ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มิตรสหายเล่มหนึ่ง |
เผยแพร่ |
มิตรสหายเล่มหนึ่ง
นิ้วกลม
ศีลธรรมของการกิน
คุณคิดว่าตัวเองมีศีลธรรมในการกินมากน้อยแค่ไหน
เมื่อเอ่ยคำถามนี้ขึ้นมาก็คงต้องถามต่อไปอีกว่า เอาไม้บรรทัดไหนมาวัด
หากวัดด้วยศีลธรรมที่กำลังอินเทรนด์ของโลกยุคปัจจุบัน คนที่ลดการกินเนื้อสัตว์อาจมีศีลธรรมมากกว่านักกินสเต๊กเพราะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายน้อยลง ไม่ต้องถางป่าปลูกข้าวโพดหรือพืชอาหารสัตว์ต่างๆ
หากวัดด้วยไม้บรรทัดของนักดูแลสุขภาพก็อาจต้องนับแคลอรี ไม่กินแป้งขัดขาว ไม่กินไขมัน ของทอด จึงจะเป็น ‘การกินที่ดี’
แต่ถ้าใช้ไม้บรรทัดของศาสนาก็คงต้องแยกแยะกันไปตามข้อกำหนดที่แตกต่างกัน
ฉะนั้น ศีลธรรมเรื่องการกินจึงมิใช่สิ่งที่จะมาวัดกันง่ายๆ และคงถกกันได้ไม่รู้จบ
พูดถึงการกินทำให้นึกถึงรายการสัตตะ ตอนมังสวิรัติ (สามารถชมได้ทางยูทูบ) โดยอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา และคุณดอดจ์ นพสุวรรณชัย
ทั้งสองท่านเล่าถึงที่มาของศีลธรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
อาจารย์ธเนศเปิดเรื่องว่า ชีวิตก็คือการเกิดและตาย แต่ระหว่างนั้นเราจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกิน ซึ่งศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดว่าเราควรกินอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการปฏิวัติการเกษตรขึ้น ซึ่งเป็นช่วงแรกที่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ หรือจะเรียกว่าทำร้ายธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เองก็ได้
มนุษย์ค่อยๆ เริ่มสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งก็มั่นคงขึ้นมากหากเทียบกับการเก็บของป่าล่าสัตว์ที่ไร้ความแน่นอน
เมื่ออาหารสมบูรณ์ สังคมก็ขยายขนาดขึ้น มีสมาชิกมากขึ้น เป็นเหตุผลให้ต้องหาวิธีจัดระเบียบสมาชิกในสังคม
และศาสนาก็มีส่วนสำคัญมากในการจัดระเบียบนั้น
คุณดอดจ์หยิบเอาเรื่องราวจากงานของเดวิด กรูเมตต์ มาเล่าให้ฟัง
โดยบอกว่ายิวเป็นศาสนาที่มีกฎเกณฑ์การกินที่ละเอียดยิบย่อยที่สุดศาสนาหนึ่ง
และถึงแม้ว่าคริสต์จะเติบโตมาจากยิว แต่ในตอนเริ่มต้นคริสต์ปฏิเสธกฎเกณฑ์การกินของศาสนายิวแทบทั้งหมดและพัฒนาของตัวเองขึ้นมา
เช่น แนวความคิดเรื่อง Simple Diet คือการกินต้องไม่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน เหมือนที่ Clement of Alexandria วิจารณ์คนครัวที่ทำขนมปังแล้วเอาสารอาหารออกมากเกินไปจนเหลือแต่ความนุ่มความฟูความอร่อย ว่าการทำเช่นนั้นได้ทำให้สาระสำคัญของขนมปังนั้นหายไปแล้ว เหลือเพียงความสุขสำราญจากการกินเท่านั้น
นอกจากนั้น อาหารที่ดีต้องปรุงให้น้อยที่สุด เนื้อสัตว์จึงตกเป็นเหยื่อของการวิจารณ์ เพราะโดยปกติแล้วมันคือวัตถุดิบที่ต้องปรุงเยอะที่สุดกว่าจะสุก นุ่ม เคี้ยวง่าย และอร่อย
เทียบกันแล้วพืชผักง่ายกว่าเยอะ เพราะไม่ต้องปรุงเลย
จากนั้นคุณดอดจ์ก็ชวนคิดเกี่ยวกับการกินในศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นำเนื้อหามาจากงานของซาแมนธา คัลเวิร์ด โดยเล่าว่าสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 คือการก่อตั้งสมาคมมังสวิรัติ (Vegetarian Society) ขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์) แล้วจึงเกิดกระแสการกินมังสวิรัติตั้งแต่ในยุคนั้น
กระทั่งถึงตอนนี้ก็เป็นกระแสที่เติบโตเร็วมากในโลกตะวันตก
เหตุผลที่คนกลุ่มนี้ใช้ในการโน้มน้าวผู้คนเรื่องมังสวิรัติมีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน
เช่น บอกว่ามังสวิรัติเป็นอาหารของชาวเอเดน โดยยกข้อความมาจากคัมภีร์ปฐมกาล บทที่ 1 ข้อ 29 ซึ่งพระเจ้าตรัสกับอาดัมและอีฟว่า
“เราให้พืชทั้งปวงที่ให้เมล็ดซึ่งมีอยู่ทั่วแผ่นดิน และต้นไม้ทั้งปวงที่มีเมล็ดในผลของมันเป็นอาหารกับเจ้า”
และในบทที่ 9 ข้อ 3
“ทุกสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวไปมาจะเป็นอาหารของเจ้า เรายกทุกอย่างให้เจ้าดังที่ยกพืชเกี่ยวสดให้เจ้ากิน”
หมายความว่าตอนแรกพระเจ้าบอกให้กินพืช แต่ระหว่างสองข้อความนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นคืออีฟโดนงูล่อลวงแล้วทั้งคู่ก็โดนขับไล่ออกจากสวนอีเดน พอทำบาปและโดนขับไล่แล้ว พระเจ้าก็เลยให้กินสัตว์ ฉะนั้น เจตนาแรกของพระเจ้าคือให้กินพืช
ส่วนนิกายฮาเลลูยา เอเคอร์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1976 อ้างว่า อาหารที่จริงแท้ไม่ใช่แค่พืช แต่ต้องปรุงน้อยที่สุด เพราะใกล้เคียงกับสิ่งที่พระเจ้าให้มากที่สุด ถ้าไปปรุงมันก็เท่ากับผ่านน้ำมือมนุษย์แล้ว ไม่จริงแท้อีกต่อไป
อาจารย์ธเนศชวนคิดต่อว่า เวลาเราบอกว่าจะกลับไปสู่อดีตหรือความดั้งเดิม ในแต่ละที่นั้นมีสิ่งแวดล้อมต่างกันมาก ผู้คนก่อนหน้ายุคเกษตรกรรมกินแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ ตั้งแต่กวาง แพะ ม้า ลา กระต่าย โลมา หมูป่า หอย ไขกระดูก และเครื่องในสัตว์ ถ้าอยู่แถบอาร์กติกก็ต้องกินแมวน้ำ จะไปหาผักที่ไหน
โดยยกหนังสือ The Stone Age Diet ของวอล์เตอร์ แอล. วอกต์ลิน ซึ่งบอกว่าถ้าจะกลับไปสู่โลกแบบเดิมก็ต้องไม่กินผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ (dairy product) และอาหารดั้งเดิมจริงๆ ก็หน้าตาแตกต่างจากทุกวันนี้มาก เช่น กล้วยก็จะเป็นกล้วยแบบมีเม็ดเต็มไปหมด มะเขือเทศก็มีพิษ มันฝรั่งก็เช่นกัน และอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ถูกปรับปรุงพันธุ์โดยฝีมือมนุษย์มาเนิ่นนานแล้วจนกลายเป็นแบบที่เราหยิบเข้าปากกันอยู่ทุกวันนี้
อาหารดั้งเดิมจึงไม่แน่ว่าต้อง ‘ดั้งเดิม’ ขนาดไหน
อาจารย์ธเนศบอกว่า ตั้งแต่ช่วง 1990 กระแสการไม่กินเนื้อสัตว์ก็ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ ทั้งเรื่องโลกร้อนและสำนึกเกี่ยวกับสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนั้น ด้วยความเชื่อว่า ‘ร่างกายเป็นวิหารของพระเจ้า’ ก็ยิ่งทำให้ชาวคริสต์กลุ่มเซเวนเดย์แอดแวนติสต์เชื่อว่าเราควรดูแลร่างกายให้ดีที่สุด กินอาหารสะอาด คุณภาพดี ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน
อีกเรื่องสำคัญของคริสต์ศาสนาคือการควบคุมความต้องการทางเพศ ในศตวรรษที่ 19 แพทย์เสนอว่า สำหรับผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศเยอะให้ลดการกินเนื้อสัตว์ลง
ส่วนจอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อก ซึ่งเป็นหมออเมริกันก็คิดซีเรียลขึ้นมาเพื่อไม่ให้เด็กผู้ชายช่วยตัวเอง จะได้หันมากินซีเรียลแทนเนื้อสัตว์
พอสังคมเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือคนโหยหาธรรมชาติ เห็นว่าวิถีชีวิตเมืองเป็นเรื่องชั่วร้าย กระแสการกินผักก็ไปได้ดีกับกระแสนี้ด้วยเช่นกัน ในช่วงปี 1880-1930 เกิดกระแส Lebensreform (Life Reform) ขึ้นในเยอรมนีตอนเหนือ เป็นกระแสที่ต่อต้านเทคโนโลยี วัตถุนิยม ความเมือง (อามิชก็อยู่ในกลุ่มนี้) ช่วงนั้นผู้คนกินอาหารกระป๋องกัน กลุ่มนี้สนับสนุนให้กินผัก โหยหาวิถีชนบท ทำอาหารกินเอง เพราะเราจะได้เป็นคนเลือก ปลูก ปรุง ด้วยตัวเอง เหมือนเป็นด้านกลับของสังคมอุตสาหกรรมในเมืองซึ่งเกิดในหมู่ชนชั้นกลางที่ไม่ชอบความวุ่นวายหรูหราของชนชั้นสูง พยายามแยกตัวออกมา เน้นความเรียบง่ายและประหยัด
ฉะนั้น กลุ่มนี้ก็มีศีลธรรมของการกินในแบบตัวเอง
ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกกลุ่มก็ล้วนแล้วแต่พยายามหาอัตลักษณ์ที่แตกต่างของตัวเองตามแนวคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่ตนเลือก เมื่อกำหนดสิ่งต่างๆ ขึ้นมาแล้วก็ยืนยันความดีงามของสิ่งนั้นจนกลายเป็น ‘ศีลธรรม’ ประจำกลุ่ม
ถ้าอธิบายแบบอาจารย์ธเนศคงอธิบายได้ว่า สำหรับคนที่เชื่อว่าพระเจ้ามีองค์เดียวนั้น ความถูกต้องก็ต้องมีแบบเดียวเช่นกัน ฉะนั้น ถ้าฉันถูก แกก็ผิด
ส่วนกลุ่มคนที่ไม่มีจุดยืนก็เหมือนคนไม่เชื่อในอะไรสักอย่าง เป็นคนไม่มีพระเจ้าในสายตาของคนที่มีความเชื่อแรงกล้า
คนที่เลือกชัดเจนว่าจะกินแบบไหนอาจมองว่าคนที่กินไม่เลือกนั้นไม่มีศีลธรรมในการกิน
ฟังรายการสัตตะตอนนี้ทำให้ได้เห็นว่า ความถูกต้องดีงามของอาหารในแต่ละยุคสมัย แต่ละศาสนา แต่ละสังคมนั้นถูกคิดและกำหนดขึ้นตามบริบทแวดล้อมในแต่ละถิ่นที่และยุคสมัย และมันก็กลายมาเป็น ‘ศีลธรรม’ ที่คนเอามาทาบทับเพื่อตัดสินคนอื่นอยู่เสมอว่ากินถูกหรือกินผิด ควรกินหรือไม่ควรกิน
บางคนจึงเบะปากเมื่อรู้ว่าคนจีนหรือคนเวียดนามกินหมา อีกสายตาก็อาจรับไม่ได้ที่คนนอร์เวย์หรือญี่ปุ่นกินวาฬ กระทั่งที่เคยมีข่าวว่าคนในบางจังหวัดกินแมวก็กลายเป็นเรื่องฮือฮาจนหลายคนรับไม่ได้
แน่นอนว่าทุกความถูกต้องนั้นมีที่มา และทุกความรู้สึกอี๋หรือชิงชังรสนิยมการกินของคนอื่นก็มีที่มาและเกณฑ์มาตรฐานในแบบฉบับของแต่ละคน
ในยุคสมัยของเรา สังคมของเรา ศาสนาของเรา ความเชื่อของเรา หรือกระทั่งกลุ่มก๊วนของเรา ก็มี ‘ศีลธรรม’ ที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ
มีทั้งเหมือนและต่าง แต่ทุกอย่างล้วนมีที่มา
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณคิดว่าตัวเองมีศีลธรรมในการกินมากน้อยแค่ไหน
แต่เดี๋ยวก่อนนะ!
คุณตัดสินตัวเอง หรือให้คนอื่นตัดสิน?