จากนักศึกษาถึงขบวนการราษฎร : จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรดี? (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

จากนักศึกษาถึงขบวนการราษฎร

: จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรดี? (จบ)

“บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ได้จากบทตอนว่าด้วยเสนานครในหนังสือตำราการิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ให้นักศึกษาเขียนคำปรึกษาแนะนำแก่แฟลชม็อบราษฎรว่าควรจะดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองตามเป้าหมายต่อไปอย่างไร? เพราะเหตุใด?”

ประเด็นคำปรึกษาแนะนำของบรรดานักศึกษาที่เลือกตอบคำถามข้างต้นในการสอบกลางภาควิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อมีนาคม ศกนี้ คล้องจองต้องตรงกันเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ :

– วิเคราะห์ว่าการรณรงค์ประท้วงตามข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อของแฟลชม็อบราษฎรนั้น โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการต่อสู้ทางความคิดระยะยาวในสังคมไทย

– ต้องทำงานแนวร่วมหาเพื่อนหาพวกพ้องให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่ทำได้

– หลีกเลี่ยงความรุนแรง ยึดมั่นสันติวิธี และ

– เปิดกว้างถกเถียงทางความคิดภายในขบวนการเคลื่อนไหวกันเองเพื่อแสวงหาฉันทามติ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางอุดมการณ์และแนวทางดังที่เป็นอยู่

อาจแบ่งคำปรึกษาแนะนำส่วนนี้ออกเป็น 2 ด้านคือ ทีทรรศน์ต่อมวลชนในสังคมนอกขบวนการ และทีทรรศน์ต่อผู้ร่วมเคลื่อนไหวในขบวนด้วยกัน

ทีทรรศน์ต่อมวลชนในสังคมนอกขบวนการ

คุณ ช. ช้าง เสนอว่า :

“ผู้ปฏิบัติการเคลื่อนไหวพึงเชื่อความมีเหตุผลของมนุษย์ เพื่อสร้างแนวร่วมที่มีพลัง ผ่านการพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกันกับผู้คนกลุ่มอื่นในสังคมการเมืองไทย

“สิ่งที่ขบวนการราษฎรควรพิจารณาคือจะสื่อสารอย่างไรเพื่อดึงเหล่าผู้มีเหตุผลที่ไม่ใช่พวกของตน (อาจเป็นคนที่อยู่ตรงกลางและกลุ่มฝ่ายขวาผู้เห็นด้วยกับการปฏิรูป เป็นต้น) ให้มาเป็นพวก ซึ่งจะทำได้ก็โดยผ่านการมองคนกลุ่มอื่นอย่างอดทนอดกลั้นและโน้มน้าวอย่างมีเหตุผล

“ทั้งนี้เพราะวิธีการต่อสู้เคลื่อนไหวของขบวนการมิใช่ใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐ ซึ่งจะผลักผู้เห็นด้วยกับเป้าหมายให้ถอยห่างออกไป และอาจนำไปสู่เส้นชัยของซากปรักหักพังแห่งความเกลียดชัง ทำให้คนในสังคมพาลมีทรรศนะมองโลกในแง่ร้ายกับมนุษย์ (ที่คิดไม่เหมือนตน) ในที่สุด

“การที่จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีแนวร่วมที่ทรงพลังเพื่อก่อให้เกิดพลังผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังคำกล่าวที่ว่า ‘การเมืองคือการหาเพื่อน’

“แม้กระบวนการดังกล่าวย่อมใช้เวลานานเพื่อเปลี่ยนความคิดผู้คนซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่ขบวนการเคลื่อนไหวก็ไม่ควรปฏิเสธคนกลุ่มอื่นหรือไม่โน้มน้าวพวกเขามาร่วมสร้างพลังทางการเมือง

“เพราะการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือการต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช่แค่เรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการออกไป หากแก้ไขหยั่งรากลึกไปถึงสถาบันหลักของสังคม ฉะนั้น จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องพึ่งการเชื่อความมีเหตุผลของมนุษย์ ที่มิใช่แค่พวกเดียวกัน แต่หมายถึงคนทุกหมู่เหล่าในสังคม…”

 

ส่วนคุณ ก. ไก่ แนะนำในประเด็นเดียวกันว่า :

“สิ่งที่ม็อบราษฎรควรทำในเวลานี้คือการเชื่อมโยงระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกับปัญหาปากท้องที่เป็นเรื่องสำคัญและคนส่วนใหญ่รับรู้สัมผัสได้ โดยเก็บประเด็นแหลมคมไว้เป็นบทสนทนาในสังคมอันดับรองลงมา เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างปราบปรามผู้ประท้วง

“การเชื่อมโยงและชูปัญหาใกล้ตัวจะทำให้คนยิ่งตั้งคำถามกับระบอบปัจจุบันมากขึ้น ช่วงชิงคนส่วนใหญ่มาสนับสนุนการต่อสู้บนฐานผลประโยชน์ร่วมกันเสียก่อน และปูพื้นฐานในการเปลี่ยนพวกเขาให้มีทรรศนะแบบยุครู้แจ้งไปตามลำดับ อันจะเป็นฐานอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมร่วมกันได้ในระยะยาว และทำให้การเมืองในสภา การเมืองภาคประชาชนและการเมืองวัฒนธรรมมาบรรจบกันได้ยิ่งขึ้น

“อีกประเด็นคือคนไทยในตอนนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ไม่มีความฝัน ต่างกับบริบทในอดีตที่ไทยยังพอมีหน้ามีตาในสังคมโลก ประเทศอื่นๆ สนใจเรา คนไทยยังพอมีที่ทางที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองสามารถสร้างคุณค่าและมีอนาคตได้อยู่บ้าง เช่น การเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย การเป็นครัวของโลก แม้การเมืองจะล้มลุกคลุกคลาน แต่การมีความฝันยังทำให้คนสามารถสู้ไปได้เรื่อยๆ อย่างมีหวัง ทว่าตอนนี้การเมืองกลับทำให้คนหมดความอดทนและมีแต่ความโกรธ โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเติบโตไปใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในรายการเรียลลิตี้โชว์แบบเซอร์ไวเวอร์ คับข้องใจที่ตัวเองมีอุดมการณ์แหกข้องแต่ก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ทว่าความคิดก็ไม่มีทางหวนกลับคืน

“การไม่มีความฝันและความรู้สึกไม่มีอนาคตในประเทศตัวเอง (ดู ‘ย้ายประเทศกันเถอะ : คุยกับผู้ก่อตั้งกลุ่มคนอยากย้ายถิ่นที่มีคนร่วมเกือบ 6 แสนคนภายใน 3 วัน’, https://www.bbc.com/thai/thailand-56973078.) เมื่อประกอบกับแนวทางการประท้วงของม็อบราษฎรในตอนนี้จึงทำให้มวลชนบางส่วนเริ่มไม่เห็นด้วยและต้องการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ เนื่องจากการประท้วงบนท้องถนนแบบสันติวิธีดูไม่มีประสิทธิภาพมากเหมือน เช่นในตอนแรกอีกต่อไปแล้ว หากเป็นเกมยาว วิธีนี้ไม่สามารถสร้างแรงกดดันต่อรัฐและชนชั้นนำได้มากนัก ซ้ำร้ายยังทำให้มวลชนหล่นหายตายจากไปจากเกมบนท้องถนนนี้ เพราะหมดแรงจากความคิดที่ว่าไม่รู้ว่าต้องสู้ไปถึงเมื่อไหร่

“ความคิดเช่นนี้จะทำให้มวลชนสูญสิ้นศรัทธาในการต่อสู้ เลิกหวังว่าอะไรที่ดีกว่านั้นมันจะเป็นไปได้ และทำให้คำขวัญ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ กลายเป็นอุดมคติห่างไกลความจริงสำหรับพวกเขาไปทุกที ด้วยเหตุนี้ การที่ผู้คนหล่นหายไปจากขบวนดังเช่นตอนนี้จึงเป็นสัญญาณว่าการเคลื่อนไหวม็อบราษฎรต้องเปลี่ยนแนวทาง เพราะวิธีเดิมสร้างแรงกดดันไม่ได้ผลแล้ว ดังที่มีมวลชนบางส่วนต้องการให้ยกระดับการต่อสู้สูงขึ้น…”

ทีทรรศน์ต่อผู้ร่วมเคลื่อนไหวในขบวนด้วยกัน

 

คุณ ก. ไก่ แนะนำสืบต่อจากข้อสังเกตข้างต้นว่า :

“ม็อบราษฎรพึงต้องอำนวยให้เกิดบทสนทนาในสังคมหรือในหมู่มวลชนว่า เส้นทางการต่อสู้เพื่อกดดันรัฐให้ได้มากขึ้นควรจะไปในทิศทางไหนถึงจะดีและมีประสิทธิภาพ? หากยึดมั่นในสันติวิธีแล้ว มีหนทางใดบ้างที่สามารถทำได้? การทำลายรูปปั้น สาดสี ปาไข่ นับว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่? อะไรบ้างที่นับว่าเป็นความรุนแรง?

“การนิยามและวางขอบเขตแนวทางการต่อสู้เช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นและสามารถโอบอุ้มทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดไปด้วยกันได้ การที่มีมวลชนหลายฝ่ายพยายามเสนอแนวทางหลากหลายต่างออกไปจากแกนนำ… แกนนำสามารถมีบทบาทช่วยสร้างพื้นที่ให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นได้ หากไม่ทำก็จะส่งผลให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปัจจุบันเหนื่อยล้า หรือถอนตัวไปดังเช่นที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เพราะพวกเขาไม่เห็นภาพว่าทำแบบเดิมไปแล้วจะได้อะไรและเมื่อไหร่ หรือหากมีมวลชนบางกลุ่มลำบากยากแค้นและหันไปประท้วงต่อสู้อย่างจนตรอกจนปะทะกับกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ก็อาจสายเกินแก้และทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก”

 

ส่วนคุณ ช. ช้าง พูดในประเด็นเดียวกันแต่เน้นเรื่องอุดมการณ์มากกว่าแนวทางการเคลื่อนไหวว่า :

“ภายในขบวนการราษฎรควรพยายามอย่างยิ่งในการทำให้ทัศนคติและความคิดที่ไม่ลงรอยกัน สามารถร่วมเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ เฉกเช่นในนิยายเรื่องการิทัตผจญภัยฯ ที่มีขบวนการมือที่มองเห็นข้าง ‘ซ้าย’ กับข้าง ‘ขวา’ ขบวนการราษฎรก็กำลังเผชิญปัญหาภายในเรื่องไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้เช่นกัน

“ตั้งแต่เรื่องอุดมการณ์หรือการนิยามตัวเองของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีทั้งนักอนาธิปไตย นักสังคมนิยมประชาธิปไตย ไปจนถึงผู้นิยมเสรีประชาธิปไตย หรืออื่นๆ

“และเรื่องข้อเรียกร้องทางการเมืองที่มีตั้งแต่ให้นายกฯ ประยุทธ์ลาออก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบขุดรากถอนโคน

“ดังนั้น เพื่อให้การเคลื่อนไหวมุ่งสู่ปลายทางได้สำเร็จ ขบวนการควรกลับมามุ่งหาฉันทามติร่วมกันท่ามกลางความคิดที่หลากหลายในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ”