่ ก็เป็นเรื่องภายในครอบครัวเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ให้ดูที่พระองค์เจ้ายุคนธรด้วย!

สำหรับการแข่งขันทำคะแนนเพื่อเอาใจพระบิดาจนโดนข้อหากบฏและต้องโทษหนักทางอาญา

และเมื่อค้นไทม์ไลน์พระองค์เจ้ายุคนธรก็พบว่า ทั้งดวงจักรและยุคนธรต่างปฏิบัติภารกิจลับบางอย่าง ตามพระกระแสรับสั่งของกษัตริย์นโรดมที่พ้องกันอย่างประหลาด

โดย 4 ปีต่อมา (2440) ขณะที่พระองค์เจ้าดวงจักรผู้โดนข้อหากบฏ ถูกเนรเทศและล้มป่วยตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์ที่แอลจีเรียนั้น ส่วนพระองค์เจ้ายุคนธรก็เสด็จไปปารีส ถูกตั้งข้อหากบฏ จนหลบภัยไปเบลเยียม สิงคโปร์ ปีนัง ศรีลังกา และกรุงเทพฯ ที่ซึ่งทรงลี้ภัยกว่า 30 ปี

ชอกช้ำกับชะตากรรมที่พระบิดาทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์แทนรัชทายาทและราชบัลลังก์เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อพบความจริงว่า ผู้ขัดขวางพระองค์ไม่ให้กลับมาตุภูมิได้ก็หาใช่ใครอื่น แต่คือพระบาทสีโสวัตถิ์!

ผู้อยู่เฉยๆ ก็ได้เสวยราชสมบัติ

พระบาทนโรดม

อนึ่ง ทั้งยุคนธร-ดวงจักรแม้จะร่วมอุทรบิดาเดียวกัน แต่ก็ต่างอุปนิสัย ที่สำคัญคือไม่เคยรักกัน

ยุคนธรถอดแบบเหมือนพ่อ-สุขุม ไม่โผงผางแต่ดื้อรั้นพอกัน

ขณะที่ดวงจักรเหมือนลูกนอกไส้ นิสัยเหมือนสีวัตถาผู้ศัตรู ฉลาด เลือดร้อน ยอมหักไม่ยอมงอ และมีข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้วพระองค์เจ้าดวงจักรเป็นลูกใคร?

ทำไมเมื่อเขาต้องข้อหากบฏแล้ว กษัตริย์นโรดมกลับเพิกเฉย คงปล่อยให้ดวงจักรประสบชะตากรรมกระทั่งสิ้นพระชนม์ ส่วนยุคนธรนั้นเล่า เมื่อไปฝรั่งเศสนั้นได้รับเงินหลวงจากพระบิดา มีผู้ติดตาม ประยูรญาติและที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักเขียนฝรั่งเศสร่วมคณะไปด้วย

นับเป็นข้อสังเกตที่น่าทบทวน สำหรับทั้งดวงจักรและยุคนธรผู้กำเนิดตามจารีตราชสำนักอันเก่าแก่ที่กรุงอุดงเมียนจัย เป็นผู้มีมานะและถือขัตติยศักดิ์จนมักวิวาทกับพวกข้าหลวงฝรั่งเศสทั้งกรณีส่วนตัวและส่วนรวมของพระบิดา จนถูกยัดข้อหากบฏ ถูกเนรเทศและต้องลี้ภัยในต่างแดนอย่างโดดเดี่ยวตลอดพระชนม์

ดวงจักร (32) ถึงแก่ทิวงคตเพราะเสวยน้ำจัณฑ์จากความตรอมพระทัยในคุกแอลจีเรียที่ล้อมรอบไปด้วยทะเลทราย ส่วนยุคนธร (74) นั้นเล่า แม้จะอยู่ในไทยใกล้กับมาตุภูมิอันเป็นที่รัก แต่กลับเลวร้ายกว่าดวงจักรตรงที่ตลอด 30 กว่าปีแห่งการลี้ภัย มีแต่ข่าวร้ายแร้นแค้นที่ย่ำยีต่อจิตใจ

สำหรับเกมการเมืองหฤโหดที่กษัตริย์นโรดมประทานแก่โอรส “พระองค์เจ้าดวงจักร-พระองค์เจ้ายุคนธร” ที่มีชะตากรรมเยี่ยงกบฏ-และสิ้นพระชนม์อย่างอนาถ

โปรดจำไว้ไพร่ฟ้า-ขญมบาท